Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,077 คน
ราชการไทย . . . สำนึกรับใช้ประชาชน
ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1,949 วันที่ 17-20 ตุลาคม 2547 น.33-34

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@thaiappraisal.org)
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

          ฤดูแต่งตั้งโยกย้ายเพิ่งผ่านไป ผมก็ขอแสดงความยินดีกับท่านที่สมหวังให้มีใจทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน แต่บางท่านอาจใจหายและทำใจอีกนานที่วาสนาได้หมดสิ้นไปพร้อมกับวันเกษียณอายุราชการแล้ว และเพื่อสนับสนุนนโยบายปราบการโกงกิน (ในวงการอสังหาริมทรัพย์ของเราก็มีหน่วยงานติด top ten เหมือนกัน) และนโยบายปฏิรูประบบราชการของท่านนายกฯ ในวันนี้ผมจึงขอถือโอกาสเขียนถึงราชการไทยสักครั้ง

วิบากกรรมราชการไทย
          ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา มีข่าวโยกย้ายมากมาย หลายท่านเครียดจัดเพราะรู้ตัวว่าตำแหน่งหลุด ผมจึงสงสัยว่าทำไมคนเรารับราชการมาร่วมสี่สิบปี แต่มาต้องมาวิ่งกันฝุ่นตลบเพื่อช่วงชิงกันนั่งเก้าอี้สัก 2 ปี ระบบอย่างนี้จะเอื้ออำนวยให้ข้าราชการได้เจียดเวลามาคิดทำงานเพื่อชาติได้หรือ
          เคยมีอธิบดีกรมที่ดินท่านหนึ่งบอกผมว่า เมืองไทยเราบริหารโดย “ไอ้เณร” คือข้าราชการระดับล่าง จะเป็นผู้คิดและ “ชง” เรื่องขึ้นไปตามลำดับ ส่วนระดับสูง ๆ ขึ้นไปซึ่งอาจไม่มีเวลาแม้จะฟังอะไรให้ได้ศัพท์ ก็ตัดสินใจไปตามที่เสนอ ๆ กันมานั่นเอง ยิ่งมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ฐานเศรษฐกิจก็ลงข่าว “2 ปีปฏิรูประบบราชการ 'ทักษิณ' เข้าเกียร์ 'ถอย'”<1> ด้วยแล้วยิ่งรู้สึกหดหู่ใจในอนาคตของประเทศชาติ
          ลองนึกดูนะครับ ประชาชนทั่วไปต้องเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย นิติบุคคลก็ต้องเสียภาษี 30% อาจกล่าวได้ว่า 20% ของรายได้ของคนเราเอาไปให้รัฐบาลและค่าใช้จ่ายหลักก็คือเงินเดือนข้าราชการ 2 ล้านคนนั่นเอง แล้วถ้าเกิดข้าราชการทำงานไม่มีประสิทธิภาพเพราะต้องคอยชิงตำแหน่งกัน ทั้งข้าราชการและประชาชนคงไม่มีความสุข

ภาพสวย/เบื้องหลังโสมม.. ภูมิใจ?
          การทำราชการก็คือการรับใช้ชาติ แต่ข้าราชการบางคนก็อาจลืมหน้าที่อันศักดิ์สิทธินี้ไป กลับประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงด้วยการโกงกิน ซึ่งถือเป็นการทรยศชาติ บางคนตลอดชั่วชีวิตมีแต่ได้ของฟรีจนเคยชิน ทั้งจากการไถดะ ไปจนถึง “กินตามน้ำ” และการ “เอาหูไปนาตาไปไร่” หยิบฉวยของสาธารณะ ของชาวบ้านหรือของโจรมาถือครองอย่างไม่ละอาย ส่วนในขั้นเบาก็คือการโกงเวลา โดยเอาเวลาราชการไปทำมาหากินอย่างอื่น รับ “จ๊อบ” ระดับบริหารก็ไปราชการ (เที่ยว) ต่างประเทศแทบทุกเดือนเป็นว่าเล่น ประหนึ่งว่าการทำราชการเป็นเพียงงานอดิเรก ปัจจุบันการโกงกินเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าจนจะกลายเป็นความเคยชินเสียแล้ว ที่สาธารณะ ทางเท้า ฯลฯ ก็สามารถมาแบ่งซอยจัดสรรประโยชน์เข้ากระเป๋าได้หมด
          ท่านเคยเห็นนักการเมืองไทยคนไหนตายเพื่อชาติบ้างไหม บางคนอาจเข้ามาเพื่อโกงอย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ โดยผ่านกระบวนการประมูล (ให้กับครอบครัวหรือพรรคพวก) ตั้งแต่สร้างถนน (ควายเดิน) เขื่อน จนถึงเรื่องใต้ดิน ในน้ำ บนอากาศ วันนี้ ศิลปขั้นสูงสุดของมนุษยชาติจึงกลับกลายเป็นการเอาเงินของชาวบ้านมาใช้โดยไม่ถูกจับได้ ไม่ติดคุก ไม่ถูกประณามแต่กลับได้ทั้งเงินทั้งเกียรตินั่นเอง นี่หรือคือความภาคภูมิใจ เราต้องร่วมกันสร้างคติธรรมใหม่ว่า ประการแรก เราต้องไม่พายเรือให้โจรนั่ง และประการที่สอง เรายังต้องไม่ให้โจรพายเรือให้เรานั่ง (ประสบความสำเร็จโดยอาศัยคนชั่ว)

