ผังเมืองกทม.เลื่อนยาว1ปี อสังหาฯได้ทีเร่งเนรมิตโครงการ
ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 28 ฉบับที่ 3662 (2862) วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
         กทม.ขอต่ออายุผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันออกไปอีก 1 ปี เหตุจากกฎกระทรวงผังเมืองรวมฉบับใหม่ส่อแววเสร็จไม่ทันประกาศใช้เดือนกรกฎาคม 2548 ดีเวลอปเปอร์ตีปีกมีเวลายื่นขออนุญาตก่อสร้าง-จัดสรรล่วงหน้าอีกนานกว่ากฎหมายใหม่ที่คุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเข้มกว่าเดิมจะประกาศบังคับ ด้านนักวิชาการส่ายหน้า หวั่นนักลงทุนฉวยโอกาสพัฒนาแบบไร้ทิศทาง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบื้องหลังผังเมืองกทม.ล่ม ทุนการเมืองทรท.ขวางลำ
 
 
ข้อคิดเห็น
         ผังเมืองหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2545 นี่ก็เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ปล่อยให้ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" แล้วจะดีต่อประเทศชาติหรือ บางครั้งธุรกิจกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจก็แบ่งกันด้วยเส้นด้ายเพียงเส้นเดียว
 
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         นายยลโชค สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากที่ กทม.ได้ขอขยายอายุกฎกระทรวงร่างผังเมืองรวม กทม. ฉบับที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 นี้ เนื่องจากกฎกระทรวงผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ยังดำเนินไม่เสร็จเรียบร้อย ล่าสุดได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อขอขยายอายุการบังคับใช้ผังเมืองรวมฉบับเดิมต่อไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนกรกฎาคม 2549 เนื่องจากมีแนวโน้มว่าร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่อาจจะประกาศใช้ไม่ทันกำหนด
         "สาเหตุที่ขอขยายอายุผังเมืองรวม กทม.ฉบับปัจจุบันออกไปอีก เป็นการกันเหนียวไว้ก่อน เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ถ้าไม่ขอต่ออายุออกไปอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง และเกิดช่วงสุญญา กาศขึ้นได้ ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังทำเรื่องเสนอให้บอร์ดผังเมืองพิจารณา"
         นายยลโชคกล่าวว่า ร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับปรับปรุงใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ผังเมือง และฝ่ายกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยแล้ว
         "มีบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหา เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี มีข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมการใช้ที่ดิน ในข้อ 38 ว่า จะต้องมีการแจ้งการขอใช้ประโยชน์หรือไม่ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า ต้องแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้ดูว่าการพัฒนาจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ จากเดิมไม่ต้องแจ้ง ในส่วนนี้ สำนักนายกฯติงว่าควรพิจารณาให้รอบคอบว่าจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตหรือไม่ หากมีปัญหาก็อาจจะตัดทิ้ง โดยจะหารือกับกฤษฎีกาอีกครั้ง"
         "แหล่งข่าวจากศาลาว่าการ กทม. เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่างๆ ที่เหลือ อาจจะดำเนินการได้ไม่ทันระยะเวลา 4 เดือน ก่อนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 เนื่องจากแต่ละขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ช่วง 1 ปีที่ กทม.ต่ออายุผังเมืองฉบับปัจจุบันออกไป จะไม่มีการปรับปรุงแก้ไข เพราะถือว่าได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ถ้าจะแก้ไขก็ให้ประกาศใช้ก่อน แล้วขอแก้ไขภายหลัง
         นายพนิช วิกิตเศษฐ์ รองผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและการคลัง กทม.ขึ้น ทำหน้าที่คล้ายๆ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ของกระทรวงการคลัง โดยให้เป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ และรวบรวมฐานข้อมูลต่างๆ ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนารายได้ของ กทม. และให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการเงิน การคลัง บัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีทรัพย์สินของ กทม.ทั้งหมด โดยมีนายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการนั้น
          ขณะนี้คณะกรรมการชุดนี้กำลังศึกษาแนวทางในการจัดเก็บรายได้จากภาษีต่างๆ อาทิ ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ฯลฯ โดยจะมีการทบทวนอัตราภาษีใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะกำหนดโซนพื้นที่เป็น 12 กลุ่มเขต ตามภารกิจจัดแบ่งกลุ่มพื้นที่การบริหารจัดการเมือง และสภาพทางภูมิศาสตร์ จากนั้นจะกำหนดอัตราภาษีตามความเหมาะสมแต่ละโซน
         หลังดำเนินการเสร็จเรียบร้อย กทม.มีแนวคิดจะนำมาตรการในเรื่องภาษี และสิทธิพิเศษ บรรจุไว้ในผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ด้วย เพื่อจะได้ใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจูงใจให้เจ้าของที่ดินและเอกชนให้พัฒนาโครงการที่สอด คล้องกับทิศทางภายใต้กรอบที่ผังเมืองกำหนด อย่างพื้นที่นอกเมือง หากต้องการจะให้มีการพัฒนาเพื่อลดความแออัดของเมือง ก็จะให้สิทธิประโยชน์ในแง่ของการก่อสร้าง อาจลดอัตราภาษีให้เพื่อให้เมืองขยายตัวสู่รอบนอก ส่วนพื้นที่ชั้นในก็เก็บภาษีในอัตราเดิม หรือพื้นที่ติดประตูสู่เมืองสุวรรณภูมิ ที่จะมีสนามบินแห่งใหม่ ก็จะให้สิทธิประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ เป็นต้น
