Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,391 คน
มองลาวแล้วย้อนมองไทย
สยามธุรกิจ วันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2553 หน้า 11

ดร.โสภณ พรโชคชัย *
26 ตุลาคม 2553

          ลาววันนี้มีสิ่งใหม่ที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง ผมไปลาวหลายครั้ง แต่ผมก็เพิ่งได้เปิดหูเปิดตาดูอย่างจริงจัง จึงขออนุญาตแบ่งปันมาศึกษาเยี่ยงอย่างมาเพื่อพัฒนาประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประชาชนไทยได้มีความสุข ความเจริญ มีโอกาสที่ดีงาม  ทั้งนี้ผมได้ประมวลจากการไปบรรยายด้านอสังหาริมทรัพย์และการประเมินค่าทรัพย์สินที่กรุงเวียงจันทน์เฉพาะในระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2553

3G ลาวสุดล้ำหน้า
          ลาวมีโทรศัพท์มือถือระบบ 3G มาเกือบ 4 ปีแล้ว ข่าวว่าในเดือนพฤศจิกายน 2553 เขาจะมีระบบ 4G แล้ว และระบบ 8G ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ไทยยังไม่มี นัยว่าในภูมิภาคนี้มีอีกเพียง 2 ประเทศคือ บังคลาเทศและเวียดนามที่ยังไม่มี 3G ใช้
          นี่แสดงว่าผู้มีอำนาจการตัดสินใจในไทยยังไม่ได้มีประสิทธิภาพและทำงานอย่างมีประสิทธิผลพอ ประเทศไทยมักอ้างข้อจำกัดด้านกฎหมายต่าง ๆ คล้ายแบบศรีธนญชัยในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยอาจไม่ทันคิดว่าประชาชนไทยจะสูญเสีย ไม่ได้บริโภคสิ่งดี ๆ เช่นชนชาติอื่น

มาเฟียมีน้อย
          ตำรวจจราจรลาวอาจรับสินบนบ้าง แต่ตำรวจกองปราบปรามลาวทำงานเชิงรุก มีหน่วยปฏิบัติการออกลาดตระเวนยามค่ำคืน หากพบผู้ทำผิดกฎหมาย จะตักเตือนก่อน  หากผิดซ้ำจะถูกจับกุมและได้รับการลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด จึงทำให้อันธพาล นักเลงหัวไม้มีน้อยมาก สันติราษฎร์จึงร่มเย็นเป็นสุข
          การเปิดไนท์คลับในลาว เสียเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แตกต่างจากไทยที่ต้องจ่ายให้พวกมาเฟีย บางแห่งพอ ๆ กับค่าเช่าสถานที่ เช่น 30,000 บาทต่อเดือน การที่ต้องจ่ายหนักขนาดนี้ ธุรกิจบางแห่งเลยปิดกิจการไป ล็อตเตอรี่ลาวก็ออกสัปดาห์ละ 2 หน ใครใคร่ซื้อ ซื้อ เขาเชื่อมั่นว่าประชาชนมีวิจารณญาณ ไม่งมงายจนเสียผู้เสียคน  แต่ลาวไม่มีหวยใต้ดิน ใครเป็นเจ้ามือคงไม่รอดเงื้อมือกฎหมาย

กฎหมายแรง-ศักดิ์สิทธิ์
          กฎหมายลาวเข้มงวดนัก มีการปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่มักไม่เป็นข่าวแบบไทย ศาลลาวก็เป็นศาลชั้นเดียว อย่างกรณีการแอบถ่ายคลิปที่เกิดขึ้นในไทย  หากเป็นในลาว คงต้องโทษติดคุก (แทบ) ตลอดชีวิต
          ชีวิตคนคุกลาวคงไม่ยืนยาวนัก เพราะเสมือนตายทั้งเป็น สมัยก่อนยังมี ‘คุกมืด’ และ ‘คุกใต้ดิน’ แต่ที่แน่นอนก็คือไม่มีการปล่อยให้ ‘ขาใหญ่’ ในคุกเปิดสำนักงานในคุกเพื่อค้ายาเสพติดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คนคุกที่ไม่กลับเนื้อกลับใจจริง คงไม่ได้ออกมาเป็นภัยสังคมเป็นแน่

