Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 9,699 คน
โฉนดชุมชน เรื่องวิบัติที่ต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

          ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลจะออก ‘โฉนดชุมชน’  ผมเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องวิบัติที่จะสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนการออกโฉนดชนเผ่าแบบประเทศด้อยพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยก็มีโฉนดที่ดินให้บุคคลและนิติบุคคลถือครองมานับร้อยปีอยู่แล้ว และถือเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงขออนุญาต ‘มองต่างมุม’ เพื่อช่วยกันคิดและมองให้รอบคอบก่อน ‘โฉนดชุมชน’ จะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ ผมขอคัดค้านด้วยเหตุผลเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:
          1. ป่าเสื่อมโทรมนั้น ไม่ควรให้ใครไปอ้างสิทธิ์เอาแผ่นดินของส่วนรวมไปครอบครองเป็นส่วนตัวอย่างเด็ดขาด จะอ้างความจนมาปล้นแผ่นดินไม่ได้ เราควรเอาป่าเสื่อมโทรม มาปลูกป่าในเชิงพาณิชย์เพื่ออนาคตของประเทศชาติในอีก 50-100 ปีข้างหน้า ไม่ใช่กลายเป็น ‘ของโจร’ มา ‘แบ่งเค้ก’ กันไปโดยคนที่อยู่ใกล้ ๆ ถ้าปลูกป่าแล้วมีคนบุกรุก หรือทุกวันนี้มีคนพยายามทำลายป่าสมบูรณ์ให้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก็ต้องป้องปราม ไม่ใช่ ‘ยกประโยชน์ให้จำเลยไป’ หรือกลับไปคิดให้คนบุกรุกดูแลป่า ซึ่งเท่ากับ ‘ฝากปลาไว้กับแมว’
          2. คนจนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ควรทำไร่-นา เพราะไม่มีระบบชลประทาน น้ำท่าก็ไม่สมบูรณ์ ปกติคนชนบทส่วนมากก็มีรายได้จากเกษตรกรรมเป็นรอง รายได้นอกภาคเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว การให้แต่ละครอบครัวครอบครองกันคนละ 5-30 ไร่ ขึ้นอยู่กับการจับจองตามอำเภอใจ คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ทุกวันนี้ บ้านชนบท ก็ไม่ค่อยได้ประกอบการอะไรมาก อยู่แต่เด็กและคนแก่เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นเสมือน ‘รีสอร์ท’ ให้ญาติพี่น้องที่มาทำงานตามเมืองใหญ่ กลับไป ‘ชาร์ตแบตฯ’ เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว
          3. ถ้าคนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ค่อยมีรายได้และยากจน รัฐบาลก็ควรหาทางสร้างงานทางอื่น ไม่ใช่ปล่อยให้ไปครอบครองที่ดินกันครอบครัวละมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเป็นงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่น ๆ จะสงวนให้พวกเขาอยู่ตามอัตภาพเช่นนี้ในสภาพที่ไม่เหมาะสมและเป็นการไม่ควร สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น โรงเรียนประถม สถานีอนามัย ก็ต้องขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด สิ้นเปลืองทรัพยากร เพราะคนใช้บริการก็น้อย สมมติให้ครอบครัวหนึ่งหาของป่าออกมาได้ 200 บาทต่อครัวเรือน และหากนับรวมค่ากินอยู่จากสิ่งที่หาได้ในป่าแล้ว เป็นเงินครัวเรือนละ 5,000 บาท หรือปีละ 60,000 บาท หากชุมชนชาวเขาหนึ่งมี 50 หลังคาเรือน ก็จะเป็นเงิน 3 ล้านบาท เชื่อว่าในปีหนึ่ง ๆ ความสูญเสียของป่าไม้เพื่อการยังชีพของพวกเขา คงมหาศาลกว่านี้ หากจ้างให้พวกเขาอยู่เฉย ๆ ไม่ทำลายป่า คงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมกว่านี้
