Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 18,504 คน
วิธีการรับมือกับสึนามิในอนาคต
กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 18 ฉบับ 5950 วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2548 หน้า 12

ดร.โสภณ พรโชคชัย<1> (sopon@thaiappraisal.org)
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

        ที่เมืองฮิโร (Hilo) ในหมู่เกาะฮาวาย มีคำกล่าวว่า “ซึนามิเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเรา ในการวางแผนเมืองฮิโร เราจำเป็นต้องตระหนักว่ามันยังจะมีอีกและอาจใหญ่กว่าที่เคยมีมาก่อน <3> ที่ฮาวายเป็นบริเวณที่เกิดซึนามิบ่อยที่สุดในโลกคือปีละหน แต่ของไทยและมหาสมุทรอินเดีย อาจเกิดขึ้นร้อยปีหน (หลังภูเขาไฟกรากะตัว – Kratatau ระเบิดเมื่อปี 2426) <4>

        ในสหรัฐอเมริกามีองค์กรจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งรัฐ (Federal Emergency Management Agency) ได้ทำคู่มือเตือนภัยซึนามิ ผมเห็นว่าน่าสนใจมากจึงขออนุญาตสรุปมาให้อ่านเพื่อจะได้เห็นว่า การขาดการเตรียมตัวในภูมิภาคนี้จึงทำให้คนตายไปถึง 140,000 คน (ในไทย 5,200 คน) ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูงมาก

ก่อนเกิดสึนามิทำอย่างไร
        เราต้องรู้ว่าบ้านของเราสูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ จะรอดพ้นจากซึนามิหรือไม่ (ที่ผ่านมาเราคงไม่เคยสนใจเรื่องนี้กันเลย) เรายังต้องทำความคุ้นเคยกับสัญญาณเตือนภัยซึนามิเมื่อถึงเวลาจะได้เตรียมรับมือทันและให้แน่ใจว่าสมาชิกในครอบครัวรู้จักเตรียมตัวอย่างดีเพียงพอ เรายังต้องแผนอพยพไว้ในใจว่าถ้าเกิดขึ้นเราควรหนีไปที่ใด เส้นทางไหนดี อย่าลืมปิดแก๊ส ปิดไฟฟ้าและเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม เช่น อาหาร ไฟฉาย รองเท้า เงินสด ฯลฯ) รวมทั้งมีแผนฉุกเฉินในการติดต่อรวมถึงเป้าหมายการติดต่อ (จะสังเกตได้ว่าของเราสัญญาณมือถือล่มแทบหมด)

ระหว่างเกิดสึนามิ
        รับฟังข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ เอสเอ็มเอส หรือวิทยุที่ใช้ถ่าน (ไฟฟ้าและมือถืออาจใช้การไม่ได้) หรืออื่น ๆ เพื่อการวางแผนอพยพ พยายามอยู่ห่างจากชายหาดให้มากที่สุดและกลับเข้าที่พักต่อเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าปลอดภัย (ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไทยก็ยังไม่รู้อะไรเลย) ทั้งนี้เพราะซึนามิเป็นกระแสคลื่นที่ไม่ใช่ลูกเดียว ลูกต่อ ๆ มาอาจรุนแรงกว่าลูกแรก แต่ละลูกจะมาห่างกัน 10-45 นาที

หลังเกิดสึนามิ
        ยังคงติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องเพื่อทราบแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และพยายามอยู่ห่างจากอาคารที่ถูกกระทบเพราะอาจพังลงมาได้อีก ยิ่งกว่านั้นทางองค์กรฯ ยังเตือนอย่างละเอียดอีกเช่นว่า เวลากลับเข้าบ้านต้องระมัดระวัง (เผื่อพังลงมา) อย่าเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าจนกว่าทางการจะแจ้ง เปิดหน้าต่าง ประตูเพื่อไล่ความชื้น ตักโคลนที่ยังเปียกออกก่อนแห้ง และตรวจดูว่าอาหารยังมีอยู่มากน้อยเพียงใดและน้ำประปายังสามารถใช้ได้หรือไม่

สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสึนามิ
        สิ่งก่อสร้างที่สูงไม่เกิน15 เมตรจากระดับน้ำทะเลและตั้งอยู่บนพื้นราบในระยะจากชายหาด 1.5 กิโลเมตรมีโอกาสจะถูกคลื่นซึนามิซัดได้ อาคารที่เราพบว่าน้ำลงเร็วผิดปกติ (ประมาณ 500 เมตรจากฝั่งที่พบที่ภูเก็ต) คืออาการของคลื่นซึนามิ คนตายจากคลื่นซึนามิมักเกิดจากการจมน้ำ ในการบริจาคสิ่งของ จะต้องมีการเตรียมแผนการแจกจ่าย (จะได้ไม่เกิดการเดินขบวนเหมือนที่พีพี) และอาสาสมัครกู้ภัยควรมาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและได้รับการฝึกฝนมาดี (จะได้ไม่ “รูดทรัพย์” จากศพผู้ตายเช่นที่เป็นข่าว)

สำคัญที่สุดคือชุมชน
        ชุมชนควรได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องถึงซึนามิ คล้ายกับในญี่ปุ่นที่มีการเตรียมตัวมานับสิบปีก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในโกเบปี 2538 ชาวบ้านควรได้รับความรู้และมีการฝึกซ้อมอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้แตกตื่นและยังจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น เช่น นักท่องเที่ยวได้ด้วย การออกข่าวสารผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การศึกษานั้นไม่ใช่การรบกวนบรรยากาศการลงทุนทางธุรกิจแต่จะกลับเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจและนักท่องเที่ยวมากกว่า ความเสียหายของไทยมูลค่า 40,000 ล้านบาทหรือเท่ากับจีดีพี 0.3% <5> นั้นเป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้น ค่าเสียหายทางอ้อมยังต้องประเมินให้ละเอียดกว่านี้อีก

      อย่าลืมว่าซึนามิเป็นเพียงภัยอย่างหนึ่ง ยังมีภัยที่เราไม่คุ้นเคยและควรเตรียมพร้อมอีกหลายรายการ เช่น เขื่อนพัง แผ่นดินไหว ฝนแล้ง (ซ้ำซาก… จนเคยชิน) ร้อนจัด (จนตาย) ไฟป่า น้ำท่วม พายุ แผ่นดินถล่ม (น้ำก้อ/กระทูน – ป่านนี้ไม่รู้เลิกล้อมคอกหรือยัง) นิวเคลียร์ ตลอดจนการก่อการร้าย ขออนุญาต “list” ไว้เผื่อจะได้รีบป้องกันแทนการล้อมคอก

หมายเหตุ
 
<1> ยังเป็น กรรมการหอการค้าสาขาอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษานายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร นอกจากนี้ยังเป็นผู้แทนประจำประเทศไทยของ International Association of Assessing Officers (IAAO), Association of Real Estate Licensing Law Officials (AREALLO) และ International Federation of Real Estate (FIABCI)
<2> มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเมืองและที่ดิน โดยเป็นองค์กรสมาชิกของ FIABCI และสถาบันระหว่างประเทศอื่น ๆ
<3> “Tsunamis are a way of life. Any planning for Hilo needs to consider that there will be another and it may be bigger" (Shepherd Bliss, the Future of Down Town Hilo. www.hawaiiislandjournal.com/stories2/11b04b.html).
<4> ดูรายละเอียดการระเบิดของภูเขาไฟ กรากะตัว ได้ที่ www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/nature%20myth/index38.htm
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่