ลูกค้าโวยถูกลอยแพหลังปิดโครงการ "แสนสิริ"
แจ็กพอตคอนซอร์เตี้ยม บบส.
ประชาชาติธุรกิจ 12 มิถุนายน 2549 หน้า 9
 
สรุปสาระข่าว
 
         ยักษ์ใหญ่พัฒนาที่ดิน "แสนสิริ" แจ็กพอตโครงการคอนซอร์เตี้ยม บบส.หน่วยงานรัฐบอกปัดไม่ยอมรับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรให้ อ้างไม่ได้อยู่ภายใต้ กม.จัดสรร ลูกบ้าน "เศรษฐสิริ รามอินทรา" โวยลั่นถูกลอยแพ ข้องใจจ้างบริษัทลูกบริหารสาธารณูปโภคส่วนกลางเงินก้อนโตหายวับ จี้ชี้แจงด่วน ด้าน บสก.ขอเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยหลังรับโอนงานมาจาก บบส.
 
ข้อคิดเห็น
 
         นี่เป็นแค่ปัญหา "หญ้าปากคอก" แท้ ๆ ไม่น่าจะเป็นปัญหาก็ทำให้เป็นปัญหาไปได้ ถึงแม้ไม่เข้าข่ายจัดสรร แต่ถ้าทำให้ถูกระเบียบก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร นี่คือการ "ขว้างงูไม่พ้นพอ" เป็นแท้
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         ยักษ์ใหญ่พัฒนาที่ดิน "แสนสิริ" แจ็กพอตโครงการคอนซอร์เตี้ยม บบส.หน่วยงานรัฐบอกปัดไม่ยอมรับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรให้ อ้างไม่ได้อยู่ภายใต้ กม.จัดสรร ลูกบ้าน "เศรษฐสิริ รามอินทรา" โวยลั่นถูกลอยแพ ข้องใจจ้างบริษัทลูกบริหารสาธารณูปโภคส่วนกลางเงินก้อนโตหายวับ จี้ชี้แจงด่วน ด้าน บสก.ขอเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยหลังรับโอนงานมาจาก บบส.

         ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รับการร้องเรียนจากลูกบ้านในโครงการเศรษฐสิริ-รามอินทรา ซึ่งเป็นโครงการกิจการร่วมทำ (consortium) ที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นำทรัพย์ NPA ในความดูแลของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มาพัฒนาโครงการ เริ่มเปิดขายเมื่อปี 2547 กระทั่งล่าสุดได้เตรียมปิดการขายว่า บริษัท พลัสพร็อพ เพอร์ตี้ พาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแสนสิริ ที่เข้ามารับบริหารงานโครงการ ได้เรียกประชุมใหญ่สามัญเจ้าของประจำปี 2549 พร้อมทั้งจัดทำเอกสารรับรองงบการเงินหมู่บ้าน และผลดำเนินงานการรับบริหารโครงการ และการใช้เงินค่าส่วนกลาง เพื่อให้ลูกค้าเซ็นรับทราบและยินยอม

         ซึ่งในการประชุม ปรากฏว่าลูกบ้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมและไม่เห็นด้วยกับเอกสารรับรองงบการเงิน และผลการดำเนินงานการรับบริหารโครงการ โดยมีประเด็นที่ต้องการให้ชี้แจงรวม 3 ข้อ คือ
         1)ลูกค้าบ้านบางรายไม่ได้รับการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนจาก บมจ.แสนสิริว่า เป็นโครงการดังกล่าวที่ดำเนินการในรูปคอนซอร์เตี้ยม ที่บริษัทนำ NPA ของ บบส.มาพัฒนา และได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตจัดสรร และไม่ต้องจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัด สรรขึ้นมาดูแล เท่ากับว่าลูกบ้านต้องเสียผลประ โยชน์ เนื่องจากเจ้าของโครงการไม่ต้องจ่ายเงิน สมบทจำนวน 7% ของวงเงินกองทุนค่าส่วนกลาง เหมือนกรณีจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรร

         2)เมื่อไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้ เท่ากับว่าในอนาคตหากเกิดความเสียหายขึ้นกับสาธารณูปโภคภายโครงการ ลูกบ้านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระเองทั้งหมด และ 3)ทราบว่าเงินค่าส่วนกลางที่โครงการจัดเก็บจากลูกบ้านทั้งหมด ในอัตราตารางวาละ 30 บาท ถึงสิ้นปี 2549 รวมเป็นเงินประมาณ 5.4-5.7 ล้านบาท ได้ชี้แจงว่า ณ สิ้นปี 2548 เหลือเงินค่าส่วนกลางเพียงเกือบ 1.4 แสนล้านบาท และนับจากเดือนมกราคม 2549 ที่ผ่านมา เงินส่วนนี้ต้องถูกชำระเป็นค่าบริหารงานโครงการให้กับบริษัทพลัสพร็อพเพอร์ตี้ฯอีกประมาณ 90,000 บาทต่อเดือน

