Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,794 คน
การเมืองท้องถิ่น ศึกเลือกผู้ว่าฯ กทม
ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 14 ฉบับที่ 1931 วันที่ 15-18 สิงหาคม 2547 หน้า 33-34

ดร.โสภณ พรโชคชัย(sopon@thaiappraisal.org)
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

        เมื่อเร็ว ๆ นี้มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เชิญท่านผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 6 คน มาฟังความคิดอ่านของผู้นำวงการอสังหาริมทรัพย์จากนักพัฒนาที่ดิน ผู้บริหารสินเชื่อ นายหน้า นักบริหารทรัพย์สินและผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และก็ได้รับความสนใจจากทั้งสมาชิก ผู้สนใจและนักข่าวนับร้อยคน

กทม. กับผู้ว่าฯ 13 คน
        กรุงเทพมหานครของเรามีผู้ว่าฯ มาแล้ว 13 คนโดยมีผู้ได้รับเลือกตั้งเพียง 5 คน ได้แก่นายธรรมนูญ เทียนเงิน ซึ่งได้รับเลือกตั้งในปี 2518 และถูกปลดออกโดยรัฐบาล “หอย” ในปี 2520 หลังจากนั้นก็มีการแต่งตั้งกันมาโดยตลอดจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2528 จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมืองได้รับเลือกและอยู่มาหนึ่งสมัยครึ่งจนลาออกเมื่อเดือนมกราคม 2535
        ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.จำลองได้อาศัยกระแส “จำลองฟีเวอร์” (ก่อนเกิดพฤษภาทมิฬ) ครองใจคน กทม. ในช่วงเดือนเมษายน 2535 - 2539 หลังจากนั้น เราก็ได้ ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ คนที่ 12 (มิถุนายน 2539 - มิถุนายน 2543) ต่อด้วยนายสมัคร สุนทรเวช (กรกฎาคม 2543 – 2547)

หนทางสู่ผู้ว่าฯ กทม.
        ผมจำได้ว่าในช่วงก่อนปี 2528 พ.อ.จำลอง (ยศสมัยนั้น) ก็ได้แผ้วถางทางเป็นผู้ว่าตั้งแต่การเป็นคนสัตย์ซื่อใสสะอาด การออกเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ท่านรอจนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พล.ต. จึงลงสมัคร ส่วนการหาเสียงก็ออกแนว “น่ารัก-น่าสงสาร” อาศัยฝาเข่งมาแทนป้ายมาตรฐานราคาแพงบ้าง ชาวบ้านก็ให้การสนับสนุนอย่างท่วมท้นเพราะอยากได้คนดี ไม่โกงกินมาบริหารบ้านเมืองนานแล้ว
        สมัย ร.อ.กฤษฎา อาจไม่มีใครคาดหวังมาก เพราะเป็น “มวยแทน” พล.ต.จำลอง ท่านเป็นถึงศาสตราจารย์ และเป็นข้าราชการประจำมาก่อน จึงอาจไม่มีบทบาทโลดโผน-โดดเด่นนัก จะได้เห็นว่า พล.ต.จำลองได้รับเลือกปี 2533 ด้วยคะแนนถึง 736,000 ขณะที่ ร.อ. กฤษฎา ได้เพียง 364,000 คะแนน ในปี 2535 เท่านั้น
        ดร.พิจิตต มีลักษณะคล้าย พล.ต.จำลองที่เตรียมตัวมาดี ชาวบ้านสงสาร (ลงครั้งที่สองจึงได้) แถมยังมีลักษณะเอาจริงเอาจัง รักสิ่งแวดล้อมและมีความเป็น “มืออาชีพ” ถ้าท่านไม่พลั้งปากพูดว่าจะไม่ลงรอบสอง เราอาจไม่มีผู้ว่าฯ ชื่อ นายสมัครก็ได้ เพราะถ้าท่านลงอีก ก็ไม่รู้ว่านายสมัครจะตัดสินใจลงแข่งหรือไม่
        ล่าสุดชาว กทม. ก็ช่วยสานฝัน “ครั้งสุดท้าย” ของนายสมัคร ส่งท่านให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. หลายคนคงเชื่อเหมือนผมว่า ท่านเคยเป็นถึงรองนายกฯ เป็นนักการเมืองฝีปากกล้า ไม่กลัวใคร ครั้งนี้น่าจะเป็นการ “ล้างมือ” ด้วยการทำความดีครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองโดยการรับใช้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองที่ท่านเกิด

