Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
รัตนาธิเบศร ทำเลทองของอสังหาริมทรัพย์ฝั่งตะวันตก
คุณประสงค์ ลำพูล
ผู้จัดการฝ่ายประเมินฯ และผู้ประเมินหลัก บจก. แอคทีฟ แวลู

          ถนนรัตนาธิเบศร หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302 เริ่มต้นจากบริเวณแยกแคราย(ต่อจากถนนงามวงศ์วาน) ไปบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษก (ทล.9) บริเวณแยกบางใหญ่ รวม ระยะทาง 16.00 กิโลเมตร มีสะพานพระนั่งเกล้าเป็นจุดเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2528 โดยมีสภาพเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร พื้นผิวลาดยาง ปัจจุบัน (พ.ศ.2550) ถนนรัตนาธิเบศร ได้รับการปรับปรุงสภาพจากเดิม ให้เป็นถนนที่มีทางคู่ขนาน และเพิ่มช่องจราจรเป็น 12 ช่องจราจร ผิวจราจรเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี พร้อมทั้งทำการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำใหม่ โดยเป็นตัวสะพานใหม่จะคร่อมตัวสะพานเดิมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเมื่อสะพานดังกล่าวแล้วเสร็จ จะมีลักษณะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แบบ 2 ชั้น สามารถที่จะช่วยแบ่งเบาการจราจรได้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะทำให้โครงข่ายการจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทำให้มีเดินทางสู่ส่วนต่าง ๆ มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยลดปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมืองให้ลดน้อยลงได้

          สำหรับโครงข่ายการคมนาคมในบริเวณดังกล่าว ประกอบด้วยถนนรัตนาธิเบศร ซึ่งทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนตะวันตกไปยังถนนวงแหวนตะวันออก หรือ อีสต์ -เวสต์ คอริดอร์ ซึ่งช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้เดินทางเชื่อมต่อไปยังเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างสะดวก ที่สำคัญถนนรัตนาธิ -เบศร นั้นถือได้ว่าเป็นเส้นทางหลักสำหรับการสัญจรของประชาชนในเขตจังหวัดนนทบุรี เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังอำเภอต่าง ๆ ได้ทั้งหมด รวมทั้งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียงทั้ง สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ได้อีกด้วย

          กล่าวคือ หากต้องการเดินทางไปทางด้านตะวันออก โดยเริ่มจากถนนรัตนาธิเบศร ตรงไปเข้าถนนงามวงศ์วาน ไปตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นให้ตรงไปลงอุโมงค์ลอดถนนพหลโยธิน เข้าถนนเกษตรฯ-นวมินทร์ เพื่อไปชนกับถนนนวมินทร์ หรือสุขาภิบาล 1 เดิม ซึ่งสามารถตรงไปเข้าถนนตัดใหม่บริเวณสามแยกจากถนนนวมินทร์ ไปชนกับถนนวงแหวนตะวันออก เป็นระยะทาง 3.00 กิโลเมตร ใกล้กับต่างระดับรามอินทรา บริเวณห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ที่กำลังเวนคืนที่ดิน ซึ่งงานก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2551

          และขณะเดียวกัน หากต้องการไปทางตอนเหนือ โดยเริ่มต้นจากถนนรัตนาธิเบศร แล้วเชื่อมต่อไปยังถนนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนตะวันตก) หรือถนนชัยพฤกษ์ แล้วต่อไปยังถนนสายปทุมธานี-บางบัวทอง หรือถนนสาย 345 ซึ่งสามารถใช้เดินทางไปบรรจบกับถนนพหลโยธิน ในเขตอำเภอบางปะอิน นอกจากนั้นยังสามารถใช้ถนนติวานนท์ ต่อเข้าถนนสายปทุมธานี-บางไทร (ทล.347) ได้อีกเช่นกัน

          หรือถ้าหากต้องการเดินทางไปทางด้านตอนใต้ ก็สามารถใช้ถนนกาญจนาภิเษก ตรงไปข้ามถนนบรมราชชนนี ที่บริเวณต่างระดับฉิมพลี เพื่อไปบางแค บริเวณตัดกับถนนเพชรเกษม และเมื่อวิ่งต่อไปก็จะพบจุดตัดกับถนนพระราม 2 ที่บางขุนเทียน ต่อจากต่างระดับบางขุนเทียนไปแล้วจะเป็นถนนที่เรียกว่า ถนนวงแหวนด้านใต้-พระประแดง ซึ่งปัจจุบันได้ทำการก่อสร้างเสร็จแล้วบางส่วน คือ ช่วงจากถนนบางขุนเทียน-พระประแดง มีระยะทาง 12.00 กิโลเมตร ซึ่งถนนในช่วงดังกล่าวนี้เป็นทางยกระดับตลอดสาย โดยขณะนี้ถนนพระประแดงจะวิ่งมาบรรจบกับถนนบางนา-ตราด บริเวณกิโลเมตรที่ 9 บริเวณถนนวงแหวนตะวันออก และจะมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ (2550)

          สำหรับการเดินทางไปทางด้านตะวันตกนั้น ในขณะนี้ยังต้องเดินทางเชื่อมต่อไปยังถนนบรมราชชนนี หรือถนนสายปทุมธานี-บางเลน (ทล.346) ก่อน แต่ในอนาคตการเดินทางไปทางด้านตะวันตกนั้น จะสามารถเดินทางได้โดยตรงจากถนนรัตนาธิเบศร เข้าทางหลวงพิเศษระหว่าง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-บ้านโป่ง ได้ทันที ซึ่งทำให้การเดินทางสู่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี หรือเพชรบุรี รวมทั้งการเดินทางสู่ภายใต้ของประเทศ ก็จะสามารถเดินทางได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดแนวไว้แล้ว คาดว่าคงจะเริ่มการก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้