          4. กรณีชาวเขา ที่มักนำมาอ้างว่าไม่ได้ทำลายป่าจากการปลูกไร่เลื่อนลอย (หมุนเวียน) นั้น คงเป็นชาวเขากลุ่มเล็ก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ชาวเขามีมากมาย ป่าไม้คงไม่พอให้พวกเขาหาเลี้ยงชีพ คนชาวเขาจำนวนมากก็ทำงานในเมือง เช่นคนชนบททั่วไป ชาวเขาที่หาของป่า จับสัตว์ป่ามาขาย ควรหรือที่จะทำเช่นนี้ และนี่หรือคือคนที่จะพิทักษ์ป่า บางทีการจ้างให้พวกเขอยู่เฉย ๆ ไม่ให้บุกรุกป่า และทำหน้าที่ช่วยรักษาป่า ยังดีกว่าปล่อยให้พวกเขาบุกรุกป่าเช่นนี้
          5. กรณีป่าสงวนออกมาทับซ้อนกับที่ดินของผู้ที่ครอบครองไว้ก่อน ก็เป็นปัญหาที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะแก้ไข จะถือมาเป็นข้ออ้างเพื่อสุมให้ดูมีปัญหามากมาย เพื่อจะได้ออกกฎหมายป่าชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องทบทวน  ถือเป็นเล่ห์เพทุบายที่ไม่ตรงไปตรงมา สำหรับคนที่อยู่ป่ามาก่อนประกาศเป็นเขตป่า รัฐบาลก็ยินดีออกเอกสารสิทธิ์ให้อยู่แล้ว หรือสามารถต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมได้ แต่ผู้ที่มาบุกรุกภายหลัง ถือว่าเป็นผู้บุกรุก ไม่ควรให้อยู่ หาไม่ใครต่อใครก็จะมาอ้างสิทธิ์ไม่สิ้นสุด
          6. ผู้สนับสนุนเรื่องโฉนดชุมชน ยังอ้างว่า คนจนที่บุกรุกอยู่ในเมือง ก็ควรจะได้รับโฉนดชุมชนเช่นกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนมาก ไม่ได้เป็นคนจน และโดยเฉพาะชุมชนประเภทบุกรุกอยู่ฟรีบนที่ดินของคนอื่นมา 2 ชั่วคนแล้ว ทำผิดกฎหมายและได้ประโยชน์มาโดยตลอด ยังจะถือโอกาสจะอ้างสิทธิ์ให้มีโฉนดชุมชนอีกหรือ ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปที่ก่อร่างสร้างฐานะขึ้นมา ต้องไปซื้อบ้านชานเมืองไกล ๆ ตอนเช้าก็ออกจากบ้านตอนตีห้าเพื่อเลี่ยงรถติด กว่าจะกลับถึงบ้านก็สองทุ่ม ส่วนคนที่บุกรุกอยู่ใจกลางเมือง ยิ่งถ้าใกล้รถไฟฟ้า ยิ่งสบายใหญ่ แถมรัฐบาลยังจะให้สิทธิ์อยู่ฟรีไปอีกไม่สิ้นสุด อย่างนี้คงไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ
          7. มีตัวอย่างชุมชนแออัดแห่งหนึ่งที่หลายฝ่ายที่ไม่รู้ก็ยกย่องว่าเป็นชุมชนที่ดี โดยรัฐบาลอนุญาตให้คนเหล่านี้ที่บุกรุกที่ดินของส่วนรวมอยู่ฟรีมา 2 ชั่วคน ได้รับสิทธิเช่าอยู่แบบถูก ๆ แบบถูกกฎหมาย แถมจัดระเบียบบ้านให้ดูสวยงาม มีสวนหย่อมน่ารัก แล้วสุดท้ายก็สรุปว่าชุมชนประเภทนี้ทำดี เป็นชุมชนพอเพียง ทั้งที่นี่คือการ ‘ปล้น’ สมบัติของชาติและส่วนรวมไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
