"เช็คเด้ง-ทิ้งงาน"ฟาดหางจัดสรร สคบ.เตือน
ระวังซื้อบ้านไม่ได้บ้าน

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 กันยายน 2548 หน้า 33
 
สรุปสาระข่าว
 
         เช็คเด้ง-ทิ้งงาน สัญญาณเตือนภัยธุรกิจอสังหาฯยุคขาลง ชาวบ้านหวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซื้อบ้านไม่ได้บ้าน ออกโรงเตือนคนซื้อให้ระมัดระวังมากขึ้น เผยถูกจัดสรรเบี้ยวไม่ยอมส่งมอบบ้านตามสัญญา วงการวัสดุชี้เครดิตเริ่มมีปัญหา สั่งดีลเลอร์คุมเข้มปล่อยเชื่อลูกค้า จับตากลุ่มรับเหมา ดีเวลอปเปอร์ หน้าใหม่
 
ข้อคิดเห็น
 
         แปลกใจไหม วิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นมา 8 ปีแล้ว เรายังไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคด้วยการคุ้มครองเงินดาวน์ (escrow account) กันเลย ไม่รู้ว่าหน่วยงานของรัฐทำงานรับใช้ประชาชนหรือใคร จึงไม่ออกระเบียบมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเช่นนี้
         8 ปีนานมากนะ นานจนฟ้องได้ว่าตั้งใจทำเพื่อประชาชนหรือไม่
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         เช็คเด้ง-ทิ้งงาน สัญญาณเตือนภัยธุรกิจอสังหาฯยุคขาลง ชาวบ้านหวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซื้อบ้านไม่ได้บ้าน ออกโรงเตือนคนซื้อให้ระมัดระวังมากขึ้น เผยถูกจัดสรรเบี้ยวไม่ยอมส่งมอบบ้านตามสัญญา วงการวัสดุชี้เครดิตเริ่มมีปัญหา สั่งดีลเลอร์คุมเข้มปล่อยเชื่อลูกค้า จับตากลุ่มรับเหมา ดีเวลอปเปอร์ หน้าใหม่
แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง บวกกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้เริ่มมีปัญหาผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงานให้เห็น ขณะเดียวกันในวงการวัสดุก่อสร้างก็เริ่มประสบกับปัญหาเช็คเด้ง เนื่องจากผู้รับเหมาบางส่วนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน เลยผิดนัดชำระเงิน ที่น่าห่วงนั้นคือเริ่มมีการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาซื้อบ้านในโครงการจัดสรร เนื่องจากผู้ประกอบการก่อสร้างล่าช้า เสร็จไม่ทันกำหนดมากขึ้น ซ้ำรอยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจส่งสัญญาณให้ผู้ซื้อบ้านต้องระมัดระวังมากขึ้น
         ประชาชาติธุรกิจ" ได้รับร้องเรียนจากผู้ซื้อบ้านในโครงการจัดสรรรายหนึ่งว่า ตนกำลังจะขอยกเลิกสัญญาซื้อบ้านกับโครงการจัดสรรแห่งหนึ่งย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากก่อสร้างบ้านล่าช้ากว่าข้อตกลงมาก นอกจากนี้หลายเดือนที่ผ่านมางานแทบไม่มีความคืบหน้า มีคนงานก่อสร้างเหลือเพียงแค่ไม่กี่คนในไซต์โครงการ ซึ่งได้ทวงถามกับผู้ประกอบการเจ้าของโครงการหลายครั้ง ก็ได้รับคำตอบแบบบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับผิดชอบ พร้อมกับอ้างเหตุผลสารพัดว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากที่ผู้รับเหมาที่รับเหมาก่อสร้างบ้านทิ้งงาน จึงได้ตัดสินใจบอกเลิกสัญญา เพื่อไปหาซื้อบ้านในโครงการอื่นแทน ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่รายแรก แต่ทราบจากพนักงานขายของโครงการว่า ลูกค้าหลายๆ รายก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จึงอยากสะท้อนปัญหาให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อบ้าน มิฉะนั้นอาจซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้าน และประสบปัญหาเหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
         "คิดไม่ถึงว่าโครงการจะสร้างบ้านล่าช้ามาก เพราะก่อนหน้านี้การก่อสร้างดูรวดเร็ว และมีผู้รับเหมารวมทั้งคนงานในไซต์โครงการจำนวนมาก แต่อยู่ๆ ก็ค่อยๆ ลดจำนวนลงเหลือแค่ไม่กี่คน สอบถามได้ความว่าผู้รับเหมาหลายๆ รายทิ้งงานไป แต่โครงการก็ไม่หาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาสานงานก่อสร้างต่อ จึงรู้ว่ามีปัญหา"
         ผู้ซื้อบ้านรายนี้ระบุว่า สาเหตุที่ซื้อบ้านในโครงการดังกล่าวเป็นเพราะเห็นว่าบริษัทมีชื่อเสียง และพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร-คอนโดฯ หลายโครงการ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท เลยนึกไม่ถึงว่าจะมีปัญหา ภายหลังจึงรู้ว่าผู้ซื้อหลายๆ รายก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยบางรายซื้อบ้านในโครงการอื่น แสดงว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโครงการที่ตนซื้อ ทั้งนี้ ขณะนี้ได้บอกเลิกสัญญากับบริษัทรายนี้แล้ว เหลือเพียงขอเงินจองและเงินดาวน์คืน แต่ไม่รู้ว่าจะได้คืนหรือเปล่า เพราะในสัญญาไม่ได้ระบุถึงความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการกรณีก่อสร้างบ้านล่าช้าไว้เลย
