Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

นายวรพล มะคะที
ระดับประชาชนทั่วไป

จากดอนอีเหยี่ยวสู่การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นท่าอากาศยานที่มีมาตรฐานระดับแนวหน้าของโลก มีรันเวย์ที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์สื่อสารด้านการบินและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่างครบครัน มีถนนเข้าถึงสนามบินได้โดยสะดวก มีรถประจำทางผ่านหลายสาย มีรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือแล่นผ่านด้านถนนวิภาวดีรังสิต นี่คือศักยภาพของท่าอากาศยานแห่งหนึ่งที่คนไทยทั้งประเทศภาคภูมิใจและรู้จักกันโดยทั่วไปในนาม “สนามบินดอนเมือง”
สนามบินดอนเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง อยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457 และได้ปิดภารกิจส่วนใหญ่ลงเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 (เนื่องจากมีการย้ายการบินพาณิชย์ไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ) ตลอดระยะเวลา 92 ปีแห่งการบริการ สนามบินแห่งนี้ ได้พัฒนามาโดยลำดับและใช้เงินลงทุนในการพัฒนาจำนวนมหาศาล จากยุคแรกมีพื้นที่ 1,770 ไร่ กระทั่งถึง พ.ศ. 2538 มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 3,881 ไร่ มีพื้นที่ลานจอดอากาศยาน 860,000 ตารางเมตร จอดอากาศยานได้วันละ 94 เครื่อง มีพื้นที่ลานจอดรถยนต์ 122,405 ตารางเมตร จอดรถยนต์ได้วันละ 4,621 คัน มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารกว่า 237,800 ตารางเมตร รับรองรับผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 10,780 คน และมีพื้นที่อาคารคลังสินค้ากว่า 110,700 ตารางเมตร รองรับสินค้าได้ปีละ 913,320 ตัน ยังไม่นับพื้นที่ว่างของอาคารสำนักงานอื่นๆและพื้นที่ดินว่างเปล่าที่ยังมีอยู่อีกหลายพันตารางเมตร.
สนามบินดอนเมืองมีศักยภาพดังกล่าวข้างต้น จึงเกิดคำถามว่าเราจะใช้ศักยภาพหรือพื้นที่จำนวนมากนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร การใช้สนามบินดอนเมืองเพื่อการบินภายในประเทศเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ลงทุนไป ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองดำเนินการอยู่ในภาวะที่ขาดทุน กล่าวคือมีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายหลายเท่า จึงมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบิน อาจจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสและความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการบินของโลกได้ ดังนั้น รัฐบาลหรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจึงควรสนใจและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องกำหนดแนวนโยบายหรือวิธีการปฏิบัติที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำศักยภาพของสนามบินดอนเมืองมาใช้ให้เกิดมูลค่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แสดงความสนใจจะเข้ามาใช้พื้นที่ของสนามบินดอนเมือง แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายด้านจึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ผู้เขียนในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง และเคยใช้บริการของท่าอากาศยานที่น่าภาคภูมิใจแห่งนี้ จึงขอเสนอแนวทางการใช้สนามบินดอนเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ดังต่อไปนี้

ประการแรก สรรหาหรือคัดเลือกคณะบุคคลมาดำเนินการ ควรมีการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ เชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ด้านบริหารจัดการการตลาด เศรษฐกิจ กฎหมาย บริหารธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสม แต่งตั้งเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ บริหารจัดการพื้นที่ว่างอาคารสำนักงานและพื้นที่ดินว่างเปล่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นคนละชุดกับคณะกรรมการบริหารท่าอากาศยาน(บอร์ด) แต่ก็ทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมการบริหารฯได้ เนื่องจากเป็นงานเฉพาะด้าน ถ้าหากคณะกรรมการบริหารฯดำเนินการด้วยตนเองคงจะไม่คล่องตัว ผู้เขียนคิดว่าการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมือง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีความคล่องตัวกว่าและจะประสบความสำเร็จได้ด้วยดี.
