สรุปสาระข่าว
 
        'สีลม'ครองแชมป์แพงสุด ตารางวาละ 6 แสน 4อำเภอใน เชียงใหม่-ตาก-กาญจนบุรี-อุทัยธานี ต่ำสุด 10 บาทต่อตารางวา -เอกชน ชี้ ราคาประเมินใหม่ ไม่กระทบการซื้อ-ขาย
        กรมธนารักษ์ ประกาศราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ ปี 2547-2550 เพิ่มขึ้น 14.4% เปิดทางรัฐโกยรายได้จากภาษีเพิ่ม สีลม ยังครองแชมป์ราคาสูงสุด ตารางวาละ 6 แสนบาท ภาคใต้ราคาประเมินเพิ่มสูงสุด 24% เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ตรวจสอบพบ เชียงใหม่-กาญจนบุรี ต่ำสุด ตารางวาแค่ 10 บาท ด้านเอกชน ชี้ ราคาประเมินใหม่ไม่กระทบการซื้อ-ขาย คาดโครงการเปิดขาย 2 ไตรมาสแรกของปีหน้า ยังคงต้นทุนตามราคาประเมินเดิม
 
ข้อคิดเห็น
 
         กรณีนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดได้
         1. ความจริงราคาแทบไม่ขึ้น มีขึ้นเฉพาะบางแปลง ที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงชัด และที่แต่เดิมเป็นที่ดินดิบเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้เป็นที่ดินที่มีการพัฒนาแล้ว จึงปรับ ทำให้เกิดค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นความคลาดเคลื่อนทางสถิติกับความเป็นจริง ความจริงข้อนี้ทางราชการน่าจะเปิดเผย ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจสับสนว่าราคาเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไรได้
         2. การที่ต่างจังหวัดราคากลับปรับเพิ่มสูงกว่ากรุงเทพมหานคร ถ้าเป็นกรณีราคาตลาดที่มีการซื้อขายจริง ย่อมไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะความจริงตลาดในกรุงเทพมหานครมีการซื้อขายคึกคักกว่า มีศักยภาพการเติบโตสูงกว่า การนี้แสดงถึงความผิดพลาดในอดีตของการทำราคาประเมิน จึงอาจมีการปรับฐานใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
         3. บัญชีราคาประเมินนี้ ใช้เพื่อการเสียภาษีในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับราคาซื้อขายเลย ดังนั้นใครจะนำมาอ้างเพื่อปรับราคาเรียกซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการบิดเบือน
         4. เชื่อว่ารัฐบาลเองท่านก็คงไม่อยากให้เพิ่มมาก เพราะอาจเสียความรู้สึกชาวบ้าน และในการจัดทำบัญชีราคาเขาทำกันอย่างไร ความจริงใช้เวลาทำเพียงไม่ถึง 1 ปี และให้แต่ละพื้นที่ทำกันเอง อาจตกหล่นได้หรืออาจใช้ของเดิมเป็นฐานเท่านั้นโดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         กรณีนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดได้
         1. ความจริงราคาแทบไม่ขึ้น มีขึ้นเฉพาะบางแปลง ที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงชัด และที่แต่เดิมเป็นที่ดินดิบเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้เป็นที่ดินที่มีการพัฒนาแล้ว จึงปรับ ทำให้เกิดค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นความคลาดเคลื่อนทางสถิติกับความเป็นจริง ความจริงข้อนี้ทางราชการน่าจะเปิดเผย ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจสับสนว่าราคาเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไรได้
         2. การที่ต่างจังหวัดราคากลับปรับเพิ่มสูงกว่ากรุงเทพมหานคร ถ้าเป็นกรณีราคาตลาดที่มีการซื้อขายจริง ย่อมไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะความจริงตลาดในกรุงเทพมหานครมีการซื้อขายคึกคักกว่า มีศักยภาพการเติบโตสูงกว่า การนี้แสดงถึงความผิดพลาดในอดีตของการทำราคาประเมิน จึงอาจมีการปรับฐานใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
         3. บัญชีราคาประเมินนี้ ใช้เพื่อการเสียภาษีในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับราคาซื้อขายเลย ดังนั้นใครจะนำมาอ้างเพื่อปรับราคาเรียกซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการบิดเบือน
         4. เชื่อว่ารัฐบาลเองท่านก็คงไม่อยากให้เพิ่มมาก เพราะอาจเสียความรู้สึกชาวบ้าน และในการจัดทำบัญชีราคาเขาทำกันอย่างไร ความจริงใช้เวลาทำเพียงไม่ถึง 1 ปี และให้แต่ละพื้นที่ทำกันเอง อาจตกหล่นได้หรืออาจใช้ของเดิมเป็นฐานเท่านั้นโดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
        'สีลม'ครองแชมป์แพงสุด ตารางวาละ 6 แสน 4อำเภอใน เชียงใหม่-ตาก-กาญจนบุรี-อุทัยธานี ต่ำสุด 10 บาทต่อตารางวา -เอกชน ชี้ ราคาประเมินใหม่ ไม่กระทบการซื้อ-ขาย
 
