Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 4,852 คน
รู้ทัน ‘คนไร้ค่า’ (Dead Wood)
Hi-class เดือนกันยายน 2009 หน้า 38-39

ดร.โสภณ พรโชคชัย

            ในสังคมไทยทุกวันนี้ มีคนที่ดูดี เป็นผู้ดี มีธรรมะชูคออยู่มากหลาย คนเหล่านี้โดยมากจะพูดจารื่นหู ดูมีศาสนา แต่นั่นเป็นแค่เปลือกนอก ความจริงหลายคนเป็น ‘คนไร้ค่า’ เป็นยิ่งกว่า ‘ไม้แก่ดัดยาก’ คือมีสถานะคล้าย ‘แตงเถาตาย’ หรือฝรั่งเรียกว่า Dead Wood (ไม้ที่ถูกตัดจากตอแล้ว) ไม่อาจเติบโตได้อีก ได้แต่รอวันเน่าเปื่อยไปมากกว่า
            บุคคลไร้ค่าเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาชาติ และอาจกีดขวางความเจริญ รวมทั้งยังอาจ ‘กลายพันธุ์’ ถึงขั้นทำลายชาติหากเพิ่มความเลวเข้าไปด้วย บทความนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงวิธีสังเกตว่า ‘คนไร้ค่า’ และคนชั่วนั้นเป็นเยี่ยงไร เพื่อว่าเราจะได้รู้ทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนเหล่านี้ และไม่กลายเป็นคนเหล่านี้เสียเอง

