Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,346 คน
ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2548
ตีพิมพ์ในหนังสือรายงานสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2547 และแนวโน้มปี 2548 ของสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ดร.โสภณ พรโชคชัย *(sopon@thaiappraisal.org)
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA **    

          ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2548 จะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการสมควรพิจารณา ในการวิเคราะห์ตลาดนั้นอาจมองจากแง่มุมที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับในบทความนี้บทวิเคราะห์ต่อไปนี้เป็นผลจากการสำรวจภาคสนามเป็นสำคัญ ซึ่งจะให้ภาพที่ใกล้ชิดกับความเป็นจริงเพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันและบ่งชี้ถึงภาวะการณ์ในอนาคตที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

แนวทางการศึกษา
          การศึกษานี้เน้นเฉพาะที่อยู่อาศัยในเขตกรุงมหานครและปริมณฑล เพราะอสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้มีขนาดรวมกันถึงประมาณ 70% ของตลาดรวม อีก 20% เป็นโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคอีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ และที่เหลืออีก 10% เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นทั้งหมด อันได้แก่อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักผ่อน ดังนั้นการวิเคราะห์เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนี้จึงให้ภาพที่ชัดเจนและเป็นแนวโน้มหลักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย

          ข้อมูลหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์นี้มาจากการเก็บข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตลอดช่วง ปี พ.ศ. 2537-2547 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลรายเดือน และการสำรวจการขายโครงการที่อยู่อาศัยทุกรอบ 6 เดือนเป็นสำคัญ โดยในการนี้ทาง Agency for Real Estate Affairs (AREA) ได้จัดส่งนักวิจัยออกสำรวจและบันทึกข้อมูลรายละเอียดของโครงการทั้งหลาย ณ ที่ตั้งโครงการในทุกครั้งที่เปิดตัวโครงการใหม่ (รวมทั้งการเปิดเฟสหรือระยะการพัฒนาใหม่) พร้อมกับไปสำรวจอีกสองครั้งในรอบปี (ทุก 6 เดือน) จนกว่าโครงการจะขายแล้วเสร็จหรือไม่ก็ล้มเลิกโครงการไปกลางคัน


แผนที่แสดงที่ตั้งโครงการที่อยู่อาศัย 6,000 แห่งที่สำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2537-2547

          ตัวเลขการเปิดตัวโครงการใหม่นี้มีความสำคัญที่สุดต่อการวิเคราะห์ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ๆ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าในตลาดในห้วงเวลาดังกล่าว มีกิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หากเทียบกับชุดตัวเลขอื่นแล้ว จะพบว่าตัวเลขเหล่านั้นไม่สะท้อนภาวะตลาดมากนัก เช่น การจดทะเบียนบ้านใหม่เป็นการแสดงอดีตของภาวะตลาด เพราะเมื่อบ้านสร้างเสร็จย่อมหมายถึงได้ผ่านกิจกรรมการขายมา 1-2 ปีแล้วเป็นต้น ตัวเลขการขออนุญาตจัดสรร ก็ไม่สะท้อนภาวะตลาดเนื่องจากเป็นการขายกับการขออนุญาตมักจะไม่สัมพันธ์กัน บ้างก็ขายโดยไม่ได้รับอนุญาต บ้างที่ได้รับอนุญาตก็ยังไม่ได้ทำการขาย ตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็คือ การโฆษณาขายในสื่อต่าง ๆ ซึ่งกรณีนี้ถือว่าไม่ครอบคลุมเนื่องจากโครงการหลายแห่งมีกิจกรรมทางการขายโดยไม่ได้ลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์นั่นเอง

ก่อนพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ (2537-2542)
          นับจากปี พ.ศ.2537 การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ นี้มีความผันผวนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้สืบเนื่องจากในประเทศไทยได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี พ.ศ. 2540 จึงทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัยหดตัวอย่างรุนแรง ประเด็นหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก็คือ อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต่างหากที่เป็นตัวกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ กล่าวคือถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่มีคนซื้ออสังหาริมทรัพย์ เหมือนทองหยอง คนเราถ้ามีเงินเหลือ ก็จะซื้อไว้ใช้สอยหรือประดับบารมี แต่ถ้าไม่มีเงินก็จะขายออกเพื่อประทังชีวิต

          ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เราพยายามสร้างอสังหาริมทรัพย์มากมายโดยเฉพาะบ้านและอาคารชุดราคาถูก เพราะในขณะนั้นเศรษฐกิจเริ่มส่อแววแย่ วงการอสังหาริมทรัพย์จึงต้องเริ่ม “ขอดน้ำ” ที่แห้งเหือด ผลก็คือพอเศรษฐกิจพังพาบไป เรามีบ้านและห้องชุดที่สร้างเสร็จแต่ไร้คนอยู่ถึง 350,000 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือห้องชุดราคาถูกนั่นเอง แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจดีขึ้น ก็เริ่มมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่สังเกตได้ว่า สินค้าที่อยู่อาศัยราคาถูกที่ยังเหลืออยู่มากมายนั้นแทบไม่มีการเปิดตัวออกมาใหม่เลย

