Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,872 คน
โต้ความคิดอวิชชาเรื่องโลกร้อน
วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2551 23:40 น.

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          เรากำลังโฆษณาชวนเชื่อเรื่องโลกร้อนกันอย่างเมามัน โดยแทบไม่เคยชี้แจงข้อมูลให้กระจ่าง นี่ย่อมเป็นกระบวนการของอวิชชาโดยแท้ ผมขอลงทุนมองต่างมุมเพื่อหวังให้เกิดสังคมอุดมปัญญาที่จะเชื่อกันด้วยวิจารณญาณจากการไตร่ตรองด้วยประจักษ์หลักฐานและเหตุผลอย่างรอบด้าน  ที่ผมว่าต้อง “ลงทุน” นำเสนอนั้น เพราะการมองต่างจาก “ฝ่ายธรรมะ” ที่พยายามเย้ว ๆ ปลุกให้คน “ทำดี” นั้น ย่อมเสี่ยงต่อการถูกบริภาษหรือถูกมองในแง่ลบ แต่ผมก็ได้เพียงหวังว่าวิญญูชนจะร่วมกันพิจารณาครับ

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมไปฟังวิทยากรระดับที่เคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาล และนำเสนอเรื่องโลกร้อนให้หน่วยงานต่าง ๆ ฟังมามากมาย แต่ผมฟังแล้วกลับไม่เชื่อ ไม่ใช่ว่าผมมีอคตินะครับ แต่เหตุผลที่วิทยากรนำเสนอนั้นช่างอ่อนเกินไป ผมจึงขอนำเสนอเหตุผลในอีกแง่มุมหนึ่ง และที่ผมใช้คำว่า “เร็ว ๆ นี้” ไม่ได้บอกว่าวันนี้หรือวันไหน ก็เพราะผมไม่ประสงค์ที่จะกล่าวให้เกิดความเสียหายแก่วิทยากรเหล่านั้นเป็นการส่วนตัว เพียงแต่มุ่งหวังจะตรวจสอบกันด้วยเหตุผลเท่านั้น
          การโต้แย้งเรื่องโลกร้อนนี้ ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง “เล่ห์กลหาประโยชน์จากเรื่องโลกร้อน” ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงต่าง ๆ มากมาย และปรากฏในเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market166.htm
          สำหรับข้อโต้แย้งในที่นี้ ผมขอนำเสนอเป็นข้อ ๆ ดังนี้:
          1. วิทยากรเรื่องโลกร้อนมักจะนำเสนอในลักษณะคล้ายการนำเสนอทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าการนำเสนอเหล่านั้น มักจะนำเสนอด้วยข้อมูลด้านเดียว และมักไม่มีแหล่งอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาให้ผู้ฟังได้วินิจฉัย ดูเป็นการ “ยกเมฆ” มากกว่า เช่น การที่โลกอุ่นขึ้นก็มองเพียงว่าทำให้เชื้อโรคอยู่ได้นานขึ้น แต่ไม่บอกความจริงว่าโลกอุ่นทำให้สามารถผลิตธัญญาหารได้มากขึ้น หรือการละเลยความจริงที่ว่าโลกร้อนก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเคยร้อนอย่างเป็นวัฏจักรมาก่อน หรือโลกยังเคยมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลกว่าในปัจจุบัน เป็นต้น
          2. การ “ขู่” ว่าน้ำแข็งขั้วโลกจะละลายภายในเวลา 30-40 ปี เมื่อถึงตอนนั้นน้ำจะท่วมโลกในระดับความสูงถึง 80 เมตร เรื่องนี้วิญญูชนควรไตร่ตรอง การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอะไรจะรวดเร็วได้ถึงขนาดนั้น ชั่วเวลานานแสนนานจึงจะมีน้ำท่วมโลกสักที จู่ ๆ ก็จะท่วมภายในเวลาเพียงแค่นี้ นี่แสดงว่าพวกคลั่งเรื่องโลกร้อนบางส่วนจินตนาการเพ้อฝันยิ่งกว่านิยายวิทยาศาสตร์ในภาพยนต์เรื่อง “The Day After Tomorrow” เสียอีก
          3. การ “โฆษณาชวนเชื่อ” ด้วยการนำภาพเด็ดต่าง ๆ มานำเสนอ เช่น น้ำท่วมนครเวนิส ในขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ น้ำคลองในเวนิสเพิ่งเหือดแห้งจนพายเรือไม่ได้ <3> หรือการบิดเบือนว่าน้ำทะเลในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นทั้งที่มีการศึกษาเช่นกันว่าระดับน้ำลดลง นอกจากนี้ยังชอบกล่าวว่าชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะไปโดยไม่นำพาข้อเท็จจริงในอีกด้านหนึ่งว่ามีการงอกของที่ดินริมทะเลในพื้นที่อื่นเช่นกัน
          4. การ “ใส่ไข่” ว่าพื้นที่ชายฝั่งแถวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถูกกัดเซาะต่อเนื่องเพราะภาวะโลกร้อนจนวัดอยู่กลางน้ำ ทั้งที่สาเหตุหลักเป็นเพราะการทำลายป่าชายเลน การทรุดตัวของแผ่นดินจากการสูบน้ำบาดาล และอื่น ๆ และกลับละเลยความจริงที่ว่าพื้นที่ลึกเข้าไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น วัดเจดีย์หอย ปทุมธานี ยังเคยเป็นทะเล และกลายเป็นแผ่นดินเพราะการสะสมของตะกอนจนถึงทุกวันนี้
          5. ที่น่า “ละอาย” อย่างมากเลยก็คือการโยงแทบทุกปัญหาในโลกนี้ว่าเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน เช่น พายุนาร์กีสทั้งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเคยมีที่ร้ายแรงกว่านี้มาแล้วในภูมิภาคนี้ในอดีต <4> นอกจากนี้การประท้วงเรื่องอาหารในเฮติหรือในประเทศอื่น ก็ยังถูกเหมารวมไว้ว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อนเช่นกัน
          6.   การนำเสนออย่างไม่ฉุกคิดถึงเหตุผล เช่น หิมะบนยอดเขาคีรีมันจาโรหรือยอดเขาสูงอื่น ๆ ละลายได้อย่างไรในขณะที่ตลอดทั้งปีมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และแม้ว่าหากอุณหภูมิบนผิวโลกจะสูงขึ้นบ้าง บนยอดเขาก็ยังต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอยู่ดี การที่น้ำแข็งจะละลายอาจเป็นเพราะสาเหตุอื่นที่ควรศึกษาให้ละเอียด เช่น การเปลี่ยนแปลงใต้พิภพ ไม่ใช่สักแต่โทษเรื่องโลกร้อน
          7. พวกนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อเรื่องโลกร้อนมัก “ใส่ร้าย” ผู้อื่น เช่น พอนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนออกมาตั้งคำถามต่อพวกเขา พวกเขาก็มักจะกล่าวหาว่าพวกนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นรับใช้นายทุนหรือประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น โดยมักไม่ใส่ใจถกเถียงทางวิชาการให้ชัดเจน จะสังเกตได้ว่าพวกคลั่งเรื่องโลกร้อนมักเอาเครดิต ความน่าเชื่อถือของตัวเองมาจูงใจให้คนเชื่อ (ผิดหลักกาลมสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเชื่อเพียงเพราะว่าคนพูดเป็นอาจารย์) มากกว่าการใช้ประจักษ์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาหักล้าง
          8. พวกคลั่งเรื่องโลกร้อนมักจะไม่ใส่ใจการพัฒนาประเทศ คิดแต่เพียงว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพมหานคร ต้องหนีไปที่อื่น คิดไปไกลถึงขนาดว่าไม่ควรสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะจะเป็นการสูญเปล่า อวดฉลาดว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่สร้างด้วยเงินหลายแสนล้านบาทจะเป็นความสูญเปล่า พวกนี้ไม่ยอมรับความจริงว่าประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ยังอยู่ได้ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเลมานานแล้ว โดยบางแห่งต่ำกว่าถึงสิบกว่าเมตร การคิดแบบ “งอมืองอเท้า” ของคน “ขวางโลก” เหล่านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการคิดที่ยอมจำนนและไม่สร้างสรรค์อะไรเลย
          9. พวกนี้ยังมีความคิดที่เป็นไสยศาสตร์ เช่น ผมได้ฟังนักวิทยาศาสตร์โลกร้อนคนหนึ่งอภิปรายว่า ขณะนี้ไม่มีทางออกแล้ว  แต่การทำบุญตักบาตรหรือถวายสังฆทานอาจเป็นวิธีหนึ่งเพราะอย่างน้อยก็เป็นการบำบัดจิต การที่ “นักวิทยาศาสตร์” ชิงบทบาทของนักการศาสนามานำเสนอเช่นนี้เป็นเรื่องน่าสลดยิ่ง นี่ไม่ใช่การแสดงว่าพวกเขาเป็นศาสนิกชนที่ดี คนพวกนี้เพียงนำศาสนามาเป็นอาภรณ์ประดับให้ตนดูดีมากกว่า

          โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าผมไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ให้สังคมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมนะครับ ทุกคนควรประหยัดการใช้ทรัพยากรของโลกอยู่แล้ว แต่การพยายาม “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้คนเชื่อทฤษฎีโลกร้อนที่ขาดประจักษ์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และมักกระทำด้วยการใช้ความน่ารัก น่าสงสารของคน สัตว์และสิ่งของมาชักจูงให้คล้อยตามนั้น เป็นสิ่งที่เราควรใช้วิจารณญาณให้ดี
          โปรดอ่านบทความของผมเรื่อง “เล่ห์กลหาประโยชน์จากเรื่องโลกร้อน” (http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market166.htm) ซึ่งมีข้อมูลในรายละเอียดมากมาย เพื่อให้เกิดการอภิปรายและวินิจฉัยกันด้วยเหตุผล อันจะทำให้เกิดสังคมอุดมปัญญาและเกิดการคิดค้นหาทางออกของปัญหามากกว่าการยอมจำนน

หมายเหตุ:
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็น ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org

<3>

โปรดดูหลักฐานและภาพถ่ายน้ำเหือดแห้งในคลองของนครเวนิสที่ http://www.smh.com.au/news/news/venice-canals-run-dry-after-record-low-tide/2008/02/20/1203190871832.html

<4>

โปรดดูรายละเอียดที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Cyclone_Nargis

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่