ปัจจุบันประเมินค่าทรัพย์สินเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจดำเนินการในด้านต่าง
ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีมูลค่าสูง
การตัดสินใจบนพื้นฐานที่ถูกต้องในแง่มูลค่า จะทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
การใช้ประโยชน์ทางด้านการประเมินค่าทรัพย์สินปัจจุบันมีมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย การลงทุน การร่วมทุน
การจำนอง จำนำ การเช่า การเวนคืน คิดภาษี การแบ่งมรดก
หรือแม้แต่ในปัจจุบันหนี้ NPLs ทั้งหลายที่ใช้ในการตั้งสำรอง
การโอนชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฯลฯ
ก่อนอื่นผมก็เรียนถึงประวัติความเป็นมาของ
วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในบ้านเราก่อน โดยความเป็นมาสามารถแยกกล่าวถึงได้เป็น
2 ส่วนคือ ในภาครัฐ กับภาคเอกชน โดยในภาครัฐ ได้มีการริเริ่มเมื่อประมาณปี
2527 (18 ปีที่แล้ว) โดยหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ได้แนะนำให้จัดตั้งหน่วยงานประเมินราคากลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ใช้ฐานมูลค่าอสังหาริมทรัพย์
โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สินซึ่งจัดเก็บโดยหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อคนในท้องถิ่นนั้น
ๆ แทนการใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลาง ผลจากนโยบายดังกล่าว
ทำให้มีการจัดตั้ง "สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินแห่งชาติ" ขึ้นโดยให้อยู่ในการดูแลของกรมที่ดิน
กระทรวงมหาดไทย
และจากการดำเนินงานโครงการพัฒนากรมที่ดินและเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศของกรมที่ดิน
ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลออสเตรเลีย (AusAID) และการสนับสนุนด้านเงินกู้จากธนาคารโลก
(World Bank) ได้ตระหนักถึงความสำคัญจึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับ
สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน โดยกำหนดให้สำนักงานแห่งนี้เป็นผู้นำในการพัฒนาวิชาชีพการประเมินมูลค่าทรัยพ์สินของประเทศ
โดยได้สนับสนุนในการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านการประเมินราคาทรัพย์สินที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ
ในปี 2530 พร้อมให้ทุนการศึกษาแก่ข้าราชการของกรมที่ดิน ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้รับความสนใจจากข้าราชการกรมที่ดินอย่างมาก
ในภาคเอกชน ได้มีการริเริ่มโดยการจัดตั้งบริษัทประเมินราคาทรัพย์สินแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปี
2517 (ค.ศ.1974) ชื่อ Asian Appraisal Co.,Ltd (บริษัทต่างประเทศ คือ American Appraisal
Co.,Ltd ถือหุ้น 49% และมีบริษัทไทยถือหุ้น 51% ได้แก่ บริษัท ทิสโก้ จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารกสิกรไทย และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) แต่ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก
บริษัทประเมิน
ได้มีการเริ่มกิจกรรมอย่างจริงจังเกิดขึ้นในช่วงปี
2529 ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เริ่มให้บริษัทประเมินภายนอกเป็นผู้รับจ้างทำการประเมินให้กับลูกค้าขอสินเชื่อ
จึงถือเป็นยุคเริ่มต้นของบริษัทประเมิน โดยมีบริษัทประเมินหลายแห่ง
ได้เริ่มทำการประเมินราคาหลักประกันให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์
เช่น บจก.อเมริกัน แอพเพรซัล, บจก.ไซมอนลิม,
บจก. ทีมดี เป็นต้น จากนั้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
ได้มีจำนวนบริษัทที่ประกอบการด้านการประเมินราคาทรัพย์สินมากขึ้นเป็นลำดับ
โดยเฉพาะช่วงปี 2538-39 ที่มีประมาณ 60 แห่ง
แต่ได้ลดน้อยลงในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากปี
2540 เป็นต้นมา ได้มีบริษัทประเมินเกือบครึ่งที่เลิกกิจการไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 43-44 ก็ได้มีเกิดบริษัทประเมินอีกหลายสิบแห่ง
