Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,713 คน
     ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมู่ มาตรา 67
20 กรกฎาคม 2555

ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@thaiappraisal.org www.facebook.com/dr.sopon

          ช่วงนี้ผมเห็นมีหลายคนอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็มีหลายคนพยายามสุดฤทธ์ที่จะไม่ให้แก้ไข สำหรับผมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลือกข้าง ผมสนับสนุนแก้ไขมาตราที่ 67 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
          มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”
          “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
          “สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
          กรณี “องค์กรอิสระ” ตามมาตรา 67 วรรค 2 อาจเป็นการแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่คุ้นเคย และไม่เป็นกลาง และยิ่งระบุให้แต่งตั้งเฉพาะผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ย่อมเป็นการผิดแต่แรก เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องมีผู้รู้ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การผังเมือง ฯลฯ มาพิจารณาให้รอบด้าน รัฐบาลจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้
          ในกรณีมาบตาพุดที่เกิดขึ้น รัฐบาลในปี พ.ศ.2553 แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งมีที่มาที่ชอบกล โดยผู้แทนฝ่ายประชาชนนั้นกลับไม่มีผู้แทนของประชาชนชาวมาบตาพุดแม้แต่คนเดียว ผู้แทนฝ่ายประชาชนประกอบด้วย นายแพทย์คนหนึ่งที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและบ้านอยู่นนทบุรี อีกคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งสองคนนี้น่าจะเป็นกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนประชาชน นอกจากนี้อีก 2 คนต่างเป็นเอ็นจีโอ คนหนึ่งขณะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง เป็นคนจังหวัดระยอง แต่ไม่ใช่มาบตาพุด ส่วนอีกคนเป็นคนชุมพรแต่มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงถือเป็นการแต่งตั้งที่ไม่มีมาตรฐาน โดยขาดตัวแทนประชาชนมาบตาพุด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย เป็นการไม่นำพาต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง

กฎหมู่กับการไม่ยอมรับมติคนส่วนใหญ่
          พวกกฎหมู่ชอบอ้างกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ ไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นของ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไ จริง ๆ หรือมีอคติต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้นกระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือการทำประชามติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมทำเพราะไม่ต้องการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการอุตสาหกรรม ในบางพื้นที่พวกกฎหมู่ในท้องถิ่น ถึงกับพยายามล้มการรับฟังความเห็นของประชาชน ทำร้ายขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพียงเพราะขัดกับความเห็นของพวกกฎหมู่ซี่งอาจผลประโยชน์แฝงอยู่เบื้องหลัง
          อย่างกรณีมาบตาพุด กลุ่มกฎหมู่ไม่ยอมรับเสียงของประชาชน แต่พยายามใช้กฎหมู่กดดันทางราชการภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งนี้จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชนที่มาบตาพุดตามหนังสือของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ถึงนายกรัฐมนตรี ลว.7 ธันวาคม 2553 ได้รายงานผลการสำรวจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 65.3% หรือสองในสาม ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป (http://www.thaiappraisal.org/thai/letter/letter_view.php?strquery=letter17.htm)

โยกย้ายชุมชนทำได้
          ที่ผ่านมามักมีการกล่าวอ้างเสมอว่า การย้ายชุมชนจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน  การกล่าวอ้างนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการโยกย้ายชุมชนหรือประชาชนออกนอกพื้นที่เดิม ทั้งนี้โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นผลเสียต่อวัฒนธรรมชุมชนเป็นต้น  ในกรณีนี้หากไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ควรย้ายชุมชนให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ
          อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีความจำเป็น ซึ่งการโยกย้ายก็สามารถทำได้หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม อย่างเช่นกรณีอำเภอแม่เมาะที่มีการค้นพบว่าบริเวณใต้ที่ตั้งอำเภอเป็นแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ จึงได้โยกย้ายชาวบ้าน วัด โรงเรียนและอื่น ๆ ออกนอกพื้นที่ เพื่อขุดหาถ่านหิน จนสภาพปัจจุบันกลายเป็นขุมเหมืองลึกและมีขนาดใหญ่มาก ส่วนตัวอำเภอใหม่และประชาชนได้รับการโยกย้ายออกห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 15 กิโลเมตร
          การโยกย้ายนี้ปรากฏว่าทำให้ประชาชนในเขตตัวอำเภอไม่ได้รับมลพิษจากการทำเหมือง เช่นชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง แต่ละครัวเรือน ได้รับที่ดินแปลงใหญ่ มีสาธารณูปโภคใหม่ครบครัน และปัจจุบันราคาที่ดินก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ชาวบ้านมีความมั่งคั่งและความสุข  จะสังเกตได้ว่าประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในชุมชนริมเหมืองปัจจุบันยินดีจะย้ายเพราะหวังจะได้รับค่าทดแทนที่สูงเช่นกัน ดังนั้นประเด็นเรื่องการทำลายวัฒนธรรมชุมชนจึงไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น
          ในแง่หนึ่งเพราะอุตสาหกรรมถ่านหินและไฟฟ้านี้เอง ที่ทำให้อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และพื้นที่โดยรอบเจริญเติบโตขึ้นมาเหนืออำเภออื่นของจังหวัดลำปางเช่นทุกวันนี้ทั้งที่ตัวอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางเข้าไปในเขตป่าเขาถึง 20 กิโลเมตร ประชาชนบางส่วนให้ข้อมูลว่า หากไม่มีกิจการไฟฟ้าแม่เมาะ หรือหากในอนาคตหากปิดกิจการนี้ อำเภอแม่เมาะก็คงเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ และไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้

          โดยสรุปแล้วรัฐธรรมนูญไทยฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไข เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการพยายามแปลงกฎหมู่ให้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ผ่านกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งที่ “เนียน” ๆ ถือเป็นการโกงกินและสืบทอดอำนาจของเหล่า NGOs และนักเคลื่อนไหวกฎหมู่

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่