Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,359 คน
CSR กับการอาสาทำดีต่อส่วนรวม
สยามธุรกิจ วันที่ 24-26 มิถุนายน 2552 หน้า 25

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

            วิสาหกิจและบุคคลต่างสนใจทำดีเพื่อส่วนรวม แต่บางทีกลับกลายเป็นโทษ การอาสาทำดีรูปแบบไหนบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และน่าจะนำไปปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการ CSR ด้านบำเพ็ญประโยชน์บ้าง
            ไม่ง่ายนักที่จะทำดี ให้ได้ดีกับผู้รับจริง ๆ ทำไปแล้วก็อาจไม่ได้ผลต่อส่วนรวมสมดังความมุ่งหวัง การทำดีต่อสังคมในรูปแบบที่เป็นอยู่มักเป็นเพียงการ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ และไมได้ส่งผลดีอย่างยั่งยืนต่อผู้รับ แต่ผู้ให้ต่างหากที่มักจะได้ดี ยกตัวอย่างเช่น
            1. การสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ให้คนจนไม่ถึง 100 หลัง ซึ่งคงเป็นเงินหลักสิบล้านบาท แล้วเชิญอดีตประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจใหญ่มาเปิดงานใหญ่โต ซึ่งอาจสิ้นเปลืองงบประมาณไปพอ ๆ กัน การนี้หากนำเงินไปสร้างบ้านให้คนไร้บ้านอยู่อาศัยแบบชั่วคราวคงคุ้มค่ามากกว่า
            2. การรณรงค์กันมาขี่จักรยานกันยกใหญ่ นัยเพื่อให้ตระหนักถึงภัยโลกร้อน แต่ก่อนฉากนี้จะเกิดขึ้น ‘ดาราหน้ากล้อง’ ทั้งหลายและผู้ติดตาม คงขี่รถยนต์คันงามเปลืองน้ำมันกันมามากมาย
            3. การบริจาคเพื่อถ่ายรูปกับ ‘ผู้มีบุญ’ เพื่อเอาไว้ขู่คนหรือประดับบารมีของคนให้
            4. การบริจาค ทำบุญหรือทำทานเพราะเมื่อคืนฝันร้าย!
            5. การปลูกป่ากันครึกโครม ทั้งที่ได้ผลไม่มาก ในขณะที่ในปีหนึ่ง ๆ ป่ากลับถูกทำลายไปมากมาย
            แม้การทำดีข้างต้นจะไม่ได้มีผลดีกับผู้รับมากนัก แต่ก็มีคนทำต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะถือเป็นกิจกรรมสร้างเครือข่าย-ต่อยอดธุรกิจ หรือ ‘ตกเบ็ด’ หรือมีโอกาสได้รับคำนำหน้านามเหนือสามัญชนทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจเป็นการทำเพื่อปกปิดความผิดหรือมีประโยชน์แอบแฝง เป็นต้น
            นอกเหนือจากการอาสาทำดีในรูปแบบกิจกรรมแบบน่ารัก ๆ ด้วยการปลูกป่า ขี่จักรยานลดโลกร้อน ช่วยเหลือเด็ก ช่วยเรื่องการศึกษา ฯลฯ โดยไม่ไปขวางทางโจรหรือทางโกงแล้ว ยังมีกิจกรรมทำดีในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งอาจถือเป็นการเติมเต็มการทำประโยชน์ต่อสังคมที่ผู้สนใจ CSR ในด้านการอาสาทำดี สามารถนำไปใช้ได้:
            1. ‘จับขอทาน’ ในประเทศไทยของเรามีขอทานมากมายทั้งคนไทยและต่างชาติ ไทยมีขอทานมากกว่าเวียดนามเสียอีก บางหมู่บ้านพบชาวบ้านมีอาชีพขอทานกันเป็นจำนวนมาก การให้ทานอาจเป็นบาปเพราะมีเด็กถูกจับมาบังคับขอทานมากมาย บางรายถูกทำร้ายจนพิการ วิสาหกิจที่มีสำนึกต่อส่วนรวม ควรส่งเสริมให้ส่วนราชการหรือองค์กรพัฒนาเอกชนกวดจับขอทานส่งสถานสงเคราะห์ของทางราชการ หรือวิสาหกิจที่ดีอาจลงทุนสร้างสถานสงเคราะห์ขึ้นมาช่วยฝึกอาชีพ เพื่อประโยชน์ของขอทานและสังคมโดยรวม การนี้ยังอาจช่วยอาชญากรรมแอบแฝงอีกด้วย
            2. ‘ตรวจตราพระ (ปลอม)’ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ชาวพุทธที่รักศาสนาควรตระหนักว่า พระ (ปลอม) ที่เที่ยวไป ‘โปรดสัตว์’ รับทรัพย์นั้น สร้างความมัวหมองให้กับศาสนา ที่ผ่านมาบางหมู่บ้านยกโขยงกันบวชเพื่อหารายได้ การตรวจตราพระ (ปลอม) เช่นนี้ จะเป็นการช่วยจรรโลงศาสนาและปิดช่องทางทำมาหากินของมิจฉาชีพ เรายังอาจช่วยรณรงค์ต่อสู้กับความคิดอวิชชานอกศาสนา เช่น พิธีไสยศาสตร์ที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นต้น
            3. ‘รายงานการบุกรุกทำลายป่า’ ป่าของไทยเราถูกทำลายทุกวัน คุณสืบ นาคะเสถียร ยอมตายเพื่อพิทักษ์ป่า นับเป็นการสละชีพเพื่อชาติโดยแท้ แต่ต่อให้ตายอีกนับสิบ ‘สืบ’ ป่าก็ยังร่อยหรอลงทุกวัน หากไม่มีใครมาอาสารายงานการบุกรุกทำลายป่า ข้อนี้อาจมีอันตราย จึงทำได้ด้วยการอาสาวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม หรืออาจร่วมกันบริจาคเงินจ้าง ‘มืออาชีพ’ ไปสำรวจ แล้วรายงานต่อสังคม คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัด
