Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผล
ตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก
ผลสรุปการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ประชาชนในมาบตาพุดต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

          ปัญหาสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดได้กลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวาง จนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งในคดีเกี่ยวกับโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการ <1> ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จึงส่งอาสาสมัครนักวิจัยออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อสะท้อนภาพของปัญหาจากประชาชนเจ้าของพื้นที่จริง
          มูลนิธิหวังว่าข้อค้นพบในการศึกษานี้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองในพื้นที่มาบตาพุด และขอยืนยันว่าการศึกษานี้ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้มีอคติ และไม่ได้รับอามิสหรือผลประโยชน์จากผู้ใด

เกี่ยวกับการสำรวจ
          การสำรวจนี้ดำเนินการในช่วงวันที่ 14, 15 และ 22 พฤศจิกายน 2552 การสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบสองขั้น (Two-stage Sampling) โดยการสุ่มในขั้นแรก เป็นการสุ่มชุมชนตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) ในระดับชุมชน ได้ 21 ชุมชนจาก 31 ชุมชน และการสุ่มขั้นที่ 2 คือ การสุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่สุ่มได้ในขั้นที่ 1 สำหรับขนาดตัวอย่างจำนวนครัวเรือน เป็นไปตามสูตรของ Yamane โดยได้ตัวอย่างจริงครั้งนี้ได้ขนาดตัวอย่างทั้งสิ้น 1,107 คน
          ครัวเรือนทั้งหมด 1,107 ครัวเรือนนี้ ครอบคลุมประชากร 3,918 คนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 33,492 คน หรือครอบคลุม 11.70% ของประชากรทั้งหมด ในอีกแง่หนึ่งหากพิจารณาจากจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะพบว่าจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 1,107 คน เป็นสัดส่วนเท่ากับ 4.7% ของจำนวนประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปมีอยู่ทั้งหมด 23,597 คนในมาบตาพุด <2>  ซึ่งถือเป็นสัดส่วนประชากรที่เพียงพอในการสุ่มที่เชื่อถือได้

ประชาชนต้องการอุตสาหกรรม
          ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาในเชิงนโยบายก็คือประชากรส่วนใหญ่ (65.3% หรือสองในสาม) ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป มีเพียงหนี่งในสามที่เห็นว่าควรหยุดขยายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามหากนับรวมผู้ที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความเห็น 22.2% แล้ว จะพบว่า ประชากรที่เห็นว่าควรหยุดขยายตัวมีอยู่ 26.6% หรือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรที่เห็นควรให้อุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดควรจะขยายตัวต่อไป (51.1%)
          หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า แม้ประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่เกิน 10 ปี ถึง 55% จะเห็นควรให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป แต่ก็ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรวมที่ 65.3% นอกจากนี้ แม้กลุ่มประชากรที่เป็นเจ้าของบ้านโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว ส่วนมากจะเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อไป แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ 65.3% เช่นกัน การนี้แสดงให้เห็นว่า ประชากรส่วนน้อยที่ไม่อยากให้อุตสาหกรรมขยายตัว คงคำนึงถึงความเคยชินในการอยู่อาศัยและการยึดติดกับอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองเป็นสำคัญ

มลพิษกับการเจ็บป่วย
          มักมีการอ้างอิงว่ามลพิษในมาบตาพุด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ นานา การศึกษานี้จึงได้สำรวจความเห็นของประชาชนในประเด็นนี้ โดยพบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตตามผลกระทบจากมลพิษในเขตมาบตาพุดมีอยู่ทั้งหมด 504 ราย หรือประมาณ 12.86% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้แยกเป็นสาเหตุจากการทำงานในสถานประกอบการ 92 ราย หรือ 2.35% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เหลืออีก 412 รายหรือ 10.52% ป่วยหรือเสียชีวิตจากการอยู่อาศัยในพื้นที่  
          ในการพิจารณาผลกระทบจากมลพิษ ควรพิจารณาแยกกลุ่มผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษในสถานประกอบการออกก็เพราะผลกระทบจากมลพิษในกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้มักเป็นผลจากความประมาทและการขาดการควบคุมอาชีวะอนามัยที่ดีในสถานประกอบการ ดังนั้นในการพิจารณาถึงมลพิษในมาบตาพุดจึงควรเน้นเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยซึ่งมีอยู่ประมาณ 10.52% ของประชากรทั้งหมดเป็นสำคัญ