นักประเมินชี้ครึ่งปีแรกบ้านใหม่อิงราคาประเมินเดิม
        กรมธนารักษ์ ประกาศราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ ปี 2547-2550 เพิ่มขึ้น 14.4% เปิดทางรัฐโกยรายได้จากภาษีเพิ่ม สีลม ยังครองแชมป์ราคาสูงสุด ตารางวาละ 6 แสนบาท ภาคใต้ราคาประเมินเพิ่มสูงสุด 24% เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ตรวจสอบพบ เชียงใหม่-กาญจนบุรี ต่ำสุด ตารางวาแค่ 10 บาท ด้านเอกชน ชี้ ราคาประเมินใหม่ไม่กระทบการซื้อ-ขาย คาดโครงการเปิดขาย 2 ไตรมาสแรกของปีหน้า ยังคงต้นทุนตามราคาประเมินเดิม
         นายวิสุทธิ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยราคาประเมินที่ดินครั้งใหม่ ทั่วประเทศ ปรากฏว่า ราคาที่ดินทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 14.44% แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.6% เขตปริมณฑล 5 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม เพิ่มขึ้น 9.41% ส่วนอีก 70 จังหวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16%
         นายวิสุทธิ กล่าวว่า พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เขตลาดพร้าว 15.79% เขตประเวศ 15.10% เขตพระโขนง 13.10% เขตบึงกุ่ม 11.20% เขตบางกะปิ 11.08% ซึ่งที่ดินที่มีราคาประเมินสูงสุดยังคงเป็นบริเวณถนนสีลม ราคา 600,000 บาท ต่อตารางวา ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกือบครบแล้ว
         ส่วนต่ำสุดอยู่ที่เขตหนองจอก 260 บาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 104,000 บาท เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่การเกษตร และบางพื้นที่เป็นที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออก
         ขณะที่ในเขตปริมณฑลนั้น จังหวัดที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงสุด คือ จังหวัดนนทบุรี 15.70% แต่พื้นที่ ที่มีราคาประเมินสูงสุดอยู่ที่ถนนสุขุมวิท อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ราคา 140,000 บาทต่อตารางวา ส่วนราคาประเมินต่ำสุดอยู่ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ราคา 125 บาทต่อตารางวา
 
