Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,695 คน
CSR, ทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว?!?
กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ "ทัศนะจากผู้อ่าน" 12 มีนาคม 2551
กรุงเทพธุรกิจ : จุดประกาย วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2551 หน้า 4

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>

          ท่านเคยสงสัยไหม ทำไมหนอพวกคุณหญิงคุณนายทำงานแจกของสงเคราะห์มาร่วม 50 ปีแล้ว ปัญหาสังคมก็กลับยิ่งหนัก มีการรณรงค์เรื่องปลูกป่าหรือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งต่าง ๆ กลับยิ่งเลวร้ายลง ปริมาณป่าปลูกใหม่เทียบไม่ได้เลยกับป่าถูกทำลาย ปัจจุบันเราเดาะเรียกการทำดีทำนองนี้เสียเท่ว่า CSR ซึ่งมักเป็นไปแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ บ่อยครั้งกลับเป็นการทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว-ปกป้องคนชั่วอีกต่างหาก!

Responsibility แปลว่าอะไร
          CSR หรือ Corporate Social Responsibility คือความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียกับวิสาหกิจ <2> ซึ่งได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า (supplier) ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนสังคมโดยรวม วิสาหกิจที่มี CSR ย่อมไม่ฉ้อโกงลูกจ้าง ไม่ฉ้อฉลต่อลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำร้ายชุมชนโดยรอบที่ตั้งของวิสาหกิจด้วยการก่อมลพิษ เป็นต้น
          ความรับผิดชอบหรือ Responsibility คือพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หาไม่ถือเป็นการละเมิดซึ่งย่อมมีโทษตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายผังเมือง ฯลฯ <3> การมี CSR ก็คือการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การมี CSR จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญที่มีอารยธรรม ไม่ไปฉกฉวย ตีชิง เบียดเบียนหรือก่ออาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) กับใครเพื่อให้ตนอยู่รอด

การให้ การอาสา: ไม่ใช่ CSR
          ส่วนถ้าใครอยากบริจาคเพิ่มเติม ทำดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนา หรือถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่สวยงาม นี่ไม่ใช่ CSR เพราะเป็นการอาสาโดยใจสมัคร ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบ อาจเรียกว่า Corporate Social Donation (CSD) หรือ Corporate Social Contribution (CSC) รูปแบบการทำดีอาจเป็นการแจกของแบบคุณหญิงคุณนาย เป็นการช่วยเหลือเด็กหรือผู้ด้อยโอกาส ชุมชน หรือปลูกป่า ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นทั้งการให้เปล่า การช่วยพัฒนา หรือการให้การศึกษา เป็นต้น
          การที่ไม่ขีดเส้นแบ่งให้ชัดระหว่าง CSR (การทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายโดยไม่ละเมิด ไม่ละเลย) กับการให้-อาสาทำดีนั้น ถือเป็นการถ่างคำจำกัดความของ CSR ให้รวมการทำดีไว้ด้วย ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติไปในด้านการทำดี แต่ละเลยในส่วนที่ไม่ละเมิดกฎหมาย จะสังเกตได้ว่าวิสาหกิจที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายมักชอบรณรงค์ CSR แบบการทำดีเป็นอย่างยิ่ง เช่น วิสาหกิจปูน พลังงานหรือแร่ธาตุที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล (หากไม่จัดการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด) หรือแม้แต่สถาบันการเงินชั้นนำบางแห่งที่ได้ชื่อว่ามี CSR ดีเยี่ยม ได้บริจาคเงินเพื่อสังคมมากมาย ก็อาจเอาเปรียบลูกจ้างจนสหภาพแรงงานต้องออกมาเคลื่อนไหวประท้วง

ทำดีแบบลูบหน้าปะจมูก
          การทำดีที่เรียกโก้ ๆ แต่บิดเบือนว่า CSR นี้ อาจเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดูคล้ายการให้ด้วยความใจกว้าง แต่ความจริงถือเป็นการลงทุนเพียงน้อยนิด ผมเคยวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ <4> พบว่าครัวเรือนไทยบริจาคเป็นเงิน 2.69% ของรายได้เพื่อการกุศล แต่เชื่อว่าวิสาหกิจใหญ่ ๆ ที่ชูธง CSR นั้น คงแทบไม่มีรายไหนบริจาคขนาดนี้เป็นแน่ วิสาหกิจที่มีรายได้ 10,000 ล้าน คงไม่บริจาคสูงถึง 269 ล้าน บริษัทขนาดใหญ่ 189 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่คุยว่าปี 2549 บริจาคเป็นเงินสูงถึง 400,000 ล้านบาท ก็เป็นเพียง 1.16% ของรายได้รวมเท่านั้น <5> และส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งของ ไม่ใช่เงินสด นี่แสดงว่าชาวบ้าน ตาสีตาสา ยังบริจาคเงินมากกว่าเศรษฐีเสียอีก
          อย่างไรก็ตามการลงทุนเพียงน้อยนิดนี้ก็คุ้มค่ายิ่งในการสร้างภาพลักษณ์ให้วิสาหกิจนั้น สามารถประกอบการได้โดยสะดวกราบรื่น ได้รับความนิยมเป็นการสร้างชื่อเสียงยี่ห้อให้กับกิจการ และที่สำคัญหากวันหลังเกิดพลาดพลั้งทำลายชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็อาจได้รับความปรานี “ผ่อนหนักเป็นเบา” ไม่ถูกชุมชนและสังคมลงโทษรุนแรงนั่นเอง
          ธรรมชาติของการทำดีแบบฉาบฉวยและไม่ใช่ด้วยวัตถุประสงค์ในการช่วยสังคมจริงเช่นนี้ จึงมักก่อโภคผลต่อสังคมอย่างจำกัด และนี่เองที่เราเห็นคุณหญิงคุณนายแจกของมานับสิบ ๆ ปี หรือมีองค์กรการกุศลมากมาย แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น ยกเว้นคนที่ช่วยเหลืออาจได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ หรือได้เป็นสมาชิกรัฐสภาอันทรงเกียรติในภายหลัง

