สรุปสาระข่าว
 
         คนจนลุ้นอยู่บ้านเอื้อาทรเหงือตก! กคช.ยอมรับสภาพสร้างบ้าน 2 ปี เพิ่งเสร็จ 4,000 กว่าหน่วย ส่งมอบเข้าอยู่ได้แค่ 3,500 หน่วย แผน 5 ปี สร้างเสร็จ 6 สนยูนิตวูบ เผยติดปัญหารับเหมาขาดสภาพคล่อง งานล่าช้าเฉลี่ย 10-30 % แถมเจอพิษน้ำมันถล่มซ้ำ -ดอกเบี้ย-วัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุด ผู้รับเหมาอ้างไม่คุ้มทุนจ้องขอปรับราคาค่าก่อสร้าง เตรียมผ่าทางตันขยับราคากลางให้สูงขึ้น ดึงรับเหมารายใหญ่เสียบแทน ผู้บริหารโต้พัลวัน ต้องเสร็จทันตามเป้าแน่
 
 
 
ข้อคิดเห็น
         มันเป็นเรื่องเหลือเชื่ออยู่แล้ว ดีแล้วที่สร้างไม่ได้จริง ขืนสร้างได้จริง กรรมจะตกแก่ประเทศชาติ เพราะที่จองนั้นจองเล่น ๆ เป็นเรื่องของคน "อยากจน" (ไม่ใช่ "ยากจน") ที่หวังลม ๆ แล้ง ๆ เผื่อฟลุ๊กได้ของถูก (ไว้ขายต่อ) และปัจจุบันก็มีของเหลือ (สร้างเสร็จ ขายไปแทบทั้งหมดแล้ว แต่ไม่มีคนเข้าอยู่อีกสามแสนหน่วย) แล้วจะสร้างอีกทำไม
 
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         คนจนลุ้นอยู่บ้านเอื้อาทรเหงือตก! กคช.ยอมรับสภาพสร้างบ้าน 2 ปี เพิ่งเสร็จ 4,000 กว่าหน่วย ส่งมอบเข้าอยู่ได้แค่ 3,500 หน่วย แผน 5 ปี สร้างเสร็จ 6 สนยูนิตวูบ เผยติดปัญหารับเหมาขาดสภาพคล่อง งานล่าช้าเฉลี่ย 10-30 % แถมเจอพิษน้ำมันถล่มซ้ำ -ดอกเบี้ย-วัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุด ผู้รับเหมาอ้างไม่คุ้มทุนจ้องขอปรับราคาค่าก่อสร้าง เตรียมผ่าทางตันขยับราคากลางให้สูงขึ้น ดึงรับเหมารายใหญ่เสียบแทน ผู้บริหารโต้พัลวัน ต้องเสร็จทันตามเป้าแน่

         จากนโนบาลสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านเอื้ออาทร ตามนโยบายรัฐบาล"ทักษิณ"ที่มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ(กคช.) เดินสายพานผลิต 600,000 หน่วย ภายใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2550 นับเป็นความหวังเดียวของคนจนทุกสาขาอาชีพที่จะมีบ้านอยู่อาศัยราคาถูกเป็นของตนเอง โดยมียอดจองทั่วประเทสจำนวนกว่า 400,000 ราย กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อการปฏิบัติมีปัญหา จนเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างของผู้รับเหมา ที่มีสาเหตุมาจากสารพัดปัญหาโดยเฉพาะต้นทุนค่าก่อสร้าง จนไม่คุ้มค่าการลงทุน ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้จองสิทธิ์ที่จะได้บ้านพร้อมอยู่อาศัยล่าช้าตามไปด้วย แม้ว่ากคช.จะพยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหาให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นแล้วก็ตาม
         ล่าสุด แหล่งข่าวจากการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการระยะที่ 1-3 ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างสร้าง 60,000 หน่วย จากทั้งหมดแยกเป็น โครงการที่เปิดประมูลโครงการและได้ผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างโครงการ จำนวน 46,650 หน่วย โครงการโดยใช้รูปแบบเทรินคีย์ จำนวน 52,075 หน่วย กำลังประสบปัญหางานก่อสร้างล่าช้าไม่ตรงกับแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดจากผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง และส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทผู้รับเหมารายเล็กที่กคช.เปิดให้แข่งขันประมูลโครงการ โดยเฉลี่ยพบว่ามีความล่าช้า 10-30 % รวมไปผู้รับเหมาที่ใช้รูปแบบเทรินคีย์ด้วย เฉลี่ยก่อสร้างล่าช้าจากสัญญา ไม่เกิน 10 %
         นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้โครงการมีความล่าช้าไป จากแผนเนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทรับหมายหลายรายไม่มารับงานเพราะมูลค่าก่อสร้างต่ำเกรงว่าจะเกิด ปัญหาขาดทุนทำให้กคช.ต้องหาบริษัทผู้รับเหมาใหม่ซึ่งเสียเวลามาก
         "อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 เป็นต้นมา กคช.สามารถสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรแล้วเสร็จจำนวน 4,000 กว่าหน่วย และส่งมอบให้กับประชาชนผู้ได้สิทธิ์ไปแล้ว 3,500 หน่วย
         ทั้งนี้ จากตัวอย่างโครงการ บ้านเอื้ออาทรหัวหมาก เริ่มงานก่อสร้าง 1กรกฎาคม 2546สิ้นสุดสัญญา 29 มิถุนายน 2547 เพิ่งส่งมอบบ้านได้เมื่อ12 กันยายน 2547 โดยใช้เวลานานถึง 3 เดือน โครงการเชียงใหม่ โครงการแฟลต 5 ชั้น 11 หลัง จำนวน 640 หน่วย บริษัทธนสิทธิ์ คอนกรีตจำกัดชนะการประมูลและเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ โดยลงนามในสัญญาตั้งแต่ วันที่ 28 กรกฎาคม 2546 โดยเริ่มงาน30 กันยายน 46 สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้าง 28 กันยายน 2547 ปรากฎว่าจนถึงขณะนี้งานก่อสร้างเพิ่งคืบหน้าไปเพียง 60 %
         ทั้งนี้เนื่องจากขาดสภาพคล่องและแรงงาน โครงการรังสิตคลอง 5 บ้านเดี่ยว 2 ชั้น 499 หน่วย ดำเนินงานโดยกิจการร่วมค้าเอื้ออาทรระหว่างหจก.เซี้ยมเฟอร์นิเจอร์และบริษัทเซี้ยมอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด วันสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างวันที่ 17 ธันวาคม 2547 แต่ขณะนี้เพิ่งแล้วเสร็จยังไม่ได้ส่งมอบบ้าน แม้กระทั้งโครงการบางโฉลง2 แฟลต 5 ชั้น 25 หลัง 1,084 หน่วย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ก่อสร้าง เดิมกำหนดแล้วเสร็จ 5 มกราคม 2548 ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเช่นกัน เป็นต้น
         อย่างไรก็ตามโครงการที่มีความล่าช้ากว่าสัญญา ไม่เกิน 20 % กคช.ยังสามารถรับได้เพราะเข้าใจว่าขณะนี้เกิดผลกระทบต่อการก่อสร้างหลายปัจจัยโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลต่อวัสดุก่อสร้าง รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบที่ผ่านมาผู้รับเหมาได้กำไรน้อยมาก แต่เมื่อเจอต้นทุนที่เพิ่มขึ้นย่อมมีปัญหาตามมาเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถลงไปก่อสร้างโครงการตามเป้าที่วางไว้ เช่นกัน
