Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,694 คน
ทำดีเพื่อเลี่ยงทำ CSR!
สยามธุรกิจ วันที่ 26-28 พฤษภาคม 2553 หน้า 24

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)

          นี่คือกลยุทธ์ ‘ขั้นเทพ’ ที่อ้างการทำดี แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขาด CSR ที่แท้
          ท่านเคยสงสัยไหม ทำไมหนอพวกคุณหญิงคุณนายทำงานแจกของสงเคราะห์สังคมมาร่วม 50 ปีแล้ว ปัญหาสังคมก็กลับยิ่งหนัก มีการรณรงค์เรื่องปลูกป่าหรือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งต่าง ๆ กลับยิ่งเลวร้ายลง  พื้นที่ป่าปลูกใหม่เทียบไม่ได้เลยกับป่าที่ถูกทำลาย ปัจจุบันเราเดาะเรียกการทำดีทำนองนี้เสียเท่ว่า CSR ซึ่งมักเป็นไปแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ บ่อยครั้งกลับเป็นการทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว-ปกป้องคนชั่ว
          ความรับผิดชอบหรือ Responsibility คือพันธกิจที่ต้องปฏิบัติ ละเลยไม่ได้ หาไม่ถือเป็นการละเมิดซึ่งย่อมมีโทษตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา และกฎหมายผังเมือง ฯลฯ การมี CSR ก็คือการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขัดจรรยาบรรณ การมี CSR จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญที่มีอารยธรรม ไม่ไปฉกฉวย ตีชิง เบียดเบียนหรือก่ออาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) กับใครเพื่อให้ตนอยู่รอด
          การให้-อาสา: ไม่ใช่หัวใจ CSR ใครอยากบริจาคเพิ่มเติม อยากทำดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนา หรือถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่สวยงาม แต่นี่ไม่ใช่หัวใจหรือเนื้อหาใจกลางของ CSR เพราะเป็นการอาสาโดยใจสมัคร ไม่ใช่ความรับผิดชอบ รูปแบบการทำดีอาจเป็นการแจกข้าวของ การช่วยเหลือเด็กหรือผู้ด้อยโอกาส ชุมชน หรือปลูกป่า ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นทั้งการให้เปล่า การช่วยพัฒนา หรือการให้การศึกษา เป็นต้น
          การชูประเด็นการให้-อาสาทำดี เป็นการเลือกปฏิบัติไปในด้านการทำดี แต่ละเลยในส่วนที่ไม่ละเมิดกฎหมาย จะสังเกตได้ว่าวิสาหกิจที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายมักชอบรณรงค์ CSR แบบการทำดีเป็นอย่างยิ่ง เช่น วิสาหกิจปูน พลังงานหรือแร่ธาตุที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล (หากไม่จัดการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด) หรือแม้แต่สถาบันการเงินชั้นนำบางแห่งที่ได้ชื่อว่ามี CSR ดีเยี่ยมในแง่การบริจาคเงินเพื่อสังคมมากมาย ก็อาจเอาเปรียบลูกจ้าง จนสหภาพแรงงานต้องออกมาเคลื่อนไหวประท้วง เป็นต้น
          ทำดีเพื่อปกปิดความผิด? การทำดีแบบแอบแฝงและไร้ประสิทธิผล นอกจากจะได้ดีเฉพาะคนทำดีแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการช่วยปกปิดความชั่วของคนชั่วที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคนดี เช่น เรารณรงค์ปลูกป่ากันใหญ่ แต่ไม่เคยใส่ใจว่า เราจะรณรงค์กันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างไร ในปี 2504 มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 273,629 ตร.กม. (53% ของพื้นที่ประเทศไทย) แต่ ณ ปี 2547 เหลืออยู่เพียง 167,591 ตร.กม. (33% ของพื้นที่ประเทศไทย) หรือหายไปเท่ากับ 68 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือเท่ากับเราสูญเสียพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกรวมกัน
          เราคงเคยพบเห็นการรณรงค์การทำดีมีคุณธรรมกันอย่างบ้าคลั่ง นี่อาจเป็นอาชญากรรมที่แสนแยบยลเพื่อเบื่อเมาไม่ให้สังคมรับรู้สาเหตุแท้จริงของปัญหา ปัญหาในทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่มีคนจำนวนน้อยที่มีอิทธิพลและอำนาจ ละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับเอาเอาหูไปนาตาไปไร่ต่างหาก เราจึงควรรณรงค์ไม่ให้คนทำผิดกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นเราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิของตนเองตามกฎหมายและไม่เฉยชาต่อการกระทำผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อตนเอง ชุมชนและสังคม รวมทั้งรณรงค์ให้วิสาหกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ฉ้อฉล และให้รัฐบาลรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด

          วิสาหกิจที่ดีต้องประกอบสัมมาอาชีพตามกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัดเพราะนี่คือเส้นแบ่งระหว่างสุจริตชนกับอาชญากร ระหว่างวิสาหกิจที่มี CSR กับวิสาหกิจที่เอาเปรียบหรือฉ้อฉลสังคม ผู้ที่ไม่เบียดเบียนสังคมย่อมได้รับการยกย่อง ยิ่งเมื่ออาสาทำดี ยิ่งเป็นมงคลต่อชีวิตและกิจการ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่