Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ

นายเสริมเกียรติ วิทิตเวท

รางวัลชมเชย ประเภทประชาชนทั่วไป

 

                 เมืองไทยทุกวันนี้  รัฐบาลซึ่งทำหน้าที่บริหารยังคิดว่าประเทศไม่เจริญพัฒนา ไม่เทียมหน้าชาติอื่นเมืองอื่น  บ้านเมืองจึงดาษดื่นไปด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้าบนดินใต้ดิน สนามบินก็สร้างเสร็จไปแล้ว ต้องขยายแนวถนนเชื่อมการสัญจรให้สะดวก บวกกับทางด่วนลอยฟ้า พัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค ให้ประชาชนเห็นความเจริญก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง  แต่สิ่งที่ตามมาคือการเวนคืนทรัพย์สิน  และที่ดินของประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาใหญ่คือเสียงคัดค้านเพียงได้ยินว่าจะมีการเวนคืน  แม้ยังไม่ยืนยันโครงการ หรือผ่านที่ดินของตน  ทำไมประชาชนจึงเห็นการเวนคืนเป็นสิ่งเลวร้าย ทำอย่างไรไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทำอย่างไรให้ผู้รับผลกระทบได้รับความเป็นธรรม ไม่เกิดความรู้สึกต้องรับกรรมเพื่อบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ ส่วนราชการผู้มีหน้าที่ต้องทบทวนบทบาทที่ผ่านมา
                 ประชาชนย่อมรักชาติบ้านเมืองด้วยกันทุกคน อยากเห็นบ้านเมืองของตนพัฒนาก้าวไกล ไม่มีคนใดอยากได้ชื่อเป็นผู้ขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง ก่อเรื่องวุ่นวาย สร้างความเหนื่อยหน่ายดึงดันขวางกั้นการเวนคืน อย่างไรก็ดี ประชาชนก็มีความคิดจิตใจ รักในความยุติธรรม  อยากเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นกับตน  ทำอย่างไรให้ความรู้สึกในผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมเกิดความเท่าเทียมกันได้ ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกภูมิใจในตนที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ให้การเวนคืนได้สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง  โดยไม่ละเลยสิ่งสำคัญยิ่งคือความยุติธรรม
                 ความยุติธรรมเป็นความต้องการพื้นฐานของทุกคน โสกราติส ปรัชญาเมธีกรีกให้ความหมายคำยุติธรรมว่า เป็นการแสดงออกของการกระทำที่เคารพสิทธิของผู้อื่น และการไม่ยอมทำความผิดต่อผู้อื่น  ส่วนเพลโต ปรัชญาเมธีกรีกอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นสัจธรรม และสัจธรรมสามารถค้นพบได้โดยการใช้ปัญญาของนักปราชญ์เท่านั้น  ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิปกครองบุคคลอื่น  หากพิเคราะห์ตามนัยความหมายดังกล่าว  โดยสังเคราะห์เข้ากับการเวนคืนทรัพย์สินแล้ว การที่ยังมีการต่อต้านการเวนคืนทุกครั้ง ย่อมหมายความว่า ส่วนราชการผู้เวนคืนได้สูญเสียความชอบธรรมในการดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน  และขาดภูมิปัญญาในการบริหารจัดการการเวนคืน จึงได้เกิดการยืนหยัดต่อต้านของประชาชนทุกครั้งที่มีการเวนคืน
                 การเวนคืนถือเป็นการที่รัฐใช้อำนาจพรากเอาสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนที่ซึ่งได้เลือกสร้างหลัก ปักฐานไว้ดีแล้วไปเป็นของรัฐ จัดเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง  ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ต้องเปลี่ยนแปลงไป  จิตใจได้รับผลกระทบ  ต้องประสบกับสิ่งไม่เคยคาดคิด วิถีชีวิตอาจไม่เหมือนเดิม ต้องเริ่มต้นในถิ่นที่อยู่ใหม่ จากบ้านเรือนที่เคยให้ความรู้สึกอบอุ่น จากผู้คนที่คุ้นเคยไป  ต้องสูญเสียอาชีพและรายได้ที่มั่นคงในถิ่นเดิม ทุกสิ่งที่เคยสร้างเสริมไว้พร้อม สภาพแวดล้อมที่เคยให้ความเจริญใจ ต้องไปอยู่ในสถานที่ใหม่ที่ไม่มั่นใจในจุดหมายและชะตากรรม  นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องไตร่ตรอง มองให้รอบคอบ  มีความชอบธรรมเป็นลำดับแรก  ต้องให้ผู้ได้รับผลเสียจากการถูกเวนคืนทรัพย์สินได้รับการชดใช้อย่างเป็นธรรม เกิดความรู้สึกว่าเป็นธรรม โดยมีการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างเป็นธรรมก่อนการเวนคืน ให้ผู้สูญเสียเกิดความรู้สึกว่าได้รับการเยียวยา  มากกว่าการได้รับค่าทดแทน
