เอกชนจี้ต่ออายุ แผนอุ้มอสังหาฯ
อ้อนรัฐขอลดหย่อนภาษี 50% เตรียมนำระบบ "เอสโครว์
แอคเคาท์" ค้ำประกันการซื้อบ้าน
อนุกรรมการอสังหาฯ หอการค้าไทย เตรียมเสนอรัฐต่อมาตรการภาษีกระตุ้นอสังหาฯ
หลังประชุมเอเปค สรุปให้ต่ออายุการลดหย่อนภาษีครึ่งทางจากของเดิม พร้อมเร่งจัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯแห่งชาติ" หวังเป็นเครื่องมือตัดสินใจกันเกิดวิกฤติซํ้ารอย
เอกชนเห็นพ้องนำระบบ "เอสโครว์ แอคเคาท์" ค้ำประกันการซื้อบ้าน
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่
8 กันยายนที่ผ่านมา ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้ข้อสรุปถึงภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
รวมถึงแนวทางมาตรการในหารฟื้นฟูธุรกิจดังกล่าว เพื่อให้เป็นหัวหอกในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบยั่งยืนต่อไป
โดยผลสรุปที่ได้ทั้งหมดจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค
การหารือดังกล่าว เนื่องจากได้รับคำทวงถามจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการให้หอการค้าสรุปแนวทางที่เหมาะสม
ในการพิจารณาเรื่องมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ของเดิมจะหมดอายุลงในวันที่
31 ธ.ค.2546 นี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญจากที่ประชุมวันก่อนมี 2 ประเด็นหลัก คือ
1.การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
แม้ที่ผ่านมากระทรวงการคลังจะได้มอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้ การที่นำเสนอในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องการมีแหล่งรวบรวมข้อมูล
เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำเอาข้อมูลดังกล่าว มาวิเคราะห์กำหนดนโยบายในการดำเนินงาน
เพื่อป้องกันปัญหาวิกฤติเหมือนช่วงปี 40
เรื่องนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จะต้องมีความชัดเจนว่าแนวทางการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ
จะเป็นอย่างไร รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่จะนำมาสนับสนุนนั้นจะมาจากทางใด โดยส่วนของผู้ประกอบการเอง
พร้อมที่จะสนับสนุนทุกรูปแบบ
ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องการ คือ การต่อมาตรการ "ภาษี" ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี
2546 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการเอกชน เสนอว่ารัฐบาลน่าจะต่อมาตรการนี้ออกไปอีก
1 ปี แต่เป็นการต่อเพียงครึ่งเดียว เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะที่ปกติอยู่ประมาณ
3.3% ก็จะเหลือ 1.75% (มาตรการปัจจุบันอยู่ 0.11%) ค่าธรรมเนียมการโอน 2%
จะเหลือ 1% (ปัจจุบัน 0.01%) และค่าจดจำนองปกติ 1% จะเหลือ 0.5% (ปัจจุบัน
0.01%)
ภาคเอกชนให้เหตุผลการขอต่อมาตราการว่า ปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูง
ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน และเพื่อรองรับกับความต้องการของคนซื้อบ้านในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย
จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริง ขณะที่มาตรการด้านภาษีที่รัฐบาลกระตุ้นมาก่อนหน้านี้
ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง หรือกลุ่มคนที่มีเงินออมที่มีขีดความสามารถซื้อบ้านเดี่ยวได้
แต่แนวโน้มการซื้อบ้านในปีหน้า คาดว่าจะเป็นผู้ซื้อทาวน์เฮ้าส์
เห็นพ้องนำ"เอสโครว์ แอคเคาท์"ค้ำประกันการซื้อบ้าน
นอกจากนี้ แหล่งข่าวเผยว่า มีมิติใหม่ที่น่าสนใจ คือผู้ประกอบการที่ร่วมประชุมกว่า
80% เห็นด้วย ให้มีการนำระบบ "เอสโครว์ แอคเคาท์" หรือการเปิดบัญชีค้ำประกันการซื้อบ้าน
ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ยอมรับแนวคิดนี้
กระทั่งร่างกฎหมายเอสโครว์ ยังไม่สำเร็จ เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มภาระตุ้นทุน
ดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าสนใจซึ่งที่ประชุมนำเสนออีก 2-3 เรื่อง คือ แนวคิดเรื่อง
วัน สต็อป เซอร์วิส จากปัจจุบันการขออนุญาตทำธุรกิจจัดสรรต้องผ่านการพิจารณา
7 กระทรวง ต้องมีการอนุญาตถึง 17 โต๊ะ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกลับมาให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียวรวบรวมขั้นตอนการขออนุญาตทั้งหมด
เป็นการรวมศูนย์ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่คนทำธุรกิจด้วย อีกประเด็นคือเรื่องของภาษีสำหรับการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งมีภาษีที่ซ้ำซ้อนหลายตัว ที่ประชุมได้หารือเตรียมที่จะเสนอปรับโครงสร้างภาษีการทำธุรกิจจัดสรรเพื่อลดความซ้ำซ้อนลงด้วย
ยื้อเปิดเผยข้อมูลหวั่นกระทบตลาด
ด้านแหล่งข่าวเปิดเผยต่อไปว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สภาหอการค้าไทย
ยังมีข้อสรุปร่วมกันในประเด็นที่ว่าไม่ต้องการเปิดเผยแนวทางของมาตรการที่จะต่ออายุการลดภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
เนื่องจากเกรงว่าหากนำเสนอข้อมูลการต่อมาตรการออกไปแล้ว จะทำให้ประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อ
เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีข่าวการต่อมาตรการ ซึ่งทำให้เกิดความลังเลและส่งผลกระทบต่อยอดขายของโครงการต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติแล้ว ข้อสรุปของการประชุมนี้ถือว่าใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว
และคาดว่าจะนำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้โดยเร็วที่สุด
ภายในต้นเดือน ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าเป็นช่วงภายหลังสิ้นสุดการจัดประชุมเอเปคในเมืองไทย
เพราะถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการสานต่อเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยแนวคิดในการพิจารณาต่ออายุมาตรการครั้งนี้ นอกจากเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ประกอบการแล้ว
ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จากสิทธิในการลดหย่อนภาษีการซื้อขายบ้าน
"คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นคนทำธุรกิจ มุมมองต่างๆ ที่คิดไว้ล้วนคำนึงถึงธุรกิจเป็นสำคัญ
แม้ว่าบางเรื่องจะเป็นที่ตกลงกันแล้ว แต่หากเกรงว่าจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจก็พยายามที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลเป็นวิธีการที่ใช้มาทุกครั้ง
แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง คณะกรรมการบางส่วนอยากให้ประชาชนได้ทราบว่ามีความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาอย่างไร
เพื่อจะเป็นข้อมูลตัดสินใจโดยที่ประชาชนไม่ต้องรีบร้อนซื้อบ้านให้ทันภายในปีนี้
หากยังไม่มีความพร้อมที่แท้จริง ซึ่งการซื้อโดยที่ยังไม่พร้อมอาจเป็นปัญหาในระยะยาวได้" |