         ล่าสุด ลูกบ้านในโครงการจึงมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมา 11 คน เพื่อเป็นตัวแทนดำเนินการให้บริษัท พลัสพร็อพเพอร์ตี้ พาร์ทเนอร์ จำกัด ทำการชี้แจงความชัดเจนภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2549 นี้

         นายวันจักร บุรณศิริ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทพัฒนาโครงการภายใต้โครงการคอนซอร์เตี้ยมของ บบส. โดยนำที่ดินที่อยู่ในพอร์ตของ บบส.มาพัฒนา 2 โครงการ คือ โครงการเศรษฐสิริ รามอินทรา ปัจจุบันปิดการขายแล้ว มีจำนวนยูนิตประมาณ 70-80 ยูนิต และโครงการสราญสิริ รามอินทราเฟส 1 ปัจจุบันมียูนิตเหลือขาย 5-7 ยูนิต และอยู่ระหว่างการโอนให้กับลูกค้าในเร็วๆ นี้

         "เราเคยชี้แจงลูกบ้านว่าโครงการที่เข้าคอนซอร์เตี้ยมไม่สามารถจัดตั้งเป็นนิติบุคคลบ้านจัดสรรเช่นเดียวกับโครงการจัดสรรทั่วไปได้ เนื่องจากเป็นการพัฒนาเป็นกรณีพิเศษ ไม่ต้องยื่นขออนุญาตจัดสรร และก่อนหน้านี้บริษัทได้ยื่นขอจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรให้กับลูกบ้านแล้ว แต่ทางราชการเห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมาย จึงไม่สามารถอนุญาตให้จัดตั้งนิติบุคคลได้ นอกจากจะจัดตั้งองค์กรรูปแบบอื่นรองรับ สำหรับกรณีค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าส่วนกลาง บริษัทยืนยันว่าได้ใช้จ่ายไปตามที่ชี้แจงกับลูกบ้าน ดังนั้นหากมีค่าใช้จ่ายที่เกินกว่านั้น ลูกบ้านก็ต้องรับผิดชอบเฉลี่ยจ่ายเพิ่มตามขนาดที่ดิน"

         นอกจากนี้บริษัทยังได้ซื้อที่ดินจาก บบส.เพิ่ม เพื่อเปิดโครงการสราญสิริในเฟสที่ 2 ซึ่งในส่วนที่ไม่ได้เข้าโครงการคอนซอร์เตี้ยม และได้ยื่นขออนุญาตจัดสรรตามปกติ ซึ่งเท่ากับว่าโครงการในเฟส 2 จะสามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ตามกฎหมาย

         อย่างไรก็ตาม ในภายหลังจากที่ บบส.ได้ถูกโอนย้ายไปรวมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) บริษัทยังไม่มีแผนที่จะซื้อที่ดินที่อยู่ในพอร์ตของ บสก.มาพัฒนา เพราะไม่ได้สิทธิพิเศษเหมื่อนกับที่ซื้อจาก บบส.

         นายวิบูลพร พันธุ์กระวี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) ซึ่งได้รับโอนพนักงานจาก บบส.เข้ามาอยู่ในความดูแล เปิดเผยว่า จากที่มีลูกบ้านในโครงการเศรษฐสิริ-รามอินทรา ร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นความไม่ชัดเจนในการชี้แจงรายละเอียดโครงการ และการบริหารงบการเงินและค่าส่วนกลางนั้น ในเบื้องต้นคงจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทั้ง 2 ฝ่าย หากไม่สามารถตกลงกันได้ บสท.ยินดีเป็นตัวกลางดำเนินการไกล่เกลี่ย

         สำหรับประเด็นปัญหาหลักในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่เรื่องงบการเงินหมู่บ้าน และการบริหารใช้จ่ายค่าส่วนกลาง ซึ่งตามหลักผู้ประกอบการจะต้องชี้แจงข้อมูลอย่างชัดเจน ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินค่าส่วนกลางเหลือเพียง 1.4 แสนบาท จากทั้งหมดที่จัดเก็บประมาณ 5.4-5.7 ล้านบาทนั้น คงต้องให้บริษัทที่รับบริหารโครงการดำเนินการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง

         ทั้งนี้ ตามกฎหมาย บบส.จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก. การนำทรัพย์ NPA ไปพัฒนาตามโครงการคอนซอร์เตี้ยมโดยร่วมกับผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตจัดสรร แต่อาจจัดตั้งเป็นสหกรณ์ หรือจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทเพื่อดูแลค่าส่วนกลางแทนการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลบ้านจัดสรร

         อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีโครงการคอนซอร์เตี้ยมทั้งหมด 15 โครงการ และทาง บบส.ก็ยังไม่เคยได้รับการร้องเรียนปัญหาในลักษณะนี้ เนื่องจากได้กำชับเจ้าของโครงการให้ชี้แจงรายละเอียดให้ลูกค้ารับทราบ และในทางปฏิบัติเมื่อมีการลงโฆษณาจะมีการแจ้งให้ทราบว่าเป็นโครงการคอนซอร์เตี้ยมที่ผู้ประกอบการร่วมกับ บบส.เพื่อใช้เป็นจุดขายสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า