"จน-รวย"แห่ใช้เงิน สินค้าฟุ่มเฟือยกระฉูด
ประชาชาติธุรกิจ, 19 กันยายน 2545 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
        'จน-รวย' แห่ใช้เงิน สินค้าฟุ่มเฟือยกระฉูด สร้างภาพลวงตาศก.โต/มือถือ-รถยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้าพรึบ
        มาตรการ 'ทักษิณ' กระตุ้นเศรษฐกิจได้ผล คนจน-คนรวยแห่กันใช้เงินกระฉูด สินค้าฟุ่มเฟือย-ราคาแพงยอดขายถล่ม ทั้งมือถือ บ้านราคา 5 ล้านขึ้นไป โดยสอดรับกับข้อมูลสภาพัฒน์ ขณะที่ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคยอมรับยอดวูบแค่ให้โตเท่าปีที่แล้วก็หืดจับ ส่วนนักธุรกิจติงระวังตัวเลขมหภาคไม่ได้ชี้ภาพรวมว่าเศรษฐกิจดีจริง ให้ระวังมาตรการก่อหนี้เพิ่มกำลังซื้อภาพลวงตา
 
ข้อคิดเห็น
 
        นี่คือบทสรุปจากเนื้อข่าว "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการสนับสนุนให้รากหญ้าหรือประชาชนระดับล่าง-กลางก่อหนี้เพื่อบริโภคมากขึ้น วิธีการดังกล่าวก็จะยิ่งสร้างภาระหนี้ในอนาคตมากขึ้น" "ก่อหนี้เพิ่มกำลังซื้อ จะวัด ศก.ดีได้อย่างไร" "เงินเดือนไม่เพิ่ม กำลังซื้อไม่เพิ่ม แต่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก่อหนี้เพิ่มขึ้น จึงไม่รู้ว่าเอาอะไรมาวัดเศรษฐกิจดีขึ้น"
        ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าเรากำลังถูกนำให้พังทั้งประเทศ ปี 2540 เจ้าของกิจการเจ๊งเป็นหลัก ต่อไป ปี 2550 ชาวบ้านก็เจ๊งเพราะเป็นหนี้ ข้าราชการก็อาจถูกดุนออก ประเทศอาจเสียเอกราชทางการเงิน การเมือง เป็นไปได้ไหมที่ขณะนี้เป็นเพียงการแผ้วถางทางไปสู่การพังทลายของเศรษฐกิจในอนาคตเท่านั้น ถึงวันนั้นคนที่แผ้วถางทางวันนี้จะไปอยู่ไหนแล้ว (สหรัฐอเมริกา หรือเปล่า)
        ลองย้อนกลับไปดูวิเคราะห์ข่าว คนไทยติดกับดักดบ. 0% ซื้อแหลกไม่สนหนี้บาน (วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2545 ประชาชาติธุรกิจ)
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        จากนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการบริโภคของประชาชนเป็นเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นรากหญ้าในโครงการต่างๆ ธนาคารประชาชน การผ่อนเงื่อนไขการทำบัตรเครดิต มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น โดยกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลชัดเจนว่าประชาชนบริโภคมากขึ้น จากตัวเลขการบริโภคในไตรมาสที่ 1/2545 ขยายตัว 3.6% ไตรมาสที่ 2/2545 ขยายตัว 3.8% ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2/2545 การบริโภคที่สูงขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ อาทิ รถยนต์ โทรคมนาคม (มือถือ) เคเบิลทีวี เช่นเดียวกับการขยายตัวของภาค อุตสาหกรรมที่ขยายตัว 6.7% โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ วิทยุ โทรทัศน์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคการก่อสร้างขยายตัวสูง 18.6%
        แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการสนับสนุนให้รากหญ้าหรือประชาชนระดับล่าง-กลางก่อหนี้เพื่อบริโภคมากขึ้น วิธีการดังกล่าวก็จะยิ่งสร้างภาระหนี้ในอนาคตมากขึ้น ขณะที่รายได้ของคนเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อย ขณะเดียวกันในส่วนของมาตรการดอกเบี้ยต่ำทั้งเงินกู้และเงินฝาก ทำให้คนมีเงินไม่อยากฝากเงินกินดอกเบี้ยก็เริ่มจับจ่ายใช้สอย จะเห็นได้ว่าสินค้าราคาแพงและสินค้าฟุ่มเฟือยขายดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป หรือรถยนต์ที่ขายได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขที่จูงใจ อาทิ วางเงินดาวน์น้อย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ เป็นต้น
        'การที่รัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าว ยิ่งคนรวยใช้เงินมากขึ้นเพราะไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย หรือนำมาซื้อบ้านราคาแพง ก็ต้องนำเข้าสินค้าจากนอกอีก แต่การบริโภคของกลุ่มเหล่านี้จะสร้างการบริโภคหรือกำลังซื้อแค่ชั่วคราวเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะสร้างกำลังซื้อในระยะยาวได้อย่างไรให้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาครากหญ้าเมื่อก่อหนี้ไปถึงระดับหนึ่งก็จะหยุดการก่อหนี้ การบริโภคก็จะชะงักตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่งว่าจีดีพีในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าปัจจัยภายนอกยังเสี่ยงสูง และการที่รัฐบาลบอกว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตเท่านั้นเท่านี้และมั่นใจว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดได้ เพราะไส้ในของการเติบโตมาจากการบริโภคเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนก็ขยับดีขึ้นเป็นบางกลุ่มเท่านั้นตามที่รัฐบาลกระตุ้น' แหล่งข่าวให้ความเห็น

เศรษฐกิจโตไม่โตต้องมองแยกส่วน
        นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของธุรกิจอุปโภค บริโภคในปีนี้ว่าไม่ดี เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะที่ทรงตัว สาเหตุเป็นเพราะกำลังซื้อโดยรวมไม่ได้เพิ่ม แต่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าชิ้นใหญ่มากขึ้น โดยใช้โอกาสด้านเงื่อนไขทางการเงิน ด้วยระบบเงินผ่อน
        'ภาพรวมของกำลังซื้อในระบบตอนนี้คงต้องแยกมอง 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มนี้ยังมีการใช้จ่ายปกติ หรือมากขึ้น ในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย