Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 4,046 คน
CSR กับการทำนุบำรุงพนักงาน
ประชาชาติธุรกิจ 20-22 เมษายน 2552 หน้า 25-26

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

            ผมเพิ่งทำเงินหล่นไป 3.5 ล้านบาทเพราะจ่ายโบนัสประจำปี 2551-2 ซึ่งจ่ายในทุกเดือนเมษายนแก่เพื่อนร่วมงาน (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พนักงาน”) ของผม ที่พิเศษก็คือ ในปีนี้แทบจะไม่มีวิสาหกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในแวดวงของผมจ่ายโบนัสเลย
            เรื่องนี้มองได้ทั้งในแง่ของการบริหารวิสาหกิจให้ทำกำไรได้อย่างไรในภาวะวิกฤติ แต่ผมขอเลือกนำเสนอในที่นี้ในแง่มุมของความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ความรับผิดชอบสำคัญประการหนึ่งของวิสาหกิจก็คือความรับผิดชอบต่อลูกจ้างหรือพนักงาน นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ต่อลูกค้า ต่อชุมชนโดยรอบ ต่อสังคมโดยรวม และต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น
            ผมไม่ได้เขียนบทความนี้ในฐานะนักวิชาการด้าน CSR แต่เขียนจากประสบการณ์ทำ CSR จริงในฐานะผู้บริหารวิสาหกิจ ผมพยายามระวังไม่ให้เป็นการ “ยกหางตัวเอง” แต่จำเป็นต้องยกตัวอย่างวิสาหกิจของผมเองเพื่อให้เห็นการปฏิบัติ CSR จริงในกรณีพนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกกลุ่มหนึ่ง

ทำเงินหล่นไป 3.5 ล้านบาท
            ผมทำธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชื่อ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) โดยเป็นศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและครอบคลุมการดำเนินงานในประเทศอาเซียนด้วย ในขณะนี้มีเพื่อนร่วมงานอยู่ทั้งหมด 125 คนที่ปฏิบัติงานสำนักงานใหญ่และสาขาในภูมิภาค
            เรามีเพื่อนร่วมงาน 101 คนที่ทำงานมาครบ 1 ปีจนได้รับโบนัสประจำปีเฉลี่ยคนละ 1.5 เดือน หรือรวมเป็นเงินประมาณ 3.5 ล้านบาท การนี้ถือเป็นประเพณีทุกปีนับตั้งแต่ตั้ง AREA เมื่อปี 2534 ที่เราจ่ายโบนัสปีละครั้งและปรับเพิ่มเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง แม้ในช่วงวิกฤติปี 2540 และ 2552 ก็ตาม
            ถ้าผมจะปฏิบัติเช่นวิสาหกิจส่วนมากในวงการเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถจ่ายโบนัสได้ ผมก็อาจ “ฉ้อฉล” เพื่อนร่วมงานโดยจ่ายโบนัสแต่น้อย (ไม่ถึงกับไม่จ่าย) ก็ยังทำได้ไม่ยากด้วย  เพราะก่อนถึงเวลาจ่ายโบนัส ผมได้สำรวจความเห็นของเพื่อนร่วมงาน พวกเขาต่างก็เข้าใจและไม่ได้เรียกร้องอะไรเป็นพิเศษในสถานการณ์เช่นนี้
            วิธีในการ “ฉ้อฉล” เพื่อนร่วมงานนั้นทำได้ไม่ยาก ด้วยอาศัยการ “ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ” (หรือความจริงบางส่วน) ยิ่งถ้าทำตัวเป็นคนธรรมะธรรโมได้ยิ่งดูน่าเชื่อถือ และตบท้ายด้วยคำหวานที่สัญญาว่าจะพิจารณาจ่ายให้ในปีถัดไปแทน ด้วยการ “ฉ้อฉล” เช่นนี้ ผมก็อาจจ่ายโบนัสน้อยกว่านี้โดยอาจประหยัดได้เป็นล้านบาท เอาไปเปลี่ยนเป็นรถหรู ๆ หรือเสพสุขทางอื่น
            อย่างไรก็ตามผมก็ยังจ่ายโบนัสในสัดส่วนเดิม อาจกล่าวได้ว่าการที่เราไม่ “ฉ้อฉล” เพราะเรามี CSR ที่แท้ที่มุ่งรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญยิ่งเช่นกัน

