"ชุมพล ณ ลำเลียง" ฟันธงจีดีพีโต5-6%ไม่ใช่เรื่องง่าย
และ "อะไรที่ใส่ในรากหญ้า เชื่อว่าไม่ใช่การลงทุน"

ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3602 (2802) 19 กรกฎาคม 2547
 
สรุปสาระข่าว
 
        "วันนี้กิจการเครือปูนซิเมนต์ไทยมีกำไรทุกบริษัท เพราะไม่เหมือนสมัยก่อน วิกฤตที่มีการลงทุนเกินตัว... "
        " หาก (เศรษฐกิจ) โตมากๆ ก็จะมีปัญหาตามมาทั้งในเรื่องคน เรื่องการลงทุน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับ อาจจะสร้างไม่ทัน... "
        "นโยบายใหม่ของรัฐบาลที่เอาเงินไปให้หมู่บ้านแห่งละ 200,000-300,000 บาทนั้น เป็นการกระตุ้นการลงทุนหรือไม่... เชื่อว่าอะไรที่ใส่ในรากหญ้าไม่ใช่การลงทุน ถ้าเขามีเงิน เขาจะเลือกใช้อย่างไร ก็เรื่องของเขา"
        "การบริหารจัดการที่ดีที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง... ส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการที่ดีก็คือ การปล่อยให้เสรีต่อไป แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล คือการลงทุนของภาครัฐ ที่จะต้องมองระยะยาว..."
        "อย่างรถไฟฟ้าควรมีมากกว่า 1 สาย และที่สร้างไปก็อ้อมเป็นตัวยูไม่ใช่ตัวโอ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะต้องไปแบ่งเค้กกันหลายก้อน"
"จะซื้อหุ้นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า "เราทำธุรกิจง่ายๆ ดีกว่า" ...