          8. เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับองค์กรชุมชนบางคนถึงขนาดเขียนบทความสนับสนุนโฉนดชุมชนว่า ชาวบ้านที่บุกรุกที่ดินของเอกชนควรได้รับโฉนดชุมชนบนที่ดินที่ตนบุกรุกอยู่โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ หรือเป็นที่ดินที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ นี่เป็น ‘อาชญากรรม’ การปล้น การละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด การปล้นไม่ใช่การทวงถามความเป็นธรรม จึงเป็นบาป หากมีโฉนดที่ดินในลักษณะนี้ก็เท่ากับสร้างอนาธิปไตยให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย แผ่นดินนี้ก็จะลุกเป็นไฟ ประเทศก็จะมีแต่ความวิบัติ บรรพบุรุษของเรา ตั้งแต่ระดับกษัตริย์ ข้าราชการ (ที่ดี) และประชาชนที่สละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ก็คงต้องเสียใจกันขนานใหญ่แน่นอน การไปเบียดบังสมบัติของแผ่นดิน ที่หลวง มาเป็นของตนเองโดยถือว่าอยู่ใกล้ เหยียบย่ำเอาตามใจชอบ มันเป็นบาปที่ปฏิเสธไม่ได้ และอาจเป็นเพราะเหตุนี้จึงไม่เป็นมงคลต่อชีวิต ทำมาค้าขายอะไรก็ไม่ขึ้น และยังอาจเป็นบาปติดตัวไปถึงลูกหลาน บาปมาหรือน้อย ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะดีกว่าทำบาปต่อไป หรือถ้าได้ทำบาปไปแล้ว ก็ต้องรู้จักลด ละ เลิก ไม่เช่นนั้น จะไม่พบกับบั้นปลายที่ดีงาม
          9. กรณีบ้านสระพัง ต.บางเสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราชที่ชาวบ้านครอบครองที่ดิน 1,600 ไร่มาตั้งแต่ปี 2491 นั้น รัฐบาลก็ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะที่นี้ ไม่ใช่กลายเป็นต้นแบบการทำโฉนดชุมชนในบริเวณอื่นทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนไปใหญ่ ทางราชการมีโฉนดตราครุฑ แต่ที่นี่มี ‘โฉนดช้างดำ’ ถ้ามองให้ลึกซึ้งถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐซึ่งเป็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ชอบกล ในหลาย ๆ กรณีเช่นนี้ รัฐบาลก็สามารถให้ชาวบ้านเช่าที่ดินได้ในระยะยาว พวกเขาจะได้เอาที่ดินไปจำนองหรือทำนิติกรรมต่าง ๆ เช่นกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ด้วย
          10. ถ้าหน่วยงานของรัฐบางหน่วยจะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีชาวบ้านบุกรุกป่าสงวน ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน นั้น ไม่ควรไปเพียงสร้างผลงาน และกลายเป็นการกึ่งรับรองสิทธิ์ของการบุกรุกไปเสีย เพราะการแก้ไขปัญหาในภายหลัง จะทำได้ยากขึ้น แต่กรณีใดที่สมควรประชาชนได้เช่าให้ถูกต้อง หรือให้หนังสือแสดงการครอบครอง ก็อาจเป็น สปก.4-01 ให้ได้เช่นกัน
          11. ในบางกรณีถึงกับมีการอ้างอิงการแก้ปัญหาที่ดินชายฝั่งทะเลอันดามัน ภายหลังเกิดสึนามิ นั้น แต่เดิมชาวบ้านทั่วไปก็มีเอกสารสิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนผู้บุกรุก ก็ควร ‘พอ’ เสียที ไม่ใช่ยังจะอ้างสิทธิ์ที่ไม่พึงได้ต่อไปอีก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ากรณีสึนามิที่มีองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กร NGO และองค์กรอาสาสมัครต่าง ๆ เข้าไปมากมายนั้น เชื่อว่างบประมาณที่ใส่เข้าไป อาจรวมเป็นนับพันนับหมื่นล้านไปแล้ว แต่ก็แทบไม่ได้เห็นโภคผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และจนบัดนี้ก็ยังมีเรื่องให้ทำไม่มีวันจบสิ้น ประหนึ่งเป็นการ ‘หากิน’ กับสึนามิชอบกล
