ทุกวันนี้มีเสียงเรียกร้องให้มีการประกันภัยความผิดพลาดทางวิชาชีพในด้านการประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทย
คือถ้าประเมินผิดต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ว่าจ้าง
อย่างไรก็ตามข้อนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
เพราะฝ่ายหนึ่งก็ว่าค่าจ้างนิดเดียวจะให้ประกันความเสี่ยงเป็นล้าน
ๆ ได้ไง อีกฝ่ายก็ว่าถ้าไม่ใช่มืออาชีพก็ถอยไป
เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเดี๋ยวนี้ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์
(ธอส) เขาเป็นคนริเริ่มจัดการประกันความเสี่ยงแล้ว โดยให้บริษัทประเมินแต่ละแห่งจ่ายเบี้ยประกันปีละประมาณ
70,000 บาทโดยมีวงเงินประกันประมาณ 30,000,000 บาท กรณีนี้ต้องยกประโยชน์ให้ ธอส.
ธอส. เป็นผู้นำเสมอในการประเมินค่าทรัพย์สิน โดยนับแต่ปี 2530 ที่คุณกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล
เป็นกรรมการผู้จัดการ ท่านก็ทำให้ ธอส. เป็นธนาคารแห่งแรกที่ใช้บริษัทประเมินภายนอก
ทำให้บริษัทประเมินมีสิทธิเกิดก็ครั้งนั้น
การประกันภัยอาจช่วยพัฒนาวิชาชีพให้มีมาตรฐานทางหนึ่ง
แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นต้นทุนที่สูงมากเหมือนกัน ผมเดินทางไปพบนักประเมินออสเตรเลียเมื่อ
2 ปีก่อน เขาก็บ่นเรื่องการประกันภัยชนิดนี้ บอกว่า หาค่าจ้างไม่ค่อยคุ้มกับเบี้ยประกัน
หลายรายเลิกอาชีพประเมินไปเป็นนายหน้าสบายใจกว่า!
ที่อเมริกาในปัจจุบันที่ผมไปประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคมทีผ่านมา
พบว่า โปรแกรมที่ถูกที่สุดก็คือการประกันภัยทรัพย์สินประเภทที่อยู่อาศัย โดยนักประเมินแต่ละคนจ่ายเบี้ยประกัน
คนละ US$375 (15,000 บาท) สามารถคุ้มครองได้ในวงเงินสูงสุดถึง 12,000,000 บาท ยิ่งถ้าในแต่ละบริษัทมีนักประเมินมากกว่า
1 ราย เบี้ยประกันก็ยิ่งถูกลงอีก ที่เบี้ยประกันถูกก็เพราะบริษัทประกันแห่งนี้ตั้งมาแต่ปี
2520 รับประกันนักประเมินไว้เกือบ 40,000 คนหรือราว 60% ของนักประเมินทั่วสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทประกันแห่งนี้กำลังจะขึ้นราคาเบี้ยประกัน
เพราะนักประเมินในอเมริกาเขาทำผิดจนต้องถูก sue (ฟ้อง) กันเป็นว่าเล่นถึงสัปดาห์ละ
3-4 ราย!! อันนี้อาจเป็นผลที่ไม่คาดหวัง คงเหมือนแท็กซี่บ้านเรานะครับ คือพอมีประกันก็ขับกันแบบไม่ยั้งคิดไปเลยจนรถจอดอยุ่เต็มอู่ซ่อมไปหมด
ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม
โปรดดูได้ใน www.liability.com
ข้อควรคิดของนักประเมินต่อความเสี่ยงต่อความผิดพลาดของงานเป็นดังนี้
1. เก็บไฟล์ไว้โดยคิดไว้ก่อนว่าอาจถูกฟ้อง:
เก็บหลักฐานต่าง ๆ ให้ครบถ้วน จำไว้ว่า: งานประเมินของคุณอาจถูกฟ้องได้ในเวลา 2,
3 หรือ 4 ปีข้างหน้า
2. จัดงานธุรการให้ดี: อ่านทวนรายงานก่อนส่ง
เพราะงานประเมินจำนวนมากที่ถูกฟ้องมักเป็นผลมาจากการพิมพ์ที่ผิดพลาด
3. อย่าทำงานนอกพื้นที่ที่คุณถนัดหรือเกินความสามารถของคุณ:
ถ้าพบว่าตนเองตกอยู่ในปัญหา รีบหาความช่วยเหลือด่วน จำไว้ว่า: เงินที่ต้องแบ่งให้นักประเมินอื่นที่ถนัดกว่าและช่วยเราได้
ต่ำกว่าเงินค่าทนายในวันที่เราถูกฟ้อง
4. ใช้ข้อจำกัดในการประเมินที่ร่างอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
เพราะโดยมากศาลมักพิจารณาข้อจำกัดนี้หากถูกร่างมาอย่างถูกต้องจากการจ้างนักกฎหมายให้ดำเนินการร่างให้เท่านั้น
5. ทำให้ข้อจำกัดในการประเมินของคุณมีประสิทธิผลที่สุด
โดยมีการนำเสนอต่อลูกค้าอย่างชัดเจน ใส่ไว้ในหน้าแรก ๆ ของรายงานไม่ใช่ซ่อนไว้ด้านหลัง
และพยายามให้ได้รับความเห็นชอบจากลูกค้าก่อนเริ่มงาน
6. ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด คนที่ให้ข้อมูลแก่เราจะน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด
เพื่อความไม่ประมาทเราก็ต้องตรวจทาน
7. ถ่ายรูปภายในอาคารไว้บ้าง:
(สงสัยนักประเมินสหรัฐอเมริกามักถ่ายแต่ภายนอก!!) เพื่อว่าเมื่อถูกฟ้องเราจะได้บรรยายสภาพถูก
และช่วยรื้อฟื้นความจำของเรา
8. เผยแพร่รายงานของคุณให้จำกัดที่สุด:
แม้แต่ลูกค้าของคุณก็ควรจำกัดไม่ให้เผยแพร่รายงานออกไปโดยที่คุณไม่ได้รับรู้ด้วย
9. ก่อนจ้างนักประเมินใหม่ ต้องตรวจสอบคุณสมบัติและประสบการณ์ให้ดี:
ตรวจสอบผู้รับรอง และตัวอย่างรายงานด้วย
10. เข้าร่วมประชุมสมาคมอย่างต่อเนื่อง:
การไม่รู้พัฒนาการใหม่ ๆ ในวงการ เป็นข้ออ้างว่า "หนูไม่รู้" ไม่ได้ในศาล!
ถึงแม้ขณะนี้เรายังไม่มีระบบประกันภัย
แต่ข้อคิดทั้ง 10 ข้างต้นก็เป็นสิ่งที่เราพึงสังวรณ์ |