ตารางที่ 1: การเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
ผลกระทบจาก ป่วยเล็กน้อย ป่วยหนัก เสียชีวิต รวม
จำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษในมาบตาพุด (คน)
การทำงานในสถานประกอบการ 78 7 7 92
การอยู่อาศัยในพื้นที่ 385 26 1 412
รวมทั้งหมด 463 33 8 504
สัดส่วนเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดที่สำรวจ 3,918 คน
การทำงานในสถานประกอบการ 1.99% 0.18% 0.18% 2.35%
การอยู่อาศัยในพื้นที่ 9.83% 0.66% 0.03% 10.52%
รวมทั้งหมด 11.82% 0.84% 0.20% 12.86%

          อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบการเจ็บป่วยจากทุกกลุ่มพบว่า ส่วนมาก (11.82%) มักเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ภูมิแพ้ เป็นต้น กลุ่มที่เชื่อว่าป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพราะมลพิษ มีเพียง 0.69% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าจำนวนผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษมีไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อทั่วไปที่ว่ามลพิษได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในบริเวณมาบตาพุด
          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สาเหตุหลักของการตายของประชาชนในจังหวัดระยอง ในปี 2548 เป็นเพราะสาเหตุภายนอกการป่วยและการตาย(เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ถูกฆ่าตาย) ถึง 15%  รองลงมาคือสาเหตุจากโรคมะเร็งและเนื้องอก 12.7% และสาเหตุจากโรคติดเชื้อและปรสิต 12.6%  อย่างไรก็ตามสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งและเนื้องอกในจังหวัดระยองกลับมีสัดส่วนต่ำกว่าระดับทั่วประเทศ <3>
          อีกประจักษ์หลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่าการเจ็บป่วยเพราะมลพิษในมาบตาพุดยังไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงเกินมาตรฐานทั่วประเทศก็คือ การเปรียบเทียบ “จำนวนประชากรที่ป่วยหรือรู้สึกไม่สบายระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พ.ศ. 2550” ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยพบว่ามีสัดส่วนประชากรที่ป่วยในระดับทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 18.16%  <4> ในขณะที่ในมาบตาพุด มีประชากรที่ “เจ็บป่วยเล็กน้อย” ในการอยู่อาศัยในพื้นที่เพียง 9.83% เท่านั้นโดยผู้เจ็บป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการเพราะมลพิษหรือสาเหตุอื่น เนื่องจากอาการสำคัญคือ เป็นหวัดหรือภูมิแพ้ ซึ่งมักเกิดได้ทั่วไป เป็นต้น
          ในมาบตาพุดยังไม่มีพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ (Contamination Area) จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เช่น กรณีพื้นที่ปนเปื้อนอันเนื่องมาจากสนามบินเก่า เหมืองแร่ หรืออื่น ๆ ในการประเมินค่าทรัพย์สิน พื้นที่ปนเปื้อนเหล่านี้มักจะมีมูลค่าต่ำหรือติดลบเพราะต้องบำบัดให้พ้นจากสภาพปนเปื้อน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษยังไม่ปรากฏให้เห็น ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะบำบัดให้พื้นที่ปลอดพ้นจากมลพิษ
          อย่างไรก็ตาม ประชากรราวสองในสาม (64.2%) เชื่อว่าในมาบตาพุดน่าจะมีมลพิษมากกว่าในตัวเมืองระยอง แต่ก็มีประชากรเพียง 48.5% ที่คิดจะย้ายออกจากมาบตาพุดหากในอนาคตมีมลพิษมากกว่านี้หรือมากเกินไป การที่ประชากรยังจะอยู่ในพื้นที่ก็เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและความเคยชินในการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยประชากรที่อยู่อาศัยเกินกว่า 10 ปี ส่วนมากจะไม่คิดย้ายออกจากพื้นที่
          นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่ไม่คิดจะย้ายออกหากในอนาคตมาบตาพุดมีมลพิษมากเกินไป มักเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาน้อยระดับประถมศึกษา และกลุ่มที่มีรายได้ต่อครอบครัวต่ำ (ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน) เป็นสำคัญ แต่ในอีกแง่หนึ่ง กลุ่มผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านเดี่ยว มีแนวโน้มจะย้ายน้อยกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงกว่าในพื้นที่นั่นเอง

