ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยไทย
แนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้ที่เกี่ยวข้อง
นำเสนอข้อมูลจริงที่เปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนนโยบายที่อยู่อาศัยที่ผ่านมาของรัฐบาล
ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวต่อผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน
สถาบันการเงิน นักลงทุน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังนำเสนอมุมมองและแนวโน้ม
แผนการดำเนินงานด้านนโยบายที่อยู่อาศัยประเทศไทยในอนาคต
เพื่อประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนในการวางแผนพัฒนา
อสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืนต่อไป
ประเด็นที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อนโยบายที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
ที่จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหากับภาครัฐบาลมีอยู่
5 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1. ภาพของนโยบายที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา
ประเทศไทยเริ่มมีการจัดทำเรื่องของผังเมือง ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2547 หลังจากนั้นอีก 25 ปี ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพฯ
หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2535 อีก 35 ปีต่อมา จึงได้ประกาศใช้ร่างผังเมืองหลวงเป็นฉบับแรก
ก่อนหน้านั้นในช่วง ปี พ.ศ. 2525 ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัย
สังกัดอยู่ในคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วก็ได้ยุบไปในปี พ.ศ.
2539
2. บทบาทของทางภาครัฐบาล
เห็นได้ว่าประเทศไทยกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอดีตที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ทางภาคเอกชนเป็นหลัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 มาจนถึงปัจจุบัน
และการเคหะแห่งชาติก็เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่สร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา ประมาณ 140 , 000 หน่วย ปัจจุบันภาคเอกชนได้สร้างที่อยู่อาศัย
ประมาณ 2 ล้านหน่วย ซึ่งแตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับทางภาครัฐบาล ปัจจุบันนี้นโยบายการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของรัฐบาลได้ดำเนินการมาถูกทาง
และแนวทางที่ถูกต้องต่อไป เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ดังที่ท่านรัฐมนตรีกล่าวมาแล้ว
คือ รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชน
3. ความเข้าใจบางประการที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อย
ในอดีตที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำการสำรวจศึกษาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
หรือสลัม กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปเป็นกรณีศึกษา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 หรือในปี
พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา จะมีสัดส่วนของที่อยู่อาศัยของชุมชุนแออัด คิดเป็นร้อยละ 24
ทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จนมาถึงปี ค.ศ. 1994 หรือในปี พ.ศ. 2537 ทำการศึกษาสำรวจ
พบว่า ชุมชนแออัดหรือสลัม เหลือเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้น จากร้อยละ 24 และมีสัดส่วนของหมู่บ้านจัดสรร
เพิ่มขึ้น ร้อยละ 66 ที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ อีกร้อยละ 29 จะเห็นว่าแนวโน้มของที่อยู่อาศัยในเรื่องของชุมชนแออัดจะลดน้อยลง
ฐานของการพัฒนาบ้านจัดสรรประเภทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
4. โอกาสของนโยบายที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า
องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย
จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเจริญและการพัฒนาธุรกิจบ้านและที่อยู่อาศัย
มีดังนี้
ปัจจัยที่หนึ่ง คือ
ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นในการให้ข้อมูลและข่าวสารกับผู้ประกอบการ
นักธุรกิจพัฒนาที่ดิน ผู้บริโภค ควรมีการจัดตั้งและทำการเผยแพร่ข้อมูลให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ปัจจัยที่สอง คือ
ภาครัฐควรมีการส่งเสริม และสนับสนุน วางแผนนโยบายระยะยาวในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท
และดำเนินการพัฒนา ผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม
กันอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่องต่อไป
5. ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
ดังนี้
- ประเทศไทยควรส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยภาคเอกชนเป็นหลัก
- ประเทศไทยควรจะมีนโยบายที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เช่น การคุ้มครองเงินดาวน์ การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านอื่นๆ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่างๆ
เป็นต้น
- ประเทศไทยควรจะจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานอิสระที่ให้การสนับสนุนทางด้านข้อมูล
ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบ้านและที่อยู่อาศัยของไทย
- ควรมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักวิชาชีพ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ในการออกใบรับรองวิชาชีพ เป็นต้น
- ควรมีมาตรการป้องปราม
หรือมาตรการลงโทษที่ชัดเจน ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพต่างๆ ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละวิชาชีพได้
หรือ สร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กรและสาขาวิชาชีพของตนเองและของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การนำเสนอ และการสรุปผลการสัมมนาของกลุ่มย่อย
ทั้ง 5 กลุ่ม ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 "
แนวทางควบคุม-ยกระดับความรู้นักพัฒนาที่ดิน"
โดย
คุณ วรรณา โฆวินฑะ ตัณฑเกษม ประธานสภาที่อยู่อาศัยไทย กล่าวว่า
นักพัฒนาที่ดิน สามารถแบ่งกลุ่มได้ ดังนี้
1. นักพัฒนาที่ดินในรูปของบริษัท จะมีทั้งอยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์
2. นักพัฒนาที่ดินที่เป็นเจ้าของที่ดินอยู่แล้วหรือได้รับจากบรรพบุรุษ
3. นักพัฒนาที่ดินที่เปลี่ยนจากการเป็นตัวแทนขายและเป็นนายหน้าค้าที่ดินมาก่อน
และ 4. นักพัฒนาที่ดินที่เป็นชาวต่างชาติ
เป็นต้น แนวทางในการยกระดับของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะถูกกำกับดูแล
และควบคุมโดยตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
กลุ่มนี้จะมีหน่วยงานพร้อมอยู่แล้ว เช่น
แผนกกฎหมาย การตลาด ผู้วิเคราะห์โครงการ
และกลุ่มที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีความรู้ให้มาก
และจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนแนวทางในการควบคุมเรื่องการจัดสรรที่ดิน
ก็มีกฎหมายจัดสรรที่ควบคุมอยู่แล้ว อาคารชุดจะมีกฎหมายเกี่ยวกับอาคารของกรุงเทพฯ
ควบคุม และเรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณ
ของผู้ประกอบการยังไม่มีการควบคุมของหน่วยงานใด
เนื่องจาก เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เพราะฉะนั้น
สภาที่อยู่อาศัยกำลังผลักดันกฎหมายที่จะมาบังคับใช้และควบคุมผู้ประกอบการอยู่
โดยสรุปของกลุ่มมีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ดังนี้
1. โดยขั้นแรก
ควรจะมีคณะกรรมการเข้ามาดูแล และควบคุมนักวิชาชีพและผู้ประกอบการก่อนที่กฎหมายจะออกมาบังคับใช้ต่อไป
2. สถาบันการเงินต่างๆ และธนาคารจะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
3. นักพัฒนาที่ดินต้องการเห็นกฎเกณฑ์และแนวทางที่แน่นอนอย่างชัดเจนที่เป็นรูปธรรม
ของกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะกฎหมายบางตัวยังใช้การตีความกันอยู่
กลุ่มที่ 2 "
ภาคเอกชน: บทบาทหลักในการจัดหาที่อยู่อาศัยไทย"
โดย
คุณ ประทีป ตั้งมติธรรม อดีตนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า
เรื่องของการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเกี่ยวข้องกันอย่างกว้างขวาง
ทั้งทำเลที่ดิน สิ่งแวดล้อม นโยบายรัฐ
กฎหมายควบคุม การเมืองเศรษฐกิจ ตลอดจนตัวแทนนายหน้าที่มีส่วนให้การซื้อ-ขายสำเร็จ
ดังนั้น เอกชนจึงมีบทบาทสำคัญ และเป็นบทบาทหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
และทำให้กับผู้ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้ที่มีรายได้มากเป็นหลัก
ซึ่งที่อยู่อาศัยเหล่านี้จะมีมูลค่าต่อหน่วยสูง
และจะมีจำนวนหน่วยไม่มากนัก การเคหะแห่งชาติจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการทำที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อย
สำหรับภาคเอกชนที่ทำที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยจะไม่ค่อยเกิดขึ้น
เนื่องจากการกำหนดกฎเกณฑ์ราคาของ BOI
สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ราคาไม่เกิน
600, 000 บาทต่อหน่วย ในส่วนของบ้านเดี่ยว
ในราคานี้สำหรับผู้มีรายได้น้อยก็เป็นไปไม่ได้
แต่จะมีบางส่วนที่ทำได้ คือ คอนโดมิเนียม
ทาวน์เฮาส์ แต่ต้องมีมาตรฐานของพื้นที่
อย่างน้อย 31 ตารางเมตร และก็อาจจะต้องได้ทำเลที่ไกลและอยู่นอกจากตัวเมืองด้วย
สำหรับที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้ปานกลาง
และผู้ทีมีรายได้สูงไม่มีปัญหา ส่วนการก่อสร้างโครงการตั้งแต่
80 หน่วยขึ้นไป จะต้องมีการกำหนดสภาพแวดล้อม
สาธารณูปโภค สาธารณูปการ การคมนาคม น้ำ
พื้นที่สีเขียว สุขลักษณะต่างๆ จะไม่มีความแตกต่างกันเลยระหว่างกลุ่มที่มีรายได้น้อยกับผู้ที่มีรายได้ปานกลางและสูง
และทางออกสำหรับที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อย
ดังนี้
1. การไปซื้อบ้าน
และคอนโดมิเนียมเก่า ในราคาที่ไม่สูงมากนัก
และค่อยมีการพัฒนา ซ่อมแซมปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
2. การพัฒนาที่ดิน การตัดถนนผ่านของทางภาครัฐ ก็สามารถช่วยขยายความต้องการบ้านและที่อยู่อาศัย
และขยายเศรษฐกิจของผู้ที่มีรายได้น้อยอีกด้วย
กลุ่มที่ 3 "
เครื่องมือในการคุ้มครองผู้บริโภคควรมี
(แต่ยังไม่มี)"
โดย
คุณ อรุณรุ่ง เดชะพูนผล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะของกลุ่ม มีดังนี้
มิติของการนิติบัญญัติ
๑.
กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคมีอยู่กระจัดกระจาย
มีหน่วยงานและกฎหมายที่หน่วยงานรับผิดชอบอยู่มาก
ประชาชน ผู้บริโภคหรือผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเช่นว่านั้นไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้สะดวก
รวดเร็ว และครอบคลุมในเรื่องที่ต้องการทราบ
๒. ส่วนราชการไม่สามารถรู้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและไม่สามารถนำไปปรับใช้บังคับได้อย่างบูรณาการ
อันทำให้ประชาชนได้รับบริการไม่สะดวกและล่าช้า ซึ่งหากมีฐานข้อมูลที่ดีและจัดทำเป็นประมวลกฎหมายให้เป็นหมวดหมู่ก็จะทำให้การนำกฎหมายไปใช้บังคับ
อ้างอิงและค้นคว้าได้โดยสะดวก สำหรับในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์นั้น
อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของกรมที่ดินตามกิจกรรมแผนพัฒนากฎหมายของกรมที่ดินในส่วนการรวบรวมบทบัญญัติกฎหมายเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน
(Compilation of Law and Regulation)
๓. กระบวนการนิติบัญญัติล่าช้า
ไม่ทันและไม่ตอบสนองต่อธุรกิจที่มีความซับซ้อนของยุทธวิธีและแผนการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ
มิติของการบริหาร
๑.
ไม่มีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในราชการส่วนภูมิภาค
นอกจากนี้ หน่วยงานราชการส่วนกลางอื่นซึ่งตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค
อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดยังครอบคลุมไม่ถึง
แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดก็ตาม
แต่ก็มีอำนาจจำกัด
๒.ฝ่ายบริหารไม่เห็นด้วยกับหลักการที่จะให้มีเงินกองทุนกำหนดไว้ในกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อการพัฒนาในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการเยียวยาชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีก่อนในเบื้องต้น
๓. การมีส่วนร่วมภาคประชาชนยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือกระตุ้นให้รู้สึกถึงการมีความรู้สึกร่วมโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ
๔. รัฐบาลมีแนวความคิดในเชิงบูรณาการงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระดับหนึ่ง
แต่ยังไม่มีแนวความคิดในเชิงการบริหารงานภาครัฐด้วยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงด้านกิจการคุ้มครองผู้บริโภค
มิติของการยุติธรรม
๑.
ยังไม่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการเฉพาะ
๒. ยังไม่มีศาลคุ้มครองผู้บริโภคทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดี
มิติของผู้บริโภค
๑.
ขาดสำนึกสาธารณะและความรู้สึกร่วมเมื่อถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
๒. ภาคประชาสังคมมีความอ่อนแอ
เครื่องมือในการคุ้มครองผู้บริโภคควรมี
แต่ยังไม่มี (เพิ่มเติม)
๑.
หน่วยงานและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค
เนื่องจากปัจจุบัน สคบ. มีบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวมากกว่าครึ่งของพนักงานทั้งหมด
และในส่วนภูมิภาคก็ยังไม่มีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอเช่นกัน
๒. เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่เกิดความเสียหายแล้ว
๓. สนับสนุนให้เพิ่มบุคลากรสำหรับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีงานรับผิดชอบเพิ่มขึ้น
๔. One stop service
๕.