                 ย้อนไปอดีต ครั้นบ้านเมืองไทยสมัยราชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเป็น “เจ้าแผ่นดิน” ที่ดินทั้งสิ้นในพระราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์  ดังมีบทบัญญัติในพระอัยการเบ็ดเสร็จแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า
                 “ที่ดินในแว่นแคว้นกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามหาดิลกนพรัตน์ราชบุรีธานีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่จะได้เป็นที่ราษฎรก็หามิได้”
                ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การเวนคืนทรัพย์สินยังเป็นพระราชอำนาจอันล้นพ้นแต่ก็มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป  ดังเช่นในคราวเวนคืนที่ดินพระนครฝั่งตะวันออกเป็นที่ก่อสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีน  ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแห่งใหม่ โดยย้ายไปอยู่ ณ ที่สวน  พื้นที่ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาสในปัจจุบัน)  ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดประทุมคงคาในปัจจุบัน) จนสร้างหลักฐานมั่นคงสืบมา  กลายเป็นย่านการค้าที่ราคาที่ดินสูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน  ทั้งนี้ ก็ด้วยน้ำพระราชหฤทัยในพระบรมกษัตริย์ที่ทรงปกครองอย่างเที่ยงธรรม  จึงนำบ้านเมืองไทยสู่ความสุขสงบร่มเย็น
                 ทุกวันนี้เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระธรรมิกราชายิ่งใหญ่  ทรงดำรงมั่นคงในพระปฐมธรรมิกวาจา เมื่อคราทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  น้ำพระราชหฤทัยในฐานะพระประมุขผู้ทรงธรรมเป็นที่ซาบซึ้งตรึงตราอยู่ในหัวใจของพสกนิกรทุกคน แต่ส่วนราชการซึ่งรับพระราชทานอำนาจในการปกครอง  เหตุใดจึงไม่สามารถเจริญตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ให้ประชาราษฎร์เกิดความรู้สึกว่าได้รับการปกครองอย่างเป็นธรรม
                 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในรายการพูดจาประสาช่างทางสถานีวิทยุจุฬา  ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงความยุติธรรมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ดังเชิญมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
                 “บางครั้งทำอ่างเก็บน้ำ  บริเวณที่เป็นอ่างเก็บน้ำนั้นมักจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหรือเป็นไร่นา ก็ต้องคำนวณว่าเมื่อกันทำเป็นอ่างเก็บน้ำไปแล้ว  จะท่วมที่ทำกินของชาวบ้านเท่าไร  แล้วผลได้ผลเสียจากการทำนั้น จะเป็นอย่างไร...  บางครั้งทำแล้วท่วมที่นาของคนหนึ่ง  แต่ว่าจะไปทำให้ได้ผลประโยชน์ต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องเอามาปรึกษาหารือกันให้พร้อมหน้าอีกหนหนึ่ง  แล้วแบ่งจัดรูปที่ดินเสียใหม่ให้คนที่ได้รับประโยชน์ คือเดิมมีนา 5 ไร่  พอได้อ่างนี้ก็เนื้อที่เท่าเดิมแต่เปรียบเสมือนว่ามีนา 50 ไร่ ก็ต้องแบ่งปันบางส่วนให้เพื่อนฝูงในหมู่บ้านที่เสียประโยชน์จากการทำอ่างน้ำอันนี้...”