 
ข้อคิดเห็น
 
        สิ่งที่พูดล้วนเป็นข้อคิดที่ดีมาก ทั้งเรื่องการไม่ลงทุนเกินตัว การลงทุนที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่การแจกรากหญ้า ซึ่งอาจทำให้ราษฎร์พึ่งรัฐ ซึ่งทำให้รัฐใหญ่ขึ้นมากกว่าจะเล็กลงตามที่ประกาศ
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        หากถามคนในแวดวงตลาดทุนถึง "ปูนใหญ่" หรือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มักจะได้คำตอบว่า วันนี้ปูนใหญ่เปลี่ยนไป เปิดตัวกับตลาดมากขึ้น พร้อมๆ กันนี้ทางปูนใหญ่ได้อยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านปรับโครงสร้างการบริหาร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
        "ชุมพล ณ ลำเลียง" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในวงสนทนากับผู้บริหารในเครือมติชนว่า "วันนี้พอแก่ตัวขึ้น รู้สึกว่าสนามกอล์ฟมันยาวขึ้น" พร้อมกับกล่าวอย่างครื้นเครงว่า "วันนี้กิจการเครือปูนซิเมนต์ไทยมีกำไรทุกบริษัท เพราะไม่เหมือนสมัยก่อน วิกฤตที่มีการลงทุนเกินตัว บางกิจการขึ้นโครงการใหม่ ยอดขายยังไม่มีก็เป็นตัวถ่วง แต่วันนี้ไม่อย่างนั้นอีกแล้ว"
        ชุมพลให้ความเห็นถึงภาวะเศรษฐกิจว่า การจะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ควรจะอยู่ในระดับ 5-6% ต่อปี ไม่ควรจะเกินกว่านี้ เพราะถ้าอยู่ในระดับ 7-9% ก็เชื่อว่าจะเติบโตได้ชั่วคราว เนื่องจากการจะเติบโตในระดับนั้นได้ ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจตัวอื่นๆ อาทิ การลงทุน การส่งออก การบริโภค จะต้องเป็นเลขสองหลัก หรือแม้ว่าจะเติบโตให้ได้ในระดับ 5-6% ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะทำให้ได้ รัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการให้ดี
        "การเติบโตในระดับ 5-6% ควรโตแค่ 2-3 ปี หลังจากนั้นค่อยลดลงมาที่ 3-4% เพราะฐานมันจะใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกัน หากโตมากๆ ก็จะมีปัญหาตามมาทั้งในเรื่องคน เรื่องการลงทุน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับ อาจจะสร้างไม่ทัน ขณะนี้ก็เห็นแล้วว่าเริ่มไม่ทันกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบขนส่ง ไฟฟ้า น้ำประปา ถึงจุดที่มีปัญหา เพราะเราไม่ได้ลงทุนมานานแล้ว ดังนั้น อย่าลืมว่าถ้าจีดีพีจะขยายในระดับ 7% ตัวอื่นจะต้องขยายถึงเลข 2 หลักทั้งนั้น" นายชุมพลกล่าว
        ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า นโยบายใหม่ของรัฐบาลที่เอาเงินไปให้หมู่บ้านแห่งละ 200,000-300,000 บาทนั้น เป็นการกระตุ้นการลงทุนหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงวิกฤตรัฐบาลพยายามกระตุ้นดีมานด์เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แม้ว่าจะต้องทำถึงขั้นเอาเงินไปแจกเพื่อให้ซื้อของก็ไม่ผิด แต่ตอนนี้เรามีปัญหาทางด้านซัพพลาย เราต้องมากระตุ้นให้เกิดการลงทุน รัฐบาลต้องเป็นตัวนำ แต่บางครั้งการเดินในทางใดที่เดินเกิน และเดินไปแล้วประสบความสำเร็จ ก็ยิ่งจะทำอีก จนกว่าจะเกิดปัญหาใหม่ เพราะสิ่งที่ถูกในจังหวะหนึ่ง อาจจะผิดในอีกจังหวะหนึ่ง และเชื่อว่าอะไรที่ใส่ในรากหญ้าไม่ใช่การลงทุน ถ้าเขามีเงิน เขาจะเลือกใช้อย่างไร ก็เรื่องของเขา
        และอธิบายเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการที่ดีที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องว่าระบบเศรษฐกิจไทยเป็นการค้าเสรี ประชาชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดการขยายตัว เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการที่ดีก็คือ การปล่อยให้เสรีต่อไป แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล คือการลงทุนของภาครัฐ ที่จะต้องมองระยะยาว มองล่วงหน้าในการลงทุน เพราะการลงทุนของภาครัฐจะเป็นอะไรที่เกินๆ ไปก่อน อาทิ เรื่องการคมนาคม เรื่องน้ำ ขณะที่เอกชนจะลงทุนอะไรที่พอดีๆ
        "ปัจจุบันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังน้อยอยู่ เช่น ระบบขนส่ง รัฐต้องพิจารณาว่า จะทำอะไร อย่างไร และที่ไหน และมีความจำเป็นหรือไม่ บางเรื่องไม่ต้อง optimize หรอก เช่น ระบบขนส่ง อย่างรถไฟฟ้าควรมีมากกว่า 1 สาย และที่สร้างไปก็อ้อมเป็นตัวยูไม่ใช่ตัวโอ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะต้องไปแบ่งเค้กกันหลายก้อน" นายชุมพลกล่าว
      ส่วนประเด็นที่รัฐบาลให้เอกชนไปทำ แล้วไปขอซื้อคืนกลับมานั้น จะทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุนหรือไม่ นายชุมพลมองว่า หากจะซื้อคืน รัฐบาลจะต้องยอมจ่ายให้ผู้ลงทุนเอกชนเขาคุ้มค่าด้วย เพราะโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนเชื่อว่าอะไรที่เขาบริหารได้ดีกว่าที่รัฐทำ หรืออะไรที่รัฐควรทำ เพราะบางเรื่องรัฐจะต้องใช้อำนาจรัฐ อาทิ การเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนน และบางเรื่องรัฐต้องเด็ดขาด ต้องเข้าไปลงทุนตั้งแต่แรกจนแล้วเสร็จ เพื่อให้โครงการนั้นเกิดให้ได้ ไม่งั้นก็ไม่เกิดขึ้น นายชุมพลเห็นด้วยกับการซื้อคืนรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส สายส่งไฟฟ้าทางไกล สนามบิน เป็นต้น และย้ำว่า "รัฐต้องใจสปอร์ต ถ้าจะซื้อคืน ไม่ใช่ของเขา 10 บาท แต่ไปให้ที่ราคา 3 บาท หรือแม้แต่จะซื้อ10 บาท ก็ยังไม่ใช่ ต้องบวกค่าอะไรต่างๆ ให้เขาด้วย"
        สำหรับกิจการเครือปูนซิเมนต์ไทยตั้งแต่เกิดวิกฤตได้คุมค่าใช้จ่ายได้ดี ได้รีดไขมันไปทุกส่วน รวมทั้งตอนนี้ไม่มีโครงการใหม่มาคอยถ่วง โดยรวมแล้วมีกำไรทุกกิจการ แม้จะเปิดเอฟทีเอ ภาษีเป็นศูนย์ เครือปูนซิเมนต์ไทยก็จะสู้ได้ เพราะยิ่งมีเอฟทีเอ ยิ่งเปิดตลาดให้ปูนซิเมนต์ไทยมากขึ้น
      พร้อมกันนี้ได้ตอบคำถามกรณีว่า จะซื้อหุ้นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอหรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า "เราทำธุรกิจง่ายๆ ดีกว่า" และวันนี้กำลังการผลิตของปูนซิเมนต์ไทยอยู่ที่ 75% ถ้าหากเมื่อใดที่มีความต้องการในประเทศสูง ก็จะปรับสัดส่วนการส่งออกมาขายในประเทศแทน ส่วนกิจการปิโตรเคมีกับเหล็กกำลังการผลิตยังเหลือ เพราะขาดแคลนวัตถุดิบในการป้อนโรงงาน