Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,091 คน
CSR กับนักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์
Engineering Today ฉบับธันวาคม 2551 หน้า 61-62

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

            ตอนนี้ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบทางสังคมของวิสาหกิจ กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) นั้นหมายถึงตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า (supplier) ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนสังคมโดยรวม
            วิศวกร สถาปนิก มัณฑนากร นักพัฒนาที่ดิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นักบริหารทรัพย์สิน นายหน้าและนักวิชาชีพอื่นทางด้านอสังหาริมทรัพย์ล้วนต้องมี CSR หาไม่จะเป็นปัญหา และทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยง และไม่ยั่งยืน
            CSR ไม่ใช่การบริจาคหรือการทำดีเอาหน้า จึงไม่ใช่กิจของเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ที่สร้างภาพทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม CSR เป็นสิ่งที่นักวิชาชีพโดยเฉพาะในที่นี้นักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ไม่อาจพลาดได้

ขอบเขตของการทำ CSR
            อาจกล่าวได้ว่า CSR แบ่งออกเป็น 3 ระดับสำคัญดังนี้:
            1. ระดับที่กำหนดตามกฎหมาย เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายอาคารและผังเมือง ฯลฯ การไม่ทำตามถือเป็นการละเมิดต่อปัจเจกบุคคล กลุ่ม ชุมชนหรือความสงบสุขของสังคม ถือเป็นอาชญากรรม นักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด หาไม่อาจเป็นอาชญากร (ทางเศรษฐกิจ) ได้
            2. ระดับที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณหรือจริยธรรม ซึ่งถือเป็น “ข้อกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Laws) เช่น ข้อนี้หากไม่ปฏิบัติ อาจไม่ถึงขนาดติดคุก หรือถูกศาลสั่งปรับ แต่อาจถูกพักใบอนุญาตหรือกระทั่งถูกไล่ออกจากวงการ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เช่น มาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพของนักวิชาชีพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร สถาปนิก ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า ฯลฯ
            3. ระดับอาสาสมัคร เช่น เป็นผู้อุปถัมภ์ ผู้บริจาค ผู้อาสาทำดีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งต่อบุคคล กลุ่ม ชุมชนหรือสังคมโดยรวม กิจกรรมเหล่านี้จะทำหรือไม่ก็ได้ ไม่ได้มีกำหนดไว้ แต่หากทำดี สังคมก็จะยกย่องและชื่นชม
            นักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ที่มี CSR จึงขาดเสียมิได้ที่ต้องดำเนินการตามข้อ 1 เพื่อคุ้มครองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะผู้บริโภคตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องทำตามข้อ 2 เพื่อการเป็นนักวิชาชีพที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตรายี่ห้อสินค้าเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และควรทำตามข้อ 3 ซึ่งถือเป็นการตลาดอย่างอ่อน ๆ (Soft Marketing) เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ และถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจและผู้เกี่ยวข้องในการทำดีนั้น

CSR จริงต้องทำอย่างนี้
            ดังนั้น CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ ที่แท้ก็คือ
            1. ความรับผิดชอบ (responsibility) ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ทำย่อมหมายถึงการละเมิดกฎหมาย
            2. ความรับผิดชอบนี้ต้องดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวมทั้งหมด
            3. ประเด็นหลักเกี่ยวกับ CSR สำหรับนักวิชาชีพ ได้แก่ การเน้นการปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณ ซึ่งถือเป็น Soft Laws มาตรฐานด้านแรงงาน ที่ไม่เอาเปรียบลูกจ้าง รวมทั้งการต่อต้านและไม่ร่วมกับการติดสินบนหรือทุจริต เป็นต้น
            4. ส่วนในกรณีที่นักวิชาชีพหรือวิสาหกิจของนักวิชาชีพใดจะทำบุญ ทำดีเกินหน้าที่รับผิดชอบ ถือเป็นอาสาสมัคร การบำเพ็ญประโยชน์เป็นกิจที่สมควรดำเนินการเพื่อแสดงความใจกว้างและทำให้สังคมชื่นชม ส่งผลดีต่อธุรกิจ ถือเป็นการตลาดอย่างอ่อน ๆ
            5. ข้อพึงระวังอย่างหนึ่งก็คือหากมุ่งเน้นการทำดี (เอาหน้า) แต่ขาดความรับผิดชอบ ละเมิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ไม่พึงถือเป็น CSR แต่ถือเป็นการหลอกลวง และตบตาประชาชน เช่น การปลูกป่าที่ปีหนึ่งปลูกได้ประมาณหมื่นไร่ โดยไม่มีการรณรงค์ให้ทราบว่าป่าถูกทำลายไปปีละหลายแสนไร่

ทำ CSR มีแต่ได้กับได้
            นักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ที่มี CSR นั้น ได้ประโยชน์หลายสถาน
            1. เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน วิชาชีพของเรามักแข่งกันที่คุณภาพ การมีหลักประกันสินค้าหรือบริการ และการทำดีต่อผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ทั้งลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมในรูปการต่าง ๆ ก็เป็นการแข่งขันในอีกมิติหนึ่งที่จะช่วยให้เราขายบริการได้มากขึ้น
            2. สร้างมูลค่าเพิ่ม การมี CSR ก่อให้เกิดความเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย การดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ “ด้านได้-อายอด” มุ่งแต่เอาเปรียบคนอื่น ย่อมไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ
            3. ลดความเสี่ยงของธุรกิจ นักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ที่มี CSR ย่อมตัดสินใจทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม ลดความเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้น ตลาด ผู้บริโภค และลูกค้า จึงยินดีต้อนรับ
            4. เข้าถึงแหล่งทุนยิ่งขึ้น นักวิชาชีพที่มี CSR ย่อมได้รับความเชื่อถือจากการประเมินของแหล่งทุน ทำให้มีโอกาสหาเงินกู้หรือทุนมาต่อยอดพัฒนาวิชาชีพได้มากขึ้นและสะดวกกว่าธุรกิจที่ขาด CSR
            5. สร้างตราสินค้า ยี่ห้อของบริษัทสถาปนิก วิศวกร ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ฯลฯ ที่มีความน่าเชื่อถือเพราะมี CSR ย่อมแสดงถึงความแตกต่างจากคู่แข่งทางธุรกิจ การเสริมสร้างมูลค่าของตราสินค้า (Brand Value) จึงเป็นผลมาจากการทำ CSR โดยตรง

            การทำ CSR จึงไม่ใช่การ “สร้างภาพ” ไม่ใช่การทำ “ผักชีโรยหน้า” ไม่ใช่การ “ทำบุญเอาหน้า” ไม่ใช่การสร้างภาระให้กับวิสาหกิจ แต่เป็นการลงทุนที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตแข็งแรง มีจังหวะก้าวอย่างมั่นคงในอนาคต ช่วยลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลว  สามารถอยู่ยั้งยืนยงในภายภาคหน้า และที่สำคัญก็คือ การอยู่อย่างสร้างสรรค์ อยู่อย่างมีเกียรติ ไม่ได้ไปปล้นใครกิน หรือตลบแตลงเพื่อความอยู่รอดอย่างไร้ศักดิ์ศรี

            นักวิชาชีพต้องแทนคุณวิชาชีพที่เราใช้ทำมาหากินด้วยการมี CSR

* ดร.โสภณ ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ ได้บริหารศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน AREA (Agency for Real Estate Affairs) จนเป็นกิจการที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 และได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่นและเกียรติบัตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง Email: sopon@area.co.th

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่