          จากแผนภูมิแสดงการเปิดตัวโครงการใหม่ จะพบว่า ก่อนช่วงเกิดวิกฤติการณ์ปี พ.ศ. 2540 นั้น มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มากเป็นพิเศษ มากจน “เหลือเชื่อ” ดังจะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ. 2537 เปิดตัวขึ้นมากถึง 356, 560 ล้านบาท ดังนั้นในอนาคตหากพบเห็นความผิดปกติเช่นนี้อีก อาจถือเป็นเครื่องเตือนภัย (มากกว่าจะเป็นเครื่องชี้ความ “รุ่งเรือง” เนื่องจากเป็นสัญญาณแสดงว่าจะถึงจุดอิ่มตัวและตกต่ำแล้ว)

          ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ตลอดช่วงปี 2537-2540 อสังหาริมทรัพย์มีการเปิดตัวลดลงตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ว่า ในทางหนึ่งอุปทานก็เป็นเครื่องชี้อุปสงค์ได้ ในเมื่ออุปสงค์มีจำกัด อุปทานจึงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

          สำหรับในปี 2540 ยิ่งมีความน่าสนใจที่ว่า การถดถอยของโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่นั้นเห็นได้อย่างเด่นชัด เพราะเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ในปีดังกล่าว รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และเศรษฐกิจก็เริ่ม "ดิ่งเหว" อย่างเห็นได้ชัดนับแต่วันนั้นมา อย่างไรก็ตามโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็ยังมีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่องมาแม้หลังจากการลดค่าเงินบาท เหตผลที่ยังมีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่องเพราะโครงการหลายแห่งได้เตรียมตัวไว้แล้ว ไม่สามารถหยุดยั้งได้กลางคัน การนี้แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของอสังหาริมทรัพย์ที่ "เชื่องช้า" (inert) เมื่อเทียบกับสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งสามารถแปลงค่าเป็นเงิน (liquidate) ได้ง่ายกว่ามาก

          ช่วงตกต่ำสุดขีดคือในราว พ.ศ. 2541-2542 ซึ่งแทบจะไม่มีโครงการใดเปิดตัวขึ้นมาใหม่เลย อันแสดงให้เห็นชัดว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแปรตาม (dependent variable) ไม่ใช่เป็นตัวแปรอิสระ (independent variable) หรืออีกนัยหนึ่งเศรษฐกิจเป็นตัวกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ อสังหาริมทรัพย์ก็ตกต่ำตามไปด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ได้เห็นจากช่วงฟื้นตัว (พ.ศ. 2543 ถึง 2546)่
          นับแต่ปี พ.ศ. 2543 สถานการณ์เศรษฐกิจได้ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ทำให้อสังหาริมทรัพย์ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา จากที่มูลค่าการพัฒนาในช่วงปี พ.ศ. 2541-2542 เป็นเงินปีละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท หรือไม่เกิน 4,000 หน่วย ก็เติบโตมาเป็นประมาณ 13,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2543 และจากประสบการณ์ที่ผ่านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เกิดจากการส่งออก (เป็นภาคธุรกิจเดียวที่ได้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาท) การท่องเที่ยว และการเติบโตของภาคบริการ เป็นสำคัญ

          การฟื้นตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2543-2546 ปีหนึ่ง ๆ ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเปิดตัวเพิ่มขึ้นนับเท่าตัว กล่าวคือในปี พ.ศ. 2543 มีมูลค่าการพัฒนาเพียง 13,178 ล้านบาท แต่ในปีถัดมาเติบโตเป็นถึง 25,267 ล้านบาท ยิ่งในปี พ.ศ. 2545 กลับเพิ่มเป็น 60,123 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2547 มูลค่าของโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่พุ่งขึ้นสูงถึง 150,404 ล้านบาท

          อาจมีผู้สังเกตว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543-2546) มักมีข่าวว่าการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นราว 30% แทบทุกปี ผู้ประกอบการมักจะมีความเห็นในตัวเลขที่สอดคล้องกันนี้ ส่วนข้าราชการการเมืองก็มีความเห็นที่ไม่แตกต่างกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นเข้ามาแข่งขันในตลาดมากนัก จึงไม่ประสงค์จะแสดงตัวเลขที่สูงมากนัก ประกอบกับนักการเมืองก็คงรับฟังตัวเลขมาจากผู้ประกอบการ จึงให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน (แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง)

