Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,806 คน
สานสัมพันธ์ต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์
อาคารที่ดินอัพเกรด ประจำวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2549 - 1 มกราคม 2550 หน้า 62

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          การติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทำให้เราได้มีโลกทัศน์ใหม่และกว้างขวางยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผมจึงขออนุญาตยกกิจกรรมที่ผมและคณะกรรมการของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทยที่ได้เดินทางไปหลายประเทศในรอบปีนี้มาเป็นตัวอย่าง

          เวียตนามที่พึงสังวร แทบตลอดเดือนมกราคม 2549 ผมได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลเวียตนามให้เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเพื่อจัดทำแนวทาง (roadmap) ในการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทย งานสำเร็จลงด้วยคำขอบคุณอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมและน่าตกใจก็คือ เวียตนามมีการพัฒนาที่รวดเร็วมากในแทบทุกด้านนับเป็นผลบุญจากการทำงานหนักของพลเมือง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวหากไทยเราไม่ปรับปรุงแข่งขันกับตัวเอง ก็อาจถูกเวียตนามแซงได้ ดังนั้นเมื่อเรานึกถึง “เวียตนาม” จงนึกถึงคำว่า “พึงสังวร”

          ดูเทคโนโลยีนานาชาติ สุดยอดของการประเมินค่าทรัพย์สินในปัจจุบันคือการสร้างแบบจำลองทางสถิติเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินผสมผสานกับการใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ งานนี้มูลนิธิในฐานะผู้แทนประเทศไทยของสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ IAAO พาคณะข้าราชการกระทรวงการคลัง สถาบันการเงินและบริษัทประเมินไปดูงาน-สัมมนาถึงเมืองโอแลงโด ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 19-24 กุมภาพันธ์ งานนี้ไทยเราได้เรียนรู้โลกกว้างขึ้นอีกอักโข เพราะทางมูลนิธิยังพาไปชมสำนักประเมินค่าทรัพย์สินเทศบาลอีก 2 แห่งให้เห็นตัวอย่างการปรับใช้จริง

          MIPIM 2006 ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม ณ เมืองคานส์ จะมีการจัดงานนิทรรศการอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ปีนี้จัดขึ้นในช่วงวันที่ 14-17 มีนาคม ผมไปมา 3 ปีติดต่อกัน ปีนี้คุณปัทมา จันทรานุกูลและคุณน้ำทิพย์ พรโชคชัยเดินทางไปเข้าร่วมเพราะทางมูลนิธิเป็นสมาชิกของ FIABCI ท่านที่สนใจนวัตกรรมของอสังหาริมทรัพย์นานาชาติไม่ควรพลาด พื้นที่จัดงานมหาศาล เดินติดต่อธุรกิจ 3 วันยังไม่หมด มีคนจากทั่วโลกประมาณ 20,000 คนเข้าร่วม นักพัฒนาที่ดินไทยที่ประสงค์จะไปเปิดตัวต่างประเทศพลาดงานนี้ไม่ได้

          ทำให้เขารู้จักประเทศไทย ทุกรอบ 2 ปี World Valuation Congress ได้จัดการประชุมหมุนเวียนไปทั่วโลก ปีนี้จัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 9 - 11 พฤษภาคม ผมได้รับเชิญจากการประชุมนี้ให้ไปแสดงปาฐกถาหลักด้วย นี่ไม่ใช่เกียรติเฉพาะผม แต่แสดงว่านานาชาติก็เห็นว่าประเทศไทยก็มีความรู้อันอุดมในการแลกเปลี่ยนกับทั่วโลก ขณะนี้ผมกำลังเจรจากับทางคณะกรรมการเพื่อขอจัดงานนี้ในประเทศไทยต่อไป ถ้าประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานนานาชาติ จะทำให้ต่างชาติเข้าใจและมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

