Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 3,057 คน
“อร่อยจนลืมกลับวัด” ผิด 2 เด้ง
30 ธันวาคม 2555

ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@thaiappraisal.org www.facebook.com/dr.sopon
http://prachatai.com/journal/2012/12/44455

          กรณีที่พระมหาวุฒิชัยเมธี วชิรเมธี เขียนคำว่า “อร่อยจนลืมกลับวัด” พร้อมลายมือชื่อของตนเองแปะไว้ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นของลูกศิษย์คนหนึ่งนั้น ถือเป็นความผิด (พลาด) ประการหนึ่งที่ไม่ร้ายแรง แต่การออกมาบอกว่าไม่ผิดธรรมวินัย โดยไม่ยอมรับว่าเป็นการเขียนที่ไม่สมควร อาจถือเป็นความผิดพลาดที่น่าคิด สังคมพึงพิจารณาเป็นอุทธาหรณ์
          เรื่องนี้ในเบื้องต้นพระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ให้ความเห็นว่า “เป็นความผิดพลาด ถ้าเขียนว่า ‘รสชาติใช้ได้’ ก็ไม่ผิด เพราะไม่ได้แสดงถึงการติดรสในความอร่อย . . .” {1}  ส่วน รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า “เป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น . . . ผมคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้ของท่านเองด้วย ท่านก็ยังหนุ่มอยู่ ถ้าเป็นดาราพูดกับแฟนคลับมันคงไม่มีอะไร” {2}
          สำหรับความอร่อยลิ้น ในทางพุทธศาสนา พระที่มุ่งกำจัดกิเลส ใช้วิธี “ธุดงค์” ซึ่งไม่ใช่การเดินจาริกของพระเช่นที่เข้าใจผิดกันในปัจจุบัน แต่คือ “วัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส . . . (และหนึ่งในนั้นคือ) ปัตตปิณฑิกังคะ ละเว้นฉันภาชนะที่ 2 ใส่อาหารรวมในภาชนะเดียวกันทั้งหมด สมาทาน ฉันเฉพาะในบาตร” {3}
          ยิ่งกว่านั้น พระไม่พึงรู้สึกอร่อย หรือมีความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น แต่ควรปล่อยวางโดยพิจารณาเรื่อง “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” โดยนายไพศาล พืชมงคล ได้อธิบายไว้ว่า “เป็นแบบวิธีฝึกฝนอบรมจิตวิธีหนึ่งในจำนวน 36 แบบวิธีที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนชาวพุทธ เพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและสรรพสิ่งว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนหรือพึงยึดถือเป็นตัวกู ของกู โดยใช้ความเป็นจริงของอาหารเป็นเครื่องพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่าแม้รูปภายนอกจะมีรูป รส กลิ่น สี ที่น่าชื่นชม น่าสัมผัส น่ากินสักปานใด แต่แท้จริงล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล เมื่อเห็นความจริงเช่นนั้นแล้วก็จะปล่อยปละละวางละถอนความยึดมั่นถือมั่น . . .” {4}
          ดังนั้นการที่พระมหาวุฒิชัย ฉันอาหารโดยใช้ภาชนะมากกว่าหนึ่งตามการประเคนเช่นนี้ จึงถือว่าไม่เคร่งครัด วัตรปฏิบัติไม่ได้มุ่งที่การบำเพ็ญเพียรเท่าที่ควร เป็นเหมือนพระบ้านทั่ว ๆ ไป ต่างจากพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัย โดยเฉพาะพระป่าในสายหลวงปู่ชื่อดังในอดีตหลายแห่ง ที่ยังมีวิธีการเพิ่มเติม เช่น ต้องคนอาหารรวมกันทั้งคาวหวานด้วย เป็นต้น
          อย่างไรก็ตามพระมหาวุฒิชัย ได้ชี้แจงว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือเป็นการผิดวินัยสงฆ์ โดยการเขียนข้อความดังกล่าว เพื่อให้ขวัญกำลังใจกับลูกศิษย์ เป็นข้อความที่เขียนกันทีเล่นทีจริง ตามประสาครูอาจารย์ ลูกศิษย์ อย่าตีความกันเลยเถิดไป” {5} นอกจากนั้นเจ้าของร้านยังได้ออกมาชี้แจงว่า “ขอให้ท่านได้เมตตาเขียนให้กำลังใจตามภาพ ผมนำภาพท่านมาประดับในร้านร่วมกับภาพของครูบาอาจารย์อื่นอีกหลายท่านที่เคยมาเยี่ยมเยือน เพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเอง . . . มิได้ประสงค์ประโยชน์ทางการค้า” {6}
          ในกรณีนี้มีข้อน่าสังเกตดังนี้:
          1. พระมหาวุฒิชัยมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาเป็นอย่างดีทั้งเรื่อง “ปัตตปิณฑิกังคะ” และ “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” ข้างต้น จึงน่าจะรู้ว่าการเขียนเช่นนี้ไม่เหมาะสม เมื่อมีผู้ทักท้วง ก็ควรยอมรับถึงความไม่เหมาะสมนี้อย่างสง่างามซึ่งจะทำให้ได้รับความศรัทธายิ่งขึ้น แทนที่จะเพียงบอกว่า ไม่ได้ผิดวินัยสงฆ์ สำหรับนักการเมือง ข้าราชการ หรือปุถุชนอาจอ้างกฎหมายได้ แต่สำหรับพระซึ่งเป็นผู้เน้นคุณธรรม แม้ไม่ผิดกฎหมายสงฆ์ แต่ก็ควรมีสังวรในข้อนี้
          2. เจ้าของร้านชี้แจงว่าเอาภาพมาแปะเพื่อเป็นกำลังใจเช่นเดียวกับพระรูปอื่นที่เคยนิมนต์มา แต่เชื่อว่าพระรูปอื่นคงไม่เขียนข้อความแบบนี้ และถ้าไม่ใช่เพื่อการค้า ก็ควรเก็บภาพเหล่านี้ไว้ในห้องพระแทนที่จะนำมาแสดงให้ลูกค้าได้พบเห็นจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย
          โดยสรุปแล้ว แม้สังคมจะเห็นชัดว่าการที่พระมหาวุฒิชัย เขียนข้อความเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงอย่างไรขนาดว่าต้องสึกเช่นบางคนกล่าวถึง แม้พระรูปนี้จะผู้มีความรู้ด้านพุทธศาสนามาก แต่ก็อาจหลงลืมในบางข้อ บางขณะ และก็เช่นปุถุชนทั่วไปยังไม่ได้ตัดกิเลส อย่างไรก็ตามการคงสภาพสมณเพศของพระรูปนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในทางหนึ่ง เพราะย่อมทำให้สามารถแสดงธรรมแก่ประชาชนได้น่าเชื่อถือมากกว่าการถอดเครื่องแบบพระอย่างแน่นอน
          ข้อนี้จึงถือเป็นอุทธาหรณ์สำหรับพระหนุ่มดังที่ รศ.วิทยากร ได้ตั้งข้อสังเกตไว้