แนวโน้มล่าสุด… อาจลด
          ถ้าพิจารณาจากในช่วงปี พ.ศ. 2547 จะเห็นได้ว่า คาดว่ามูลค่าโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะสูงขึ้น กล่าวคือจาก 150,404 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2546 เป็น 200,875 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2547 หรือเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งในสี่ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงจำนวนหน่วยที่เปิดใหม่ กลับคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย กล่าวคือจะเปิดตัวในปี พ.ศ. 2547 รวม 53,800 หน่วย ซึ่งอาจจะต่ำกว่าปี พ.ศ. 2546 ที่เปิดตัวถึง 55,539 หน่วย

          กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ นั้นมีจำนวนลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจส่อเค้าที่ไม่แจ่มใสนักในปี พ.ศ. 2548 การเปิดตัวต่าง ๆ จึงอาจชลอตัวลงไปได้ นอกจากนี้ราคาขายต่อหน่วยของหน่วยขายที่เปิดตัวใหม่นั้นกลับสูงขึ้น จากตัวเลขข้างต้นพบว่า ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของหน่วยขายที่เปิดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจนั้นมีราคาเพียง 1.5 ล้านบาท แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) ราคาขายกลับสูงถึง 3.7 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากันถึงสองเท่า

          เหตุผลที่มีการเปิดตัวโครงการราคาถูกน้อยลงก็เพราะโครงการเหล่านี้ยังเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมากในท้องตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอาคารชุดราคาถูกที่มีอยู่นับแสนหน่วย เมื่อไม่มีตลาดหรือกำลังซื้ออย่างเพียงพอ อุปทานที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดจึงมีน้อยลงตามลำดับไปด้วย อย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เมื่อค่าเช่าตลาดของห้องชุด (โดยเฉพาะห้องชุดที่มีราคาถูก) เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด) กลับยังไม่สูงนัก ก็จะทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้ามารุมซื้อเก็งกำไรในอนาคตได้

การประมาณการจากข้อมูลล่าสุด (พ.ศ. 2547)
          จากการศึกษาข้อมูลล่าสุดเฉพาะใน 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2547 พบว่า ประการแรกจำนวนแม้จากแนวโน้มรวมที่ผ่านมา การเปิดตัวโครงการใหม่จะมีมูลค่าเพิ่มเติมตามลำดับ แต่เฉพาะใน 9 เดือนที่ผ่านมา การเกิดโครงการใหม่กลับลดลงในแง่ของมูลค่าในเดือนหลัง ๆ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่การเปิดตัวโครงการในช่วงปี 2548 จะมีมูลค่าลดลงกว่าปี พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะความ (ที่อาจ) ไม่สดใสของภาวะเศรษฐกิจในปีหน้านั่นเอง อย่างไรก็ตามโดยที่ในช่วงแรกของปีหน้ามีการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาล ความ “ฝ่อ” ของตลาด (ที่อาจจะเกิดขึ้น) จึงอาจยังไม่ปรากฎในช่วงไตรมาสแรก

          ในแง่ของราคาขายต่อหน่วยนั้น ตามที่ได้แจกแจงไว้แล้วว่า ราคาขายในปี พ.ศ. 2547 นี้มีราคาสูงขึ้นนั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มเฉพาะแต่ละเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ จะยิ่งพบว่า ในเดือนหลัง ๆ มีการขายในราคาที่สูงขึ้นไปอีก แสดงว่าสินค้าราคาต่ำหรือราคาปานกลางยังไม่เห็นปรากฎให้เห็นหรือมีเพียงส่วนน้อย ทำให้ราคาเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้น และการที่สินค้าราคาแพงกลับมีเพิ่มขึ้น เพราะคนซื้อกลุ่มนี้คงมีรายได้ดีและแน่นอน จึงมีความน่าเชื่อถือและสามารถเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ได้

          สำหรับอัตรายอดขายพบว่า โดยภาพรวมแล้วไม่อาจอนุมานได้ว่า อัตราขายในเดือนหลัง ๆ ตกต่ำลง ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละโครงการเป็นสำคัญ แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของประเภทบ้าน จะพบว่า ห้องชุดมีอัตราการขายในเดือนหลัง ๆ ต่ำกว่าเดือนแรก ๆ และสำหรับทำเลพบว่า ทำเลใจกลางเมืองมีลักษณะเช่นเดียวกันคือขายได้น้อยลงในเดือนหลัง ๆ ดังนั้นเมื่อพิจารณาเจาะจงเฉพาะห้องชุดในเขตใจกลางเมืองเท่านั้น จะพบว่า ที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้มีอัตราการขายลดลงตามลำดับ แสดงว่า กำลังอยู่ในภาวะที่ถดถอยลง เนื่องจากมีการผลิตเกิดขึ้นมาก