                 “แม้แต่คลองบางแห่ง  บางแห่งไม่เป็นคลอง  เป็นที่อาศัยระบายน้ำได้ก็มีคนเอากล้วยไปปลูกเต็มไปหมด ท่านก็ไปพูดกับเขาดี ๆ ว่า กล้วยเป็นของใคร  คนก็บอกเป็นของเขา  ท่านก็ถามดี ๆ ว่า “หวงไหม”  เขาก็กราบบังคมทูลว่า “ก็ไม่หวง”  ท่านบอกว่า “ก็ไม่หวง”  แปลว่า “หวงนิดหน่อย” แต่ว่าก็คงจะเกรงท่าน ท่านก็บอกว่าไม่อยากรังแกเขาหรอกแต่ว่าอันนี้เห็นว่า ถ้าไม่หวงก็ขออนุญาตเอาออก  ก็ค่อย ๆ พูดเจรจาไป...”
                 จะเห็นได้ว่า แม้แต่จะตัดต้นกล้วย ก็ยังทรงคำนึงถึงจิตใจความรู้สึกของราษฎร การเวนคืนทรัพย์สินซึ่งประชาชนเดือดร้อนลำบากกว่ามาก ทางราชการจึงควรต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการคิดตัดสินใจ  และอำนวยให้เกิดความยุติธรรม  สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการประเมินค่าทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนอย่างเป็นธรรม จึงจะได้น้ำใจความร่วมมือจากประชาชนได้
                 ในประเทศที่ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย การเวนคืนถือเป็นการลิดรอนสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นของรัฐ จึงต้องบัญญัติรับรองการใช้อำนาจเวนคืนไว้ในรัฐธรรมนูญ  กำหนดการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน  และการจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ถูกเวนคืนอย่างเป็นธรรม ประเทศไทยเราก็มีการบัญญัติการใช้อำนาจเวนคืนของรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ  เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน
                 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ได้วางหลักการเวนคืนให้เกิดความเป็นธรรม โดยบัญญัติว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หมายความว่า ต้องตรากฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากลั่นกรองเห็นชอบจากผู้แทนราษฎร  และการเวนคืนยังมีการระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแจ้งชัด  เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค  การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ  การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ  การปฏิรูปที่ดิน  การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น โดยจะนำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนไปใช้นอกวัตถุประสงค์ของกฎหมายมิได้  และหากภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ยังมิได้เข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืน ต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท  แต่สิ่งสำคัญคือ กำหนดให้ต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม  ภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น และในการกำหนดค่าทดแทน ได้บัญญัติว่าต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรม  โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด  การได้มา  สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์  ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน และประโยชน์ที่รัฐและผู้เวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการประเมินค่าทรัพย์สินที่เวนคืนให้เป็นธรรมนั่นเอง
                 การเวนคืนทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศ แม้เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งแต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เพราะบ้านเมืองต้องเจริญก้าวหน้าต่อไปไม่อาจหยุดนิ่ง  สิ่งสำคัญต้องให้ผู้เสียหายได้รู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมการพัฒนา และได้รับชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม ไม่ใช่เพราะชะตากรรมให้เป็นไป ให้ประชาชนยอมรับการเวนคืนด้วยความรู้สึกที่ศรัทธา บ้านเมืองจึงจะพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้  การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน จึงเป็นทางหนึ่งซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้ อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายควรทำด้วยศรัทธา มีศรัทธาในสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ ดังพระพุทธภาษิตว่า “ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ย่อมยังความสำเร็จทุกเมื่อ”  ทั้งนี้ มีหลักคิดบางประการประกอบการพิจารณา
                 ประการที่ 1  ประเทศไทยเรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนได้รับความสุขร่มเย็นด้วยพระเมตตากรุณา แต่โบราณมาพระมหากษัตริย์ทรงปกครองราษฎรด้วยพระราชหฤทัยแบบพ่อเอาใจใส่ลูก  ผู้ถูกปกครองจึงรู้สึกอุ่นใจ  และรู้ซึ้งในความหมายของความเป็นธรรม แต่ทุกวันนี้การเมืองนำการปกครอง 
มองผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เหนือประโยชน์อื่นใด ไม่ใส่ใจประโยชน์ของคนส่วนน้อย ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส แต่การเวนคืนเป็นการใช้อำนาจบังคับเอาทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นของรัฐ  ประชาชนต้องปฏิบัติไม่อาจขัดขืนได้  เพราะมีกฎหมายรับรองให้อำนาจไว้  ผู้ใช้อำนาจรัฐจึงไม่ควรขาดจิตสำนึกของการเป็นผู้ปกครอง ควรมองประชาชนทุกคนเป็นลูกที่ต้องดูแล  ถึงแม้เป็นเพียงคนส่วนน้อยก็ไม่ควรมองข้ามไป  ต้องอำนวยให้ความยุติธรรมแก่ทุกคน ธรรมดาลูกอาจเอาเปรียบพ่อบ้าง แต่พ่อต้องไม่เอาเปรียบลูก โดยเฉพาะการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน  ให้ประชาชนผู้ไม่อาจขัดขืนได้รับการชดใช้ค่าทดแทนอย่างเป็นธรรม
                 ประการที่ 2  การประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม  รัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด  การได้มา  สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์  ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน  และประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน  ซึ่งยุติธรรมดีแล้ว และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530  ก็ได้บัญญัติเรื่องเงินทดแทนไว้เป็นกรอบปฏิบัติ  ให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ราคาของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม  สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ซึ่งมีความชัดเจนเช่นกัน แต่ความจริงทางปฏิบัติ การจัดการประเมินค่าทรัพย์สินมักไม่ได้รับการยอมรับของผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนด้วยส่วนราชการผู้เวนคืนยังคงยึดติดแนวคิดการมุ่งรักษาประโยชน์ราชการ  การมีหลักฐานอ้างอิงได้  และการใช้ดุลยพินิจให้ตนไม่ต้องรับผิด  จึงมักประเมินค่าทรัพย์สินในราคาต่ำ  และนำข้อมูลตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการ ซึ่งกรมธนารักษ์สำรวจจัดทำขึ้นมา  เพื่อเป็นราคากำหนดค่าทดแทน อันเป็นราคาที่ต่ำเกินไป  ไม่สอดคล้องกับราคาซื้อขายจริงในท้องตลาด  ขาดความน่าเชื่อถือ แม้จะมีการประกาศปรับราคาขึ้นแล้วก็ตาม ดังเช่นการประกาศใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรอบใหม่ (พ.ศ. 2547-2550)  ของกรมธนารักษ์  ซึ่งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยได้ศึกษาวิจัยพบว่า ที่ดินส่วนใหญ่ที่สุดราคาแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย  และราคาที่ดินทางราชการมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม  ไม่แสดงนัยสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคม  ฉะนั้น ทางราชการจึงต้องประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนทุกครั้ง  รวมทั้งประเมินอย่างมีหลักเกณฑ์โดยใช้วิธีกำหนดมูลค่าตลาดที่มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง และที่มิใช่การกำหนดมูลค่าตลาดในทรัพย์สินเฉพาะอื่น ๆ ที่มีมูลค่า ให้มีราคาถูกต้องเป็นจริง  ทั้งสิ่งก่อสร้าง ที่ดิน สินทรัพย์อื่นที่มีราคา และค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น สมควรได้รับการชดเชยทั้งหมด เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง สามารถชี้แจงแสดงเหตุผล ให้ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับได้