ทำไมจึงจ่ายโบนัสได้
            หากวิสาหกิจของผม มีระบบสวัสดิการที่หรูเลิศสำหรับผู้บริหาร มีรถประจำตำแหน่ง อยู่กินราวกับเจ้าขุนมูลนายใหญ่โต มีค่าใช้จ่ายด้านการบันเทิงกันอย่างหรูเลิศ โอกาสที่จะมีโบนัสให้พนักงานก็คงจะน้อย อย่างไรก็ตามสำหรับกิจการ (กึ่ง) ผูกขาดหลายแห่ง ซึ่งสามารถทำกำไรได้มหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ก็อาจมีระบบสวัสดิการที่หรูเลิศได้โดยยังมีการจ่ายโบนัสอย่างงามเช่นกัน
            สำหรับวิสาหกิจที่ผมบริหารอยู่ ปรากฏตัวเลขการประกอบการในปีงบประมาณ 2551-52 นี้ว่า ปริมาณงานของเรายังไม่ได้ลดลง ทั้งนี้เพราะเราได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ โดย AREA เป็นที่ปรึกษาที่ไม่เป็นนายหน้าและไม่พัฒนาที่ดินเอง ทั้งนี้เพื่อความเป็นกลางทางวิชาชีพ และยังลงทุนพัฒนาระบบงานต่าง ๆ จนสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
            อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากตัวเลขผลการประกอบการกลับพบว่า รายได้ลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้นและแน่นอนว่ากำไรสุทธิก็ย่อมลดลงด้วย แต่เราก็ยังจ่ายโบนัสเพราะเราไม่อาจโกงเพื่อนร่วมงาน และถือว่าเพื่อนร่วมงานเป็นทรัพยากรสำคัญที่เราต้องดูแลให้ดีที่สุด เราจึงเชื่อถือตามหลักที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้”  “ทำดีได้ดี” อันนี้ไม่ใช่การ “อมพระมาพูด” นะครับ แต่เป็นเรื่องจริงจากการลงทุนกับเพื่อนร่วมงานนั่นเอง

เพื่อนร่วมงานของเราสำคัญจริง
            วิสาหกิจทั้งหลายมักจะบอกว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของวิสาหกิจตน ผมเชื่อว่า คำกล่าวดังกล่าวเป็นเพียงคำหวานเสียมากกว่า วิสาหกิจประเภทโรงงาน ปัจจัยการผลิตหลัก ไม่ใช่พนักงาน แต่เป็นเครื่องจักรกลต่างหาก ถ้าเป็นสถาบันการเงิน ปัจจัยการผลิตหลักก็คือ เงิน (ต่อเงิน) พนักงานเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่จะ “จ้างออก” เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเป็นบริษัทพัฒนาที่ดิน ปัจจัยการผลิตหลักอยู่ที่อสังหาริมทรัพย์ พนักงานเป็นเพียงปัจจัยเล็ก ๆ เช่นกัน
            แต่สำหรับวิสาหกิจในสาขาบริการ พนักงานเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่แท้จริง เราจึงต้องจัดฝึกอบรมเพื่อนร่วมงานทั้งองค์กรปีละ 2 ครั้ง จัดอบรม-สอบสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ส่งไปเรียนนอก ส่งไปเรียนโท ส่งไปฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อเคี่ยวเข็ญให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น เราจึงไม่มีเพื่อนร่วมงานประเภท “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”  ผมมักบอกเพื่อนร่วมงานว่า หนทางที่ AREA จะเจริญได้ ก็คือการ “เกาะใบบุญ” ตามการพัฒนาของพวกเขานั่นเอง