กฎหมายเข้าข้างประชาชน
          ไม่มีโอกาสที่ใครจะครองที่ดินจำนวนมหาศาลโดยไม่มีขีดจำกัด เพราะหลังการปลดปล่อย ระบบการผูกขาดที่ดินหมดลง แม้ในระยะหลังอาจมีนายทุนได้รับสัมปทานที่ดินแปลงใหญ่ แต่หากไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด รัฐก็สามารถยึดคืนมาได้
          ลาวมีระบบภาษีที่ดินโดยเสียเป็นรายปี ส่วนการโอนมรดกอสังหาริมทรัพย์ก็เสียภาษีราว 13% แต่ในกรณีการซื้อขาย อาจต้องเสียภาษีถึงหนึ่งในสามของมูลค่า  เพราะเขาไม่ส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนมือที่ดิน และมีโอกาสน้อยในการติดสินบนเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยเพราะมีระบบตรวจสอบข้าราชการที่ค่อนข้างรัดกุม

สื่อมวลชนมีจรรยาบรรณ
          หนังสือพิมพ์ลาวไม่ประโคมข่าวฉาวโฉ่ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีนักอ่านข่าว นักจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ประเภท ‘จ้อ’ ใส่สีใส่ไข่อย่างเมามัน ดารานักแสดงก็ทำตัวเรียบร้อยดีเพราะกฎหมายที่ลาวนั้นเข้มแข็ง หาไม่ก็หมดทางทำมาหากินอีกต่อไป
          การที่สื่อมวลชนมีมาตรฐานและจรรยาบรรณในวิชาชีพสูง โดยไม่หากิน ‘ขายข่าว’ ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็เท่ากับไม่ได้สร้างความเครียดกับสังคม ประชาชนก็ต่างมุ่งการทำมาหากิน มากกว่าไปสนใจเรื่องไร้สาระของชาวบ้าน

เอ็นจีโอไม่กล้าหือ
          สมัยสร้างเขื่อนน้ำงึม 2  กลุ่มเอ็นจีโอกล่าวหาว่าลาวทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐบาลลาวมั่นใจว่าตนทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ลาวยังตั้งคำถามกลับกับพวกนี้ว่าถ้าไม่ให้ลาวสร้างเขื่อน ประชาคมโลกจะช่วยเหลืออะไรลาวได้บ้างหรือไม่ ลาวไม่ใส่ใจต่อนโยบายสิ่งแวดล้อม ‘จอมปลอม’ ที่พยายามให้ลาวดักดาน
          โอกาสที่กลุ่ม ‘กรีนพีซ’ จะไปเดินขบวนต่อต้านในลาว คงเกิดขึ้นได้ยาก เชื่อว่าเอ็นจีโอที่เคยรับเงินไปเที่ยวเดินขบวนในยุโรปและอเมริกา ก็คงไม่กล้าจะไป ‘แหยม’ ที่ลาวเป็นแน่ แต่รัฐบาลลาวก็ยินดีต้อนรับเอ็นจีโอเชิงสร้างสรรค์ และคอยติดตามและอำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ซ่องสุมทำลายชาติ

ลาวเป็นเผด็จการ?
          บางคนบอกว่าลาวเป็นเผด็จการ แต่ลาวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว’ ตามลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาเป็นเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ลาวว่าตนมีประชาธิปไตย ไม่ใช่อนาธิปไตยแบบ ‘ทำได้ตามใจคือไทยแท้’
          สมาชิกรัฐสภาลาวก็ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคประชาชนปฏิวัติลาว แต่ห้ามการซื้อเสียง ประชาชนได้รับการปลูกฝังให้มีศักดิ์ศรี ในทางตรงกันข้าม ลาวกลับมองว่าสหรัฐอเมริกาต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้ เพราะยังมีการผูกขาด การแบ่งแยกสีผิว

มองย้อนดูไทย
          หวนกลับมาดูไทยที่มักอ้างตัวบทกฎหมาย เรียกร้องให้คนทำดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่กลับโกงกินกันทุกหย่อมหญ้า ข้าราชการดี ๆ ก็มี แต่มักเป็นระดับล่างหรืออยู่ในตำแหน่งและหน่วยงานที่หาผลประโยชน์ได้ยาก การที่คนไทยแตกแยกกันหนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะขาดความเป็นธรรม ไทยจึงมีปัญหาชายแดนใต้ ยิ่งมีเรื่องสีเสื้อ ยิ่งเหมือนไทยขาดที่พึ่ง คล้ายกับว่าผู้บริหารประเทศขาดความเป็นธรรม

          ผมไม่ได้เชียร์ลาว แต่เป็นห่วงอนาคตของชาติ ของประชาชน บางครั้งเราก็ควรศึกษาจากชาติอื่นบ้าง เพื่อที่ไทยจะได้พัฒนาไปอย่างยั่งยืนสถาพร

* สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย ติดต่อได้ที่ Email: sopon@thaiappraisal.org หรือที่ http://www.facebook.com/pornchokchai

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่