          12. ในการแก้ไขปัญหานั้น ควรแก้เป็นจุด ๆ ไม่ใช่เหวี่ยงแหออกกฎหมายใช้ไปทั่ว ที่ไหนประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องต่อสู้อย่างสันติ เช่น กรณียายไฮ ไม่ใช่เห็นนายทุนปล้นชาติ คน (อยาก) จน ก็จะปล้นชาติบ้าง กรณีออกกฎหมายคลุมไปทั่วนั้น อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ คล้ายกรณี สปก.4-01 ที่ถือโอกาสแจกที่ดินให้คนรวยไปด้วย หรือการออกกฎหมายโฉนดชุมชนนี้คือการปูทางสู่การปล้นแผ่นดินดังกล่าว
          13. แม่น้ำหนองบึงในย่านชุมชน ก็ล้วนเป็นของส่วนรวม แต่ไม่ใช่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เพราะถ้าเช่นนั้น ชุมชนอื่น ก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ในการใช้สอยด้วย กลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา ของหลวงหรือของส่วนรวม คือสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้ใครอยู่ใกล้ทรัพยากร ก็มือใครยาว สาวได้สาวเอา เราต้องคิดเสียใหม่ว่า ของที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรถือครอง ไม่ว่าตนจะเป็นคนรวยหรือคนจน ของส่วนรวม ของหลวงก็คือของที่ต้องรักษาไว้เพื่อทุกคน
          14. การให้คนมีที่ดินเป็นของตนเอง ควรพ้นสมัยได้แล้ว มีที่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป บางคนพอได้ที่ดินเป็นของตนเอง ก็เอาไปขาย เพราะพวกเขาไม่เคยอาบเหงื่อต่างน้ำจนหาซื้อมาเองได้ แต่ได้จากการแจก พวกเขาจึงขาด Sense of Belonging จึงขายไป แสดงว่าเราไม่ควรแจกที่ดินให้ใคร และการแจกที่ดินไม่ใช่ทางออกของปัญหา และขนาดที่ดินของตนเองยังรักษาไว้ไม่ได้ โฉนดชุมชนก็คงหาคนรักษาได้ยาก อาจกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือหากเป็นกรณีผู้นำชุมชนที่ทุจริต ในอนาคตก็อาจได้เห็นภาพที่เอาโฉนดชุมชนไปให้คนอื่นหรือนายทุนเช่าต่อไปก็ได้ กลายเป็นที่ตั้งโรงสี โรงเลื่อยหรือโรงงานอะไรไป รายได้ก็เข้าทำนอง ‘วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง’ อย่างที่เห็นอยู่ทั่วไป
          15. เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แทบไม่มีหมู่บ้านชาวเขาอยู่บนเขาเลย แต่เดี๋ยวนี้มีมากมาย บุกรุกกันเพิ่มแทบทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี จึงคงเป็นไม่ได้ได้ที่จะให้ขยายตัวอย่างนี้ บางแห่งกลายเป็น อบต. กลายเป็นเมืองไปแล้ว อย่างนี้จะบอกว่าชาวเขาอยู่อย่างพอเพียงไม่ขยายตัวได้อย่างไร เราจึงควรจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ในเวียดนามเมื่อปลายเดือนกันยายน 2552 ก็อพยพย้ายคนนับแสน ๆ เพื่อหนีพายุ คนนับล้านที่อาจต้องย้ายออกจากป่า ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อนแบบหนีพายุ ก็น่าจะสามารถทำได้ เชื่อว่า ในจีน ลาว เขมร เวียดนามหรือมาเลเซีย เขาคงไม่ปล่อยให้มีการบุกรุกป่ากันตามอำเภอใจเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา เราอาจต้องไปดูงานการจัดการป่าไม้ของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าไปดูงานที่ยุโรปและอเมริกาเสียแล้ว
