อสังหาฯ ล็อตใหญ่ จ่อคิวโละสต็อก
กรุงเทพธุรกิจ, 23 กันยายน 2545 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
        อสังหาฯล็อตใหญ่ จ่อคิวโละสต็อก..แบงก์โหมกลยุทธ์ระบายหนี้ ยอมขายถูกเลหลัง พบยอดซื้อขาย 3 ปี เทียบเท่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถึงคิว "ตึกสูง-อาคาร" เตรียมเปลี่ยนมืออีกรอบ... ที่ดิน-อาคารใหญ่ ซื้อขายเปลี่ยนมือคึกคักหลังวิกฤติเศรษฐกิจ "ซีบี ริชาร์ด" ที่ปรึกษาด้านลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ระบุ เพียงแค่รอบ 3 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2542 ถึงปัจจุบัน ซื้อขายอาคารเท่ากับตลอด 10 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่แบงก์โหมกลยุทธ์ระบายสต็อก "กรุงไทย" เตรียมขายล็อตใหญ่ เฉือนราคา 80% วันที่ 5 ต.ค.นี้
 
ข้อคิดเห็น
 
        ในการเสพข่าวนั้น ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณให้จงหนัก หาไม่จะเกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ ที่บอกว่า "ยอดซื้อขาย 3 ปี เทียบเท่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา" เป็นการเสนอที่บิดเบือนความจริงเป็นอย่างมาก มันเป็นความจริงที่การซื้อขาย "ยกตึก" ในช่วงหลังที่มีเพียง 20 ตึกจะพอ ๆ กับช่วง 10 ปีก่อน แต่เพียงเพราะแต่เดิมเศรษฐกิจดี ไม่มีใครขายยกตึก ที่ขายยกตึกในขณะนี้ บ้างก็เป็นอาคารสร้างค้าง ที่ hair-cut ขายราคาลดลงบ้าง หาใช่ว่าตอนนี้สถานการณ์ดีไม่ การพูด-เขียนอย่างนี้ จึงเป็นการบิดเบือนความจริงโดยแท้
  สิ่งที่พึงคิดก็คือ การพยายามในการสร้างบรรยากาศการซื้อขายของผู้มีส่วนได้เสียประโยชน์บางราย กับการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ บางครั้งอาจแบ่งกันดัวยเส้นผมเส้นเดียว ดูแยกกันได้ยากมาก อย่าให้ความพยายามแสวงหากำไร เลยเถิดไปถึงการบิดเบือนความจริงเลย
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        ในช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหญ่-กลาง-ย่อย ต่างระบุว่า "เป็นไปไม่ได้ที่สินค้าอสังหาริมทรัพย์จากการแก้ปัญหาหนี้ จะออกมาดั๊มพ์ราคาในตลาด" ซึ่งขณะที่ผู้บริหารปฏิเสธผ่านสื่อต่างๆ แต่เบื้องหลังผู้ประกอบการที่ยังมีเรี่ยวแรง มีฐานเงินทุนพอควร ต่างส่งทีมงานมือดี ออกตระเวนกว้านซื้ออสังหาฯราคาถูกกันอย่างมาก

        บรรยากาศการไล่ซื้อที่ดินราคาถูก อาจไม่เป็นที่เปิดเผยนัก แต่สำหรับคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ ได้ยินข่าวร่ำลือเรื่องการวิ่งเต้นแย่งชิง ที่ดินและโครงการที่พร้อมจะขายเลหลัง กันอย่างหนาหูตลอด 2-3 ปี ที่ผ่านมา
        โดยเฉพาะข่าวการชิงซื้อที่ดินตัดหน้ากัน ซึ่งปัจจุบันเกิดถี่ขึ้น ต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งที่ดินอยู่ในภาวะสงบนิ่ง ผู้สนใจลงทุนยังสามารถ หาซื้อที่ดินราคาต่ำจากเจ้าหนี้โดยตรง มาได้อย่างสบายๆ
        สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในปี 2542 เนื่องจากความพร้อมในการลงทุนใหม่ ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังมีน้อยราย ที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างเปิดเผย มีเพียง บ.ลลิล แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เดือน พ.ย.นี้ ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรก ที่เปิดตัวด้วยกลยุทธ์การซื้อโครงการสร้างค้างของ บมจ.คันทรี่ (ประเทศไทย) ของนายสดาวุธ เตชะอุบล มาจากเจ้าหนี้คือ บง.สินเอเชีย มาพัฒนาเป็นโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ หลังจากนั้น ก็มีผู้ประกอบการอีกหลายราย ที่เจาะซื้อทรัพย์สินซึ่งประเมินว่า มีโอกาสทางการตลาด มาปรับโฉมและเปิดขายใหม่จำนวนมาก