          เปิดสมาคมผู้ประเมินเวียตนาม เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งเวียตนาม ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้น ณ นครโฮชิมินท์ ได้เชิญผมไปร่วมงานเปิดสมาคม ผมยังได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะแขกต่างประเทศเช่นเดียวกับผู้แทนสมาคมประเมินแห่งสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ไปเข้าร่วมด้วย การตั้งสมาคมประเมินเวียต นามเป็นอีกก้าวสำคัญหนึ่งของการพัฒนาวงการประเมินค่าทรัพย์สินในเวียตนามและถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ (roadmap) ในการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินตามที่ผมได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลเวียตนามให้ทำการศึกษา

          ประชุม FIABCI โลก 27-31 พฤษภาคม ณ กรุงเทพมหานคร สมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ (FIABCI) ได้มาจัดงานประชุมประจำปีในไทย นี่ถือเป็นเกียรติสูงสุดอย่างหนึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศหลายร้อยคนได้มาเยี่ยมเยียนประเทศไทยด้วยความประทับใจ ผมในฐานะอุปนายกสมาคม FIABCI ไทยเป็นประธานการสัมมนา และร่วมกันผลักดันให้งานนี้ประสบความสำเร็จ ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลของเราน่าจะสนับสนุนกิจกรรมเช่นนี้ให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสร้างภาพพจน์ที่ดีงามของประเทศโดยตรง

          กระชับสัมพันธ์ไต้หวัน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน FIABCI ไต้หวันจัดงานมอบรางวัลอสังหาริมทรัพย์ดีเด่น ได้เชิญผมในฐานะอุปนายก FIABCI ไปร่วมงานด้วย ผมยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนสถาบันอบรมประเมินค่าทรัพย์สินที่เมืองเถาหยวน เพื่อตกลงจัดส่งผู้ประเมินไทยไปศึกษาต่อที่นั่นด้วย การเย้าเยือนมิตรประเทศและเครือข่ายต่าง ๆ เป็นการสร้างพันธมิตรในระยะยาว นักวิชาชีพที่มุ่งมั่นจะประกอบสัมมาอาชีพในวงการนี้จึงควรลงทุนทั้งเวลาและเงินในภารกิจนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจและการพัฒนาวิชาชีพในที่สุด

          นวัตกรรมประเมินเพื่อเวนคืน ผมไปสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สองในปีนี้โดยไปประชุมสมาคมการจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค (International Right of Way Association) ในระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน ณ นครเดนเวอร์ ครั้งนี้ได้ติดต่อให้ทางกรมธนารักษ์เดินทางไปร่วมด้วย สมาคมนี้เคยส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนที่โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.trebs.ac.th) ที่ผมเป็นผู้อำนวยการด้วย และจากการเข้าร่วมงานนี้ จะทำให้มีการประสานงานเพื่อนำนวัตกรรมทางวิชาชีพและวิชาการเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต

          ผมยังเดินทางต่อไปยังนครแวนคูเวอร์ แคนาดาในช่วงวันที่ 21-24 มิถุนายน เพื่อร่วมประชุม World Urban Forum ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ มีผู้เข้าร่วมประชุม 6,000 คน ผมในฐานะผู้แทนของ FIABCI ได้เป็นคนไทยที่นำเสนอบทความเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินและการพัฒนาเมือง งานนี้ทำให้ได้ลูกค้าที่สนใจเข้ารับการอบรมด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลักสูตรนานาชาติที่ทางโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถัดมาจำนวนพอสมควรด้วย เรียกว่าคุ้มค่าเดินทาง