ประการที่สอง บริการการบินภายในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ควรเปิดให้บริการการบินพาณิชย์หรือเครื่องบินโดยสารภายในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือทุกสายการบินที่บริการการบินภายในประเทศ ต้องมาใช้สนามบินดอนเมืองแห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีการแบ่งบริษัทหรือแบ่งตามระดับราคาค่าโดยสาร
ประการที่สาม ก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับสนามบินดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี หรือทางภาคกลางตอนล่าง ให้เลือกใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจากสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิได้ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวซึ่งลงจากเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ หรือจากจังหวัดทางภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี หรือพัทยา เป็นต้น ซึ่งมีความประสงค์จะเดินทางด้วยเครื่องบินภายในประเทศไปยังต่างจังหวัด ก็สามารถโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจากสนามบินสุวรรณภูมิมายังสนามบินดอนเมืองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนยังเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบสนามบินดอนเมือง ปัจจุบันบรรยากาศภายในสนามบินดอนเมืองเงียบเหงา จะหาซื้อน้ำดื่มหรืออาหารก็ยังยาก เศรษฐกิจบริเวณโดยรอบพากันซบเซา ทั้งโรงแรม ห้องพัก ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งนวดแผนไทยและสปา ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิกับสนามบินดอนเมืองแล้ว ก็จะเป็นทางเลือกให้นักบิน ลูกเรือ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยานและประชาชนทั่วไปจำนวนไม่น้อยกว่าวันละ 10,000 คน ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนี้ในการเดินทางไป-กลับในแต่ละวัน การดำเนินการนี้จะสอดคล้องกับสาระสำคัญในประการที่สอง เพราะทำให้ระบบเศรษฐกิจบริเวณใกล้เคียงได้ตื่นตัวและปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน.
ประการที่สี่ ใช้เป็นสำนักงานของส่วนราชการ เนื่องจากในปัจจุบันมีหน่วยงานราชการหลาย แห่งได้เช่าพื้นที่อาคารของเอกชนเพื่อใช้เป็นสำนักงาน ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณค่าเช่าพื้นที่ในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท เพราะค่าเช่าค่อนข้างแพง หน่วยงานราชการที่เห็นว่าน่าจะเข้ามาใช้พื้นที่อาคารของสนามบินดอนเมือง ก็มีเช่น สรรพากรพื้นที่ และประกันสังคมของเขตดอนเมือง หลักสี่ บางเขน สายไหม สำนักทะเบียนราษฎร์ กรมทะเบียนการค้า โดยจัดบริการแก่ประชาชนในลักษณะ One Stop Service การจัดเป็นห้องประชุมคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการจำนวน 35 คณะและคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจำนวน 25 คณะ ทั้งยังมีคณะอนุกรรมการอื่น ๆ อีกหลายชุด ในแต่ละวัน-แต่ละสัปดาห์ต้องใช้ห้องประชุมหลายห้อง ทำให้อาคารรัฐสภาแออัด มีพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่จอดรถยนต์ไม่เพียงพอ จึงน่าจะมาใช้อาคารของสนามบินดอนเมืองเป็นที่ประชุม ในสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เคยใช้อาคารของสนามบินดอนเมืองเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาแล้ว  เพราะช่วยลดความแออัดในบริเวณอาคารรัฐสภาและบริเวณโดยรอบได้เป็นอย่างดี.
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระหรือองค์การมหาชน ซึ่งมีสำนักงานในบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหาการจราจรแออัดและมลภาวะต่างๆ เช่น ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และส่วนราชการอื่น ๆ อีกหลายแห่ง หน่วยงานเหล่านี้ น่าจะมาใช้พื้นที่ว่างของอาคารสนามบินดอนเมืองเป็นสำนักงานสำหรับปฏิบัติงานในส่วนขยาย เพราะจะช่วยลดความแออัดด้านจราจร ช่วยลดมลภาวะในใจกลางกรุงเทพฯ และเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางไปรับการบริการ นับว่าเป็นการใช้สนามบินดอนเมืองให้เกิดมูลค่าซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย.