ทางออกในความเห็นของประชาชน
          อาจกล่าวได้ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษนั้นน่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ยาก จากการสัมภาษณ์ประชาชน พบว่า สาเหตุของมลพิษสามารถสังเกตได้ประจักษ์ชัด ไม่ซับซ้อน ประชาชนต่างเห็นถึงการกระทำผิดกฎหมายในการปล่อยมลพิษอยู่เนือง ๆ เช่น การปล่อยแก๊สพิษในยามที่อากาศโปร่ง หรือการปล่อยน้ำเสียโดยไม่บำบัดในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่เนือง ๆ
          สำหรับข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ได้แก่:
          1. ประเด็นสำคัญอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องทำปฏิบัติกฎหมายโดยเคร่งครัด จะละเมิดต่อประชาชนไม่ได้ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกแก่พนักงานและผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมยิ่งขึ้น
          2. การควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการที่ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษอยู่เนือง ๆ
          3. การมีคณะกรรมการตรวจสอบมลพิษ โดยมีผู้แทนของประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วย
          4. การตรวจสอบการลักลอบปล่อยมลพิษอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกครั้งที่มีความเสี่ยงต่อการลักลอบปล่อยมลพิษ เช่น เวลาฝนตก เป็นต้น
          5. การมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
          6. การตรวจสอบอุปกรณ์และเครื่องมือในการบำบัดกากอุตสาหกรรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการการพัฒนาระบบขจัดมลพิษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          8. ในส่วนภาคประชาชน ควรได้รับการแจกที่กรองน้ำ หน้ากาก และได้รับการตรวจสุขภาพโดยไม่คิดมูลค่าทุกปี รวมทั้งได้รับค่ารักษาพยาบาลเป็นพิเศษจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว
          9. การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดมลพิษ
          10. การซ้อมอพยพในกรณีเกิดการรั่วไหลของมลพิษสู่ชุมชน
          11. การจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยให้ห่างไกลจากมลพิษ โดยวิธีการขายที่ดินให้กับกิจการอุตสาหกรรม
          12. การจัดการเวนคืนที่ดินของประชาชนเพื่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม
          13. ประชาชนต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันทีและชัดเจน เพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยโดยตรง
          14. การจัดชุมนุมประท้วงโรงงานที่ปล่อยมลพิษ เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยทันที
          ดังนั้นแนวทางการแก้ไขจึงอยู่ที่การตรวจสอบเพื่อควบคุมการกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้อย่างใกล้ชิด หากทางราชการหรือภาคประชาชนได้จัดตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางซึ่งใม่มีส่วนได้ส่วนเสียมาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมกับการรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เชื่อว่าการปล่อยมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ จะลดน้อยลง
          การที่ประชาชนในพื้นที่ยังมีความเชื่อว่าโรงงานจำนวนมากทั้งที่เป็นของบริษัทมหาชนหรือไม่ก็ตาม ยังมีการละเมิดกฎหมาย ละเมิดต่อผู้อยู่อาศัยหรือชุมชนโดยรอบนั้น ถือเป็นการประกอบอาชญากรรม และถือเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และการฟ้องร้องเป็นราย ๆ ไป จึงน่าจะเป็นมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหามากกว่าการเหวี่ยงแห ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน
          กระบวนการสร้างภาพพจน์ที่ดีของอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปอย่างจริงจังและตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นไปตามความเชื่อของประชาชนที่ว่าเป็นการสร้างภาพมากกว่าความตั้งใจจริงในฐานะนักการอุตสาหกรรมมืออาชีพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมก็ควรที่จะเข้าใจว่า การลดต้นทุนด้วยการแพร่กระจายมลพิษนั้น ย่อมส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมในระยะยาว เพราะจะถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่นั่นเอง

