Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,746 คน
ต้องไปนอก จึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง:
ข้อคิดสำหรับคนวงการอสังหาริมทรัพย์
อาคารและที่ดิน Weekly วันที่ 11-17 กันยายน 2547 หน้า 71

ดร.โสภณ พรโชคชัย(sopon@thaiappraisal.org)
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

       ขณะเขียนบทความนี้ ผมอยู่ที่นครบอสตัน เป็นหัวหน้าคณะพาข้าราชการและภาคเอกชนมาร่วมประชุม International Association of Assessing Officers ในระหว่างวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม - วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2547 งานนี้มีผู้ร่วมทีม 10 คนจาก กรมธนารักษ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ และ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

มิติใหม่ของการแสวงหาความรู้อสังหาฯ นานาชาติ
        ปกติจะมีน้อยครั้งที่จะมีคณะบุคคลจากหน่วยงานที่หลากหลายเดินทางไปร่วมสัมมนา-ดูงาน แต่ครั้งนี้หน่วยราชการหลายแห่งเจียดงบประมาณแผ่นดินไปร่วมงาน สถาบันการเงินอีกส่วนหนึ่งก็ไปร่วมงานด้วย เสียดายแต่นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ยังไปร่วมงานไม่มากนัก
        เหตุผลสำคัญในการ “ไปนอก” ก็คือในเงื่อนไขโลกาภิวัฒน์ ความเคลื่อนไหวในวงวิชาชีพทั่วโลกล้วนน่าศึกษาเพื่อการเรียนรู้ประสบการณ์จากกันและกัน จะได้สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ผมว่าแต่ละหน่วยงานควรกันงบประมาณเพื่อการนี้อย่างน้อยปีละ 2-3 คน ๆ ละ 100,000 บาท

IAAO กับการประชุมปี 2547
        IAAO ย่อมาจาก International Association of Assessing Officers ซึ่งเป็นสมาคมแห่งแรกที่มีการพัฒนาแบบจำลองการประเมินค่าทรัพย์สินอัตโนมัติ ซึ่งมาจากคำว่า CAMA (computer-assisted mass appraisal) หรือ AVM (automated valuation model) มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 หรือช่วง พ.ศ. 2513-2522 ในประเทศไทย ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ CAMA และนำมาใช้สำหรับการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการจัดรูปที่ดินของทางราชการตั้งแต่ปี 2533
        การประชุมประจำปีเช่นนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ CAMA โดยผมในฐานะผู้แทน IAAO ประจำประเทศไทย จึงได้นำคณะคนไทยไปร่วมงานเพื่อให้ทราบถึงนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่และการสานสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่น และแม้ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่จะมาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็ตาม ก็ยังมีประเทศอื่นบ้างเช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ลิทัวเนีย ออสเตรเลีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์
        สิ่งหนึ่งที่สมาคมวิชาชีพในประเทศไทยควรศึกษาจากการจัดประชุมนี้ก็คือเป็นการ “เติมเต็ม” ความรู้ในรอบปี ถือเป็นกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง หรือ CPD (continuing professional development) program โดยในงานจะมีผู้รู้ที่ทางสมาคมมอบหมายให้มานำเสนอความรู้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ให้อาสาสมัครมาพูด จึงต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการนำเสนอบทความวิชาการโดยสมาคมนักวิชาการต่าง ๆ
        ในระบบของสหรัฐอเมริกานั้น สมาคมวิชาชีพ เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาจจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ แต่การจะทำงานได้จริงนั้น ต้องผ่านการสอบและต่ออายุผู้ผ่านการสอบในแต่ละรัฐในแต่ละปี ดังนั้นบทบาทหลักของสมาคมจึงเน้นไปที่ CPD เป็นสำคัญ และการที่ผู้ประเมินหรือผู้ให้บริการวิชาชีพอื่นใดมีความรู้ มีการศึกษาต่อเนื่องย่อมเป็นหนึ่งในหลักประกันสำหรับการบริการที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ

การประชุมประจำปีแบบอื่น
        การจัดประชุมประจำปีนอกจากที่สมาคมวิชาชีพจัดแล้ว ยังมีในรูปแบบที่สมาคมวิชาการจัดขึ้นอีก เช่น Pacific Rim Real Estate Society (PRRES) และยังมีสมาคมเช่นนี้ในทวีปเอเซีย เป็น Asian Real Estate Society (AsRES) และในยุโรป อเมริกาและอาฟริกาอีกด้วย
        PRRES จัดประชุมในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2547 ผมเป็น Contact Person เพราะผมเป็นคนรับมาจากคณะกรรมการ PRRES ว่าจะเป็นผู้จัดงานนี้ให้ตั้งแต่ปี 2545 แต่ต่อมาทางธรรมศาสตร์ได้ขอรับไปเป็นเจ้าภาพ ส่วนทาง AsRES ก็จัดประชุมไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่กรุงนิวเดลี
        การประชุมทางวิชาการ “จ๋า” นี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมากจะ “อาสา” นำเสนอบทความวิชาการต่าง ๆ เพื่อยกฐานะทางตำแหน่งวิชาการและการเผยแพร่ความรู้ ไม่ใช่ลักษณะ CPD เช่นกรณีสมาคมวิชาชีพที่นำเสนอไปแล้ว อย่างไรก็ตามการนำเสนอในลักษณะนี้ก็น่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง เพราะบทความบางบทก็ให้ความรู้ใหม่ ๆ เช่นกัน
        นอกจากการประชุมแบบนักวิชาชีพและแบบนักวิชาการแล้ว ยังมีในรูปแบบเฉพาะกรณีต่าง ๆ ที่ดำเนินการตามหัวข้อเฉพาะที่น่าสนใจ เช่น มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินจัดสัมมนาเรื่องการประเมินมูลค่าโครงการสาธารณูปโภค (มีนาคม 2547) เป็นต้น ในแต่ละปีจะมีการสัมมนาเฉพาะที่น่าสนใจมากมายทั่วโลกและอาจมีหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้เช่นกัน

ทบทวนการจัดการศึกษาของไทย
        สมัยร้อยปีก่อน ราชการไทยส่งคนไปเรียนต่อเมืองนอก กลับมาก็มาเป็นใหญ่เลย จึงทำให้คนไทยที่เรียนเก่งทั้งหลาย เป็นประเภท “กร่างแต่กลวง” เพราะขาดประสบการณ์การทำงานจริง ถ้านักเรียนทุนของไทยได้มีโอกาสทำงานในต่างประเทศสักพักจนรู้ระบบและประสานการปฏิบัติได้จริง ก็คงเป็นประโยชน์กว่านี้
        พูดถึงบอสตัน ผมเองก็เกือบได้มาเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแทน AIT เสียแล้ว คือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว อาจารย์ที่นี่ของผมจะให้ทุนและเป็นผู้ช่วยเขาไปด้วย เพราะงานที่ทำร่วมกับเขาไปไกลกว่าพวกวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเสียอีก แต่พอดีผมก็ติดที่เป็นลูกคนโตและอยากดูแลครอบครัวมากกว่า จึงไม่ได้มา (ขืนมาบอสตันตอนนั้น ก็อาจไม่มี “ลูกเมีย” เซ็ตนี้แล้วก็ได้)
        ที่บอสตันนี้ มีหอสมุดประจำนคร ซึ่งเป็นหอสมุดที่มีชื่อเสียงมาก และสร้างมาร้อยกว่าปีแล้ว ที่ผนังด้านหนึ่งของอาคารมีข้อความว่า “The Commonwealth requires the education of the people as the safeguard of order and liberty” หรือแปลสรุปว่า การศึกษาของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดได้ในการประกันความผาสุกของสังคมและเสรีภาพที่แท้จริงของประชาชน
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่