          ส่วนการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางธุรกิจ ก็สามารถเดินทางได้โดยสะดวกโดยการใช้เส้นทางของทางด่วนขั้นที่ 2 (สายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ-บางปะอิน) บริเวณด่านงามวงศ์วาน หรือเดินทางโดยใช้ถนนราชพฤกษ์ ต่อด้วยถนนตากสิน-เพชรเกษม เพื่อข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (สะพานสาทร) เข้าสู่ใจกลางของย่านพาณิชยกรรม ทั้งย่านสาทร สีลม เพลินจิต สุขุมวิท ปทุมวัน ฯลฯ ได้อย่างสะดวกสบาย

          นอกจากความสะดวกในการคมนาคมแล้ว ในบริเวณถนนรัตนาธิเบศร ยังได้รับการพัฒนาในด้านระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นอย่างดี ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรคมนาคม รวมทั้งระบบบริการสาธารณะที่ดี ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ทั้งนี้โดยเฉพาะระบบน้ำประปานั้น ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ขึ้น และเปิดใช้เป็นทางการไปแล้วนั้น ช่วยให้การบริการของระบบน้ำประปา ในบริเวณฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพียงพอสำหรับการขยายตัวของชุมชน

          ซึ่งส่งผลให้ย่านถนนรัตนาธิเบศรและส่วนต่อเนื่องกลายเป็นย่านที่ได้รับความสนใจในการลงทุน ด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องนับจากที่ถนนเส้นนี้เปิดให้ใช้เป็นต้นมา โดยทำเลที่ติดกับถนนใหญ่ จะได้รับการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรในระดับต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี เป็นต้น ทำให้ความเจริญในย่านดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสังเกตได้จากทั้งสองฝั่งถนนที่เต็มไปด้วยจุดให้บริการต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณะและด้านพาณิชยกรรม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนั้นยังมีการเปิดดำเนินกิจการของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ศูนย์การค้าย่านงามวงศ์วาน และติวานนท์ ซึ่งมีทั้ง เดอะมอลล์ เทสโก้โลตัส คาร์ฟูร์ พันธุ์ทิพย์ บิ๊กซี ฯลฯ และอีกจุดหนึ่งที่มีแหล่งการค้าเกิดขึ้นก็คือ บริเวณก่อนขึ้นสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลาย ๆ ห้างด้วยกัน เช่น เซนทรัล โรบินสัน คาร์ฟูร์ ฯลฯ นอกจากนี้แล้วในเขตบางใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่รับความสนใจทางด้านการลงทุนเพื่อบริการด้านพาณิชยกรรม เนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นอย่างหนาแน่น ทั้งบิ๊กซี คาร์ฟูร์ เทสโก้โลตัส บางใหญ่ซิตี้ ฯลฯ

          ทั้งนี้จึงถือได้ว่า ถนนรัตนาธิเบศร เป็นจุดหลัก สำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมตลอดเส้นทางแล้ว บริเวณที่มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่ากันและอยู่ในแนวต่อเนื่องซึ่งได้แก่ ถนนท่าอิฐ ถนนชัยพฤกษ์ (เส้นเชื่อมถนนรัตนาธิเบศรกับถนนสาย 345 และถนนแจ้งวัฒนะ) และถนนราชพฤกษ์ รวมทั้งถนนนครอินทร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบริเวณที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นบริเวณที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนที่มีความเจริญ มีความพร้อมด้านที่พักอาศัยและด้านพาณิชยกรรมในระดับต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นจำนวนมาก รวมทั้งความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค ระบบการขนส่งและคมนาคมที่ดี จึงทำให้ได้รับการลงทุนเพื่อพัฒนาให้เป็นโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

          นอกจากเส้นทางสายใหม่ ๆ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นจะเป็นที่ต้องการของนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ตามที แต่ในขณะเดียวกันแนวต่อเนื่องของถนนรัตนาธิเบศรในเส้นทางเดิม ก็ยังคงอยู่ในความสนใจและความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทั้ง ถนนงามวงศ์วาน ถนนติวานนท์ ถนนนนทบุรี 1 ถนนสนามบินน้ำ ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนเต็มรัก ถนนบ้านกล้าย-ไทรน้อย และถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งตลอดแนวของเส้นทางเหล่านี้ยังคงมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นจำนวนมาก

          ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ถนนรัตนาธิเบศร และส่วนต่อเนื่อง เป็นย่านที่ได้รับการพัฒนาทั้งด้านการคมนาคม และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งระบบการบริการสาธารณะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่ได้รับความสนใจในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้หากในอนาคตอันใกล้ โครงการขนส่งมวลชนระบบรางสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซึ่อ) ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้อย่างแน่นอนเป็นทางการ ย่อมจะส่งผลให้บริเวณดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจในการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว การก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแหงใหม่ (โครงการสะพานนนทบุรี 1) พร้อมถนนเชื่อมต่อ (ถนนสายราชพฤกษ์-วัดโบสถ์ดอนพรหม-นนทบุรี 1) ซึ่งมีระยะทางรวม 4.30 กิโลเมตร ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ (2550) ย่อมจะส่งผลให้ศักยภาพในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในบริเวณถนนรัตนาธิเบศร และส่วนต่อเนื่องมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของที่ดินในบริเวณดังกล่าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 
Area Trebs
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่