กทม.ขวางสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน สั่งระงับผู้รับเหมาเข้าไซต์ก่อสร้าง
อ้างจราจร4สายหลักวิกฤต
ประชาชาติธุรกิจ 13 สิงหาคม 2554
 
สรุปสาระข่าว
 
        กทม.โยนเผือกร้อนใส่มือ รมว. คมนาคมคนใหม่ "สุกำพล สุวรรณทัต" อยู่ๆ สั่งระงับไม่ให้ผู้รับเหมารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างทั้ง 4 สัญญา ระยะทางรวม 27 ก.ม. อ้างเหตุผลปัญหาวิกฤตจราจรบนถนนสายหลัก 4 เส้น "เจริญกรุง-เพชรเกษม-อิสรภาพ-จรัญสนิทวงศ์" ด้าน รฟม.ยืนกรานเซ็นสัญญาไปแล้ว ภายในตุลาคมนี้ผู้รับเหมาต้องเข้าพื้นที่เต็มรูปแบบ
 

ข้อคิดเห็น

        เรื่อง "บ้า ๆ" อย่างนี้ย่อมไม่แปลกที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย!!!!

 

รายละเอียดของเนื้อข่าว

กทม.โยนเผือกร้อนใส่มือ รมว. คมนาคมคนใหม่ "สุกำพล สุวรรณทัต" อยู่ๆ สั่งระงับไม่ให้ผู้รับเหมารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างทั้ง 4 สัญญา ระยะทางรวม 27 ก.ม. อ้างเหตุผลปัญหาวิกฤตจราจรบนถนนสายหลัก 4 เส้น "เจริญกรุง-เพชรเกษม-อิสรภาพ-จรัญสนิทวงศ์" ด้าน รฟม.ยืนกรานเซ็นสัญญาไปแล้ว ภายในตุลาคมนี้ผู้รับเหมาต้องเข้าพื้นที่เต็มรูปแบบ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้บริหารสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างกว่า 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก รฟม.จะต้องใช้พื้นที่ผิวจราจรบนถนนในเขตรับผิดชอบของ กทม.เพื่อเป็นไซต์ก่อสร้าง ปรากฏว่าในที่ประชุมทาง กทม.สั่งให้ รฟม.เจ้าของโครงการรถไฟฟ้าหยุดการก่อสร้างไว้ก่อนทั้ง 4 สัญญา

ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 (หัวลำโพง-สนามไชย) ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ สัญญาที่ 2 (สนามไชย-ท่าพระ) ของ บมจ.ช.การช่าง สัญญาที่ 3 (เตาปูน-ท่าพระ) ของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และสัญญาที่ 4 (ท่าพระ-หลักสอง) ของ บมจ.ซิไน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า ยังงง ๆ กับคำสั่งล่าสุดของ กทม. เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง กทม.ได้ออกหนังสือชั่วคราวให้ รฟม.เข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างได้แล้ว และ รฟม.ให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตอนนี้ผู้รับเหมาทั้ง 4 สัญญาได้เข้าไป เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคบ้างแล้ว จึงไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรอีก แต่ล่าสุดเมื่อ กทม.สั่งระงับการก่อสร้างออกไป ไม่รู้ว่ามีนัยสำคัญอะไรหรือไม่

กทม.เผยสั่งระงับ-อ้างวิกฤตจราจร

นายธีระ ประสิทธิพร รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กทม.ยังไม่ได้อนุญาตให้ รฟม.เข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างอย่างจริงจัง เพียงแต่อนุญาตให้เข้าไปขุดเจาะเตรียมพื้นที่ก่อสร้างเท่านั้น การประสานงานล่าสุด รฟม.เพิ่งจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอเข้าใช้พื้นที่ก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม กทม.พิจารณาแล้วยังไม่อนุญาต และให้ระงับการก่อสร้างออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากในบางพื้นที่ก่อสร้างมีโครงการก่อสร้างที่ ทับซ้อนกันอยู่ เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์ มีก่อสร้างอุโมงค์ 2 งานคือ แยกพรานนกและแยกบรมราชชนนี นอกจากนี้ ยังมีโครงการในอนาคตในบริเวณนี้อีก เช่น สะพานเกียกกาย โครงการแก้ไขการจราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น

"กทม.ยินดีจะให้เข้าใช้พื้นที่แต่ต้องมีเงื่อนไข เพราะตอนนี้มีหลายจุดที่เกิดวิกฤตการจราจรอยู่"

นายธีระกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากได้ ข้อสรุปร่วมกันแล้ว แนวทางปฏิบัติก็คือ กทม.อาจจะอนุญาตให้ รฟม.เข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างได้เป็นเฉพาะบางจุด ที่ รฟม.ต้องการจะเข้าพื้นที่เป็นการเร่งด่วน และเป็นพื้นที่ที่การจราจรไม่วิกฤตมากนัก ส่วนพื้นที่ไหนที่มีปัญหาการจราจรที่วิกฤตมาก เช่น หัวลำโพง ถนนจรัญสนิทวงศ์ และแยกต่าง ๆ อาจจะต้องให้ชะลอออกไปก่อน จนกว่า รฟม.จะมีแผนงาน ออกมาชัดเจน

