คุมปล่อยกู้อสังหาฯรายใหญ่ 70%
สยามรัฐ 28 พฤศจิกายน 2546 หน้า 1, ผู้จัดการ และ กรุงเทพธุรกิจ
 
สรุปสาระข่าว
 
         ภายในสัปดาห์นี้ธปท.จะออกมาตรการ เพื่อสกัดกั้นความร้อนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวร้อนแรงเกินไปหรือไม่สำหรับรายละเอียดของมาตรการจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การจำกัดวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ จะให้สินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น อีกส่วนหนึ่งของมาตรการคือ กรณีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยหากเป็นสินเชื่อที่เข้าข่ายหลัก100 ล้านบาท สถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้จะต้องเสนอรายละเอียดข้อมูลของโครงการให้ ธปท. พิจารณาความเหมาะสมก่อนด้วย
 
ข้อคิดเห็น
 
        1. ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวราคาแพง ก็ไม่มีใครเก็งกำไรหรอก เป็น real demand ออกมาตรการไปก็ไม่มีประโยชน์ แถมคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่ซื้อสดหรือไม่ก็มีเงินดาวน์อยู่แล้ว และโดยที่ราคาแพง ทางสถาบันการเงินก็ระมัดระวังอยู่แล้ว
        2. ถ้าเป็นอาคารชุดราคาแพง ที่เพิ่งเกิดขึ้นดกดื่นในปีนี้ ก็ถือเป็นสินค้าเก็งกำไรได้ แต่มาตรการนี้ก็อาจเกาไม่ถูกที่คันเหมือนกับที่ท่านนายกฯ ได้ว่าไว้
        3. ที่ควรทำก็คือ การเก็บเงินดาวน์ลูกค้าไว้ เป็นแบบ Escrow Account ถ้าเจ้าของโครงการเป็นอะไรไป ผู้บริโภคก็ได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และในทางตรงกันข้าม อาจระบุเพิ่มเติมว่า ถ้านักเก็งกำไรเบี้ยวไม่ผ่อนดาวน์ต่อ เงินต้องถูกยึดให้เจ้าของโครงการเลย อย่างนี้น่าจะป้องกันการเก็งกำไรได้ชะงัด
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ธปท.จะออกมาตรการ เพื่อสกัดกั้นความร้อนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวร้อนแรงเกินไปหรือไม่สำหรับรายละเอียดของมาตรการจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การจำกัดวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ จะให้สินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น อีกส่วนหนึ่งของมาตรการคือ กรณีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยหากเป็นสินเชื่อที่เข้าข่ายหลัก100 ล้านบาท สถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้จะต้องเสนอรายละเอียดข้อมูลของโครงการให้ ธปท. พิจารณาความเหมาะสมก่อนด้วย
        "มาตรการที่ธปท. จะประกาศนั้นจะเป็นการให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในโครงการอสังหริมทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ และหากปล่อยสินเชื่อในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท จำเป็นต้องแจ้งให้ธปท. ทราบถึงความเคลื่อนไหว ความเหมาะสม และการวิเคราะห์สินเชื่อว่าปล่อยในโครงการอะไร ให้กับใคร เพื่อธปท. จะได้ตรวจสอบดูแลว่าเป็นผู้ประกอบการที่ดีหรือไม่ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้แนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นก็ตาม เจ้าของโครงการพยายามออกโครงการใหม่ๆ ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์อยากปล่อยกู้ ซึ่งถ้าหากไม่มีการควบคุมอาจจะเกิดปัญหาในอนาคตได้ และเมื่อมาตรการบังคับใช้แล้วนั้นจะทำให้ทราบข้อมูลว่ามีโครงการอะไรออกไปบ้าง มากเกินกว่าความต้องการหรือไม่ และคุณภาพของสินเชื่อเป็นอย่างไร"
        ผู้ว่าการธปท.กล่าวอีกว่า ในส่วนของรายย่อยที่ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยไม่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติม แต่ที่ผ่านมาเมื่อดูข้อมูลก่อนวิกฤติเศรษฐกิจพบว่าการซื้อบ้านราคาแพงกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นสิ่งที่ก่อปัญหาหนี้เอ็นพีแอลเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ดังนั้นมาตรการของธปท. ที่จะออกมาควบคุมในกลุ่มนี้จะกำหนดให้ผู้ซื้อต้องมีเงินดาวน์ไม่ต่ำกว่า 30% และธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมิน เพื่อให้ธนาคารมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ หากเกิดปัญหาหนี้เอ็นพีแอล
        อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านราคาสูงเพื่อการเก็งกำไรนั้น ยังเกิดขึ้นไม่มาก แต่ธปท.จะต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันไว้ก่อน เพราะโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมราคาสูงออกมาเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาไม่คิดจะควบคุมเรื่องนี้ แต่เห็นหลายฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชนมองว่าควรจะมีมาตรการเพื่อควบคุมด้านนี้ด้วยจึงออกมาตรการเสริมขึ้นมา แต่สำหรับคนจนและบ้านที่มีราคาต่ำยังคงเชื่อว่าไม่มีปัญหา จึงไม่ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมด้วย