อ้างอิง
{1} พระพยอม ชี้ ข้อความ ว.วชิรเมธี อร่อยจนลืมกลับวัด ผิดพลาด http://news.mthai.com/general-news/209943.html
{2} ความจริงหรือเรื่องโกหก? กรณีท่าน ว. “อร่อยจนลืมกลับวัด” http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000157549
{3} โปรดอ่าน พระวิสุทธิมรรค http://www.buddhistelibrary.org/th/displayimage.php?pid=1995 หน้า 201 เรื่อง ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ รวมทั้งเรื่อง “ธุดงค์” จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ธุดงค์ และพึงดูเพิ่มเติมที่ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=342
{4} อาหาเรปฏิกูลสัญญา กรรมฐานที่ง่ายเเต่ได้ผลมาก http://www.paisalvision.com/index.php/2008-11-06-06-22-48
5}   ว.วชิรเมธี แจง เขียนข้อความ อร่อยจนลืมกลับวัด ไม่ผิดวินัยสงฆ์ http://hilight.kapook.com/view/80046 หรือฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=dcwPjzG2UCo
{6} เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นรับผิด ขออภัยทำ “ว.วชิรเมธี” เดือดร้อน http://www.manager.co.th/Local/viewnews.aspx?NewsID=9550000157661

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่