          Real Estate Investment World Asia เป็นงานสัมมนาที่เกี่ยวกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ เมื่อ 2 ปีที่แล้วผมไปเป็นวิทยากรด้วย แต่ปีนี้คุณปัทมา จันทรานุกูล กรรมการของมูลนิธิได้รับเชิญไปร่วมงานเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2549 ณ ประเทศสิงคโปร์ งานประชุมนานาชาติที่เจาะจงสำหรับกองทุนรวมฯ นั้น งานนี้ถือว่าใหญ่ที่สุด คือมีผู้เข้าร่วมเกือบ 500 คน มีบูธแสดงสินค้าเช่นกัน ผู้สนใจเรื่องกองทุนรวมฯ สมควรเข้าร่วมเป็นอย่างยิ่ง ปีหน้าทางมูลนิธิก็คงยังรับเป็นผู้สนับสนุนงานนี้ ท่านใดสนใจไปก็สามารถแจ้งชื่อกับทางมูลนิธิได้

          การประชุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียน ครั้งที่ 13 จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 3-6 กรกฎาคม ผมไปนำเสนองานวิชาการอีกเช่นเคย และในการประชุมครั้งนี้ ผมยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียนดังที่เคยเป็นเมื่อ 4 ปีก่อน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทยควรไปงานนี้ซึ่งจัด 2 ปีหนเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้มีโอกาสเรียนรู้และแสวงหาพันธมิตรในคราวเดียวกัน

          MIPIM ASIA จัดขึ้นที่ฮ่องกงโดยในเอเซียเพิ่งจัดเป็นปีแรก ในช่วงวันที่ 27-29 กันยายน) บูธในงานนี้มีมากพอสมควร แต่ยังน้อยกว่างานระดับโลกที่เมืองคานส์เมื่อเดือนมีนาคม มูลนิธิได้พานักพัฒนาที่ดินไทยไปร่วมงานและออกบูธจำนวนหนึ่ง ท่านที่สนใจสามารถติดต่อมูลนิธิได้ เพราะปีหน้าอาจจะจัดทัวร์ไปร่วมงานนี้ นี่เป็นโอกาสสำคัญในการติดต่อสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือขาย/เช่าอสังหาริมทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในช่วงเดียวกันนี้ทางประธาน RICS (สถาบันที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์อังกฤษที่มีสมาชิก 130,000 คน) ได้มาเยี่ยม RICS ฮ่องกงด้วย คุณปัทมา ผู้แทนมูลนิธิได้รับเกียรติไปร่วมงานเลี้ยงรับรองดังกล่าวด้วย

          สมาคมนักพัฒนาที่ดินฟิลิปปินส์ จัดประชุมประจำปี ณ เมืองดาเวา บนเกาะมินดาเนา ในช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2549 ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรร่วมกับคุณขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ งานนี้ได้มีโอกาสถ่ายรูปกับ ฯพณฯ รองประธานาธิบดีด้วย ข้อน่าสังเกตสำคัญของสมาคมนี้ก็คือ เป็นสมาคมที่เป็นตัวแทนของนักพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ทั่วประเทศนับพันรายโดยแท้จริง นอกจากมีสมาคมแม่ในกรุงมนิลาแล้ว ยังมีสมาคมย่อยประจำเมือง ทำให้มีความเข้มแข็งขนาดทางราชการยังต้องรับฟัง สมาคมทั้ง 3 แห่งของไทยก็ควรพัฒนาให้เข้มแข็งและเป็นตัวแทนของนักพัฒนาที่ดินส่วนใหญ่จริง ๆ

          ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (วันที่ 24-25) หอการค้าเวียตนามได้เชิญผมไปบรรยายเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (Corporate Social Responsibility – CSR) ณ กรุงฮานอย งานนี้ยังมีธนาคารโลกและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นร่วมจัด นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจและน่าตระหนกของเวียตนาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางการเวียตนามแถลงว่าการลงทุนของต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 50% <3> น่าห่วงแท้ประเทศไทย ถ้าไทยถูกแซงผมคงไม่เสียหายหรอก แต่คนที่เสียหายคงเป็นประชาชนคนไทยนั่นเอง