ทำดีเพื่อปกปิดคนชั่วและความชั่ว
          การทำดีแบบแอบแฝงและไร้ประสิทธิผล นอกจากจะได้ดีเฉพาะคนทำดีแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการช่วยปกปิดความชั่วของคนชั่วที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคนดี เช่น เรารณรงค์ปลูกป่ากันใหญ่ แต่ไม่เคยใส่ใจว่า เราจะรณรงค์กันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างไร ท่านทราบหรือไม่ในปี 2504 มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 273,629 ตร.กม. (53% ของพื้นที่ประเทศไทย) แต่ ณ ปี 2547 เหลืออยู่เพียง 167,591 ตร.กม. (33% ของพื้นที่ประเทศไทย) <6> หรือหายไปเท่ากับ 68 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือเท่ากับเราสูญเสียพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกรวมกัน
          เราคงเคยพบเห็นการรณรงค์การทำดีมีคุณธรรมกันอย่างบ้าคลั่ง นี่อาจเป็นอาชญากรรมที่แสนแยบยลเพื่อเบื่อเมาไม่ให้สังคมรับรู้สาเหตุแท้จริงของปัญหา ปัญหาในทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ประชาชนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่มีคนจำนวนน้อยที่มีอิทธิพลและอำนาจ ละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับเอาเอาหูไปนาตาไปไร่ต่างหาก เราจึงควรรณรงค์ไม่ให้คนทำผิดกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นเราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิของตนเองตามกฎหมายและไม่เฉยชาต่อการกระทำผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อตนเอง ชุมชนและสังคม รวมทั้งรณรงค์ให้วิสาหกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ฉ้อฉล และให้รัฐบาลรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด

          อย่าลืม วิสาหกิจต้องประกอบสัมมาอาชีพตามกรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด เพราะนี่คือเส้นแบ่งระหว่างสุจริตชนกับอาชญากร ระหว่างวิสาหกิจที่มี CSR กับวิสาหกิจที่เอาเปรียบหรือฉ้อฉลสังคม ผู้ที่ไม่เบียดเบียนสังคมย่อมได้รับการยกย่อง ยิ่งเมื่ออาสาทำดี ยิ่งเป็นมงคลต่อชีวิตและกิจการ และสิ่งที่พึงระวังเป็นพิเศษก็คือการทำดีเพื่อปกปิดความชั่วเพื่อให้คนชั่วได้อยู่สร้างทุกข์เข็ญกับสังคมตราบนานเท่านาน

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และ ASEAN Association for Planning and Housing และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

คำแปลของ CSR โดย ห้องสมุด Wikipedia คือ “is an expression used to describe what some see as a company’s obligation to be sensitive to the needs of all of the stakeholders in its business operations” และตอนหลังมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมว่า “This obligation is seen to extend beyond the statutory obligation to comply with legislation” แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะในสังคมธุรกิจที่ฉ้อฉลมักจะอ้างการอาสาทำดีมาปกปิดการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Corporate_social_responsibility

<3>

แต่บางคนอาจเถียงว่า การกระทำบางอย่างยังไม่มีในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กรณีนี้ก็มีแต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาจึงมักอ้างอย่างนี้ เพราะในประเทศที่เจริญแล้วเขาใช้จารีตประเพณีและมโนสำนึกที่ถูกต้อง หรือมีกลไกออกกฎหมายที่รวดเร็ว แต่บางกรณีอาจต้องยกประโยชน์ให้จำเลยไปบ้าง แต่ก็คงเป็นส่วนน้อยมากที่จะมีกรณีเช่นนี้

<4> โปรดดูรายละเอียดในบทความ “CSR คือหน้าที่ ใช่อาสา” ณ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market130.htm โดยเฉพาะตารางท้ายบทความ
<5>

Strategic Corporate Citizenship Newsletter (ของสถาบันคีนันเอเซีย), February 29, 2008 หน้า 2

<6>

โปรดดูข้อมูลของกรมป่าไม้ ณ http://www.forest.go.th/stat/stat49/TAB4.htm

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่