Escrow Account law เรียกว่า พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
ประกอบด้วย ตัวแทนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
และสัญญาซื้อ-ขาย จะต้องมีมาตรฐาน
๖. Class Action คือกรณีผู้บริโภคเกิดการเสียหาย
แล้วชนะคดีความก็จะทำให้ผู้บริโภครายอื่นๆ ในความเสียหายอย่างเดียวกัน จะได้รับผลประโยชน์จากคดีความไปด้วย
๗. Product Liability
law
๘. มาตรฐานข้อสัญญาซื้อขายแบ่งที่ดินไม่ถึงสิบแปลง
มาตรฐานของข้อสัญญาการว่าจ้างปลูกสร้างบ้าน
๙. Compilation of
law and Regulation on land
กลุ่มที่ 4 "
ประสบการณ์พัฒนาที่อยู่อาศัยในต่างประเทศที่ไทยควรเรียนรู้"
โดย
คุณ สมชาย โอฬารชัชนันท์ ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท สิริวลัย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า
การพัฒนาที่อยู่อาศัยในต่างประเทศที่เจริญแล้ว
จะมีกระทรวงที่เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัย
หรือการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้การดำเนินในด้านที่อยู่อาศัยและเมืองของต่างประเทศนั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพดี
ระบบการบริหารจัดการดี จึงอยากให้รัฐบาลจัดตั้งกระทรวงที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองขึ้นในประเทศไทย
เพื่อที่จะให้มีเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทางภาครัฐบาลเข้ามาทำการศึกษา
วางแผนนโยบายที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วทั้งประเทศ
ให้มีการกระจายในทุกๆ ด้าน โดยการวางผังเมืองให้เป็นระบบอย่างถูกต้อง
และรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่ที่สำคัญ ดังนี้
1. รัฐบาลสนับสนุนข้อมูลให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
นำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจในเรื่องที่อยู่อาศัยได้อย่างเพียงพอ
2. ภาครัฐต้องให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆ
ตลอดจนด้านคมนาคมเชื่อมโยงกับการขนส่งให้ทั่วถึงกัน เพื่อไม่ให้ที่อยู่อาศัยมารวมตัวกันอยู่ในกรุงเทพฯ
และปริมณฑลมากนัก
3. ภาครัฐต้องมีหน้าที่ศึกษาหาข้อมูล มาสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนธุรกิจที่อยู่อาศัย
ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
4. ให้ทางภาครัฐบาลออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพทางด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย
และภาคการก่อสร้างให้มีมาตรฐาน และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
กลุ่มที่ 5 "
ข้อมูลที่จำเป็นและสามารถขายให้ยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง"
โดย
ผศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ ภาควิชาการเคหะ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว่า
ข้อสรุปของข้อมูลที่จำเป็นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
มี 4 ประเด็นใหญ่ ดังนี้
1. นโยบาย
แนวทาง และข้อมูลของทางภาครัฐบาลจะต้องมีความชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็น
- โครงการเมกะโปรเจคต่างๆ
- กฎหมายผังเมืองที่มีอยู่แล้ว และกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ใหม่
- กฎหมายการควบคุมอาคาร การก่อสร้าง
2. หน่วยงานของภาครัฐบาลที่ควบคุมกลไกในการประกอบวิชาชีพ
เช่น กรมที่ดิน การจัดสรรที่ดินทำกิน การขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร
ซึ่งจะต้องกำหนดขั้นตอน แนวทางการปฏิบัติ
รายละเอียดต่างๆ อย่างชัดเจน โดยให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่วมกับภาครัฐด้วย
3. ควรจะมีคณะกรรมการเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งชาติ
โดยความร่วมมือของทางภาครัฐและภาคเอกชน
เข้ามาวางกรอบแนวทางในการพัฒนาและดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัยของประเทศให้มีความเจริญยิ่งขึ้น
4. จัดตั้งองค์กรที่เป็นจุดศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของประเทศ
ทั้งที่เป็นข้อมูลของทางราชการ และข้อมูลทางการตลาดของเอกชน
ตลอดจนข้อมูลของผู้บริโภคในประเทศไทยอีกด้วย
ความคิดเห็นของหน่วยงานราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ
คุณ
ลดาวัลย์ ธนะธนิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
