ชงครม.ขอ1.3พันล้าน เช่าตึกสหรัฐ
มติชนรายวัน ฉบับที่ 9767 วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27
ที่นิวยอร์ค10 ปีขายโอท็อป ผู้ส่งออกหวั่นถลุงงบหลวง
 
สรุปสาระข่าว
 
         ก.พาณิชย์เตรียมเสนอ ครม.ของบฯกว่า 1.3 พันล้านบาท เช่าอาคารย่านฟิฟท์ อเวนิว ที่นครนิวยอร์ก นานถึง 10 ปี เพื่อตั้งไทยแลนด์พลาซ่า นำสินค้าไทยไปโชว์-ขาย หวังเจาะตลาดสหรัฐมากขึ้น
 
ข้อคิดเห็น
 
         อย่าลืมประเมินค่าทรัพย์สินก่อนนะครับเพื่อความมั่นใจในการเจรจาซื้อ-ขาย โปรดดูจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 

         รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 ธันวาคม นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้ ครม.พิจารณาการจัดตั้งไทยแลนด์ พลาซ่า(Thailand Plaza) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น และรองรับยุทธศาสตร์การเจาะลึกและขยายตลาด โดยจะเช่าอาคารเลขที่ 529 ฟิฟท์ อเวนิว(Fifth Avenne) ในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 28,840 ตารางฟุต ระยะเวลาเช่า 10 ปี โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายเมื่อคิดจากระยะเวลาเช่า 10 ปี เป็นค่าเช่ารวม 1,230,992,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 136,214,731 บาท และค่าภาษีต่างๆ 73,934,224 บาท รวมเป็นงบประมาณเบื้องต้น 1,371,140,955 บาท
         ข่าวแจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะจัดตั้งไทยแลนด์ พลาซ่า และไทยแลนด์ มาร์เก็ต เพลส(Thailand Market Place-TMP) ที่สหรัฐอเมริกาหลายแห่ง เฉพาะที่นิวยอร์ก มี 2 แห่ง คือ อาคารฟิฟท์ อเวนิว ซึ่งจะเน้นการจัดแสดงสินค้าอาหารและของใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน รวมถึงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(โอท็อป) สปา และสินค้าแฟชั่น รวมทั้งจะให้สำนักงานของหน่วยงานต่างๆ ของไทย เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มาเช่าพื้นที่อยู่รวมกันด้วย คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2548 และอีกแห่งที่จะเปิดในนิวยอร์ก คือที่อาคารย่านโซโห(SOHO) มีพื้นที่ 9,000 ตารางฟุต เน้นสินค้าแฟชั่น เครื่องหนังและอัญมณี เครื่องหนัง ธุรกิจสปา เพราะเป็นแหล่งแฟชั่นของนิวยอร์ก
         ข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้พันธมิตรในสหรัฐพบกับกับผู้ผลิต ผู้ส่งออกในไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าไปขายในไทยแลนด์ พลาซ่า โดยเฉพาะที่ถนนฟิฟท์ อเวนิว นั้น ถือเป็นถนนชื่อดังและคาดหวังว่าหากเปิดไทยแลนด์ พลาซ่า ได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถขายสินค้าในสหรัฐได้เร็วขึ้นและมากขึ้นด้วย
          ข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดไทยแลนด์ พลาซ่า ที่นครชิคาโก อีก 2 แห่ง ด้วย ซึ่งแห่งแรกมีพื้นที่ 20,000 ตารางฟุต เน้นการจัดแสดงสินค้าอาหารและของใช้ในครัวเรือน และอีกแห่งหนึ่งจะเน้นสินค้าของใช้ในครัวเรือนและสปา แต่รูปแบบของการจัดตั้งไทยแลนด์ พลาซ่า จะแตกต่างจากที่นิวยอร์ก เพราะที่ชิคาโกเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในด้านสถานที่ รัฐบาลช่วยเรื่องค่าตกแต่งและการประชาสัมพันธ์ แต่ที่นิวยอร์ก รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนเช่าสถานที่ออกค่าตกแต่ง และประชาสัมพันธ์ให้ทั้งหมด โดยกรมส่งเสริมการส่งออกจะจ้างนิตยสารไทม์ และสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเป็นผู้ประชาสัมพันธ์สินค้าไทย โครงการไทยแลนด์ พลาซ่า ให้เป็นที่รู้จักของคนในสหรัฐด้วย
         แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การเช่าพื้นที่อาคารฟิฟท์ อเวนิว นานถึง 10 ปีนั้น หลายฝ่ายยังมีความกังวลว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ต้องการของคนในสหรัฐจริง มีความเสี่ยงว่าจะคุ้มหรือไม่ ดังนั้น ทางที่ดีควรที่จะทำเป็นโครงการนำร่องก่อน 1-2 ปี หากประสบความสำเร็จค่อยขยายเวลา เพราะหากสินค้าไทยที่นำไปแสดงโชว์และวางขาย ไม่ได้รับความสนใจแล้วจะได้ไม่คุ้มเสีย เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ส่วนการที่จะแบ่งพื้นที่ให้สำนักงานของหน่วยงานต่างๆ มาอยู่รวมกันนั้น ก็เป็นแนวคิดที่ดีแต่ยังไม่รู้ว่า หน่วยงานต่างๆ นั้นมีสัญญาเช่ากับพื้นที่เดิมอีกกี่ปี หากย้ายมาจะต้องเสียค่าปรับหรือไม่
         แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดตั้งไทยแลนด์ พลาซ่า จะทยอยเปิดยังเมืองสำคัญๆ ในอีกหลายประเทศ เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยเฉพาะที่สิงคโปร์นั้นมีการศึกษาเรื่องพื้นที่แล้ว โดยจะพัฒนาพื้นที่สถานทูตไทยในสิงคโปร์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ บริเวณถนนออร์ชาร์ด แหล่งช็อปปิ้งใหญ่ของสิงคโปร์ โดยรัฐบาลไทยอาจให้เช่าพื้นที่บางส่วนแก่ผู้พัฒนาที่ดินรายหนึ่ง เพื่อปรับให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และโครงการที่อยู่อาศัย แต่รัฐบาลไทยจะไม่ขายสิทธิการถือครองที่ดินดังกล่าว เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินให้กับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2436 มูลค่า 9,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 212,000 บาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยอาจจะทำโครงการเอง โดยร่วมทุนกับเอกชนไทย
         ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่สถานทูตไทยในสิงคโปร์ 2 แนวทางคือ ปรับปรุงให้เข้ากับเขตพาณิชย์ของสิงคโปร์ และยังเป็นสถานทูตได้ด้วย ซึ่งมีหลายแนวทาง บางคนเสนอว่าให้มีการแลกเปลี่ยนสถานที่ โดยย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตพาณิชย์ เพราะสถานทูตส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเขตดังกล่าว อีกแนวทางหนึ่ง คือพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใหม่
         ก่อนหน้านี้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายไปศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่สถานทูตไทยในสิงคโปร์ ทั้งนี้ เพราะบริเวณใกล้เคียงได้รับการพัฒนาหมดแล้ว มีเพียงสถานทูตไทยที่ดูแล้วค่อนข้างโทรม ดังนั้น หากพัฒนาพื้นที่สถานทูต ขึ้นมาเป็นอาคารพาณิชย์หรือเป็นช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ โดยนำสินค้าจากไทย สินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล สินค้าเอสเอ็มอีมาขายด้วยน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ส่วนรายได้จะแบ่งกันระหว่างผู้ที่เข้ามาพัฒนากับรัฐบาลไทย สำหรับสถานทูตให้ตั้งอยู่ที่เดิม แต่มีทางเข้าแยกกัน มีที่จอดรถแยกกัน สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยได้เต็มที่
         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจบางรายแล้ว ซึ่งรับปากจะไปคิดและนำมาเสนอตน ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีต่อไป มีนักธุรกิจในสิงคโปร์หลายกลุ่มสนใจที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่สถานทูตไทย โดยนายกรัฐมนตรีอยากให้สร้างเป็นลักษณะ "ไทยแลนด์ พลาซ่า" บริเวณหน้าตึกอาจจะเป็นศาลาไทย เพื่อแสดงความเป็นไทย เท่าที่พูดคุยกับหลายฝ่ายได้รับคำตอบว่า แนวคิดนี้สามารถทำได้ไม่มีปัญหา
         รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งไทยแลนด์ พลาซ่า ในเมืองไทยด้วย โดยจะพิจารณาที่ราชพัสดุที่ติดริมถนนใหญ่ และนำเอาสินค้าโอท็อปมารวมกันเป็นโชว์รูมถาวร และก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมเคยเสนอพื้นที่ให้นายกฯพิจารณา เช่น องค์การทอผ้า บริเวณเกียกกาย, สนามม้านางเลิ้ง, อาคารโตคิว ถนนรัชดาภิเษก และอาคารหลักสี่พลาซ่า ถนนวิภาวดี แต่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้เลือก โดยเห็นว่าควรให้เอกชนมาร่วมด้วย และให้กระทรวงอุตสาหกรรมกลับไปพิจารณาใหม่