        นอกจากการซื้อผ่านเจ้าหนี้ดังกล่าวแล้ว ยังมีกรณีการซื้อ-ขาย โดยตรงระหว่าง เจ้าของโครงการและนักลงทุนรายใหม่ ในลักษณะกิจกรรมการแก้ปัญหาต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้ คือ กรณีของบริษัท สาริน พร็อพเพอร์ตี้

เปิดโครงการยักษ์ซื้อ-ขายที่ดิน
        นายอานะวัฒน์ นาวินธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท สาริน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เผยว่า เนื่องจากนโยบายของบริษัทต้องการสร้างชุมชนให้เกิดขึ้น ในโครงการ "สาริน ซิตี้" เนื้อที่เกือบ 6 พันไร่ บนถนนพระราม 2 จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องเปิดทางให้นักลงทุนรายอื่นเข้ามา จึงเริ่มต้นด้วยการเชิญชวนนักลงทุนใหม่ทั้งไทยและต่างชาติ
        หลังจากนั้นมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในโครงการแล้ว 4 โครงการ เริ่มจากรายแรก เป็นนักลงทุนไทยทำธุรกิจคลังสินค้าเคมีภัณฑ์รายใหญ่ ซื้อที่ดินของสาริน จำนวน 1,000 ไร่ ไปในราคา 300 ล้านบาท เพื่อทำเป็นสนามกอล์ฟ 36 หลุม มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันกำลังพัฒนา
        รายที่ 2.เป็นโครงการการลงทุนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งร่วมมือกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) จัดตั้งศูนย์ประมวลข่าวสาร (ดีพีแซด) เนื้อที่ 300 ไร่ เอกชนที่ประมูลการลงทุนในโครงการไปได้ คือ บริษัท รวมนครก่อสร้าง จำกัด อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากรัฐบาล
        รายที่ 3.โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยและศูนย์การศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาราคาที่ดิน และดูรายละเอียดแผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยในขั้นตอนสุดท้าย กับมหาวิทยาลัยข้ามชาติจากออสเตรเลีย ซึ่งจะใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 105-150 ไร่ และรายที่ 4.อยู่ระหว่างติดต่อขายที่ดินให้กับกลุ่มสมาคมโรงพิมพ์ ที่สนใจนำที่ดินไปลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโรงพิมพ์ จำนวน 700 ไร่ ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการขายที่ดินหรือร่วมลงทุน
        นอกจากเรื่องของที่ดินแล้ว บรรยากาศการซื้อ-ขายเปลี่ยนมืออาคารขนาดใหญ่ ในรอบ 4 ปี หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นสูงเช่นกัน ข้อมูลผลสำรวจล่าสุด จากบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ปรึกษาด้านการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ระบุว่า ในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2542-ปัจจุบัน มีการซื้อขายอาคารกันมากถึง 20 อาคาร จำนวนเท่ากับการซื้อขายเปลี่ยนมือ ที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีก่อนหน้านี้