                 ประการที่ 3 ทุกวันนี้วิชาด้านการประเมินค่าทรัพย์สินมีการพัฒนาก้าวไกล ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ของไทยก็เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ เรามีบุคลากรที่สามารถรอบรู้งานประเมินค่าทรัพย์สินอยู่ในภาคเอกชน  ส่วนคนในภาครัฐจะมีสมรรถนะเพียงใดไม่ปรากฏเด่นชัด  การประเมินค่าทรัพย์สินโดยรัฐจึงยังมีปัญหาไม่เป็นที่ยอมรับกันได้ เพราะผู้มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนขาดความไว้วางใจ  สมควรหรือไม่ที่รัฐจะให้ภาคเอกชนเข้าร่วมการประเมินค่าทรัพย์สินเมื่อมีการเวนคืน  เพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นว่ารัฐคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสร้างหลักประกันความเป็นธรรม โดยมีการนำความรู้หลักวิชาการประเมินค่าทรัพย์สินมาใช้  ซึ่งจะช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาความขัดแย้ง การพัฒนาประเทศก็จะก้าวเดินต่อไปได้ไม่ต้องมาสะดุดหยุดชะงักติดขัดกับปัญหาการประเมินค่าทรัพย์สินไม่เป็นธรรม  อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์เพื่อความเจริญของบ้านเมือง
                 ประการที่ 4  ประเทศไทยเราแม้มีความเจริญก้าวหน้าแต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป งานพัฒนาส่วนใหญ่ เป็นการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ  เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน  ให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี  จึงจำเป็นต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และความรู้สึกไม่เป็นธรรม ในการประเมินค่าทรัพย์สินก็จะยังมีอยู่ต่อไปเช่นกันเมื่องานเวนคืนมีความสำคัญเช่นนี้  เป็นไปได้ไหมที่รัฐจะจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบงานด้านการเวนคืนและการประเมินค่าทรัพย์สินโดยตรง ให้เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานวิชาชีพงานด้านนี้  มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ  เพื่อวางระบบการเวนคืนและการประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์  มีการบริหารจัดการที่โปร่งใสเป็นธรรม  เป็นองค์กรที่สามารถชี้นำสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน  ตลอดจนการอำนวยบริการให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม โดยมีระบบการนำองค์กรเป็นที่ยอมรับได้ของสาธารณชน  อันจะช่วยให้กลไกการพัฒนาประเทศดำเนินต่อเนื่องไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                 การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็นคู่กับการพัฒนา  การประเมินค่าทรัพย์สินก็เป็นสิ่งจำเป็นคู่กับความเป็นธรรมเช่นกันเมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวการพัฒนาบ้านเมืองในต่างประเทศ  มีการรื้อถอนอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชน  เพื่อขยายความเจริญของชุมชน  ซึ่งผู้คนเห็นดีไม่มีการต่อต้านเหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพราะรัฐ ไม่ปล่อยให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนลำบาก  ได้จัดที่อยู่อาศัยให้ใหม่ที่ไม่ไกลจากแหล่งเดิม  ประชาชนให้สัมภาษณ์แสดงความยินดี  และภูมิใจที่มีส่วนร่วมการสร้างความเจริญของชุมชนประเทศไทยเราน่าจะมีบรรยากาศดี ๆ แบบนี้บ้างให้ทุกสิ่งเป็นไปอย่างสร้างสรรค์  ไม่ต้องทะเลาะวิวาทกัน  อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของการเวนคืนส่วนหนึ่งมาจากประชาชนได้รับความยุติธรรม  ความยุติธรรมจึงเป็นพื้นฐานการสร้างสรรค์ของทุกสิ่งซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทย  เราจึงต้องไม่ลืมพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นย้ำให้มีความยุติธรรม เพื่อนำบ้านเมืองอยู่รอดพระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550  ซึ่งได้เชิญมาดังนี้
                 “บ้านเมืองจะต้องมีความยุติธรรมหมายความว่าคนจะปฏิบัติตัวตามใจชอบไม่ได้ต้องทำตามกฎเกณฑ์ต้องเป็นไปตามความดีกฎเกณฑ์ของความดีและความดีนั้น ก็คือทำอะไรที่ตรงไปตรงมา  ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนโดยประชาชนโดยเฉพาะทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตต้องมีกฎเกณฑ์ มีขื่อมีแปถ้าไม่มีขื่อมีแปแล้วประเทศชาติก็ล่มจม...”

.................................................................
 

 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่