จำกัด (มหาชน) ผู้แทนสมาคม ธนาคารไทย
กล่าวสรุปว่า
ประเด็นหัวข้อเรื่องนโยบายกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในมิติใหม่
จะมีข้อมูลอยู่ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่การเคหะแห่งชาติจะมีข้อมูลที่เกี่ยวกับนโยบายที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก
และก็มีข้อมูลที่การเคหะแห่งชาติดูแลอยู่อีกหลายระดับด้วยกัน และสรุปการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนี้
1. ในส่วนของธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ ควรจะมีจริยธรม
ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจะต้องดูแลผู้บริโภคเป็นสำคัญ คือ ผู้ซื้อจะต้องได้สิ่งที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนตามมูลค่าของเงินที่ผู้บริโภคเสียไป
และทางธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องตามระเบียบของทางราชการทุกอย่างเท่านั้น
2. บทบาทของสถาบันการเงิน ก็คือ การทำสัญญาและค้ำประกันให้กับโครงการต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง และจะต้องวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของโครงการอีกด้วย
3. การทำเรื่องที่อยู่อาศัยสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ
ผู้ประกอบการจะต้องพยายามปรับและเลือกโครงการให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยรวม ตลอดจนศึกษาตลาดเป้าหมายที่ต้องการบ้านในแต่ละประเภท
สิ่งเหล่านี้ทางธนาคารจะนำเอามาพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อในแต่ละโครงการต่อไป
คุณ ฐิตานนท์ พิบูลย์นครินทร์
รองผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ
กล่าวสรุปว่า
ปัญหาในเรื่องของกฎหมาย สมควรจะมีกฎหมายเพิ่ม
ซึ่งทางการเคหะแห่งชาติก็กำลังดำเนินการอยู่
ไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมกันผลักดัน
จะมีแต่หน่วยงาน สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เข้ามาช่วยดำเนินการต่อและผลักดันร่วมกันให้เกิดกฎหมายขึ้น
ส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะมีส่วนช่วยผลักดันโครงการที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว
นอกจากกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว
และประเทศไทยควรจะมีกระทรวงการพัฒนาที่อยู่อาศัย
หรือการพัฒนาเมือง ให้เหมือนกับต่างประเทศ
ที่มีมานานแล้ว แต่การจัดตั้งกระทรวงต่างๆ
ไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลจะต้องไปตัดและแบ่งขนมเค้กจากกระทรวงใหญ่ๆ
ที่สำคัญรัฐบาลควรจะอาศัยข้อมูลของประชามติของประชาชนและผู้ประกอบการภาคเอกชน
ถ้ากระทรวงนี้เกิดขึ้นได้ก็จะทำให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและต่อเนื่องเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
ก็ขอความร่วมมือของทุกฝ่ายให้ร่วมมือและผลักดันก่อให้เกิดกระทรวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือการพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
คุณพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
กล่าวสรุปดังรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ
3 ประการ ไว้ดังนี้
1. นโยบายด้านที่อยู่อาศัยของรัฐ ในปัจจุบัน
1.1 ส่งเสริมตลาดบ้านใหม่
- รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญ กับพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ
- รัฐบาลส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตลาดระดับกลางขึ้นไป
- รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น
ใน Mega-Project เพราะเป็น Backlog ของการสร้างคุณภาพและความมั่นคงที่อยู่อาศัยในชีวิตของประชาชนที่ยากจน
1.2 ส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง
- การพัฒนาให้ที่อยู่อาศัยเป็นมากกว่าบ้าน แต่เป็น Asset และ ทางเลือกที่ดีสำหรับ
Investment
- สร้างโอกาสการพัฒนา เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยของประชาชน
ระดับต่าง ๆ
- โดยให้ ตลาดบ้านมือสอง มี Liquidity ในการซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยน
1.3 ที่อยู่อาศัยราคาถูกจากภาคเอกชน
(BOI )
- บ้านราคาไม่เกิน 600,000 บาท สร้างโดย ภาคเอกชน
- ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก (BOI)
1.4 บ้านเอื้ออาทร
โดย การเคหะแห่งชาติ ( กคช.)
