3 ข่าวใหญ่ในประชาชาติ 24 ตค. 45 เชื่อข่าวไหนดี!
ประชาชาตธุรกิจ, 24 ตุลาคม 2545 หน้า 1
 
        ในวันที่ 24 ตุลาคมในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ มีข่าว 3 ข่าวที่ดู "ขัดแยัง" กันพอสมควรปรากฏให้เห็นจาก "แหล่งข่าว" ที่แตกต่างกัน โดยข่าวแรกเป็นข่าวพาดหัวหลัก โปรยว่า "แฉแบงก์สุดเขี้ยว แห่ลด ดบ. ฟันกำไรอื้อ เตือนลูกหนี้อย่าชะล่าใจโหมกู้เพิ่ม" พอเหลือบมาดูส่วนท้ายของข่าวพาดหัวนี้ กลับมีข่าวที่ดูคล้ายตรงกันข้าม โดยโปรยหัวว่า " ศูนย์วัสดุคึกรับธุรกิจอสังหาฯ บูม" และยิ่งถ้าเปิดในหน้า 10 (ก่อสร้าง-ที่ดิน) ยิ่งดู "ขัดแย้ง" ไปใหญ่ เพราะข่าวนำพาดหัวว่า "แลนด์-GIC มั่นใจ ศก. ไทยฟื้นชัวร์ ตึกสูงซีบีดีเกลี้ยงลุยซื้อรอบนอก"
        ความจริงมันเป็นยังไงกันแน่ นักลงทุน ผู้บริโภค ตลอดจนชาวบ้านผู้เสพข่าว จะเลือกเชื่ออะไรดี

เศรษฐกิจกิจแย่จริง ๆ
        ในเนื้อข่าวพาดหัวหลัก ชี้ชัดว่า "ฟันธงดอกเบี้ยลงบ่งชี้อาการเศรษฐกิจย่ำแย่ ระบุเอกชนไม่เห็นโอกาสลงทุนใหม่ที่ได้กำไรคุ้มค่า ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ไม่ยอมออกแรงดันสินเชื่อ" อย่างในญี่ปุ่นดอกเบี้ยแทบเหลือ 0% อยู่แล้วเพราะเศรษฐกิจกำลังแห้งตายลงทุกวัน
        ประจักษ์หลักฐานของความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจก็คือ NPL ไม่ลด ส่งออกไม่เติบโตเท่าที่ควร ภาวะคุกคามทางเศรษฐกิจก็มีหลายประการ ตั้งแต่การสร้างหนี้ของปัจเจกบุคคลอย่างมหาศาลที่ไม่เคยมีมาก่อน ความสามารถในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ลดลง การก่อการร้าย เศรษฐกิจโลกตกต่ำ นี่ถ้าเกิดศึกสงครามขึ้นอีก ภาวะคงยิ่งแย่ไปใหญ่
        และอาจเข้ากลียุค หากความพยายามของรัฐบาลในการสร้างภาวะให้เกิดการหมุนเวียนของเงินไม่ได้ผล กลายเป็นว่ามันระเหยหายไปในอากาศ เมื่อนั้นทุกอย่างก็คงเสื่อมทรุด จนแต้ม

อสังหาฯ ดีที่ไหน
        ผู้บริโภคมักถูกหลอก แต่เดิมก็มักมีการสร้างกระแสว่า "รีบซื้อบ้านด่วน หาไม่ราคาจะขึ้น" (ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนเคยเป็นอย่างนี้จริง) ทั้งที่ความจริงในขณะนี้ก็คือ "รีบซื้อด่วน หาไม่ผมคงจะเจ๊งไม่มีโอกาสอยู่ขายคุณอีกต่อไป"
        ปัจจุบันก็หลอกโดยการสร้างกระแส เช่น อสังหาฯ ขาดตลาด หลายฝ่ายรุมกันเปล่งเสียงเดียวกันออกมาเช่นนี้ ความจริงแล้ว อสังหาฯ เป็นเหมือนทองหยอง คนจะซื้อก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจดี ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไม
        ที่มีการซื้อขายกันเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะการดุน+ดันของรัฐบาลโดยสร้างเงื่อนไขเอื้ออำนวยต่าง ๆ ทั้งที่สำนักงานสถิติแห่งชาติก็สำรวจไว้ก่อนที่รัฐบาลจะกระตุ้นผู้ซื้อบ้านว่า ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ถึง 76% ล้วนเป็นหนี้ และหนี้ส่วนใหญ่ก็คือการผ่อนบ้านอยู่แล้ว