ลักษณะ 8 ของคนไร้ค่า
            บุคคลผู้เป็น ‘คนไร้ค่า’ มักมีลักษณะสำคัญครบถ้วนทั้ง 8 ประการดังต่อไปนี้:
            1. ชมชอบชอบเสพสุข (Hedonist) ในรูปแบบต่าง ๆ ในฐานะผู้ได้เปรียบในสังคม เช่น ไปเที่ยวโสเภณี (ราคาแพง) ชอบกีฬาแฟชั่นทั้งหลาย เป็นพวก ‘นิยมวัตถุ’ ซึ่งต่างจาก ‘วัตถุนิยม’ (materialism) ที่เป็นหลักปรัชญาที่ตรงข้ามกับ ‘จิตนิยม’ (idealism) จะสังเกตได้ว่าพวกนี้รักสุขภาพสุดชีวิต กะจะมีชีวิตอยู่อย่างยาวนาน แต่น่าเสียดายที่เป็นได้แค่ ‘แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน’ เพราะนอกจากเสพสุขแล้ว ก็แทบไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเพื่อคนอื่น
            2. ไม่ใฝ่ใจศึกษา: พวกเขามักเป็นคนที่ขี้เกียจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บ้างก็ทำตัวเป็น ‘ชาล้นแก้ว’ บางคนอาจทำการศึกษาแต่ใช้วิธีการ ‘ยืมจมูกคนอื่นหายใจ’ ไม่ลงมือปฏิบัติเอง หรือเข้ารับการศึกษาโดยไม่ใช่เพื่อหาความรู้แต่เพื่อเข้าคลุกวงใน (networking) มากกว่า คนเหล่านี้มักเป็นพวก ‘แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน’ ไม่ทันความรู้ใหม่ ๆ ยกเว้นการจำคำพูดคนอื่นมาคุยโตไปวัน ๆ
            3. ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง: เมื่อไม่รู้จริง ก็มักเกลียด กลัวและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณต่อส่วนรวมแต่กระทบในทางลบต่อตนเอง กลัวตนเองจะหมดบทบาทในสังคมก้าวหน้า คนเหล่านี้มักเป็นผู้มีสถานะดีในสังคมหรือมีอาชีพน่ายกย่อง เช่น อาจารย์ แพทย์ หรือนักวิชาชีพชั้นสูงอื่น แต่ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไม่ได้เหมารวมยกเข่งทั้งวงการ ‘คนไร้ค่า’ เหล่านี้แม้อยู่ในวงการศึกษาหรือวงวิทยาการชั้นสูง ก็ไม่ค่อยเปิดรับสิ่งใหม่ ถือตนว่ามีใบปริญญาบัตรแต่แท้จริงไม่ใช่ปัญญาชน เราจึงเห็นนักวิทยาศาสตร์ (ที่ทำงานแบบกลไกไปวัน ๆ) ผู้กลับงมงายในไสยศาสตร์
            4. ชอบทำดีเอาหน้า: ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพหรือเพื่อลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นคนดี จึงเป็นการทำดีแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ ‘ผักชีโรยหน้า’ หรือ ‘ไฟไหม้ฟาง’ คล้ายกับพวกคุณหญิงคุณนายที่เที่ยวแจกของเพื่อให้ตัวได้รับเกียรติยศ แต่สังคมก็แทบไม่เคยดีขึ้นเพราะความดีฉาบฉวยดังกล่าว หากสังเกตให้ดี คนเหล่านี้บางคนไปร่วมกิจกรรมทำดีโดยไม่ออกเงินตัวเองสักบาท หรือออกเงินแต่น้อย (แต่ออกข่าวใหญ่โต) หรือใช้สถานะของตนเองไป ‘ไถ’ เงินผู้อื่นมาทำดี อาจกล่าวได้ว่า ในความเป็นจริง คนเหล่านี้เป็นคนขี้เหนียว  ไม่ใช่คนใจกว้างจริงแต่อย่างใด
            5. มีความเป็นเจ้าขุนมูลนายสูง: ทั้งนี้คล้ายกับที่มักปรากฏในภาพยนตร์น้ำเน่าประเภท ‘ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน’ หรือ ‘หนังจักร์ ๆ วงศ์ ๆ’ บุคคลที่ชอบทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนายเช่นนี้ มักทำไปเพื่อลบปมด้อยของการเป็นคนระดับล่างในอดีต หรือหวังยกระดับตนเองให้มีฐานะดูเหนือผู้อื่นหรือเป็นพวกจมไม่ลง คนเหล่านี้มีความชมชอบที่จะให้คนอื่นยกย่อง เอาใจ และมักเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง (self-centredness) ซึ่งแสดงว่าคนเหล่านี้ไม่คิดถึงใครอื่นอีกเลย
            6. สยบยอมต่อผู้มีอำนาจ: ในขณะที่ตัวเองมีความเป็นเจ้าขุนมูลนายสูงมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มักเป็นคนสยบยอมกับผู้มีอำนาจเหนือกว่าโดยดุษฎี การนี้แสดงว่าคนเหล่านี้ยินดี ‘เลีย’ หรือทำงานด้วยลิ้น เพื่อหวังให้ตนเองได้ก้าวหน้าในธุรกิจหรือการงาน และหากจำเป็นจริง ๆ คนเหล่านี้ไม่ว่าเพศใด ก็อาจยินดีเอาตัวเข้าแลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน คือนอกจาก ‘พายเรือให้โจรนั่ง’ แล้ว ยังยอมให้ ‘โจรพายเรือให้ตนนั่ง’ (ประสบความสำเร็จโดย ‘โจร’ สนับสนุน) เสียอีก ลองสังเกตในวงการรอบตัวเราให้ดีว่าเราพบตัวอย่างเช่นนี้อยู่บ้างหรือไม่
            7. เฉยชากับความไม่เป็นธรรมโดยถือคติว่า ‘ธุระไม่ใช่’ หรือไพล่ไปโทษบาปกรรมแต่ชาติปางก่อน พวกเขาไม่ใช่คนประเภท ‘ตัวสั่นทุกครั้ง (ทนไม่ได้) ที่เห็นความอยุติธรรม’ แต่อย่างใด พวกเขายินดีวาง ‘อุเบกขา’ โดยถือคติ ‘วัวเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด’ ‘พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง’ หรือ ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ กับเรื่องอะไรก็ตามที่แม้จะเสื่อมเสียศีลธรรมหรือผิดกฎหมายก็ตาม ตราบเท่าที่ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์
            8. ชอบห่อหุ้มด้วยศาสนา: ทั้งนี้เพื่อใช้ศาสนาเป็นอาภรณ์หรือเครื่องมือโฆษณาให้ตนดูดี และเพื่อบำบัดความอ่อนแอทางจิตซึ่งอาจเป็นผลจากการทำบาป (อยู่เนือง ๆ) คนเหล่านี้เปลือกนอกดูสงบงาม พล่ามจริยธรรม ชอบชวนคนเข้าวัด แต่แท้จริงสุดรุ่มร้อน ลักษณะเด่นของคนเหล่านี้ก็คือ ‘เสพติด’ การนั่งสมาธิ (แต่อย่าเข้าใจผิดว่าคนดีที่นั่งสมาธิเป็นคนเช่นนี้ไปด้วย) คือแทนที่นั่งแล้วจะเกิดความสงบ กลับยิ่งทำให้เห็นนิมิตต่าง ๆ และยิ่งเป็นการแบ่งชนชั้นมากขึ้นเพราะไปอ้างอิงถึงการสั่งสมบุญเก่าแต่อดีตชาติเพื่อข่มคนอื่น คนเหล่านี้มักไม่เอาแก่นศาสนา แต่มักเพี้ยนไปเน้นกระพี้ เช่น เรื่องพิธีกรรม ชาดก ไสยศาสตร์ ชาติก่อน-ชาติหน้า หรือเครื่องรางของขลัง เป็นต้น