          FIABCI Asia Pacific สมาคม FIABCI ในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิคได้จัดการประชุมขึ้น ณ กรุงมนิลาในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ผมเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากไทยไปร่วมประชุมและนำเสนอเกี่ยวกับการพำนักระยะยาวหรือ longstay ในประเทศไทย ได้เอกสารประกอบมาพอสมควร ปกติเอกสารประกอบการสัมมนาที่ได้มา หากท่านใดสนใจก็สามารถขอถ่ายเอกสารได้เสมอเพราะทางมูลนิธิถือว่า “Knowledge is not private property” ไปประชุมคราวนี้ได้ข้อคิดว่ากิจกรรม longstay กำลังได้รับการส่งเสริมอย่างขนานใหญ่ทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์ แต่น่าเสียดายในกรณีประเทศไทย โครงการนี้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน ไม่รู้จะได้ทำต่อหรือไม่ น่าจะปัดฝุ่นมาดึงเงินตราต่างประเทศแข่งกับเขากันบ้าง

          งานแสดงอสังหาริมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ในตะวันออกกลาง จัดขึ้นในช่วงวันที่ 4-6 ธันวาคม ศกนี้ งานนี้ผมไม่ได้ไป แต่คุณปัทมา จันทรานุกูลกรรมการของมูลนิธิได้ร่วมคณะไปกับ รศ.มานพ พงศทัต ประธานโครงการ RE-CU และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย เมื่อปี 2548 งานนี้มีผู้เข้าร่วมเกือบเท่า MIPIM ณ เมืองคานส์ แต่ที่ดูไบวงอาจแคบกว่า อย่างไรก็ตามความอลังการของโครงการใหญ่โตต่าง ๆ เช่น The Palm และ The World เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เข้าทำนอง “มีเงิน ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด” โชคดีที่ตะวันออกกลางมีน้ำมัน หาไม่แล้วประเทศเหล่านี้คงจนกว่าอาฟริกาเสียอีก

          ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หวังมาอวดอ้างว่าได้เดินทางไปเที่ยวเล่นโดยไม่อยู่ดูแลวิสาหกิจของตนเองนัก แต่อยากนำมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านว่า หากเราจะ “go inter” เราก็ควรเริ่มต้นที่การไปดูงานหรือสัมมนาระหว่างประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศอาจมีข้อจำกัดบ้าง เช่น ราชการก็เบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันการบ้าง หรือภาคเอกชนอาจรู้สึกเสียดายเงินบ้าง เพราะต้องออกกันเอง และแม้ปีหนึ่ง ๆ จะเสียเงินนับแสน ๆ เพื่อการนี้ ผมว่าก็ยังคุ้ม ถือเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเติบโตในอนาคต

          ปี 2550 ทางมูลนิธิจะจัดไปประชุมอสังหาริมทรัพย์เอเซียแปซิฟิค ณ นครเพิร์ธในเดือนมกราคม ดูงานอสังหาริมทรัพย์ที่เมืองคานส์ในเดือนมีนาคม เข้าร่วมการประชุม FIABCI ณ นครบาเซโลนาในเดือนพฤษภาคม การประชุมสมาคมนานาชาติด้านการประเมินเพื่อการเสียภาษีในเดือนกันยายน ณ นครแอตแลนต้า เป็นต้น ท่านใดสนใจไปเข้าร่วมก็สามารถติดต่อทางมูลนิธิได้

          อย่าลืมนะครับ เราต้องลงทุน ลงแรง ลงเวลาเพื่อเปิดโลกทัศน์นานาชาติ เพื่อเอาประสบการณ์มารับใช้การทำงานของเราในบ้านเรา เพื่อพัฒนาวิสาหกิจของเรา พัฒนาวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ และพัฒนาประเทศโดยรวม

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และกรรมการสภาที่ปรึกษาขององค์การประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org

<3>

โปรดอ่านข่าว ต่างชาติลงทุนในเวียดนามเพิ่มเกือบ 50%  โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤศจิกายน 2549 14:46 น. ณ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9490000145254

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่