แห่ขอใบอนุญาตตึกสูงหนีผังเมือง
เดือนพฤษภาคมทุบสถิติ630ราย
ประชาชาติธุรกิจ 12 มิถุนายน 2549 หน้า 9
 
สรุปสาระข่าว
 
         จัดสรรแห่ขอใบอนุญาตสร้างอาคารทิ้งทวนผังเมืองใหม่กทม. เผยพฤษภาคมเดือนเดียวยอดขอสร้างตึกสูงพุ่ง 295 ใบ วันสุดท้ายผังเมืองเก่า "16 พฤษภาคม" ทุบสถิติจำนวน 106 ใบ กทม.ทำหนังสือหารือกฤษฎีกาด่วน ปัญหาข้อกฎหมายช่วงคาบเกี่ยววันขออนุญาตจะใช้บังคับตามกฎหมายผังเมืองเก่าหรือใหม่
 
ข้อคิดเห็น
 
         ทาง กทม.หวังจะแก้ไขปัญหาความหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยการทำให้บ้านเมือง "หลวม" แต่นี่ปรากฎว่า มีผู้ขออนุญาตล่วงหน้าไว้ก่อนอย่างนี้ ก็ไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของผังเมือง น่าเสียดาย
         แต่อีกนัยหนึ่ง การที่ผังเมืองออกมาอย่างนี้แล้วมีผู้ฝ่าฝืนหรือพยายามทำอย่างอื่น ก็อาจแสดงว่า ผังเมืองหรือกฎหมายที่ออกมาอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สมควรทบทวนอยู่เช่นกัน
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
แห่ขอใบอนุญาตตึกสูงหนีผังเมือง เดือนพฤษภาคมทุบสถิติ630ราย
         
จัดสรรแห่ขอใบอนุญาตสร้างอาคารทิ้งทวนผังเมืองใหม่กทม. เผยพฤษภาคมเดือนเดียวยอดขอสร้างตึกสูงพุ่ง 295 ใบ วันสุดท้ายผังเมืองเก่า "16 พฤษภาคม" ทุบสถิติจำนวน 106 ใบ กทม.ทำหนังสือหารือกฤษฎีกาด่วน ปัญหาข้อกฎหมายช่วงคาบเกี่ยววันขออนุญาตจะใช้บังคับตามกฎหมายผังเมืองเก่าหรือใหม่

         แหล่งข่าวจากสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้สำนักผังเมืองกำลังทำหนังถือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความชัดเจนเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ทวิ ว่าจะมีแนวทางปฎิบัติอย่างไร กรณีผู้ประกอบการมายื่นขออนุญาตก่อสร้างก่อนที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน

         "ประเด็นคือ มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องพัฒนาที่ดินตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองฉบับใหม่หรือยังอยู่ในข่ายของผังเมืองฉบับเดิม เพราะก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความมาแล้วในกรณีที่คล้ายๆกัน คือเมื่อขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิแล้วต้องใช้ประโยชน์ที่ดิน ถึงจะยังไม่เข้าข่ายผังเมืองใหม่ ส่วนที่ยังไม่ได้พัฒนาต้องเข้าข่ายตามผังเมืองใหม่ มีอยู่ประมาณกว่า 200-300 ราย"

         แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจน สำนักผังเมืองจึงต้องทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ตีความว่าแนวทางปฎิบัติจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งในทางปฏิบัติ น่าจะอนุโลมหรือยกประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไป เพราะมายื่นขออนุญาตก่อนที่ผังเมืองรวมฉบับใหม่บังคับใช้ ทั้งนี้ ปกติการขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างได้เลย

         "ตอนนี้มีปัญหาคาราคาซังเรื่องวันที่มีผลบังคับใช้ เพราะราชกิจจานุเบกษาออกมาเมื่อตอนเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีผลบังคับใช้ได้เลยหรือมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป จึงทำให้ทางผังเมืองกับสำนักการโยธาเข้าใจไปคนละทิศละทางกัน ทางโยธาฯ ตีความว่ามีผลบังคับใช้วันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่ผังเมืองเข้าใจว่าบังคับใช้ตั้งแต่เย็นวันที่ 16 พฤษภาคมเลย"

         แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการมายื่นขออนุญาตก่อสร้างจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นเพราะผู้ประกอบการต้องการหนีผังเมืองฉบับใหม่ ที่เข้มงวดจนทำให้ผู้ประกอบการอาคารขนาดใหญ่ ประเภทอาคารชุดพักอาศัย อาคารอยู่อาศัยรวม หอพัก อพาร์ตเมนต์ เมื่อก่อสร้างแล้วได้พื้นที่อาคารน้อยลง ทำให้ต้องรีบมาขออนุญาตก่อนที่ผังเมืองฉบับใหม่จะประกาศใช้

         "จากสถิติเฉพาะเดือนพฤษภาคม ระหว่างวันที่ 1-16 ก่อนที่ผังเมืองรวมฉบับใหม่ประกาศใช้ มียอดขออนุญาตก่อสร้างอาคารถึง 295 ราย มานักสุดวันที่ 10, 15 และ 16 เฉพาะยอดวันที่ 16 วันเดียว ช่วงวินาทีสุดท้ายก่อนที่ผังเมืองรวมจะประกาศในราชกิจจาตอนเย็น มียอดขออนุญาตถึง 106 ราย เป็นยอดที่ทุบสถิติของแต่ละเดือนที่ผ่านมา"

         แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ยอดขออนุญาตก่อสร้างอาคารในเดือนมกราคม มีจำนวน 42 ราย เดือนกุมภาพันธ์ 60 ราย เดือนมีนาคม 81 ราย เดือนเมษายน 42 ราย เมื่อรวมยอดขออนุญาตก่อสร้างอาคารตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม มีจำนวน 630 ราย ส่วนใหญ่เป็นการขออนุญาตก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยรวม สำนักงาน อาคารชุดพักอาศัย ขนาด 5-8 ชั้น และพื้นที่ที่ขออนุญาตมากที่สุดเป็นถนนสุขุมวิท เป็นต้น

         "ตอนนี้ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ผู้ประกอบการที่มาขออนุญาตช่วงหลังๆ ก่อนที่ผังเมืองใหม่จะประกาศใช้นี้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ผังเมืองใหม่หรือผังเมืองเก่า ต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตี ความกลับมาก่อน"