Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
การสร้างวัฒนธรรมการทำงานทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของวิชาชีพประเมินราคา

คุณเปล่งศักดิ์ ศรีบัว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บจก.แปลน เอสเตท

          ได้อ่านบทความของคุณประสงค์ ลำพูล ผู้ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ผมได้ให้ความเครารพรักให้ทัศนะเอาไว้ ในบทความเรื่อง "ปัญหาและอุปสรรคของวิชาชีพประเมินราคาทรัพย์สิน" หากใครได้อ่านเชื่อได้เลยว่าพวกเราคงได้เคยคิดถึงปัญหาเหล่านี้กันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ใกล้ตัวจริงๆ ครับ เพราะสิ่งที่หยิบยกกันขึ้นมาเป็นประเด็นเรียกได้ว่าแทบจะเริ่มนับตั้งแต่จุดกำเนิดจนถึงปัจจุบันก็ยังคงอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับวันเวลาที่เสียไป

          ไม่ต้องตระหนกตกใจจนเกินเหตุ หรือไม่ต้องนิ่งเฉยจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อตัวปัญหาก้าวเข้ามาตัวปัญญาก็ต้องนำมาใช้แก้ไข ผมเองพอความสงบของจิตได้ที่ก็พลันนึกถึงกัลยาณมิตรอีกท่านหนึ่งในวง (การ) ได้เคยเล่าถึงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาคล้ายๆ กันนี้ในองค์กร ด้วยวิธีการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน เน้นให้ทุกคนได้มีทักษณะในการ ฟัง คิด ตรึกตรอง และแสดงออกในทางที่ถูกต้อง เพื่อหาความสำเร็จร่วมกัน เริ่มจากการกำหนดค่านิยมหลัก 8 ประการ ดังนี้ครับ  

-  Openness วัฒนธรรมเปิดกว้าง สื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล และเคารพซึ่งกันและกัน
-  Never Stop Learning เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คิดอย่างสร้างสรรค์
- Exceed and Focus on Customer Expectation/ ลูกค้าคือคนสำคัญ ให้บริการเหนือความคาดหมายอยู่เสมอ
-  Healthy Environment รักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม
-  Ethics & Integrity ยึดมั่นในจริยธรรม หลักคุณธรรม และมีจุดยืนที่มั่นคง
-  Aim Service Mind บริการด้วยใจ
-  Result-Oriented มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
-  Team spirit จิตสำนึกของการทำงานเป็นทีม

          ลองสังเกตุดูหากเรานำตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของแต่ละความหมายมาประกอบกันใหม่ เราก็จะเห็นนิยามโดยย่อของค่านิยมทั้งหมดนี้ เรียกว่าค่านิยม แบบ "ONE  HEART" 

          หลังจากกัลยาณมิตรในวง  (การ)  ได้เล่าเรื่องจบ ผมเลยถือโอกาสสร้างบทสนทนาต่อยอดด้วยการให้ทัศนะในมุมแย้งที่ว่า วัฒนธรรมในการทำงานนี้ยังเป็นทฤษฎีอยู่มาก ได้ผลครับ เพราะทันใดนั้นก็บังเกิดวิวาทะแย้งกลับว่า การที่เรามองสิ่งเหล่านี้เป็นทฤษฎี ทั้งๆ เป็นเรื่องใกล้ตัว ก็เพราะเราต่างไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ แต่ก็ไม่แปลก  นั่นก็เพราะว่ามันไม่เคยมีเวทีให้เราเห็น ไม่มีเวทีให้เราเล่น  และไม่มีเวทีให้เราดู ทำให้เรื่องวัฒนธรรมที่พูดๆ กันอยู่ทุกวันนี้ส่วนมากจึงเป็นเรื่องทัศนคติเฉพาะบุคคล แต่ไม่ได้เป็นเรื่องค่านิยมของสังคมรวม  ดังนั้นการที่เราจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของแต่ละบุคคลมาสร้างค่านิยมในทางปฏิบัติได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากการสร้างเวทีแห่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยน เวทีของการสื่อสาร การกระตุ้นตอกย้ำเพื่อให้บรรลุผลการทำงานร่วมกันให้ไปในทิศทางเดียวกัน  ย้ำ  หน้าที่เราคือการกระตุ้นเตือน และตอกย้ำ เหมือนบทสรุปในหนังสือชื่อดัง "องค์กรอมตะ"  (Built  to  Last)  ของ  Collins  และ  Porras    

