Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,751 คน

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

          ตั้งแต่ผมได้รับเชิญจากคุณนงค์นาถ ห่านวิไล เพื่อนผมซึ่งเป็นบรรณาธิการธุรกิจการตลาดของกรุงเทพธุรกิจให้ร่วมแบ่งปันในคอลัมน์นี้ ผมก็เขียนแต่เรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่ผมถนัด วันนี้จึงขอเปลี่ยนมาเขียนเรื่อง CEO บ้าง โดยเอาตัวอย่างธุรกิจของผมเอง คือ ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA หรือ Agency for Real Estate Affairs นี่แหละครับ
          เมื่อวันก่อน เพื่อนอาจารย์ในวงการอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งถามผมว่า ตอนนี้บริษัทเหลือคนอยู่เท่าไหร่ เธอถามด้วยความห่วงใย ไม่ได้ประสงค์ร้ายหรอกครับ เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ค่อยดี อย่างเช่นในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน เพราะงานน้อย แต่ค่าจ้างก็กลับถูกลงไปเรื่อย ๆ
          ผมไม่กล้าบอกเธอว่าบริษัทที่ผมเป็น CEO อยู่นี้ ยังมี “เพื่อนร่วมงาน” หรือพนักงานในความหมายทั่วไปอยู่ราว 150 คนและยังรับคนเพิ่ม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนครบรอบปีงบประมาณของเรา เราก็ยังจ่ายโบนัสไป 4 ล้านบาท ประมาณว่าคนหนึ่งได้โบนัสประมาณ 1.4 เดือนโดยเฉลี่ย ไม่มากหรอกครับถ้าเทียบกับบริษัทมหาชนชั้นนำในวงการเงินและอสังหาริมทรัพย์
          แต่ในปีที่ผ่านมา หลายบริษัทกลับไม่ได้จ่ายโบนัส โดยให้เหตุผลว่าขาดทุน ซึ่งก็อาจจะจริง แต่บริษัทของผมสามารถจ่ายได้ ก็เพราะเราบริหารจนมีกำไรกระทั่งมีโบนัสจ่ายให้เพื่อนร่วมงาน
          แต่ถ้าผมลงทุน “ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ” แถมน้ำตาอีกสักสองหยด บอกเพื่อนร่วมงานว่าเราขาดทุน ผมก็คงไม่ต้อง “สูญ” เงิน 4 ล้านไปเป็นโบนัส หรืออาจจ่ายแค่ 1-2 ล้าน เก็บเงินไว้เสพสุขได้มากโขอยู่ แต่เราไม่ทำเช่นนั้น เพราะการทำธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกจ้างในเบื้องต้น
          นอกจากเราจ่ายโบนัสแล้ว เรายังส่งเพื่อนร่วมงานที่ได้ตำแหน่งพนักงานดีเด่นอีก 5 คนไปเที่ยวต่างประเทศเป็นการสมนาคุณอีกต่างหาก ปีหนึ่ง ๆ เราส่งกันไปอบรมและดูงานต่างประเทศอีกหลายคนเพื่อมาร่วมกันพัฒนาบริษัทของเรา
          หลายท่านอาจไม่ทราบว่า เราปรับเงินเดือนขึ้นทุกครึ่งปี เราใช้นโยบายนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2538 แม้ห้วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2543 เราก็ไม่เคยละเว้น ทั้งนี้ก็เพราะเราถือว่าเพื่อนร่วมงานเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของเรา ผมอยากบอกว่า แม้วันนี้เราจะไม่สามารถจ่ายโบนัสได้มากกว่าสถาบันการเงินใหญ่ ๆ แต่เราก็ดูแลเพื่อนร่วมงานของเราได้ดีและต่อเนื่องกว่าโดยไม่เคยรุใครออกเลยแม้ในช่วงวิกฤติ
          กิจการของเรามีรายได้รวมกันทั้งปีคงไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่เราจ่ายเพื่อการปรับปรุงคุณภาพ พัฒนาเพื่อนร่วมงาน ให้สวัสดิการและบำเพ็ญประโยชน์ เป็นจำนวนเงินถึงปีละประมาณ 5 ล้านบาท ท่านลองดูตามรายการต่อไปนี้:

  • การตรวจสอบคุณภาพภาคสนาม 1,080,000 บาท
  • การตรวจสอบทางโทรศัพท์-ไปรษณียบัตร 780,000 บาท
  • การจัดเก็บฐานข้อมูลงานประเมิน 360,000 บาท