รู้ทัน ‘คนไร้ค่า’
            ในแง่ของพลังสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ ใจกล้าหาญ คิดก้าวหน้า ออกแรงปฏิบัติหรือออกเงินหนุนนั้น พวก ‘คนไร้ค่า’ ยังอาจมีสิ่งเหล่านี้น้อยกว่า ‘ยัยแจ๋ว’ ‘สาวฉันทนา’ ยามหน้าหมู่บ้าน หรือคนขับสามล้อ พวกเขามักกลัวการสูญเสีย เข้าทำนอง ‘ตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ลืมโลกไปทั้งโลก’ (มัวแต่ร้องโอดโอยสงสารตัวเอง) การดำรงอยู่ของ ‘คนไร้ค่า’ เหล่านี้จึงไม่ใช่ ‘อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ’ แต่เป็นพวก ‘อยู่อย่างเหลวไหล ตายอย่างไร้ค่า’ เสียมากกว่า
            ประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ‘คนไร้ค่า’ เหล่านี้ไม่ได้รักชาติจริง หรือรักชาติแต่ปากหรือรักตามแฟชั่นหรือตามคนอื่น  ถ้าถึงคราวสิ้นชาติ เช่น ลาว เขมร และเวียดนามในยุคสงครามอินโดจีน พวกนี้แหละที่จะหนีไปก่อน เพราะพวกเขาเห็นว่าชีวิตของตนมีค่ามากกว่าจะเอามาทิ้งไว้ในแผ่นดินเกิด และคนที่จะยังอยู่สร้างชาติให้พวกนี้กลับมาตุภูมิ มาทำธุรกิจอีกครั้งหนึ่งก็คือสามัญชนคนธรรมดานั่นเอง
            อย่างไรก็ตาม ‘คนไร้ค่า’ เหล่านี้ มีอาการที่ตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ มักจะ ‘อับอายจนกลายเป็นโทสะ’ หรือ ‘โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ’ อยู่เสมอ หากมีใครสามารถ ‘จับได้ไล่ทัน’ หากสังเกตให้ดี พวกนี้ชมชอบที่จะใช้กลยุทธ์ ‘พวกมากลากไป’ มีพิธีกรรม มีศัพท์แสงหรือวาทกรรมเฉพาะที่ดูดี ใครไม่เข้าสังคมในกลุ่มเช่นตน มักจะถูก ‘โดดเดี่ยว’