อสังหาฯ วันหน้าจะเป็นไง
        สถาบันการเงินต่าง ๆ ยังมีอสังหาฯ รอขายอยู่มากมาย ถ้าต่อไปขายลดราคาลง ผู้ซื้อบ้านวันนี้จะ "เสียค่าโง่" อีกไหม บ้านว่าง ๆ ที่ไม่มีผู้เข้าอยู่ยังมีอีกเป็นแสน ๆ หน่วย พวกนี้จะไม่เอาออกมาขายใหม่หรือ เราเห็นผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในตลาดหรือ ไม่มีเลย ที่มีอยู่ก็ล้วนเป็น "มือเก่า" ที่จำเป็นต้องดิ้นรนทำบ้าง ทำเพื่อใช้หนี้บ้าง ถือเป็นอาชีพถาวรบ้าง อย่างนี้จะบอกว่า "ฟื้น" ได้ไง

อาคารสำนักงานเป็นไง
        ที่มีข่าวว่าตึกสูงซีบีดีเกลี้ยง ไม่เป็นความจริง พื้นที่ว่างแม้จะลดจากหนึ่งในสามเหลือหนึ่งในสี่ก็ยังถือว่ามหาศาล เป็นการปล่อยทิ้งให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอยู่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีบริษัทนายหน้าข้ามชาติออกมา "บิดเบือน" ความจริงว่า ตึกสูง 3-4 ปีมานี้ขายได้ราว 10 ตึก มากกว่าช่วง "บูม" ก่อนหน้านี้เสียอีก เพื่อแสดงว่าอสังหาฯ ฟื้นแล้ว นี่เป็นการโกหก เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีใครขายยกตึกอยู่แล้วซึ่งข้อนี้ต่างจากในต่างประเทศ
        สำหรับอาคารสำนักงาน ขนาดใจกลางเมืองยังเหลือมากมาย ชานเมืองยิ่งมีภาวะย่ำแย่ไปต่างหาก
        สิ่งที่เราต้องตระหนักให้ดีก็คือ การส่งเสริมการขายกับการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอาจแบ่งกันด้วยเส้นผมเพียงเส้นเดียว ถ้าเราเป็นนายหน้าเราก็อาจพยายามพูดให้ขายได้ จูงใจให้คนซื้อ แต่ถ้าจะพูดเกินเลยจนเป็นการ "บิดเบือน" เสียแล้ว ก็ไม่แคล้วเป็นการก่ออาชญากรรม

ผู้ซื้อบ้านโปรดระวัง
        สิ่งที่ผู้ซื้อบ้านต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนเดิมอีกก็คือ ต้องตรวจสอบสัญญาและสภาพบ้านให้ดี ราคาขายสมควรเหมาะสมหรือไม่ก็ต้องเปรียบเทียบดู ทุกวันนี้ ใบราคาขายอาจตั้งสูงกว่าแต่ก่อนมาก แม้ลดลงมาแล้วก็ยังสูงอยู่ ถ้าไม่ดูให้ดี ก็อาจเสียรู้ เสียใจได้ อย่าลืมว่า "เสียดายที่ไม่ได้ซื้อ ยังดีกว่าเสียดายที่ซื้อไปแล้ว" ในเนื้อข่าวพาดหัวหลักของประชาชาติก็ยังกล่าวว่า "ติงผู้บริโภคอย่าหลงกลโหมกู้เพราะดอกเบี้ยต่ำ"

ดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบ
        อย่าหลงกลเรื่องดอกเบี้ยถูก ประสบการณ์การลงทุนในทรัพย์สิน-อสังหาริมทรัพย์สอนให้เรารู้ว่า สำหรับการเป็นหนี้นั้น เราควรมีหลักยึดอยู่ 4 ประการคือ
        1. ถ้าไม่จำเป็น ต้องไม่เป็นหนี้ (กรณีจำเป็นที่ต้องเป็นหนี้ก็ควรเป็นเพียงเพื่อลงทุนเท่านั้น การกู้เพื่อไปเสพสุขมีโอกาสจะประสบเคราะห์ในวันหน้า)
        2. ถ้าเป็นหนี้ ต้องเป็นแต่น้อย (ไม่เกินกำลังที่จะผ่อนได้ การกู้เงินจำนวนมาก ๆ ผ่อนสูง ๆ โดยไม่เผื่อเหลือเผื่อขาด จะมีโอกาสเสียเครดิตได้)
        3. ถ้าเป็นหนี้ อย่าเป็นหลายทาง (เพราะจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดในการบริหารเงิน และถ้าเราต้องชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่เรื่อย เราก็อาจขาดสมาธิในการทำมาหากินในที่สุด)
        4. ถ้าเป็นหนี้ จงใช้คืนโดยเร็วที่สุด (ช่วงแรก ๆ ของการผ่อนใช้หนี้มักเป็นดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ดังนั้นยิ่งผ่อนนาน ยิ่งเสียดอกเบี้ยมาก)