         นางสุกัญญา สันทัด ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมาได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อบ้านเป็นระยะๆ แต่ปริมาณน้อยกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาก โดยประเด็นร้องเรียนมีทั้งซื้อบ้านในโครงการบ้านจัดสรร การว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านก่อสร้างบ้านให้ อย่างเช่นล่าสุดเพิ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งที่ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านบนที่ดินที่ทิ้งงาน รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่ง สคบ.ได้รับเรื่องไว้ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาหารือเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยตามขั้นตอน
         กรณีนี้เป็นไปได้ว่าปัญหาเกิดจากในช่วงที่ผ่านมาราคาวัสดุก่อสร้างได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นได้ หลังจากได้รับงานและตกลงราคากับผู้ว่าจ้างไปแล้ว จึงเกิดปัญหาทิ้งงานตามมาภายหลัง ส่วนปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีซื้อบ้านในโครงการจัดสรร และส่งมอบบ้านได้ล่าช้ากว่ากำหนด ช่วงนี้ยังไม่ได้รับการร้องเรียน เป็นไปได้ว่าผู้ซื้อและเจ้าของโครงการอาจเจรจาตกลงกันได้
         สำหรับกรณีที่เจ้าของโครงการไม่มีการระบุระยะเวลาส่งมอบบ้านในสัญญาจะซื้อจะขาย ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายของสัญญาจะซื้อจะขายมีการระบุไว้ชัดเจนว่า "ข้อความใดไม่ใช่ให้ขีดฆ่าออกแล้วคู่สัญญาลงลายมือชื่อไว้ทุกแห่ง" หมายความว่าหากมีการขีดฆ่าข้อความใดออกผู้ซื้อบ้านก็ต้องลงชื่อรับทราบ ถือเป็นการปกป้องสิทธิของตัวเอง หากผู้ซื้อบ้านไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ก็อาจเกิดปัญหาได้
         นายรณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สีเดลต้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสีเดลต้า เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาบริษัทและ ดีลเลอร์สีของเดลต้าเจอปัญหาเช็คเด้งมากขึ้น มีทั้งลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของโครงการจัดสรร นับเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ราย คิดเป็นจำนวนเงินร่วม 10 ล้านบาท
         สังเกตว่าปัญหาเช็คเด้งที่เกิดขึ้นจะเกิดกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำโครงการ และส่วนใหญ่เป็นบ้านระดับราคา 3-5 ล้านบาท บางรายก็เป็นผู้รับเหมาที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งบริษัทก็ได้ตั้งเผื่อสำรองหนี้สูญในปีนี้ไว้ 2% จากเป้าหมายยอดขาย 600 กว่าล้านบาท
         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สะท้อนว่าเศรษฐกิจโดยรวมถึงขาลง แต่มีปัญหาในบางจุดบางผู้ประกอบการเท่านั้น สำหรับบริษัทคงระมัดระวังการปล่อยเครดิตมากขึ้น รวมถึงปล่อยเครดิตให้น้อยลง ส่วนนโยบายกับดีลเลอร์คงไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ตายตัว คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นคู่ค้ากันมานานแค่ไหนและเป็นดีลเลอร์ในระดับไหน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการแบ่งเกรดดีลเลอร์ออกเป็นเอ บี ซี และดี
         ด้านนายจตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีโอเอเพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสีทีโอเอ เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับดีลเลอร์พบว่าเริ่มเจอปัญหาเก็บเงินได้ล่าช้า และบางรายเริ่มเจอปัญหาเช็คเด้งเกิดขึ้น แต่ยังมีจำนวนไม่มากเนื่องจากทางร้านดีลเลอร์ก็พยายามที่จะเซฟตัวเอง และปล่อยเครดิตน้อยลง
         "ผมว่าเรื่องเช็คเด้งเป็นปัญหาที่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นในการทำการค้า แต่ถ้าเทียบกับปี 2540 ถือว่ายังน้อยกว่ามาก"