          และเป็นสิ่งที่น่าแปลกมาที่สินค้ากลุ่มนี้ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ กลับเพิ่งเริ่มเปิดตัวอย่างจริงจังเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา จากการตรวจสอบในรายละเอียดพบว่า ก่อนหน้านี้ (ก่อนปี พ.ศ. 2546) แทบไม่มีโครงการอาคารชุดใจกลางเมืองเกิดขึ้นเลย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สินค้าประเภทนี้เป็นสินค้าที่ "มาแรง" ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในอนาคตคงไม่มีโอกาสที่จะเกิดสินค้าประเภทนี้เป็นจำนวนมากอีก เพราะตัวเลขแสดงถึงความอิ่มตัวอย่างชัดเจน

อนาคตของตลาดที่อยู่อาศัย
          อาจคาดการณ์ได้ว่า บ้านเดี่ยวราคาแพง (ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป) ยังมีการขายตัวต่อเนื่อง และเป็นสินค้าสำคัญของบริษัทสำคัญ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตามหากมีการแข่งขันกันมาก อาจมีการสร้างตลาดระดับราคาปานกลาง (2.5-4.0 ล้านบาทต่อหน่วย) ด้วยก็ได้ แต่จากการศึกษาพบว่ายังไม่มีแนวโน้มดังกล่าวชัดเจน

          ทาวน์เฮาส์ราคาปานกลางยังไม่มีการสร้างมากนัก “ผู้เชี่ยวชาญ” ในการสร้างสินค้าดังกล่าวยังมีจำกัด และโดยที่ดอกเบี้ยยังไม่สูงมากนัก จึงทำให้ความสนใจยังพุ่งเป้าไปที่บ้านเดี่ยวอยู่ แต่หากสถานการณ์บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงขึ้นอย่างเด่นชัด ทาวน์เฮาส์จะเป็นสินค้าทดแทนบ้านเดี่ยวในอนาคต ด้วยกำลังซื้อของประชาชนระดับรายได้ปานกลางอาจตกต่ำลงเกินกว่าจะซื้อบ้านเดี่ยวได้อีกต่อไป

          สำหรับห้องชุดทุกระดับราคายังมีโอกาสเติบโตไม่มากนัก ยกเว้นที่อยู่ใจกลางเมืองและตามแนวรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน แต่ทั้งนี้มีโอกาสที่สินค้านี้จะเป็นสินค้าเก็งกำไรไปในตัวด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการ ผู้ให้สินเชื่อและผู้ซื้อจึงควรให้ความระมัดระวังในการลงทุนในสินค้านี้เป็นพิเศษ

ส่งท้าย
          โดยภาพรวมแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยของเรามีความมีวุฒิภาวะ (mature) มากขึ้น จะสังเกตได้ว่าโครงการส่วนมากมีการศึกษาวิจัยตลาดมาดีพอสมควร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นข้อกำหนดสำคัญของการขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “ความเข้ม” ของสถาบันการเงินในด้านนี้ ช่วยยกระดับฐานะของวงการได้ในระดับหนึ่ง

          อีกประการหนึ่ง แม้สถานการณ์โดยรวมจะมีความสำคัญ แต่ก็เป็นปัจจัยภายนอก ความสำเร็จหรือไม่ยังขึ้นอยู่ผู้ประกอบการเองในการที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยกันอย่างรอบคอบและดำเนินการขายอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างเหมาะสม ฯลฯ อีกด้วย ดังนั้นการศึกษาเพื่อการติดตามผลและประเมินผลโครงการอย่างใกล้ชิดระหว่างการพัฒนาโครงการจึงมีความสำคัญมาก

          แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่ออกมาอย่างเพียงพอ แต่ออกมาบางส่วนอย่างเชื่องช้า เช่น เรายังไม่มีมาตรการคุ้มครองเงินดาวน์ ตรวจสอบฐานะผู้ประกอบการ มีค่าปรับในการก่อสร้าง-ส่งมอบล่าช้า เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่การให้โทษแก่ผู้ประกอบการ แต่กลับเป็นการสนับสนุนให้ตลาดอสังริมทรัพย์เติบโต ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในตลาดและสินค้ามากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและทุกฝ่ายในที่สุด และทำให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

* ดร.โสภณ พรโชคชัย วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (ที่ดินที่อยู่อาศัย) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (Asian Institute of Technology) ทำการสำรวจข้อมูลอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันยังเป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และยังเป็นผู้แทนประจำประเทศไทยของ International Association of Assessing Officers และผู้แทนในภาคพื้น ESCAP ของ FIABCI (International Federation of Real Estate)

* AREA (Agency for Real Estate Affairs) เป็นศูนย์ข้อมูลและวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำการสำรวจภาคสนามโครงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศจึงมีฐาน ข้อมูลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด นอกจากนี้ยังดำเนินการด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน และการจัดการศึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ โดย AREA ถือเป็นวิสาหกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการรับรอง ISO 9001-2000 รายแรกและยังเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองในทุกระบบงาน

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่