บทเรียนของคน กทม.
        บทเรียนบทที่หนึ่ง: คนดีนั้นอาจไม่ใช่นักบริหารบ้านเมืองที่ดี คนที่ไม่โกง ก็ใช่ว่าบริวารจะไม่โกง คน ๆ เดียวที่ไม่มีระบบ/ชุดการบริหารที่ดี ก็ไม่อาจบรรลุความสำเร็จได้ สุดท้ายคนดีก็อาจกลายเป็นคนที่ใช้เงินไม่เป็นก็ได้ เงินคงคลังเหลือบานเบอะแต่ไม่มีโครงการที่สำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน
        บทเรียนบทที่สอง: ไม่มีใครศักดิ์สิทธิ์พอจะสร้างทายาททางการเมืองได้ คน กทม. ต้องตัดสินใจจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของบุคคลที่ลงสมัครว่าจะมีความรู้ ความสามารถเพียงพอที่จะบริหารบ้านเมืองได้หรือไม่ การแสดงว่ามี “แบ็ค” อย่างเปิดเผย ย่อมยังความเคลือบแคลงได้
        บทเรียนบทที่สาม: การสร้างภาพไม่ใช่การบริหารที่ดี ที่ผ่านมา คน กทม. ก็คงได้รู้ซึ้งแล้วว่า การเสียเงินไปกับการสร้างภาพ ประชาสัมพันธ์ใหญ่โต ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาที่จริงจัง และอาจเป็นช่องทางทุจริตได้ ไม่ว่าจะเป็นการระดมปลูกต้นไม้ราคาแพงกันยกใหญ่ หรือการจัดซื้อที่ดิน เป็นต้น
        บทเรียนบทที่สี่: “งาช้างไม่อาจงอกออกจากปาก…” ใช่ว่านักการเมืองใหญ่จะมีใจปวารณารับใช้คนท้องถิ่นจริงได้ในบัดดล ประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนักการเมืองน้ำเน่าก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถสร้างผลงานให้เป็นสง่าราศรีแก่ตนเองและประเทศชาติได้

มีปัญหารู้ทางแก้กันแน่หรือ
        สิ่งที่เราเห็นกันประการหนึ่งก็คือ ว่าที่ผู้ว่าฯ แต่ละท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากมาย ผมว่าบทเรียนในอดีตก็สอนให้ผู้คนรู้เท่าทันว่าอะไรที่น่าจะทำได้จริงหรือเพียงพูดแบบ “หวานเจี๊ยบ”
        ความจริงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั้น ต้องได้มาจากการลงไปศึกษาอย่างจริงจังโดยทีมงาน จึงจะสามารถสรุปออกมาได้ว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร การฟังสรุปผ่าน ๆ การลอกคนอื่นเขา การถูกจูงโดยข้าราชการประจำ การดูงานแบบลูบหน้าปะจมูก ย่อมไม่อาจหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้
        ในอาชีพอื่น เราอาจต้องการ “มืออาชีพ” ไปทำงาน แต่ผู้ที่มีอาชีพเป็น “นักการเมือง” ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้บริหาร กทม. ได้ เพราะนักการเมืองโดยอาชีพนั้นมักขาดความรอบรู้ ไม่มีทักษะการศึกษาหาแนวทางแก้ไข
        โดยธรรมชาติคนที่ทำอาชีพเป็นนักการเมืองนั้น เบื้องแรกต้องการถูก “บูชา” ต่อมาต้องการ “ไต่บันได” สูงขึ้นไป พื้นฐานจึงไม่น้อมใจศึกษา ไม่ได้มีเวลากระทั่งฟังให้ได้ศัพท์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจบริหารบ้านเมืองหรือเป็นความหวังของชาติได้

ได้คนแบบไหน สะท้อนปัญญาคนเลือก
        ในบางประเทศ บางท้องถิ่น อาจได้นักเลือกตั้งที่มีพื้นฐานเป็นอันธพาล นักค้ายา หรือคนชั่วมาบริหารบ้านเมือง ทั้งนี้ก็สะท้อนว่าในที่นั้น ๆ คุณภาพของประชาชนต่ำต้อยมาก สามารถซื้อหา-จูงจมูกได้ แต่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะ กทม. นั้น ผมเชื่อว่าเราจะได้เรียนรู้จากบทเรียนเดิม ๆ มาพัฒนาหนทางการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่จะสร้างสรรค์ กทม.อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้จริง
        ผมหวังว่าเราจะสามารถได้ผู้ว่าฯ ที่ดี เผื่อจะเป็นบุญของประเทศชาติบ้าง เรามีบทเรียนอย่างน้อยสี่บทข้างต้นแล้ว อย่าให้เกิดบทที่ห้าอีกเลย

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่