- สร้างบ้านจำนวน 600,000 หน่วย ในปี 2548-2552
- สำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ( รายได้ครอบครัวต่ำกว่า 15,000
บาท/ เดือน)
- คาดว่า ปี 2549 จะเสร็จประมาณ 90,000 หน่วย
1.5 บ้านมั่นคง
โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
- แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนจนเมือง (สลัม) ทั่วประเทศ 1 , 425,
000 คน (285, 000 หน่วย) สำหรับ 2, 000 ครอบครัว ใน 200 เมือง ทั่วประเทศ
ในปี 2548-2551
- โครงการนำร่อง 10 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 1 , 500 หน่วย
- ปรับปรุง หรือสร้างใหม่ ในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชน หรือ
ได้รับสิทธิ์การเช่าระยะยาว (30-60 ปี)
- รัฐมีเงินอุดหนุน สาธารณูปโภค และดอกเบี้ย
2. ธอส. กับบทบาทผู้นำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย
2.1 ธอส. สนับสนุนโยบายรัฐในการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
โดยจัดโครงการสินเชื่อพิเศษเฉพาะกลุ่ม
2.2 ธอส. ยังร่วมในการพัฒนาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อการรองรับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
2.3 ธอส. ร่วมมือกับองค์กร
ทั้งภาครัฐและเอกชน ในฐานะพันธมิตร และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างโอกาสการมีที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
3. ข้อคิดเห็นบางประการสำหรับนโยบายที่อยู่อาศัยของไทย
3.1 ภาพรวม
- ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนามากนัก
- แต่มีแนวนโยบายที่แก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจนขึ้น
- ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
- ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาให้ระบบตลาดเพื่อรองรับ Demand
ที่อยู่อาศัยในตลาด
- รัฐเข้ามาช่วยจัดสร้างที่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นเรื่องที่เหมาะสมในขณะนี้
เพราะเป็น Backlog ในตลาด
- รัฐได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและคมนาคมขนส่งมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย
เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างยิ่ง
- ดังนั้นจึงกล่าวโดยรวมได้ว่า แนวนโยบายที่อยู่อาศัยของรัฐในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
- แต่ รัฐควรจะต้องจัดทำแผนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทาง
หรือ Road Map สำหรับการพัฒนาของประเทศ และสามารถทำให้ทุกฝ่ายทั้ง
ภาครัฐ และเอกชน เข้ามาร่วมได้อย่างเหมาะสม
3.2 สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้นโยบายทีประสิทธิภาพ
- การเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยทั้งระบบที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ซึ่งครอบคลุม ทุก Segment
- ควรจะมีหน่วยงานทำหน้าที่ประมาณการ ตัวเลขความต้องการที่อยู่อาศัย
เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา
- รัฐควรจะจัดทำโครงการในลักษณะ Public-Private Partnership (PPP)
ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น
- ควรส่งเสริมให้เกิดการจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยควบคู่กับแหล่งงานใหม่
ๆ หรือชุมชนเมืองใหม
ดร. สุวัฒน์ วาณีสุบุตร ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กล่าวสรุปว่า เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับการขนส่งจะมีความสอดคล้องและไปด้วยกันได้ดี
แต่ที่ผ่านมาทั้ง 2 วิชาชีพนี้แยกออกจากกันไปคนละทิศทาง จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ในต่างประเทศที่มีการพัฒนาและความเจริญแล้วจะเดินไปด้วยกัน กลุ่มเดียวกัน
วิชาชีพเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร สถาปนิค นักธุรกิจทั่วไป นักการเงินการธนาคาร
เชื่อว่าความต้องการที่อยู่อาศัยในประเทศไทยไม่มีที่สิ้นสุด ยังขยายตัวไปไกลกว่า
20 ปี ที่ผ่านมา ภาครัฐบาลไม่มีเข้มแข็ง ไม่ให้ความสนใจกับการสร้างที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง
ทั้งที่การสร้างที่อยู่อาศัยมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง
ข้อเสนอแนะทางภาครัฐ มีดังนี้
1. รัฐบาลควรจะลงทุนตัดถนนให้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดที่อยู่อาศัยใหม่ๆ
อีกด้วย
2. เรื่องผังเมือง ต้องมีการรวมกลุ่มกันคิดและวางระบบผังเมืองให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง
และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
3. ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันในการพัฒนาทุกด้าน
ทั้งการขนส่งมวลชน การคมนาคม การก่อสร้างอาคาร บ้านที่อยู่อาศัย และการขยายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนให้เป็นรูปธรรม
แนวทางนโยบายและการปฏิบัติของทางรัฐบาลในเรื่องที่อยู่อาศัยได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว
และให้การเคหะแห่งชาติรับผิดชอบโครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย
จึงเป็นผลงานที่ดีและยิ่งใหญ่ ส่วนภาคเอกชนจะต้องให้ภาครัฐสนับสนุน วางแผนการร่วมกัน
และให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนให้เป็นชุมชุนขึ้นมา เพื่อสะดวกในการดำเนินการตัดถนน
และพัฒนาที่ดินที่ใช้สำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทุกประเภท ต่อไปในอนาคต