          16. ในการจัดการปัญหาของชาตินั้น ทางราชการต้องดำเนินการโดยเด็ดขาดโดยไม่เลือกปฏิบัติ จะย่อหย่อนจนปัญหาลุกลามเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ คนที่รับราชการมาจนได้ดิบได้ดีใหญ่โต ได้ลาภยศมากมาย แต่กลับปล่อยให้แผ่นดินไทยถูกปล้นชิงโดยเสมือนไร้ขื่อแป สมควรได้รับการประณามเป็นอย่างยิ่ง เราต้องปกครองกันโดยกฎหมายให้เคร่งครัด ไม่ใช่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย พวกมากลากไป เสียงดังไว้ก่อน หรือมือใครยาว สาวได้สาวเอา
          17. ในประเทศสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน เวียดนาม เขาก็เลิกระบบนารวมกันไปแล้ว เรายังจะย้อนยุคไปถึงโฉนดชุมชนเสียอีก การแก้ไขปัญหาของชาตินั้น แน่นอน เราก็ควรฟังเสียงของผู้สูญเสียผลประโยชน์ และหากเขาได้รับผลกระทบ ก็ต้องชดเชยกันให้เต็มที่ แต่จะฟังแต่คนเดือดร้อน โดยไม่นำพาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศชาติ ก็เท่ากับเรานำพาแต่กฎหมู่ ในมาเลเซีย หากรัฐบาลมีโครงการพัฒนาใด ๆ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับค่าทดแทนที่จ่ายให้ เพราะเขาต้องการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม แต่จะมาโหวกเหวกโวยวายไม่เห็นด้วยกับโครงการ ไมได้เด็ดขาด แต่ของไทย หากจะทำอะไรแต่ละที กลับไปถามแต่ผู้สูญเสียประโยชน์ส่วนน้อย อีกไม่ช้าประเทศไทยต้องด้อยกว่าเพื่อนบ้าน (ยกเว้นพม่า) อย่างแน่นอน

          ในท้ายสุดของบทความนี้ ขอยกความเห็นของผู้อ่านบทความที่ผมได้ทดลองเผยแพร่ไว้ก่อนในหนังสือพิมพ์ online ประชาไท ว่า:
“เลิกมันซะที กับความหน้าด้าน ที่อ้างความยากจนบังหน้า หัดเคารพตนเองบ้าง หัดเคารพตนเองที่ไม่โลภอยากจะได้ของๆใคร หัดเคารพตนเองที่จะไม่โลภ บุกยึดที่ป่า มาเป็นของตน
          - คนที่เคารพตนเองนั้น ขนาดกล้วยไม้ ในป่าก็ต้องไม่ไปเอามันออกมา ต้องปล่อยเอาไว้เยี่ยงนั้น
          - คนที่เคารพตนเอง ต้องไม่ยิงแม่นก ต้องไม่ยิงลิงหรือยิงหมียิงแม่เสือเพื่อที่จะเอาลูกของมันมาขาย
          - คนที่เคารพตนเอง ต้องรังเกียจ การค้าสัตว์ป่า หรือแม้นกระทั่งการกินอาหารป่า ไม่ว่าจะเอามาทำเป็นยาบ้าบอคอแตกอะไรทั้งสิ้น
          - คนที่เคารพตนเอง ถ้าจะเอาต้นไม้ในป่ามาใช้ ก็ต้องเลือกเอาเฉพาะกิ่งที่มันหักโค่นเท่านั้น ไม่ใช่ไปลักตัดต้นไม้ในป่า
          - คนที่เคารพตนเองต้องไม่เผาป่าเพื่อบุกรุกหรือต้องไม่แผ้วถางป่าเพื่อบุกรุก
          ทุกคนสามารถที่จะเคารพตนเองได้ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะยากดีมีจนอย่างไร และพึงระลึกเสมอว่า ความยากจนนั้นสามารถที่จะแก้ไขให้หายยากจนได้ ถ้าหากมีความพยายาม หมั่นเพียร ไม่ตั้งในความประมาท นั่นคือไม่ตั้งอยู่ในสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ไม่เคยมีคนขยันและเอาจริงที่อดตาย และที่สำคัญที่สุด ต้องให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น และต้องมีกฎหมายที่ควบคุมการผูกขาด และกฎหมายที่ควบคุมไม่ให้มีการถือครองที่ดินที่มากเกินไป นั่นคือระดับร้อยไร่ มันก็น่าที่จะพอแล้ว”

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่