          รายการทั้งสามข้างต้นนี้ แทบไม่มีใครอื่นทำ แต่ปีหนึ่ง ๆ เราเสียเงินไปประมาณ 2 ล้านบาทนี้ก็เพื่อประกันคุณภาพบริการให้ลูกค้า และสร้างชื่อเสียงและยี่ห้อของเราให้ปรากฏนั่นเอง

  • เงินฝากให้พนักงาน (3% ของเงินเดือน) 648,000 บาท
  • บริการเครื่องดื่มและเครื่องสันทนาการ 240,000 บาท
  • เงินช่วยเหลือคลอดบุตร แต่งงาน บวช 60,000 บาท
  • ทุนการศึกษาบุตรเพื่อนร่วมงาน 150,000 บาท
  • การจัดงานวันเกิดทุกเดือน 96,000 บาท
  • การจัดท่องเที่ยวที่บริษัทจ่ายให้ 250,000 บาท
  • งบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยว 150,000 บาท

          สวัสดิการเหล่านี้ หลายแห่งแทบไม่มี อย่างทุนการศึกษา เราให้ทุนละ 5,000 บาท ชา กาแฟ ไมโลมีให้ดื่มกินโดยไม่คิดมูลค่า เรายังมีสระว่ายน้ำ คอร์ทแบตมินตัน โต๊ะปิงปอง เครื่องออกกำลังกายให้เพื่อนร่วมงานได้ร่วมสันทนาการกัน

  • การสัมมนาประจำปี (2 ครั้งต่อปี) 500,000 บาท
  • การศึกษา ดูงานทั้งใน-ต่างประเทศ 400,000 บาท
  • รางวัลพนักงานดีเด่นรายเดือนและปี 64,000 บาท
  • การประชุม 2 สัปดาห์ต่อครั้งตลอดปี 325,000 บาท

          สักวันหนึ่ง AREA เราอาจจะเจ๊ง ถ้าผมบริหารผิดพลาด แต่เพื่อนร่วมงานของเราต้องมีความรู้ ความสามารถไปทำงานที่อื่นต่อได้ และถ้าพวกเขามีความสามารถดี ขณะที่พวกเขายังอยู่กับเรา เราก็ได้ “เกาะใบบุญ” ของเพื่อนร่วมงานของเราให้เติบโตไปด้วย ดังนั้นเราจึงเน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างเต็มที่

  • การบริจาคให้แก่มูลนิธิประเมินฯ 180,000 บาท
  • การบริจาคอื่นๆ 200,000 บาท
          ระหว่างที่เราทำธุรกิจ เราก็ต้องทำเพื่อสังคมบ้าง เราเคยพาเพื่อนร่วมงานไปเกี่ยวข้าวหรือเลี้ยงเด็กกำพร้าบ้าง โดยสรุปแล้ว กิจกรรมทั้งหมดที่เราทำ ก็ล้วนเพื่อพัฒนาคุณภาพของบริการ เพื่อสร้างยี่ห้อให้กับองค์กรและเพื่อการดำรงอยู่ที่ยั่งยืน เราถือหลักว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้”
          ท่านอาจแปลกใจว่า เช่นนี้แล้วเพื่อนร่วมงานจะลาออกบ้างไหม ผมตอบว่า “มีครับ” เรื่องอย่างนี้ต่างจิตต่างใจ ว่ากันไม่ได้ แต่คนที่ออกไปส่วนมากเสียดายที่ไม่ได้อยู่กับเราจนถึงวันนี้ ที่นี่ไม่ต้องโกงกินลูกค้า ไม่ต้องกินตามน้ำ ไม่ต้องทำงานด้วยลิ้น เราอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรี มีอุดมการณ์และมีรายได้ดีไปพร้อมกันด้วย
          CEO ที่แท้นั้น ไม่ใช่สักแต่สร้างภาพ วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่ได้รับรางวัลธรรมภิบาลมากมาย ปรากฏว่าตัว CEO เองก็ผูกขาดธุรกิจหรือทำธุรกิจที่ทำร้ายประชาชน ฝ่ายจัดซื้อก็กินตามน้ำกันสนุกสนาน ผู้จัดการสาขาก็หักปากถุงลูกค้า อย่างนี้แล้วจะมีศักดิ์ศรีอะไร
          จำไว้นะครับ ประวัติศาสตร์ไม่เคยจารึกชื่อคนรวยล้นฟ้าแต่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไร ถ้าเราเป็นคนและเป็น CEO จริง เราต้องสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม จึงจะไม่เสียชาติเกิด

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA (www.area.co.th) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีฐานข้อมูลที่กว้างขวางที่สุดในไทยและเริ่มสำรวจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ขณะนี้ยังเป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@area.co.th

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่