        อาคารที่เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือดังกล่าว มีขนาดการลงทุนระหว่าง 300-1,000 ล้านบาท และเป็นที่น่าสังเกตว่า หลายรายการเป็นลักษณะการลงทุนเพื่อใช้งาน และเพื่อลงทุนระยะยาว จากผู้ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เริ่มจากปี 2543 มีการซื้อขายล็อตใหญ่ 2 อาคาร คือ 1.อาคารเวฟเพลส ถนนวิทยุ 2 หมื่น ตร.ม. ซื้อโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์, และ 2.อาคารอับดุลราฮิม (990 พระราม 4) ถ.พระราม 4 เนื้อที่ 4.8 หมื่น ตรม. ซื้อโดยกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
        ในปี 2544 เป็นปีที่เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมืออาคารมากที่สุด คือในปีเดียว มีการซื้อขายอาคารสำนักงานขนาดกลาง-ใหญ่ ทั้งหมด 7 อาคาร ประกอบด้วย 1.อาคารโรจนะ ถนนอโศก 3.8 หมื่น ตร.เมตร ถูกซื้อไปโดยผู้บริหารแกรมมี่, 2.อาคารกรุงเทพประกันภัย ถนนสีลม พื้นที่ 1 หมื่น ตร.เมตร, 3.อาคารรัตนโกสินทร์ ถ.วิภาวดีรังสิต พื้นที่ 1.7 หมื่น ตร.เมตร 4.อาคาร 208 ถนนวิทยุ พื้นที่ 1.3 หมื่น ตร.เมตร ซื้อโดยรีเจ้นท์ โกลด์ ฟันด์ จากสิงคโปร์ 5.อาคารโมเดอร์นโฮม ถ.พระราม 3 พื้นที่ 9,429 ตร.เมตร ซื้อโดยกลุ่มกาแลกซี่ ภัตตาคาร, 6.อาคารบางกอก ซิตี้ ทาวเวอร์ ถ.สาทร พื้นที่ 4.2 หมื่น ตร.เมตร ซื้อโดยกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), และ 7.อาคารคิวเฮ้าส์ เพลินจิตร พื้นที่กว่า 1 หมื่น ตร.เมตร ซื้อไปโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

ปี 45 ขายสำนักงานแล้ว 4 อาคาร
        ในปี 2545 ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีการขายสำนักงานรวม 4 อาคาร ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทในประเทศ ได้แก่ 1.อาคาร GUANGDONG ถนนสี่พระยา พื้นที่ 1.7 หมื่น ตร.เมตร, 2.อาคารเลขที่ 64 สีลม ถนนสีลม พื้นที่ 5,500 ตร.เมตร, 3.อาคาร Building One ถ.วิทยุ พื้นที่กว่า 1.1 หมื่นตารางเมตร, 4.อาคารแกรนด์ อัมรินทร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ พื้นที่ 4.1 หมื่น ตร.เมตร ซื้อโดยบริษัทกรุงไทยการไฟฟ้า
        นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายอพาร์ตเมนต์จำนวนหนึ่ง มูลค่ารายการละ 75-300 ล้านบาท ได้แก่ 1.อาคาร 33 ลิฟวิ่ง เพลส ถ.สุขุมวิทซอย 33 จำนวน 16 ยูนิต, 2.โครงการพาร์ควิว แมนชั่น ถนนสารสิน ลุมพินี จำนวน 23 ยูนิต, 3.โครงการโรยัล ทองหล่อ เรสซิเด้นส์ สุขุมวิทซอย 55 จำนวน 45 ยูนิต, 4.โครงการอารีย์ คอร์ท สุขุมวิทซอย 26 จำนวน 13ยูนิต, 5.โครงการเลคกรีน อพาร์ตเมนต์ สุขุมวิทซอย 8 จำนวน 68 ยูนิต และ 6.โครงการชนินทร์ คอร์ท ต้นสน เพลินจิต จำนวน 40 ยูนิต และคาดว่าจะมีการขายอาคารสำนักงานอีกจำนวนหนึ่งก่อนสิ้นปีนี้
        อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระแสความเคลื่อนไหวการซื้อขายอาคารชุดพักอาศัยก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อปี 2540 โครงการ เลคพอยต์ สุขุมวิท 16 มี 2 อาคาร จำนวน 199 ยูนิต และ 152 ยูนิต, ส่วนปี 2544 มีกลุ่มนักลงทุนชาวไทยซื้อโครงการนานาใต้ แมนชั่น สุขุมวิท 4.จำนวน 157 ยูนิต เป็นต้น

อสังหาฯแบงก์จ่อคิวเลหลังสต็อก
        นอกจากการซื้อขายที่เกิดขึ้นแล้ว ล่าสุด ยังมีทรัพย์สินแปลงใหญ่ ของสถาบันการเงิน ที่ทุกธนาคารกำลังเร่งกลยุทธ์ระบายสต็อก ด้วยความพยายามขายออกไปในหลายๆ รูปแบบ ทั้งจัดประมูลขายยกแปลง เปิดโอกาสตัวแทนขายเข้ามาเป็นคนกลาง ประสานการขายสู่ผู้ซื้อรายย่อย