กลายร่างเป็น ‘คนชั่ว’
            เมื่อพิจารณาถึงโอกาสและแนวโน้มแล้ว บุคคลข้างต้นอาจมีพัฒนาการขั้นสุดท้ายจนกลายเป็นคนชั่วที่สร้างความเสื่อมเสียต่อตนเองและคนอื่น หากเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองก็อาจทรยศและสร้างความวิบัติต่อประชาชน ทั้งนี้ ‘คนไร้ค่า’ ข้างต้นจะต้องมีลักษณะอีกข้อหนึ่งคือ ‘ร่วมขบวนการโกงกิน
            โดยในกรณีบุคคลในภาคราชการ มีตัวอย่างเช่น พวกที่ ‘ซื้อตำแหน่ง’ คนเหล่านี้มักฝ่าฟันสู่ตำแหน่งด้วยความชั่วร้าย เช่น ‘ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน’ จึงมักไม่ละอายที่จะกอบโกยโดยไม่สมควร โกงประเทศชาติและประชาชน จะสังเกตได้ว่าในหน่วยราชการที่ไม่ค่อยมีผลประโยชน์ ลูกน้องไม่ต้องเอาใจนายมากนัก อย่างมากก็ถือคติ ‘รับใช้นายจนพอแรง’ แต่ทำไมในส่วนราชการบางแห่ง ลูกน้องจึงต้อง ‘เลีย’ นายแบบ ‘เลี้ยงดูปูเสื่อ’ สุดชีวิต หากไม่ใช่เพราะหวังจะได้ผลประโยชน์มหาศาลที่ยินดีแลกด้วยการลดศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของตนเองลง
            ส่วนบุคคลในภาคเอกชนก็ได้แก่พวกที่อาศัยทำการค้าเอาเปรียบคนอื่น โดยได้รับสัมปทานด้วยการใช้เส้นสนกลในและการจ่ายใต้โต๊ะ บุคคลในภาพยนตร์เช่น ‘อาเหลียง’ นั้น ไม่ใช่รวยล้นฟ้าเพราะการอดออมเป็นสำคัญ แต่เพราะสามารถได้ใบอนุญาตทำธุรกิจกึ่งผูกขาด และอาศัยเส้นสายทางการเมืองชิงความได้เปรียบ เหยียบหัวคู่แข่งอื่นอย่างไม่เป็นธรรมต่างหาก
            อาจกล่าวได้ว่าคหบดีที่รวยปกตินั้น ต่างมาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองเป็นสำคัญ แต่บุคคลผู้ร่ำรวยผิดปกตินั้น ต้องตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าไปโกงเขามา ถ้าสืบประวัติดูแล้วบุคคลที่ร่ำรวยผิดปกตินั้นไม่ได้โกงมา ก็พึงตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า พ่อเขาคงโกงมา หรือถ้าพ่อเขาไม่.โกงมา ก็คงเป็นปู่เขา (บุคคลรุ่น ‘อาเหลียง’ โกงมา) ‘เก่งบวกเฮง’ ไม่อาจส่งให้ใครรวยล้นฟ้าแต่อย่างใด
            คนชั่วในภาครัฐและภาคเอกชนเหล่านี้แหละที่จะมารวมกันสร้างกลไกครอบงำประเทศ ทำให้ประเทศชาติเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์ส่วนตัวในที่สุด

ส่งท้าย: ช่วยกันสังเกตหน่อย
            คนที่ยังมีความหวังที่จะเป็นทรัพยากรของชาติ หรือเป็นผู้นำพาการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) นอกจากจะต้องพยายามขัดเกลาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่ดีต่อไปแล้ว ยังพึงระวัง ‘คนไร้ค่า’ และ ‘คนชั่ว’ ในคราบคนดีเหล่านี้ที่อาจเขามากีดขวางหรือทำลายความเจริญของประเทศชาติ สิ่งที่พึงทำได้ก็คือ
            1.   คนหนุ่มสาว ต้องพิจารณาคนวัยกลางคนที่มีความเสี่ยงเป็น ‘Dead Wood’ เช่นนี้
            2.   นักศึกษา ต้องจับตาดูอาการของอาจารย์บางคนที่อาจมีลักษณะเพี้ยนเช่นกัน
            3.   ‘ยัยแจ๋ว’ ‘ยัยเอี้ยง’ ‘ยัยเอื้อง’ ต้องพิจารณาคุณผู้ชาย คุณผู้หญิงของตนเองไว้ให้ดี
            4.   ลูกน้องก็พึงสังเกต ‘เจ้านาย’ ให้ดีว่าได้กลายร่างเป็นคนเช่นนี้หรือยัง
            5.   ‘สามล้อ’ หรือ ‘แท็กซี่’ ต้องคอยดูและช่วยกันจับตาดูบุคคลประเภทนี้ในสังคม เป็นต้น

            ช่วยกันรู้ทันและช่วยกันเปิดโปง และช่วยกันระวังไม่ให้ตนเองถลำลึกไปเป็น ‘คนไร้ค่า’ เช่นนี้ อย่าลืมว่าเกิดมาต้องสร้างสรรค์ ต้องทำดีเพื่อชาติ ไม่ใช่เป็นสวะลอยน้ำไปวัน ๆ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่