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
          โดยที่มีความจำเป็นในการขยายตัวของอุตสาหกรรมในมาบตาพุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทยทั่วประเทศ  ในกรณีนี้อาจมีความจำเป็นต้องซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดิน อาคารและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบางส่วนจากประชาชน โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้กับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อมาเป็นพื้นที่ขยายตัวของอุตสาหกรรม และอาจเป็นพื้นที่กันชนกับพื้นที่อยู่อาศัย อันจะเป็นการป้องกันการได้รับผลกระทบจากมลพิษของประชาชนด้วย  อย่างไรก็ตามการซื้อหรือเวนคืนนี้ ควรจะจ่ายสูงกว่าราคาประเมินเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของทางราชการ และยังควรซื้อเท่ากับราคาตลาด หรืออาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับผลกระทบย้ายออกโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
          จากข้อมูลการประมาณการของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2550 พบว่า มูลค่าตลาดของที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในจังหวัดระยองมีมูลค่ารวมกัน 356,165 ล้านบาท <5> สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยในจังหวัดระยองตามข้อมูลของสำนักงานทะเบียนราษฎร์ ณ สิ้นปี 2551 มี 295,931 หน่วย แต่ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดมี 33,411 หน่วย <6> หรือเพียง 11.29% จะสังเกตได้ว่าในมาบตาพุดมีที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ใกล้เคียงกับจำนวนครัวเรือน แต่บางหน่วยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัย เป็นการซื้อไว้เก็งกำไร จึงทำให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการซื้อหรือเวนคืนที่ดินมีไม่มากนัก
          จากการวิเคราะห์ตัวเลขและมูลค่าที่อยู่อาศัยข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า มูลค่าที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดจึงควรเป็นเงินประมาณ 40,211 ล้านบาท <7> ด้วยเหตุนี้หากมีการซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องมีการขยายตัวจริง ก็คงมีมูลค่าไม่มากนัก คณะนักวิจัยคาดว่าคงเป็นเงินไม่เกิน 10% ของมูลค่ารวม หรือเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น หากรัฐบาลจำเป็นต้องมีการซื้อที่ดินหรือการเวนคืน จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่และโดยรวมทั่วประเทศ
          คณะนักวิจัยเชื่อว่าประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมยินดีที่จะย้าย ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้เช่าซึ่งย้ายที่อยู่อาศัยได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ย้ายออกไปแล้ว จากการสังเกตยังพบว่า เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่ดินชายหาดที่ตั้งอยู่ติดเขตอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งย้ายออกไปซื้อบ้านและที่ดินที่อยู่ห่างไกลออกไป และหากมีมลพิษมากจริงในอนาคต ประชาชนย่อมคำนึงถึงสุขภาพของตน ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีซื้อหรือเวนคืน ณ ราคาตลาด หรือสูงกว่าราคาตลาดตามสมควร โดยไม่ใช้ราคาเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการซื้อหรือเวนคืน ประชาชนย่อมยินดีย้ายออก ดั้งนั้นโอกาสในการจัดการพื้นที่ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ย่อมสามารถดำเนินการได้
          นอกจากนี้ระบบการคมนาคมขนส่งในมาบตาพุดก็สะดวก การย้ายห่างออกไปอีกประมาณ 10-20 กิโลเมตร ให้พ้นจากพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ น่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังสามารถคำนวณเป็นค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมได้อีกด้วย

คำถามต่อตัวแทนภาคประชาชน
          การที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นว่าอุตสาหกรรมควรขยายตัวต่อไปเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายนั้น อาจไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่บุคคลในพื้นที่ดังที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ว่า “ชาวชุมชนมาบตาพุดยื่นหนังสือให้รบ.ทบทวนตั้งกก.4ฝ่าย” <8> จากข้อมูลของกรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด <9> ทั้ง 4 ท่านคือ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์  รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล  นายสุทธิ อัชฌาศัย และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ พบว่า น่าจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนภาคประชาชน โดยในรายละเอียดพบว่า:
          นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ท่านเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” และบ้านอยู่บางบัวทอง นนทบุรี <10>
          รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ท่านเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร <11>
นายสุทธิ อัชฌาศัย ท่านเป็นเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ (NGO: Non-Governmental Organization) ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ เป็นคนจังหวัดระยอง <12>
          นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ท่านเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 เป็นคนจังหวัดชุมพร มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเช่นกัน <13>
          ดังนั้น “ผู้แทนภาคประชาชน” ข้างต้น จึงไม่ใช่ผู้แทนของชาวมาบตาพุดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย แต่กลับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอยู่คนละข้างกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การแต่งตั้งในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้ถึงการไม่นำพาต่อความสำคัญและไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังไม่ได้ยึดหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสินอนาคตของตนเอง แต่เป็นการถือเอาความเห็นของบุคคลภายนอกเป็นสำคัญ

ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ
          มาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 <14> ระบุว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” ในกรณีนี้น่าจะมีข้อที่ควรได้รับการแก้ไขบางประการ กล่าวคือ
          1. การจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน อาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ หรือมีอคติต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม กระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือการทำประชามติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ
          2. การมี “องค์การอิสระ” ในแง่หนึ่งเป็นแนวคิดที่ดี แต่รัฐบาลก็อาจแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่ตนคุ้นเคยซึ่งอาจไม่เป็นกลาง และไม่มีมาตรฐานการแต่งตั้ง การจะมุ่งตั้งกรรมการเฉพาะที่เป็นผู้แทนองค์การเอกชนและผู้แทนสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่พึงทบทวนเป็นอย่างยิ่ง องค์การและสถาบันเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์มาตัดสินอนาคตของชุมชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ หรือผลประโยชน์ของชาติ การตัดสินใจที่ถูกต้องสมควรอยู่บนพื้นฐานการวิจัยอย่างรอบด้านด้วยระบบสหศาสตร์ มีการวิเคราะห์หักล้างกันด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ผ่านกระบวนการศึกษาอย่างจริงจัง โปร่งใส ไม่ใช่ไปยึดติดกับตัวบุคคลหรือสถาบันใด ซึ่งอาจมีอคติต่อการพัฒนา การมี “องค์การอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้กลับแสดงชัดถึงการไม่เคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของชุมชนอย่างแท้จริง ผิดกับเจตนารมณ์ที่อ้าง
          3. สิทธิของชุมชนเป็นสิ่งที่พึงตระหนัก แต่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า การพัฒนาโครงการของชาติย่อมต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ ในขั้นตอนการวางแผนอาจไม่สามารถเล็งเห็นความจำเป็นได้ล่วงหน้าทั้งหมด ชุมชนบางแห่งก็เกิดขึ้นภายหลังการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงอาจมีความจำเป็นในการซื้อหรือเวนคืนทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยมาตราที่ 42 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุให้สามารถเวนคืนได้เพื่อ “กิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม . . .” <15> ดังนั้นในกรณีมาบตาพุดนี้ หากมีความจำเป็นรัฐบาลก็สามารถซื้อที่ดินหรือเวนคืนได้ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจริงน่าจะยินดี

ข้อเสนอแนะ
          จากการศึกษาข้างต้น คณะนักวิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้:
          1. ต่อกรณีการปล่อยมลพิษของโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สมควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน มีการลงโทษโดยเคร่งครัด  ทั้งต่อผู้รักษากฎหมาย โรงงาน กลุ่มบุคคลหรือองค์การอื่น
          2. ภาคประชาชนควรจัดตั้งคณะทำงานเฝ้าระวัง ดำเนินการตรวจสอบต่อเนื่อง โดยอาจร่วมกับองค์การอิสระต่าง ๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ตลอดจนองค์การพัฒนาเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการต่อเนื่องเช่นนี้ จะเป็นการป้องปรามและสามารถนำกรณีการละเมิดกฎหมายและทุจริตพฤติมิชอบต่าง ๆ มาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การต่อสู้ขององค์การพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
          3. โดยที่ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนสามารถชี้ได้ในเบื้องต้นแล้วว่า ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ยังประสงค์ให้กิจการอุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป แต่เพื่อความแน่ชัด รัฐบาลอาจจัดทำประชามติโดยให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางล่วงหน้า ในการนี้รัฐบาลพึงระวังไม่ให้องค์การใด ๆ พยายามบิดเบือน ทำลายการจัดประชุมเผยแพร่ข้อมูล หรือปิดกั้นการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ
          4. รัฐบาลควรพิจารณาปรับปรุงคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น โดยให้เปลี่ยนเป็นผู้แทนของชุมชนในพื้นที่จริงตามที่ประชาชนได้เรียกร้องไว้
          5. รัฐบาลอาจพิจารณาซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย ที่เกษตรกรรมและอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่จำเป็นสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ซึ่งอาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกเวนคืนยินดีที่จะย้ายออกโดยพลัน
          6. รัฐบาลควรดำเนินการเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการมีผู้แทนของภาคประชาชนในพื้นที่ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน โดยไม่ให้ความสำคัญเฉพาะนักวิชาชีพหรือองค์การบางกลุ่ม