        รายล่าสุด คือ ธนาคารเอเชีย ที่ปรับกลยุทธ์บริหารทรัพย์สินรอการขาย โดยใช้นโยบายเชิงรุก โครงการ เอเชีย เซ็นเตอร์ (ศูนย์การค้าอิมพีเรียล บางนา) บริเวณถนนบางนา-ตราด กม.3.5 โดยดึงผู้เช่ารายใหม่เข้ามา คือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์อินเด็กซ์ ซึ่งจะมาเปิดศูนย์เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่บนชั้น 1-3 กว่า 1.3 หมื่น ตร.เมตร เป็นโครงการนำร่องการสร้างมูลค่าเพิ่มทรัพย์สิน เพื่อผลักดันการขายอาคารในอีก 2 ปีข้างหน้า
        นอกจากนี้ ธนาคารเอเชีย ยังมอบหมายให้ บริษัท ฮาริสัน เรียลตี้ เป็นตัวแทนการขาย โครงการ ไพรม์สเตท อาคารมินิออฟฟิศ 6 ชั้น พื้นที่ 67 ตร.วา ราคาเริ่มต้น 12.5 ล้านบาท มีหลายรายการ และยังมีคอนโดมิเนียมต่างๆ มีตัวแทนขายหลายราย บริษัท ที.ซี.เจ. แอสเซ็ท จำกัด, บริษัท เรียลตี้เวิลด์ อัลไลแอนซ์ จำกัด, บริษัท ฮาริสัน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เบสท์ อินทาวน์ เรียลตี้ จำกัด ไทยธนาคารขายสนง.ทำเลทอง
        นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจ ได้สำรวจความเคลื่อนไหว ตลาดทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ จากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่นำทรัพย์สินออกขายปัจจุบัน พบมีอสังหาริมทรัพย์ รายการใหญ่มูลค่าต่อชิ้นเกินกว่า 10 ล้านขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ทั้งอาคารสำนักงาน คอนโดพักอาศัย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และที่ดินเปล่า ซึ่งจัดขายทั้งแบบประมูล และการขายปลีก โดยมีข้อเสนอขายราคาพิเศษ รวมทั้งเสนอการเช่า เพื่อดึงนักลงทุนรายย่อย
        ทรัพย์สินน่าสนใจกลุ่มแรกมาจาก ไทยธนาคาร เริ่มจากห้องชุดสำนักงาน ในอาคารสาทรซิตี้ ทาวเวอร์ ถ.สาทรใต้ "1751/1,2/1 ถ.สาทร ต.ทุ่งมหาเมฆ (สาทร) อ.ยานนาวา จ.กรุงเทพมหานคร" ราคากลางในการขายกว่า 259 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 5,160.02 ตร.วา, อาคารชุด "เสริมมิตร ทาวเวอร์" ในซอยสุขุมวิท 21 (อโศก) มี 4 รายการ ราคา 28.3, 27.52, 42.64 และ 28.3 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีอาคารเอฟซีไอ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ 8 ชั้น 11 ชั้น ราคากลาง 230.4 ล้านบาท "กรุงศรีอยุธยา"เปิดกรุขายที่ดิน ด้านธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็มีรายการอสังหาฯ นำออกขายไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเปล่า มีอาคารชุดสำนักงาน และพักอาศัยด้วย แต่เป็นรายการปลีกย่อย เช่น ห้องชุดสำนักงาน ขนาด 1,105.36 ตร.ม.ที่ตั้ง ชั้น 4 ถนน สุขุมวิท 71 (คลองตัน) ราคารายการละ 33.35 ล้านบาท จำนวน 6 รายการ
        ที่ดินเปล่าในหลายทำเล ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 7 ล้านบาท สูงสุด 98 ล้านบาท สำหรับที่ดินในเขตพระโขนง เป็นที่ดินเปล่า ขนาด 19-3-00 ไร่ ที่ตั้ง หมู่ 9 (เข้าไป 450 เมตร) ถ.เฉลิมพระเกียรติ์ ซอย 22 แขวง สำโรงฝั่งเหนือ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ราคา 98.75 ล้านบาท นอกจากนี้ มีอาคารที่จอดรถ ขนาด 1-2-09 ไร่ ที่ตั้ง 50/10-11 ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ขายราคา 62.08 ล้านบาท
        ที่ดินเปล่า ขนาด 20 ไร่เศษ บนถนนนาวงประชาพัฒนา (เลียบคลองนายกิม) ซ.ลุงไหว 1 แขวงสีกัน (บ้านใหม่) เขตดอนเมือง (ตลาดขวัญ) กทม. ราคา 40.30 ล้านบาท

"กรุงไทย"ประมูลร่วมกรมบังคับคดี