ภาคใต้เพิ่มสูงสุด 24.17%
        นายวิสุทธิ กล่าวว่า ส่วนข้อมูลราคาประเมินที่ดินในภูมิภาค ภาคใต้มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงสุด 24.17% ภาคกลางเพิ่มขึ้น 11.78% ภาคเหนือเพิ่มขึ้น 13.21% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้น 14.88% โดยราคาประเมินสูงสุดอยู่ที่เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ราคา 400,000 บาทต่อตารางวา ส่วนต่ำสุด อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อ.แม่แจ่ม อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ราคา 10 บาทต่อตารางวา
        สำหรับจังหวัดที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินสูงสุด ได้แก่ จ.กระบี่ เพิ่มขึ้น 79.59% จ.พังงา เพิ่มขึ้น 65.54% จ.สิงห์บุรี เพิ่มขึ้น 53.68% จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มขึ้น 49.28% และ จ.มหาสารคาม เพิ่มขึ้น 40.91%
         นายวิสุทธิ กล่าวว่า กรมธนารักษ์จะประกาศใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรอบปี พ.ศ. 2547-2550 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 เป็นต้นไป โดยราคาประเมินใหม่นี้จะใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี และในระหว่างที่ใช้อยู่หากราคาซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับราคาประเมินโดยมีนัยสำคัญก็จะมีการปรับปรุงราคาประเมินใหม่ได้
         การประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ของกรมธนารักษ์ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับโอนภารกิจมาจากกรมที่ดินตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2545 และเพื่อให้ราคาประเมินสะท้อนความเป็นจริงของสภาพปัจจุบันมากที่สุด กรมธนารักษ์ได้ใช้ฐานข้อมูลการสำรวจตั้งแต่เดือน ส.ค. 2545 ถึงเดือน มิ.ย. 2546 ซึ่งแต่เดิมการประกาศราคาประเมินจะใช้ฐานราคาย้อนหลังเป็นระยะเวลา 3 ปี ก่อนประกาศราคาประเมิน
         นอกจากนี้เพื่อให้ราคาประเมินใกล้เคียงกับความเป็นจริง กรมธนารักษ์จะใช้วิธีการประเมินส่วนใหญ่ โดยวิธีราคา ตลาด ที่จะนับเฉพาะราคาใหม่ที่มีการซื้อขายเท่านั้น ส่วนวิธีการตามราคาต้นทุนนั้นใช้ประกอบไม่มากนัก โดยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล จะประเมินเป็นรายแปลง ส่วนภูมิภาคใช้วิธีการประเมินรายบล็อค
 
กระบี่ พังงา แหล่งเที่ยวใหม่หนุนราคา
        นายวิสุทธิ กล่าวว่า ราคาที่ดินโดยเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นไปตามความต้องการที่ดินที่เพิ่มตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ภาพรวมทั้งประเทศสูงขึ้น แต่ในส่วนราคาที่ดินที่เคยสูงอยู่แล้ว เช่น สีลม ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจาก ที่ดินเหล่านั้นได้ใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพแล้ว
         อย่างไรก็ตามในต่างจังหวัดเห็นได้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงมีค่อนข้างสูง ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ในโครงการอันซีนไทยแลนด์ เช่น จ.อุบลราชธานี บางพื้นที่ปรับตัวสูงถึง 80-100% และบริเวณภาคใต้ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น กระบี่ ตรัง พังงา ซึ่งเดิมราคาที่ดินยังต่ำอยู่
        นายวิสุทธิ กล่าวว่า ราคาประเมินที่ดินใหม่ที่ประกาศใช้ จะมีผลกระทบต่อการเสียภาษีประจำปี หรือภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ราคาประเมินที่ดินใหม่นี้ จะใช้ในการคำนวณเรียบเก็บค่าธรรมเนียม อากร และภาษีเงินได้ เมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน
 
คลังเปิดทางเก็บภาษีได้เพิ่ม
        นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประเมินราคาที่ดินรอบใหม่นี้ ใช้สำหรับการทำนิติกรรม และค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ดิน นับว่ากรมธนารักษ์สามารถดำเนินการได้แล้ว เสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เท่าที่เห็นตัวเลขของการประเมินที่ดิน ซึ่งในภาพรวมเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อย ถือว่าไม่มาก โดยเฉพาะในเขตที่มีความเจริญอย่างเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากมีศักยภาพในการใช้ที่ดินเต็มหมดแล้ว
        ในการประกาศที่ดินครั้งก่อน ตั้งแต่ปี 2543-2546 หรือ 4 ปีที่แล้ว เราใช้ผลจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินจริงมาก ซึ่งในการประเมินในรอบนี้เชื่อจะมีราคาใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากกรมธนารักษ์ใช้ราคาย้อนหลัง ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2545-มิถุนายน 2546 นายวราเทพ กล่าว
 