ทำอะไรให้เพื่อนร่วมงานบ้าง
          เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจึงขออนุญาตแจกแจงให้เห็นว่า AREA ได้ลงทุนอะไรกับเพื่อนร่วมงานบ้าง เช่น

  • เงินฝากให้พนักงาน (3% ของเงินเดือน) ปีละประมาณ 648,000 บาท
  • บริการเครื่องดื่มและเครื่องสันทนาการ ปีละประมาณ 240,000 บาท
  • เงินช่วยเหลือคลอดบุตร แต่งงาน บวช (คนละ 4,000 บาท) ปีละประมาณ 60,000 บาท
  • ทุนการศึกษาบุตรเพื่อนร่วมงาน (คนละ 5,000 บาท) ปีละประมาณ 150,000 บาท
  • การจัดงานวันเกิด ปีละประมาณ 96,000 บาท
  • การจัดท่องเที่ยวที่ AREA จ่ายให้ ปีละประมาณ 250,000 บาท
  • การสัมมนาประจำปี (2 ครั้งต่อปี) ปีละประมาณ 500,000 บาท
  • การศึกษา ดูงานทั้งใน-ต่างประเทศ ปีละประมาณ 400,000 บาท
  • รางวัลพนักงานดีเด่นรายเดือนและปี ปีละประมาณ 64,000 บาท
  • การประชุม 2 สัปดาห์ต่อครั้งตลอดปี ปีละประมาณ 325,000 บาท
  • งบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยว ปีละประมาณ 150,000 บาท

            เงินจำนวนประมาณ 2.8 ล้านบาทที่จ่ายไปนี้ นอกจากทำให้เกิดความรู้สึกดีที่ได้ให้แล้ว ยังถือเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลให้เพื่อนร่วมงานของเราแตกต่างและทำให้ผมสามารถ “ฝากผีฝากไข้” กับพวกเขาได้อีกด้วย ผมไม่เคยคิดที่จะพูดว่า “ทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน” ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นคำพูด “เล่นลิ้น” มากกว่า
            ท่านทราบหรือไม่ มีการศึกษาพบว่า สมองมนุษย์จะปลอดโปร่งขึ้นเมื่อได้เป็นผู้ให้ และระบบเส้นประสาทที่เรียกว่า Vagus คือสาเหตุที่ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้และอยากเสียสละ ทั้งนี้เป็นเพราะมีสารเคมีชนิดหนึ่งคือ oxytocin อยู่ในเส้นประสาท หากคน ๆ หนึ่งได้รับสารนี้พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่ง คนๆ นั้นก็จะมอบเงินให้กับคนแปลกหน้าจนเกือบไม่เหลือติดตัวเลยทีเดียว {1}

สรุป
            อาจกล่าวได้ว่า CSR กับพนักงานนั้น หัวใจสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การชวนพนักงานไปบำเพ็ญประโยชน์ แต่อยู่ที่การทำนุบำรุงพวกเขาให้เติบใหญ่อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับวิสาหกิจของเรา การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญนั้น จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากพนักงานของวิสาหกิจใดยังย่ำอยู่กับที่ทั้งที่ทำงานโดยสุจริตและไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือโชคร้ายมา 10-20 ปีแล้ว แต่ในขณะเดียวกันวิสาหกิจนั้นกลับเติบใหญ่ไพศาล ก็อาจอนุมานได้ว่าวิสาหกิจนั้นยังขาด CSR นั่นเอง

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ผู้เขียนหนังสือ “CSR ที่แท้” ซึ่งอ่านได้ฟรีที่ http://csr.igetweb.com และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@area.co.th

{1} โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ “รายงานสุขภาพเรื่องสมอง และระบบประสาท กับหลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา” ของสถานีวิทยุ Voice of America: http://www.voanews.com/thai/2009-04-01-voa1.cfm

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่