         นอกจากนี้รัฐบาลได้เร่งรัฐให้กคช.ก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบบ้านให้ถึงมือประชาชนผู้จองสิทธิ์ 600,000 หน่วยภายใน 5 ปี โดยในปี 2546มีแผนก่อสร้าง จำนวน 30,000 หน่วย ปี 2547 จำนวน 120,000 หน่วย ปี 2548-2550 ปีละ 150,000 หน่วย แต่ขณะนี้ปรากฏว่า ได้มีการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมและส่งมอบบ้านถึงมือผู้บริโภคเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้น จากยอดจองสิทธิตั้งแต่ปี 2546-2547 มีสูงถึง 411,759 ราย และจับสลากได้สิทธิไปแล้ว 108,028 ราย ซึ่งเข้าใจว่า จะต้องช้ากว่าแผนเป็นปี
         จากปัญหาดังกล่าว กคช.จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการกำหนดให้บริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมจอยเวนเจอร์ เพื่อรับทำโครงการบ้านเอื้ออาทรโดยขึ้นทะเบียนกับการเคหะและรับเหมาทำโครงการขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 10,000 –30,000 ขึ้นไป โดยต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 60ล้านบาท มีสภาพคล่องที่ดี พร้อมกับหาที่ดินพร้อมก่อสร้างโครงการขายให้กับกคช. โดยจะเริ่มทำในโครงการบ้านเอื้ออาทรระยะ ที่ 4 ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากครม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2548 จำนวน 150,000 หน่วย วงเงิน 70,000 กว่าล้านบาท แต่เนื่องจากโครงการในระยะที่ 3 บางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างดังนั้นจะกำหนดให้บริษัทรับเหมาดังกล่าวเข้าไปดำเนินโครงการในระยะที่ 3 ด้วย ดังนั้นมองว่าแผนก่อสร้างบ้าน 600 ,000 หน่วยให้แล้วเสร็จในปี 2550 ไม่แล้วเสร็จตามเป้าที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน แต่มีปัญหาว่าผู้รับเหมารายใหญ่สนใจขึ้นทะเบียนกับกคช.เพียงแค่ 6-7 รายเท่านั้น
         "ผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงขณะนี้ก็คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และทำให้ราคาวัสดุปรับราคาสูงตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้ บริษัทผู้รับเหมาได้พบมาก็คือ ราคาวัสดุที่แจ้งกระทรวงพาณิชย์จะยังคงราคาเดิม แต่จะกักตุนสินค้าไว้ไม่ขาย หากจะซื้อจะต้องซื้อในราคาที่ปรับแล้ว นอกจากนี้แล้วในปีนี้ดอกเบี้ยก็ขยับตัวสูงขึ้นเช่นกัน หากราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงอีกเชื่อว่าผู้รับเหมาอยู่ไม่ได้แน่นอนแม้ว่าจะเป็นรายใหญ่ก็ตาม"
         อย่างไรก็ดี จะมีการทบทวนราคาค่าก่อสร้างที่บริษัทรับเหมาสามารถรับได้ และเสนอขอปรับราคาบ้าน หลังจากที่รัฐบาลทักษิณ 2 จัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว โดยราคาบ้านเดี่ยวขนาด 20 ตารางวา และอาคารชุดขนาด 33 ตารางเมตร ปัจจุบันต้นทุนราคา 470,000 บาท/หน่วย อย่างไรก็ดีกคช.จะตรึงราคาเดิมไปจนถึงปลายปี 2548 และหลังจากนั้นคงจะต้องมีการปรับราคาบ้านใหม่
         ด้านนายสรวุฒิ ตังกาพล รองผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ขณะนี้จะมีการทะยอยส่งมอบบ้านแล้วเสร็จจำนวน 6,000 หน่วยทั่วประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความล่าช้า แต่ ขณะนี้ กคช.ได้หาทางออกด้วยการให้บริษัทรับเหมารายใหญ่ขึ้นทะเบียนกับกคช.และรับงานในปริมาณมากๆ 3 ปี ก่อสร้าง จำนวน 10,000 –30,000 หน่วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง และสร้างเสร็จเร็วขึ้น นอกจากนี้แล้ว ที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ ราคาน้ำมันปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากรัฐบาลปล่อยลอยตัวจะส่งผลกระทบให้ราคาวัสดุเพิ่มขึ้นตลอดจนดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ดังนั้นในราวกลางปี 2548 นี้ กคช.จะทบทวนเรื่องการปรับราคาบ้านแต่ขณะนี้ได้เจรจากับผู้รับเหมาแล้วว่าจะขอตรึงราคาเดิมออกไปก่อนจนถึงสิ้นปี
         ขณะเดียวกัน "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สอบถามไปยังนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ ถึงความล่าช้าของโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งนางชวนพิศยอมรับว่าล่าช้าจริงแต่พยายามทำให้เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ และ หากล่าช้าเชื่อว่าจะช้ากว่ากำหนดเพียง 60 วันเท่านั้น