รฟม.ยันไม่หยุด

นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติงาน) และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ทาง กทม.พยายาม จะให้ รฟม.หยุดการก่อสร้างไว้ก่อนทั้ง 4 สัญญา แต่ รฟม.ไม่ได้รับปาก จำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อไป เนื่องจากเซ็นสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาไปแล้ว หากหยุดกลางคันทาง รฟม.ถูกผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ทั้ง 4 สัญญา ระยะทาง 27 กิโลเมตร มีความคืบหน้าแล้ว 3% ยังล่าช้าจากแผนงานอยู่ประมาณ 0.01% นับจากที่ให้ผู้รับเหมาเริ่มงานก่อสร้างเมื่อ 4 เมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นงานในส่วนของการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค จะเริ่มก่อสร้างจริงจังตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป

ด้านการเวนคืนที่ดินโดยรวมคืบหน้าไปแล้ว 62.28% เร็วกว่าแผนอยู่ประมาณ 1% และได้เริ่มทยอยจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปบ้างแล้ว เป็นวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งหมด 5,900 ล้านบาท

"เรื่องพื้นที่ก่อสร้างไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา กทม.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ผิวจราจรทั้งถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรเกษม และถนนเจริญกรุงแล้ว รวมถึงการเข้าไปรื้อย้ายผู้ที่ถูกเวนคืนในจุดต่าง ๆ ตอนนี้ทุกอย่างได้ดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการก่อสร้าง รวมถึงบริเวณสถานีวัดมังกรกมลาวาส ที่มีผู้เช่าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และมูลนิธิจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ฟ้องร้องไปที่ศาลปกครอง ทางเจ้าของที่ดินแจ้งว่าจะเคลียร์กับผู้เช่าให้ โดยจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เช่า ซึ่งผู้เช่าจะได้ 2 ส่วนคือทั้งจากเจ้าของที่ดินและ รฟม."

15 ส.ค.ปิดถนนเจริญกรุง 1 เลน

นายรณชิตกล่าวต่อว่า ตั้งแต่กลาง ปี 2555 เป็นต้นไป จะส่งมอบพื้นที่ในส่วนของงานอุโมงค์สัญญาที่ 1 และ 2 ทั้งหมด เพื่อให้ผู้รับเหมานำหัวเจาะที่กำลังสั่งซื้ออยู่มาขุดเจาะอุโมงค์ได้ ปัจจุบันงานใต้ดินมี 3 จุดหลักที่ รฟม.จะต้องเวนคืนที่ดินแบบรอนสิทธิ์ (เวนคืนเฉพาะส่วนใต้ดิน) คือ วัดมังกรกมลาวาส 55 ราย วังบูรพา 30-40 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ และถนนอิสรภาพ 20 ราย เมื่อสร้างเสร็จแล้วหรือประมาณในปี 2559 จะคืนพื้นที่ให้

ขณะที่การจัดจราจรระหว่างก่อสร้าง ในส่วนของสัญญาที่ 1 งานขุดอุโมงค์ ตั้งแต่ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย พื้นที่ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ปัจจุบันปิดการจราจรช่วงแยกหัวลำโพงตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิม 8 ช่องเหลือ 6 ช่องจราจร (ไป-กลับข้างละ 3 ช่องจราจร) ตั้งแต่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะปิดถึงเดือนตุลาคมนี้

และในวันที่ 15 สิงหาคมนี้จะเริ่มปิดการจราจรเพื่อก่อสร้างสถานีวังบูรพาบริเวณแยกสามยอด เพื่อขุดสำรวจโบราณสถาน ปิดถนนเจริญกรุง 1 ช่องจราจร จากเดิม 4 ช่องเหลือ 3 ช่องจราจร โดยจะปิดประมาณ 1 เดือนจนถึง 15 กันยายนนี้

"การจัดจราจรบริเวณนี้เพื่อเลี่ยงรถติด ให้ผู้ใช้ทางไปใช้ถนนบำรุงเมือง ฝั่งขาออก แล้วเลี้ยวขวาตรงแยกกษัตริย์ศึก วิ่งมาตามถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม แล้วเลี้ยวซ้ายตรงสะพานนพวงศ์ ผ่านสถานีหัวลำโพง จะสามารถไปขึ้นทางด่วน ถนนพระรามที่ 1 และพระรามที่ 4 ได้"

และตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป ตลอดเส้นทางจะเริ่มปิดการจราจรถนนสาย ต่าง ๆ จนกว่าจะก่อสร้างเสร็จในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

BTS ตากสิน-บางหว้า สะดุดตอ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันงานก่อสร้างส่วนต่อขยายรถ ไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร โครงการของ กทม.ที่ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างกับ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ไปเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา และมีหนังสือให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ ทางกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของพื้นที่ยังไม่ยอมให้ กทม.ใช้พื้นที่ผิวจราจรบนถนนตากสิน-เพชรเกษมแต่อย่างใด ทำให้ตอนนี้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้เช่นกัน

โดยคาดว่าทั้ง 2 ประเด็นนี้ จะต้องรายงานตามขั้นตอนถึง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ เพื่อรับทราบและพิจารณาหาทางออกร่วมกับ กทม.ต่อไป