หมายเหตุ:
<1> รายละเอียดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดีมาบตาพุด ดูได้ที่ http://www.admincourt.go.th/attach/news_attach/2009/12/1-3-52-592.pdf
<2> ตัวเลขจำนวนประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งหมด 23,597 คนในมาบตาพุด มาจากการหารด้วยสัดส่วนประชากรที่มีอายุ18 ปีขึ้นไปตามการสำมะโนประชากร พ.ศ.2543 ซึ่งมีอยู่ 70.46% ของประชากรทั้งหมดตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (http://service.nso.go.th/nso/nso_center/project/table/files/C-pop/2543/000/00_C-pop_2543_000_010000_00200.xls)
<3> โปรดดู สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนในจังหวัดระยองซึ่งรวบรวมโดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ที่ http://www.pcd.go.th/info_serv/pol_Maptapoot_env2.html
<4> สัดส่วนประชากรที่ป่วยในระดับทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 18.16% โดยคำนวณจากข้อมูล “จำนวนประชากรที่ป่วยหรือรู้สึกไม่สบายระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พ.ศ. 2550” ทั่วประเทศซึ่งมี 11,449,863 คน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (http://service.nso.go.th/nso/nso_center/project/table/files/S-health-welfare/2550/000/00_S-health-welfare_2550_000_00000_00200.xls) หารด้วยจำนวนประชากร ณ 31 ธันวาคม 2550 โดยสำนักทะเบียนกลาง  กรมการปกครอง มีอยู่ทั้งหมด 63,038,247 คน (http://www.dopa.go.th/stat/y_stat50.html)
<5> ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทยและภัยความมั่นคงต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/Research/research_2007-05-215-land.pdf
<6> ดูข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้จาก “รายงานสถิติจำนวนประชากร และบ้าน รายจังหวัด รายอำเภอ และรายตำบล
ณ เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2551” ที่ http://www.dopa.go.th/xstat/p5121_01.html
<7> มาจาก 11.29% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมทั้งหมดของระยอง 356,165 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลค่าจริงอาจสูงกว่านี้บ้าง เพราะในมาบตาพุด มีบ้านจัดสรรทันสมัยมากกว่าและมีที่ดินเกษตรกรรมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป
<8> ข่าว “ชาวชุมชนมาบตาพุดยื่นหนังสือให้รบ.ทบทวนตั้งกก.4ฝ่าย” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1258433775&grpid=03&catid=03
<9> ดูรายละเอียดรายชื่อทั้งหมดที่ http://gotoknow.org/blog/envi/314827
<10> ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์  ได้ที่ http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/member_c/member_detail1.php?member_id=022 และ http://www.nhrc.or.th/kcontent.php?doc_id=executive
<11> ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ รศ. ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ได้ที่ http://stscholar.nstda.or.th/sis/st_scholar.php?ScholarID=2494
<12> ดูรายละเอียดเกี่ยวกับนายสุทธิ อัชฌาศัย ได้ที่ http://www.newpoliticsparty.net/about-party
<13> ดูรายละเอียดเกี่ยวกับนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ได้ที่ http://www2.nesac.go.th/nesac/th/about/members_detail.php?did=06100078
<14> โปรดดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons50/cons2550.pdf
<15> โปรดดูรายละเอียดตามข้อ 14 ข้างต้น

A Letter to Mr. Abhisit Vejjajiva, Thai Prime Minister

Dr. Sopon Pornchokchai, President, Thai Appraisal Foundation
December 7, 2009: sopon@thaiappraisal.org

I informed Mr. Abhisit that the majority of people in Map Ta Phut wanted the manufacturing activities to continue to expand.  I also proposed him to amend the Constitution because it seemed unrealistic and non-democratic.