            4. ‘รักษ์คูคลอง-ต้านการบุกรุกใต้สะพาน’ ใน กทม. มี ‘คนจน’ บุกรุกใต้สะพานริมคลอง คาดว่ามีไม่เกิน 200 แห่ง หรือราว ๆ 6,000 ครอบครัว รวมจำนวนคนก็คงไม่เกิน 24,000 คน คนเหล่านี้ไม่ควรกีดขวางทางน้ำหรือสร้างมลพิษ แต่จะไล่โดยขาดมนุษยธรรมไม่ได้ ต้องจัดหาที่อยู่ให้เหมาะสม เราจึงควรมีอาสาทำดี ช่วยทำหน้าที่คอยตรวจตรา อย่าให้ใครมาเอาสมบัติของแผ่นดินไปครอบครองเป็นของส่วนตัวอีก
            5. ‘วิพากษ์ละครน้ำเน่า’ ละครน้ำเน่านั้นมอมเมาความคิดของประชาชน ให้มุ่งเสพสุขส่วนตัว บูชาเงิน ขี้อิจฉา สงสารตัวเอง แก้แค้น ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ ฯลฯ เราจึงควรเอาประเด็นความคิดของละครน้ำเน่ามา วิพากษ์และเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รับรู้ เป็นการให้ความรู้กับภาคประชาสังคม  ไม่ปล่อยให้ความคิด ‘น้ำเน่า’ มามีอิทธิพลในสังคม การทำเช่นนี้ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตละคร ‘น้ำดี’ ที่มีสาระในตลาดอีกด้วย
            6. ‘ตรวจสอบสื่อบิดเบือน’ ที่ผ่านมามีสื่อบางส่วนใช้ปากกาเป็นอาวุธทิ่มแทงคนอื่น หรือหาผลประโยชน์ การรายงานข่าวของสื่อก็อาจขาดความรับผิดชอบ หรือขึ้นอยู่กับสังกัดทางการเมือง  สื่อเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อประชาชน เราจะอาศัยองค์กรของสื่อเองมาตรวจสอบกันเอง ก็คงจะยาก เข้าทำนอง ‘แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน’ เราจึงควรมีอาสาทำดีคอยปรามสื่อ ซึ่งการนี้ยังจะช่วยยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อได้อีกทางหนึ่งด้วย
            7. ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ เราควรมาอาสาช่วยคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ควรมีอาสาพิทักษ์ประโยชน์ผู้ซื้อบ้าน ช่วยให้คำปรึกษา ช่วยให้ความรู้คนซื้อบ้านเพื่อไม่ให้ถูกเจ้าของโครงการเอาเปรียบ เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีอาสาทำดีประเภทนี้น้อยมาก แสดงว่าเรายังไม่เห็นความสำคัญของผู้บริโภคนัก แต่สำหรับมูลนิธิด้านเด็ก สตรี กลับมีกันจนนับไม่ถ้วน
            8. ‘ตรวจสอบโฆษณาหลอกลวง’ อาสาสมัครประเภทนี้ควรมุ่งตรวจสอบโฆษณาหลอกลวง เช่น การโฆษณาที่โกหกว่าสระผมด้วยแชมพูยี่ห้อนี้แล้ว เส้นผมจะดำขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว หรือซักผ้าด้วยผงซักฟอกยี่ห้อนี้แล้ว ผ้าจะขาวราวเอาสีขาวทา ทั้งนี้ยังอาจรวมถึงการรณรงค์ไม่ให้มีการโฆษณาหรือถ่ายแบบปกสิ่งพิมพ์ที่โป๊-เปลือยจนเกินงาม เป็นต้น
            9. ‘รับปรึกษาปัญหาจิตใจ’ บางครั้งบางคนถึงขนาดคิดฆ่าตัวตายหรือฆ่าผู้อื่น อันทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก บางครั้งคนในสังคมยังขาดความรักและความอบอุ่นอีกมาก ผู้สนใจอาสาทำดี อาจหาทางเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทั้งต่อหน้าหรือทางโทรศัพท์ หรือออกพบปะกับบุคคลที่มีปัญหารวมทั้งเด็กเร่รอน ฯลฯ

            ถ้าประเทศไทยมีอาสาทำดีข้างต้นนี้ สังคมคงมีสุขกว่านี้ วิสาหกิจที่มุ่งส่งเสริมการทำดี จึงควรหันมาทำดีเชิงสร้างสรรค์เช่นนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสังคม และเป็นผลบุญต่อทั้งผู้ทำดีเองด้วย ท่านที่สนใจ CSR ในแง่การบำเพ็ญประโยชน์ในรูปแบบใหม่ ๆ นี้ ก็เชิญได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์

            ถือว่า  ‘Knowledge Is Not Private Property’

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ผู้เขียนหนังสือ ‘CSR ที่แท้’ ซึ่งอ่านได้ฟรีที่ http://csr.igetweb.com และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส  Email: sopon@thaiappraisal.org

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่