เล็งรื้อราคาทุก 2-3 ปี
        นายวราเทพ ยังได้ให้กรมธนารักษ์ได้ไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงให้การประกาศราคาประเมินที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 3 ประเด็นที่สำคัญคือ 1.การเก็บข้อมูลให้มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยเน้นให้มีการเก็บข้อมูลให้มีระยะเวลาที่สั้นลง ประมาณ 6 เดือน ก่อนที่จะมีการประกาศราคาในแต่ละรอบ เพื่อให้ข้อมูลมีความใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
        2. ผลการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินที่จะใช้บังคับได้คราวละ 4 ปี นั้น ควรจะลดลงให้เหลือเพียง 2-3 ปี เท่านั้น และ
        3.ให้มีการประกาศราคาที่ดินรายแปลงมากขึ้น โดยจะต้องมีการปรับปรุงวิธีการในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องมีความพร้อมทางด้านบุคลากรและเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เรื่องทั้งหมดได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการในการศึกษา
         สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบราคาประเมินที่ดินใหม่ได้จากเวบไซต์ ของกรมธนารักษ์ www.treasury.go.th กระทรวงการคลัง www.mof.go.th และกรมที่ดิน www.dol.go.th หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 02-448-5448 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป
 
ราคาประเมินใหม่ไม่กระทบการซื้อ-ขาย
        ด้านนักประเมินราคาเอกชน กล่าวถึงบัญชีราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ ที่รัฐประกาศจะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค.นี้ พบว่ามีการปรับราคาต่างกันในหลายพื้นที่ นั้น เรื่องนี้ไม่ได้สร้างความแปลกใจ สำหรับภาคธุรกิจมากนัก เนื่องจากมีการติดตามวิธีคิด และการประเมินที่รัฐดำเนินการมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว และโดยภาพรวมเชื่อว่าราคาประเมินใหม่ จะไม่กระทบต่อการซื้อขายที่ดินนัก เพราะการซื้อขายเป็นเรื่องของ Demand-Suppy และความต้องการเพื่อการลงทุน ส่วนฐานราคาเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามกฎหมาย
         ดร.โสภณ พรโชคชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า บัญชีราคาประเมินใหม่ ที่รัฐประกาศล่าสุด ในบางทำเลแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น ฐานราคาในทำเลกรุงเทพฯ ซึ่งมีเกณฑ์ปรับราคาประเมินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.6% เทียบแล้วแทบไม่ต่างกับบัญชีราคาเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะราคาที่ดินตกต่ำมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
         ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ที่ดินหลายแห่งมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ แต่สำหรับที่ดินในกรุงเทพฯ เนื่องจากที่ผ่านมา มีปัญหาติดภาระหนี้อยู่ค่อนข้างมาก การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน จึงมีไม่มากนักอาจเป็นสาเหตุหลัก ทำให้รับกำหนดบัญชีราคาประเมินใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 5% ซึ่งในสายตานักประเมินมองว่า ฐานบัญชีราคาประเมินที่ปรับขึ้นเพียง 5% นี้ ไม่ได้สอดคล้องกับภาวะราคาจากอดีต อย่างน้อยควรปรับเพิ่ม 10% แต่เข้าใจว่ารัฐคงมองเรื่องความเคลื่อนไหวการซื้อขาย เป็นปัจจัยหลัก
         อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ กล่าวว่า ราคาประเมินใหม่ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักนี้ คงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด หรือการซื้อขายที่ดินใหม่มากนัก เพราะการซื้อขายที่ดิน มาจากพื้นฐานความต้องการใช้ และการลงทุน ไม่ได้มีตัวแปรเรื่องฐานราคาประเมินเป็นปัจจัยหลัก ราคาประเมินที่ดิน เป็นเพียงฐานราคาที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อใช้คำนวณการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเข้ารัฐเท่านั้น
 