นับถึงที่ปัจจุบันที่แจ้งรายชื่อมายังสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
รวมจำนวน 62 แห่ง ปัจจุบันบริษัทประเมินฯ จะมีนักประเมินตั้งแต่
10-200 คน
ทางด้านการควบคุมดูแล ในปี
2529 ได้มีการก่อตั้ง "สมาคมผู้ประเมินราคาทรัพย์สินแห่งประเทศไทย" (VALUERS
ASSOCIATION OF THAILAND : VAT) โดยการรวมตัวของบริษัทประเมินที่ทำงานให้กับ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรมและพัฒนาวิชาชีพ
และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกเกือบ
2,000 คน โดยเป็นพนักงานในบริษัทประเมินเอกชนประมาณ
1,234 คน (ที่ยังมีสมาชิกภาพอยู่ในปัจจุบัน)
ส่วนที่เหลือในภาครัฐ ซึ่งมาจากบริษัทเอกชนประมาณ
60 แห่ง, สถาบันการเงิน, สถาบันการศึกษา และข้าราชการจากกรมที่ดิน
เป็นต้น
ปัจจุบันสมาคมมีบทบาทหลักในการควบคุมดูแล
กลั่นกรอง นักประเมิน และบริษัทเอกชน ในการทำงานวิชาชีพให้กับผู้ใช้บริการ
เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ดูแลสถาบันการเงินซึ่งเป็นงานหลักของบริษัทประเมินต่าง
ๆ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(กลต.) ในกรณีประเมินค่าให้บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์
(ปัจจุบัน กลต. ได้รับรองไว้ 27 บริษัท คราวละ
2 ปี update ได้ที่ http://www.sec.or.th) นอกจากนี้ยังมี
กรมการประกันภัย กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ
เป็นต้น
นอกจากนี้ในปี
2539 ได้มีการก่อตั้ง สมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย
(THAI VALUERS ASSOCIATION : TVA) ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง
โดยเป็นการรวมตัวของภาคเอกชนเป็นหลัก มีบทบาทที่คล้ายคลึงกัน
ทางด้านการศึกษา ในช่วงแรก
ผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้งภาครัฐและเอกชน
ส่วนใหญ่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาโดยตรงในสาขาประเมินราคาทรัพย์สิน
เพียงแต่เป็นสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐศาสตร์
บริหารธุรกิจ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
เป็นต้น เนื่องจากขณะนั้นยังมีสถาบันการศึกษาเปิดสอนหลักสูตรทางด้านการประเมิน
ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ
เพียงแห่งเดียว (ปี 2530) แต่ในช่วงต่อมาในปี
2538 กรมที่ดินร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอน "หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน
(Graduate Diploma Program in Property Valuation:
GPV )" ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยรับผู้สำเร็จปริญญาตรีทุกสาขาเข้าเรียนในหลักสูตรดังกล่าวระยะเวลา
1 ปี ในการนี้ได้เชิญอาจารย์จากประเทศออสเตรเลียมาร่วมบรรยาย
ปัจจุบันจบการศึกษาไปแล้ว 5 รุ่น จำนวนประมาณ
400 คน และในปี 2544 ได้เปิดการสอนในระดับปริญญาโททางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รุ่นแรก
โดยมีเมเจอร์ ทางด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน
เป็น 1 ใน 3 เมเจอร์ที่เปิดสอน (Property Valuation,
Property Investment, Property Management) และในปี
2545 นี้กำลังจะเปิดในรุ่นที่ 2
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีมหาวิทยาลัยรามคำแหง,
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เปิดสอนในเรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินในระดับปริญญาตรี
เป็นวิชาโทหรือวิชาเลือก รวมทั้งมีบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจฝึกอบรมทางด้านประเมินราคาทรัพย์สิน
เช่นที่ Agency for Real Estate Affairs เองก็ได้มีการจัดอบรมมาตั้งแต่ปี
2538 มาแล้วถึง 28 รุ่น มีเข้ารับการอบรมประมาณ
1,100 คน
ทั้งหมดข้างต้นเป็นภาพรวมคร่าว
ๆ ถึงพัฒนาการทางด้านการประเมินค่าทรัพย์สินเกือบ
20 ปีในบ้านเรา |