ข้อสังเกตการบริหารรัฐกิจที่ดี
          ความจริงแล้วการไม่โกงกินยังไม่พอที่จะพัฒนาชาติ ข้าราชการต้องสร้างผลงานให้เกิดผลต่อทางราชการด้วยจึงจะนับว่าช่วยชาติ เราต้องการข้าราชการที่มีดีมากกว่าภาพ กล่าวคือ

1.
มีผลงาน อดีตอธิบดีหลายท่านมักบอกว่าท่านเกือบทำงานโน้นงานนี้สำเร็จแล้ว แต่จนบัดนี้ผ่านมานับสิบปี เรื่องก็ยังคาราคาซังอยู่ อันนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เอาจริง เข้ามาทำราชการเพื่อไต่เต้าเท่านั้น
2.
มีการศึกษาวิจัย สังเกตดูได้ว่าผู้บริหารระดับสูงใดที่ไม่ใส่ใจการศึกษาวิจัยให้รู้จริง ไม่เคยตัดสินใจด้วยข้อมูล (แต่มักบอกว่า “ขาดข้อมูล”) ไม่ส่งเสริมการศึกษาแก่ลูกน้อง มีโอกาสน้อยมากที่จะสร้างผลงานเพื่อชาติ
3.
มีการสร้างทีม สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ทำงานในแบบการบริหารสมัยใหม่ที่ไม่ใช่เจ้าขุนมูลนาย ภาพแห่งความอนาถที่กีดขวางการพัฒนาประการหนึ่งก็คือ ผู้มีวัยวุฒิสูงกลับต้องพินอบพิเทาผู้เยาว์ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ิ

          ลองสังเกตดูเถิด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ใดที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่ขาดผลงานเป็นชิ้นอัน (ยกเว้นได้ตำแหน่งใหญ่โตเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล) ขาดการให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิจัยและขาดการสร้างทีมงาน ข้าราชการผู้นั้นย่อมไม่ถือว่าได้สร้างสรรค์อะไรที่แท้จริงต่อประเทศชาติ

จงภูมิใจที่ทำดีโดยไม่ต้องได้ดี
          เราคงเห็นว่าในสังคมปัจจุบัน ผู้ที่ได้ตำแหน่งใหญ่โตบางคนอาจได้มาโดยไม่เลือกวิธี และกลับมีเบื้องหลังที่โสมมยิ่งนัก ความสำเร็จเช่นนี้ไม่มีอะไรน่าภูมิใจ แต่จะกลับเป็นภัยต่อประเทศชาติ เราต้องไม่ให้ส่งเสริมคนเหล่านี้ แต่ต้องส่งเสริมคนดีเพื่อสนองคุณชาติ ไม่ทำตัวเสียชาติเกิดด้วยมาโกงกิน หรือมาเป็น “สวะลอยน้ำ” ไปวัน ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นอัน
          ในที่นี้ผมจึงขอยกพระราชดำรัสของในหลวงของเรามาฝากข้าราชการไทย ดังนี้:
          "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" <2> และ
          "การปฏิบัติราชการให้ดีนั้น กล่าวอย่างสั้น ง่ายและตรงที่สุด คือทำให้สำเร็จทันการ และให้ได้ผลเป็นประโยชน์แต่ทางเดียว ซึ่งจะทำได้เมื่อบุคคลมีวิชาความสามารถ และมีปัญญาความรู้คิดพิจารณา เห็นสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษ เป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์อย่างชัดเจน ถูก ตรง" <3>
          ขอให้ข้าราชการไทยน้อมใจรับใช้ประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้สง่างาม

หมายเหตุ:
          <1> หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1945, 3 พ.ย. - 6 พ.ย. 2547
          <2>พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512
          <3> พระบรมราโชวาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พุทธศักราช 2535

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่