This survey was conducted on November 14, 15, and 22, 2009 with 1,107 households covering 3,918 people from a 33,492 population total.  It was found that 65.3%, or two-thirds of the people, interviewed wanted to see the manufacturing activities to expand for the sake of their income and continuing economic development.

The number of those who were suspected to be sick due to pollution was some 12.86% during the period of one year.  However, almost all of these individuals had a simple illness, such as an allergy.  Yet, this percentage was smaller than the overall illness of the population nationwide.  According to previous studies, those who died due to cancer were less in Map Ta Phut than the overall average of Thailand.

In the case of need, public land acquisition by means of voluntary land sales or expropriation can be applied to this case.  This will help expand the industrial areas as well as build a buffer zone between the industrial settings and residential areas.  One key success is fair compensation at or above open market value.  If people are relocated some 10-20 kilometres away to be safe from pollution, they can still commute conveniently upcountry.

One big question concerns the “representatives of the people” in an ad hoc committee appointed by Mr. Abhisit to solve this problem.  All of them were doubtful about their status.  Only one of them was born in Rayong and he is an NGOs staff and board member of the New Politics, a new political party.  They were rather the representatives of academic people who were already appointed.  None of the people or community leaders of Map Ta Phut were appointed.

This leads to my proposal to Mr.Abhisit to amend the Constitution, particularly Article 67, which stipulates that an independent committee will be appointed from the representatives of NGOs and universities related to environment issues.  This is not democratic.  The government could appoint anyone it favors, with no standard of selection.  Those from NGOs and universities can also be biased and not independent.  How can they have a privilege to make a decision for the general public, particularly the community?  This does not help the community but on creates a dictatorial atmosphere.  Solutions must come from scientific studies with transparency.  In addition, the right of the community is important, but right of the nation is supreme.  That is why there is an option for expropriation stipulated in this Constitution as well.

We propose to the government that it deal with the crime of pollution steadily and seriously.  This will help solve most of the problems, and the community can join with quite a few independent organizations to follow up on this pollution closely.  In order to know the needs of the people, a referendum or a thorough opinion survey of the people must be conducted.  Eventually, buying land from the people or expropriating it should be considered in order to pave way for the expansion of manufacturing activities in Map Ta Phut, the only designed industrial region of Thailand.

 

 
 

10 ถ.นนทรี ยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120
Email: sopon@thaiappraisal.org

7    ธันวาคม   2552
เรื่อง  ประชาชนมาบตาพุดต้องการอุตสาหกรรมต่อไป
และโปรดพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
   
กราบเรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี
ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภา
ประธานวุฒิสภา และรองประธานสภา
ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองมาบตาพุด และชุมชน 31 แห่งในเขตเทศบาล
 

                    ตามที่รัฐบาลของ ฯพณฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนรัฐาลด้วยการส่งคณะนักวิจัยลงพื้นที่มาบตาพุดเพื่อสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่เมื่อวันที่ 14, 15 และ 22 พฤศจิกายน ศกนี้ และได้สรุปผลการศึกษามานำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป

                    โดยสรุปแล้ว การศึกษานี้พบว่า ประชาชนในมาบตาพุดต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ควรมีส่วนในการตัดสินอนาคตของตนเองโดยให้เข้าเป็นคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด สำหรับทางออกที่ควรดำเนินการสำหรับรัฐบาลก็คือ
                    1. ควรดำเนินคดีกับการปล่อยมลพิษของโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายและละเมิดต่อชุมชนโดยเคร่งครัด 
                    2. ควรจัดทำประชามติเพื่อแสดงฉันทามติและเป็นการเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
                    3. ซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบริเวณที่จำเป็นสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ซึ่งอาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาด
                    4. และรัฐบาลควรพิจารณาเสนอรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 67) ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่รับฟังเสียงของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ แต่ถือเอาความเห็นขององค์การและสถาบันบางแห่ง

                    อนึ่งการสำรวจวิจัยนี้ มูลนิธิขอยืนยันว่าได้ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้มีอคติ และไม่ได้รับอามิสหรือผลประโยชน์จากผู้ใด

                    จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย



 
Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120 
Tel.66.2295.3171 Fax.66.2295 1154 Email:info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง:แผนที่