ชี้รัฐปรับฐานราคาเพื่อเพิ่มภาษี
        กรรมการผู้จัดการ เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นความหมายโดยตรงในการจัดทำบัญชีประเมินราคาที่ดินใหม่ คือ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ หมายถึง รัฐต้องการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพิ่มเท่าใดก็ทำบัญชีราคาประเมินให้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับสภาวะที่แท้จริงของตลาด
         รัฐเคยพูดไว้ว่า จะปรับบัญชีราคาประเมินใหม่ ให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด ในทางปฏิบัติจริงคงทำไม่ได้ เพราะฐานราคาตลาดที่ซื้อขาย กับบัญชีราคาประเมินของรัฐ มักจะต่างกันเสมอ เท่าที่เราเคยเก็บตัวเลขมา ราคาตลาดที่ซื้อขายกันมักจะสูงกว่าบัญชีราคาประเมินอยู่ราว 30%
        ดร.โสภณ กล่าวด้วยว่า เรื่องของราคาประเมินเป็นสิ่งที่ต้องลงไปดูในรายละเอียด เพราะในทางปฏิบัติแล้ว การทำประเมินราคาที่ดินทุกวันนี้จัดทำเป็นรายแปลง สำหรับ 10 จังหวัดใหญ่ ดังนั้นบัญชีราคาจึงค่อนข้างละเอียด ไม่สามารถพูดรวมเป็นเกณฑ์เฉลี่ยที่ตายตัวได้ เนื่องจากที่ดินบางแปลง มีศักยภาพมากมีความต้องการซื้อสูง ราคาก็ปรับตัวสูงขึ้น แม้จะอยู่ในทำเลที่ดูห่างไกลจากแหล่งธุรกิจ
         ภาพนี้ปรากฏในราคาประเมินที่ดิน บนทำเลปริมณฑลของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเห็นว่าแถบนนทบุรี และสมุทรปราการ ราคาประเมินใหม่ ปรับตัวสูงขึ้น 15.70 และ 14.76% เป็นเพราะที่ดินหลายทำเล ได้รับการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรร มีการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ทำให้ที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีราคาเพิ่มขึ้นตาม รัฐจึงต้องปรับบัญชีราคาประเมินตาม
 
เมืองท่องเที่ยวราคาเพิ่มตาม ศก.ท้องถิ่น
        สำหรับราคาประเมินที่ดินรายจังหวัด ที่เห็นความแตกต่างในฐานราคาเพิ่มขึ้น ดร.โสภณ ระบุว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น จะทำเรื่องเสนอเข้ามาที่ส่วนกลาง โดยเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวราคาที่ดิน กับสภาวะเศรษฐกิจในท้องที่ ซึ่งส่วนใหญ่สำรวจในรอบ 6 เดือน จากนั้นก็นำเสนอเข้ามาในส่วนกลาง เพื่อกำหนดราคาประเมินที่ดินใหม่
         ทั้งนี้ จะเห็นว่าที่ดินในหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ในหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ มีการปรับบัญชีราคาเพิ่มขึ้นเป็นเพราะศักยภาพในการลงทุนที่ดินนั้นๆ มีเพิ่มขึ้น โดยรัฐมองว่า ที่ดินซึ่งมีศักยภาพการลงทุนเพิ่มขึ้น รัฐควรจะปรับฐานการจัดเก็บรายได้ ภาษีและค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้น
         วิธีการที่จะทำให้ใกล้เคียงราคาตลาดจริง รัฐน่าจะกำหนดว่า การโอนที่ดินมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ควรมีการจัดเจ้าหน้าที่ประเมิน เข้าไปประเมินราคาเพื่อคำนวณภาษีค่าธรรมเนียมเป็นรายกรณี ดร.โสภณ กล่าว