         "ระหว่างที่ศึกษาอยู่ ถ้าผังเมืองฉบับใหม่ประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ ก็ให้ประกาศไป เราก็จะทำเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย เมื่อเสร็จเรียบร้อย อาจจะให้มีการแก้ไขผังเมือง แล้วค่อยนำมาตรการด้านภาษีและสิทธิประโยชน์บรรจุเข้าไป อาจจะเป็นต้นปี 2549"
         สำหรับพื้นที่ 12 กลุ่มเขต คือ 1.เขตอนุรักษ์เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ ศูนย์กลางการบริหารราชการ ย่านธุรกิจพาณิชยกรรมเฉพาะ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม มีเขตพระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ และดุสิต 2.เขตศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการและการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค มีเขตปทุมวัน สาทร บางรัก และวัฒนา
         3.เขตเศรษฐกิจใหม่ แหล่งจ้างงาน ย่านการค้าบริการและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีเขตจตุจักร บางซื่อ พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง และราชเทวี 4.เขตเศรษฐกิจใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับการขยายตัวของย่านซีบีดีเดิมและวงแหวนอุตสาหกรรม มีคลองเตย บางคอแหลม ยานนาวา พระโขนง และบางนา 5.เขตอนุรักษ์เมืองเก่าธนบุรี แหล่งวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม มีธนบุรี บางกอกใหญ่ คลองสาน บางกอกน้อย และบางพลัด
         6.เขตเศรษฐกิจการจ้างงานใหม่และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากรองรับศูนย์คมนาคมด้านใต้ ศูนย์ธุรกิจพาณิชยกรรม และศูนย์ราชการของกรุงเทพ มหานครด้านตะวันตก มีภาษีเจริญ จอมทอง และราษฎร์บูรณะ 7.เขตที่อยู่อาศัยรองรับการขยายตัวของเมือง ด้านตะวันออกตอนเหนือ มีบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม และลาดพร้าว
         8.เขตที่อยู่อาศัยรองรับการขยายตัวของเมืองด้านตะวันออกตอนใต้ มีเขตบางกะปิ คันนายาว วังทองหลาง บึงกุ่ม สะพานสูง และสวนหลวง 9.เขตเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยสภาพแวดล้อมดี มีคลองสามวา และหนองจอก 10.เขตศูนย์ชุมชนชานเมืองรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ มีลาดกระบัง มีนบุรี และประเวศ 11.เขตเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยสภาพแวดล้อมที่ดี ผสมผสานพื้นที่เกษตร กรรม มีทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค และหนองแขม 12.เขตเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มีบางขุนเทียน บางบอน และทุ่งครุ
         รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหะการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คิดว่า กทม.น่าจะประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ให้ทันตามกำหนดเดิม ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลื่อนการประกาศใช้ออกไป เนื่องจากการพิจารณาเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเลื่อนบังคับใช้ออกไป เชื่อว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาเมืองอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้การพัฒนาเป็นไปแบบไร้ทิศทาง ไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากผู้ประกอบการจะเร่งขออนุญาตก่อสร้าง ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้ล่วงหน้า
         "ผมว่าน่าจะประกาศใช้ได้ทัน ยกเว้นมีเงื่อนไขบางประการเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องไปถามนักการเมืองในซีกรัฐบาล ว่ามีอะไรหรือเปล่า" รศ.มานพกล่าว
         ด้านนายประสงค์ เอาฬาร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นว่า หากผังเมืองฉบับใหม่เลื่อนประกาศใช้ออกไปอีกระยะหนึ่ง น่าจะมาจากที่รัฐบาลได้ประกาศก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค และระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น โดยใช้งบประมาณประมาณ 5 แสนล้านบาท ประกอบกับมีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินกันใหม่ ให้เกิดความสอดคล้องและเหมาะสม ถือเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ เพราะร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่คุมเข้มการใช้ประโยชน์ที่ดินมากเกินไป
         "เท่าที่ติดตามดูการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสนามบินใหม่ ผมเห็นว่าบางโครงการของรัฐบาลที่ประกาศจะทำยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนยังเป็นคอนเซ็ปต์อยู่เลย" นายประสงค์กล่าว
         สอดคล้องกับความเห็นของนายโชคชัย บรรลุทางธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่มองว่า สาเหตุที่ทำให้การบังคับใช้ผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่ล่าช้า เป็นเพราะทิศทางการพัฒนาเปลี่ยน แปลงไปจากเดิม ที่เน้นพัฒนาในโซนเหนือ แต่ปัจจุบันการพัฒนาจะกระจุกตัวอยู่ในโซนตะวันออกมากขึ้น
         "มีความเป็นไปได้ว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งการขยายตัวของเมืองในอนาคต ทำให้ต้องมาพิจารณาใหม่" นายโชคชัยกล่าว