Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,678 คน
     ผังเมือง กทม ที่ขาดบูรณาการ: กรณีศึกษา มจธ.บางขุนเทียน
16 กรกฎาคม 2555

ดร.โสภณ พรโชคชัย
facebook.com/dr.sopon

          วิชาการผังเมืองและแนวคิดในการวางผังเมือง ควรมีบูรณาการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกับชุมชนในท้องถิ่น และที่สำคัญควรมีการวางแผนในเชิงรุกมากกว่าในเชิงรับเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          การวางผังเมืองในประเทศไทยมีมานานแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2495 แต่ผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับแรกกลับมีในปี พ.ศ.2535 หรือ 40 ปีให้หลัง และตลอดช่วงที่ผ่านมา ผังเมืองของกรุงเทพมหานครขาดบูรณาการหรือการประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อทำให้ผังเมืองกลายเป็นผังแม่บทในการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครเท่าที่ควร

ภาพที่ 1: ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน

          กรณีที่ยกมานี้เป็นกรณีเล็ก ๆ ที่เห็นได้ชัด ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเทียนทะเล 25 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่กลางพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งอยู่ห่างจากสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ สีลม ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางเมืองด้านธุรกิจไปประมาณ 28.3 กิโลเมตรทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษา 16,000 คน นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเฉพาะส่วนที่ในวิทยาเขตนี้คงมีจำนวนนับพันคน วิทยาเขตแห่งนี้เริ่มต้นเปิดดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2532
          อย่างไรก็ตามการเดินทางเข้าออกวิทยาเขตนี้ค่อนข้างลำบาก กล่าวถือหากเข้าทางซอยเทียนทะเล 23 ก็จะเป็นระยะทางประมาณ 2.1 กิโลเมตร ถนนทางเข้าก็เล็กและแคบ แทบสวนทางกันไม่ได้ บางคนที่ขับรถไม่ชำนาญ ก็ตกถนนไปก็มี แต่หากเข้าทางทางหลักคือซอยเทียนทะเล 25 ซึ่งถนนกว้างกว่า สะดวกกว่า ก็ต้องเดินทางเป็นระยะทาง 5.8 กิโลเมตร หรือเกือบ 3 เท่า

ภาพที่ 2: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียนและสภาพโดยรอบ

ภาพที่ 3: สภาพซอยเทียนทะเล 23 ซึ่งแทบจะสวนกันไม่ได้

          ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือ กรุงเทพมหานครควรมีแผนการก่อสร้างถนนโดยระบุไว้ในผังเมืองรวมให้ตัดตรงจากวิทยาเขตนี้ออกสู่ถนนใหญ่ เพื่อการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาและคณาจารย์ และที่สำคัญเป็นการจัดระเบียบ จัดรูปที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวนี้ด้วย หากไม่มีการตัดถนนให้เป็นระเบียบ ต่อไปความยุ่งเหยิงต่าง ๆ ก็จะตามมา ทำนองเดียวกับที่ตั้งของวิทยาเขตบางมด ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ ที่มีการพัฒนาสองข้างทางจนเต็มและค่อนข้างแออัด

ภาพที่ 4: เสาไฟฟ้าก็ปักอยู่ข้างถนน ถนนก็แคบ รถสวนกันได้ยาก

          การวางผังเมืองที่ดีควรเป็นในเชิงรุก คือมีการประสานแผนกับทุกภาคส่วน เช่น
          1. ตั้งแต่ทราบว่าส่วนราชการใดจะขยายวิทยาเขตไปในบริเวณใด ท้องถิ่นโดยกรุงเทพมหานคร ก็ควรจะมีการวางผังเมืองโดยเฉพาะโครงการตัดถนนและจัดหาสาธารณูปโภคในบริเวณใกล้เคียงเพื่อการรองรับ
          2. แต่หากไม่ทันเพราะมีสถาบันการศึกษาไปตั้งอยู่ก่อนแล้ว ก็ควรที่จะดำเนินมาตรการเชิงรุกในอีกมิติหนึ่ง ด้วย เวนคืนก่อสร้างถนนใหม่ หรือขยายถนนเดิม เพื่อรองรับความเจริญเติบโต
          3. นอกจากนี้ยังควรดำเนินการจัดรูปที่ดินในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ความเจริญกระจายไปสู่ชุมชน และทุกฝ่ายได้ประโยชน์จาการพัฒนาสาธารณูปโภค และการจัดหาสาธารณูปการสำหรับประชาคมในบริเวณดังกล่าวนี้
          การคิดวางแผนอย่างมีบูรณาการเช่นนี้ มักไม่เกิดขึ้นในการวางผังเมือง ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่อาจประกาศใช้ในปีนี้หรือปีหน้าและใช้ไปอีก 5 ปีนั้น ก็ไม่มีแผนการตัดถนนใด ๆ ในบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ก็คงยังต้องลำบากไปอีกหลายปี และหากมีการก่อสร้างริมถนนที่คับแคบอยู่แล้ว (ซึ่งเริ่มมีขึ้นบ้างแล้ว) ก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบหรือสร้างความยากลำบากในการสัญจรแก่ประชาคมวิทยาเขตนี้หรือผู้อยู่อาศัยในชุมชนแถบนี้โดยรวม
          การศึกษาและปฏิบัติการด้านผังเมืองในเขตกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ จึงควรดำเนินการอย่างมีบูรณาการกับทุกภาคส่วน และทำให้ผังเมืองเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและการพัฒนาเมืองโดยตรง

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่