          ความเงียบชั่วครู่เข้ามาหลังจากบทวิวาทะ (พร้อมกับวรรณกรรมเปรียบเทียบ) จบลง ความตระหนักก็เริ่มปรากฏ องค์ความรู้ค่อยๆ ตกผลึกเป็นความคิดที่ว่า  จริงๆ แล้วเรื่องวัฒนธรรมการทำงานนี้เราน่าจะทำได้ไม่ยาก หากมีเวทีให้ได้เล่น ได้ซ้อม ให้มีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกันอยู่เสมอ แต่ทว่าปัจจุบันในวิชาชีพประเมินราคา ผมเองเห็นว่ายังขาดเวทีที่ให้แสดงความคิดเห็นในวงกว้างอยู่มาก รวมถึงผู้คนที่อยากจะแสดงความคิดเห็นและพร้อมยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ และต่อยอดองค์ความรู้กันด้วยเหตุและผล ทั้งๆ ที่งานประเมินในแต่ละงานนั้นต่างมีความหลากหลาย มีสิทธิ์ที่จะคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกัน ความหลากหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ของงานประเมินแต่ละงานซึ่งล้วนแต่น่าเรียนรู้ด้วยกันทั้งสิ้น  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันความหลากหลายได้กลับกลายเป็นความเข้าใจที่แตกต่าง กลับกลายเป็นช่องว่างของมาตรฐานการทำงาน จนเราต่างเห็นว่าเป็นปัญหา และอุปสรรคของวิชาชีพประเมินราคา 

          สมัยอารยธรรมกรีกรุ่งเรือง อาจารย์แห่งปราชญ์นาม โสคราตีส ได้ใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยการตั้งคำถามและถกเถียงกันเพื่อร่วมกันหาคำตอบ เรียก  "วิพาษวิธี"  (Dialectic)  ตัวอย่างมีให้เห็นมาตั้งแต่หลายพันปีก่อนจนถึงวันนี้ เราแค่เริ่มมาคุยกัน โต้แย้ง ถกเถียง แลกเปลี่ยน เริ่มแสดงความคิดความเห็น  เริ่มเขียนเรื่องราวตั้งประเด็นหัวข้อที่สนใจส่งกันมาให้วิพากษ์ด้วยเหตุผลในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาวิชาชีพอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะนักประเมินราคาล้วนต่างมีสิทธิ์ที่จะคิดในมุมมองที่ต่างออกไปตามความหลากหลายของสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา ส่วนจะถูกต้องมากน้อยเพียงใดนั้น  ผมเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้จะค่อยๆ ขัดเกลาและหาข้อสรุปให้แก่เราได้ในที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด กระบวนการเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญให้เราได้รู้และเข้าใจถึงวิสัยทัศน์หรือมาตรฐานของวิชาชีพร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าบุคคล หรือองค์กรต่างๆจะเดินไปในทิศทางไหน เราก็จะยังสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ของวิชาชีพร่วมกันได้ ด้วยการลงมือปฎิบัติตามค่านิยมเดียวกันจนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมอันเข้มแข็งของวิชาชีพ ปัญหาและอุปสรรค (แบบเดิมๆ) ก็จะค่อยๆ หมดไป ในที่สุด


  1. ประสงค์  ลำพูล, "ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน", หน้า 14, วารสารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย, Vol.7, No.2, March - April 2008,  http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/Journal/journal_5103.pdf
  2. ศิลปะการสนทนาที่โสคราตีสใช้ประคับประคองการสนทนาให้ดำเนินไปสู่คำตอบของปัญหาที่กำลังอภิปราย โดยทั่วไปเรียกว่า "วิพาษวิธี (Dialectic)" ซึ่งประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ
    1. สังสัย  (Sceptical)  ไปถามผู้ที่รู้ในเรื่องนั้นและถามข้อสงสัยในเรื่องนั้นกับผู้ที่รู้
    2. สนทนา (Conversation)  เพื่อหาคำจำกัดความในการสนทนาหาประเด็นหลักของการสนทนาในเรื่องนั้น
    3. หาคำจำกัดความ (Definition)  หาคำจำกัดความที่คิดว่าถูกต้องที่สุดเพื่อจะหาสิ่งที่เป็นสากลหรือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
    4. อุปนัย (Inductive)  การสร้างคำจำกัดความจะเริ่มจากสิ่งเฉพาะไปสู่สิ่งสากลต่างๆ  ในสังคม  เพื่อมาสร้างเป็นคำนิยาม
    5. นิรนัย (Deductive)  คือ  การสรุปจากสิ่งสากลทั่วไปที่คนยอมรับไปสู่สิ่งเฉพาะ
 
Area Trebs
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่