        ด้านธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมกับกรมบังคับคดี จัดประมูลขายทรัพย์สิน โดยเริ่มประมูลหลักทรัพย์เฉพาะใน กทม.จะจัดครั้งแรก ในวันที่ 5 ต.ค.2545 ตั้งแต่ 09.00 น. เป็นต้นไป มีการจัดงานมหกรรมขายทอดตลาดบ้านและที่ดิน ราคาถูกเริ่มที่ 50-80% (ของราคาประเมิน) ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 4 อาคารธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่
        สินทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย ส่วนใหญ่เป็นห้องชุดสำหรับพักอาศัย อาคารพาณิชย์ และทาวน์เฮ้าส์ ทรัพย์สินชุดแรก ที่ธนาคารกรุงไทยจะนำออกขายในวันที่ 5 ต.ค.นี้ มีทั้งสิ้น 252 รายการ

"ทหารไทย"ลุยจัดประมูลเอง
        สำหรับธนาคารทหารไทย ได้จัดประมูลทรัพย์สินเองพร้อมจัดสินเชื่อรองรับ โดยทรัพย์สินทำเลดีที่คัดสรรแล้วมี 30 รายการ มูลค่าตั้งแต่ 16-800 ล้านบาท มูลค่ารวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท เปิดยื่นซองแล้วตั้งแต่ 21 ส.ค.-19 ก.ย.45
        ตัวอย่างรายการทรัพย์สิน เช่น อาคารอัลฟา (ที่มีข่าวจะเป็นที่ตั้งกระทรวงพัฒนาสังคม) ตั้งอยู่เลข 69 ถนนวิภาวดีรังสิต พญาไท กทม. ขนาดที่ดิน 2-2-61 ไร่ 1,061 ตร.วา เป็นอาคารสำนักงานสูง 25 ชั้น ใต้ดิน 3 ชั้น พื้นที่ขาย ชั้น 8-25 พื้นที่ขายรวม 8,225 ตร.เมตร ปัจจุบันเป็นอาคารสำนักงานโอนกรรมสิทธิ์ร่วม ราคากลาง 268 ล้านบาท
        อีกรายการ เป็นซูเปอร์สโตร์ หน้าโครงการการ์เด้นโฮม หมู่บ้านการ์เด้นโฮม ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ขนาดที่ดิน 1 ไร่เศษ เป็นอาคารซูเปอร์สโตร์ 5 ชั้น 1 หลัง พื้นที่รวม 1.1 หมื่น ตร.เมตร โครงสร้างเดิมเป็นอาคารศูนย์การค้าที่เคยเป็นกิจการอยู่แล้ว สามารถปรับปรุงเป็น ดิสเคาท์สโตร์ ชอปปิงอาเขต และเอนเตอร์เมนท์ คอมเพล็กช์ โชว์รูมชั้นล่าง และสำนักงานให้เช่าในชั้นบน ศูนย์สรรพสินค้าปลอดภาษี ราคากลาง 114 ล้านบาท
        นอกจากนี้ มีโรงงานอีเดนพริ้น ในซอยมหานครนิเวศน์ ตัดถนนวิภาวดีรังสิต บางเขน กทม. ขนาดที่ดิน 12 ไร่เศษ หรือ 4,910 ตร.วา มีสิ่งปลูกสร้าง 14 รายการ สำนักงาน 1-4 ชั้น ห้องโชว์ 1 ห้อง โรงงาน 7 ห้อง ราคากลาง 499 ล้านบาท

"กสิกรไทย"จัดกรุ๊ปขาย-เช่าพิเศษ
        ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดหมวดทรัพย์สินพิเศษ ราคาถูกพิเศษ และมีข้อเสนอพิเศษ ทั้งการขายราคาต่ำและให้เช่าเป็นรายเดือน มีทั้งอาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮ้าส์ บ้าน และที่ดินเปล่า อาทิ ที่ดินว่างเปล่า เนื้อที่ 65 ไร่เศษ 4 แปลง บนถนนประชาร่วมใจ แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา ต.ทรายกองดิน อ.คลองสามวา กรุงเทพฯ ราคาเสนอเช่าประมาณ 3.46 แสนบาท/เดือน ราคาเสนอขายประมาณ 83.11 ล้านบาท
        บ้านพักอาศัย เนื้อที่ 1 ไร่เศษ 2 ราย บ้านพัก 16X34 เมตร เนื้อที่ 672 ตร.เมตร โรงงาน 12X20 เมตร เนื้อที่ 330 ตารางเมตร เลขที่ 99 ติด ซ.วิภาวดีรังสิต 20 (ทรงสะอาด) แยกจากถนนวิภาวดีรังสิตเข้าไปประมาณ 600 เมตร ถ.วิภาวดี-รังสิต ต.ลาดยาว อ.บางเขน กรุงเทพฯ เป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้น อายุประมาณ 14 ปี และอาคารโรงงาน 2 ชั้น อายุประมาณ 15 ปี ราคาเสนอเช่าโดยประมาณ 7.98 หมื่นบาท/เดือน ราคาเสนอขาย 23.92 ล้านบาท เป็นต้น

วิกฤติไม่กระเทือนผู้ถือหุ้นใหญ่อสังหาฯ
        จากการสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 8 บริษัท เปรียบเทียบช่วงก่อนเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกปี 2540 และโครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุดปี 2545 ปรากฏว่า หลังจากผ่านการปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงิน กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมส่วนใหญ่ยังสามารถกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เหมือนเดิม เพียงแต่สัดส่วนการถือครองหุ้นจะลดลงจากในอดีต
        โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทในเครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์โครงสร้างผู้ถือหุ้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ นายอนันต์ อัศวโภคิน ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เหมือนเดิม โดยปี 2540 นายอนันต์ถือหุ้นในแลนด์แอนด์เฮ้าส์สัดส่วน 30.43% และปัจจุบันถือหุ้นสัดส่วน 23.18%
        สำหรับบริษัทเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2545 ประกอบด้วย นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ถือหุ้นสัดส่วน 28.39% บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 20.09% นายพิเชษฐ วิภวศุภกร 14.54% HSBC (SINGAPORE) 4.15% และนายจรูญศักดิ์ บัณฑูณจินดา 3.09% จากปี 2540 บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 73.03% บงล.ธนสยาม 11.7% นายชนะ โตวัน 2.24% นายวิทวัส พรกุล 1.8% และนายประกอบ ตันพิพัฒน์อารีย์ 1.71%
        บริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกปี 2545 ประกอบด้วย รัฐบาลสิงคโปร์ 16.01% นายอนันต์ อัศวโภคิน 11.07% บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 8.86% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ 8.19% และธนาคารไทยพาณิชย์ 3.9% จากปี 2540 นายอนันต์ อัศวโภคินถือหุ้น 15.79% บริษัทอเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ 11.90% นายชาย ศรีวิกรม์ 10.07% บงล.ธนสยาม 7.12% และบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 6.97% จากปี 2540 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย นายอนันต์ อัศวโภคิน 15.79% บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ 11.9% นายชาย ศรีวิกรม์ 10.07% บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม 7.12% และบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 6.97%
        บริษัทโนเบิลพร็อพเพอร์ตี้ มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกปี 2545 ประกอบด้วย นายกิตติ ธนากิจอำนวย 7.24% กองทุนรวมไทยสตราทิจิคแอสเซ็ท 6.84% นายประดิพัทธ์ สุวัตถี 4.11% นายปิยะ ธนากิจอำนวย 3.24% และนางสมรศรี วีรวรรณ 3.09% จากปี 2540 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย บริษัทบ้านสยามโฮลดิ้งส์ 12.5% บริษัทชาตรีโสภณ 9.96% นางพนิดา เทพกาญจนา 8.33% นายกิตติ ธนากิจอำนวย 7.67% และนางสมรศรี วีรวรรณ 6.42%
        บริษัทศุภาลัย มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกปี 2545 ประกอบด้วย นายประทีป ตั้งมติธรรม 9.84% Somers (U.K.) Limited 7.67% ธนาคารไทยธนาคาร 6.75% นางอัจฉรา ตั้งมติธรรม 6.75% และบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน 6.01% จากปี 2540 ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย นายประทีป ตั้งมติธรรม 22.34% นางอัจฉรา ตั้งมติธรรม 13.6% นางอรุณี อัศดร์วานิชชากร 4.9% นายจำรูญ วิจิตรสกลกิจ 2.95 % และนายอดิศักดิ์ อัศดร์วานิชชากร 2.49%
        บริษัทพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกปี 2545 ประกอบด้วย นายชายนิด โง้วศิริมณี 14.53% Albouys Nominess Limited 7.63% นายสุรศักดิ์ วัชรพงศ์ปรีชา 6.33% นายขรรชัย พานทองดี 4.84% และนายตำรา โง้วศิริมณี 4.51 จากปี 2540 ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย นายชายนิด โง้วศิริมณี 17.38% นายตำรา โง้วศิริมณี 4.51% นายธงชัย คุณากรปรมัตถ์ 4.38% Greenwood Nominees Limited 2.84% และ Chase Nominees Limited 2.77%
        สำหรับบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งหมดมีเพียง 2 บริษัท คือบริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ และบริษัท แสนสิริ จำกัด โดยปี 2540 บริษัทแผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ และบริษัทโกลเด้นท์ร็อค ดีเวลล็อปเม้น แต่ปัจจุบันในมือของนักลงทุนต่างประเทศ ถือหุ้นผ่านตราสารเอ็นดีวีอาร์ 35.77% และบริษัท เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย เซอร์วิส ถือหุ้น 10% มอร์แกนสแตนเลย์ 10.24% ส่วนบริษัท แสนสิริ จำกัด จากเดิมนายอภิชาติ จูตระกูล ถือหุ้น 7.05% นายชัช จูตระกูล 6.35% นางแช่มชื่น บูรณศิริ ถือหุ้น 6.35% นายชูเชิด จักกะพาก 6.32% และนางชดช้อย ทวีสิน ถือหุ้น 5.96% เปรียบเทียบโครงสร้างผู้ถือหุ้นล่าสุดกลุ่มทุนในประเทศไทยภายใต้ชื่อ Stepbalance เข้ามาถือหุ้น 32.3% กองทุนสตาร์วูด 3.8% และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ 5-6%
        นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด กล่าวว่า การที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ แม้จะประสบปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินปี 2540 สามารถมองได้ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก
        โดยกลุ่มผู้หุ้นเดิมบางรายอาจจะมีความตั้งใจจริงและมีความเป็นนักสู้ พร้อมที่จะกลับเข้ามาสู่วงการผู้ประกอบการอีกครั้ง เพราะถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ขณะเดียวกัน ภาวะแวดล้อมในปัจจุบันก็เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการกลับมาเกิดใหม่ได้อีกครั้ง ทั้งในแง่ความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาด และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีต้นทุนการผ่อนชำระที่ถูกลง
        นายเศรษฐา เห็นว่าหากมองในแง่ลบ ผู้ประกอบการบางรายอาจจะใช้กระแสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นโอกาสในการต่อรองเจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดยหวังที่จะได้รับส่วนลดมูลหนี้ (แฮร์คัท) และเมื่อผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะกลับเข้ามาถือหุ้นเหมือนเดิม ซึ่งจุดนี้แม้จะทำให้บริษัทสามารถจ่ายหนี้คืนในอัตราที่ต่ำกว่ามูลหนี้ที่แท้จริง แต่จะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของบริษัทในระยะยาว เพราะจะขาดความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ในโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
        "ต้องยอมรับว่าผู้ถือหุ้นเดิมที่เคยก่อตั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถพลิกฟื้นตัวเองกลับมาแจ้งเกิดใหม่ส่วนใหญ่มีความเป็นนักสู้และเห็นโอกาสการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นบางรายที่อาจจะถูกมองว่าเป็นการล้มบนฟูกนั้นมีน้อยมาก" นายเศรษฐากล่าว