ประการที่ห้า ใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือเอกลักษณ์ไทย เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) ได้ให้ความสำคัญแก่กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมผนวกกับจุดแข็งในด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นไทย เป็นหลักสำคัญในการสร้างมูลค่า ซึ่งได้จากการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย สปา อาหารไทย และความมั่นคงทางวัฒนธรรม งานทักษะฝีมือ เช่น งานแกะสลัก งานเครื่องปั้น เครื่องเงินเครื่องทอง และเครื่องประดับ เป็นต้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่มรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอีกทางหนึ่งด้วย หรืออาจจะใช้สนามบินดอนเมืองเป็นสถานที่แสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ก็ได้ จะสังเกตได้ว่าในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP)ทุกปี บางปีจัดสองครั้ง ทั้งยังจัดงานขายสินค้าราคาถูก (งานธงฟ้า) และงานอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ละครั้งก็มักจะจัดในพื้นที่ของเอกชน ทำให้รัฐสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินในการเช่าพื้นที่เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ จึงน่าจะใช้พื้นที่ว่างของอาคารสนามบินดอนเมืองแทน เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางไปสถานที่จัดงาน ทั้งยังให้ความสำคัญและคุณค่าแก่ความเป็นไทยในสนามบินดอนเมืองอีกด้วย
ประการที่หก ใช้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมการบิน โดยให้เอกชนผู้สนใจเข้ามาลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ศูนย์บริการอะไหล่อากาศยาน ศูนย์กลางค้าระหว่างประเทศ จำหน่ายสินค้าคุณภาพดีและมีชื่อเสียงจากทั่วโลก ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน และการให้บริการอากาศยานส่วนบุคคลหรือบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก เป็นต้น หากโครงการดังกล่าวเปิดดำเนินการก็จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ.
ประการที่เจ็ด ใช้เป็นสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ส่วนขยาย) ในปัจจุบันมีประชาชนสนใจทำธุรกรรมตลาดหลักทรัพย์กันมากขึ้น เช่น การขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำเบื้องต้นในการลงทุน การเตรียมความพร้อมบริษัทก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และศึกษาหลักการนำเสนอข้อมูล - หลักเกณฑ์-ขั้นตอนในการระดมทุนจากตลาดทุน เป็นต้น นอกจากประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงสนามบินดอนเมืองจะได้รับความสะดวกและประหยัดเวลาเดินทางแล้ว ยังช่วยขยายโอกาสการลงทุนในระบบเศรษฐกิจและช่วยลดความแออัดของการจราจรบริเวณตลาดหลักทรัพย์ฯสำนักงานใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง.
ประการสุดท้าย ใช้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์การบินแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการบินและยานอวกาศแห่งชาติ นอกจากจะเป็นการเชิดชูเกียรติผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างสนามบินดอนเมืองและการบินแล้วยังช่วยเสริมสร้างการศึกษาค้นคว้าและการวิจัยวิชาการด้านการบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมาก.
อย่างไรก็ตาม แนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามบินดังกล่าวข้างต้น จะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ ถ้าต่างคนต่างมีทิฏฐิ ยึดถือประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นหลัก ในทางตรงข้าม หากทุกคนร่วมมือสามัคคีกัน เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือ มีความคิดชอบ มีใจเป็นกลาง ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นหลัก การทำงานทุกอย่างก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า...
หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ  หากให้มีเมตตาและไมตรียินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ. พร้อมกันนั้น ก็เปิดตาเปิดใจให้กว้างขวาง เพื่อศึกษาสังเกตการกระทำ และความคิดอ่านของผู้เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้อง ด้วยใจที่เป็นกลาง.” *
ความมีใจเป็นกลาง มีใจเป็นมิตรไมตรีและมีความสามัคคีกัน จะเป็นพลังนำไปสู่ความสำเร็จ ดังจะเห็นได้จากบรรพชนของเรา ในยุคแรกที่มีการสร้างสนามบินดอนเมือง ไม่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนอย่างปัจจุบัน ท่านก็ยังสามารถสร้างสนามบินดอนเมืองสำเร็จด้วยดี และพัฒนาสนามบินแห่งนี้มาโดยลำดับจนทันสมัยและมีมาตรฐานระดับแนวหน้าของโลกได้ นั่นเป็นเพราะว่าท่านมีความสามัคคีกัน และเป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ การที่เราทุกคนจะนำผลงานที่ท่านสร้างไว้แล้วมาพัฒนาและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ คงไม่เป็นการลำบากยากเย็นเกินความสามารถ ถ้าหากทุกคนเปิดตาเปิดใจให้กว้างและรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เอาใจใส่ในการแก้ปัญหาและมีความสามัคคีกัน ร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง แนวทางการใช้พื้นที่ของสนามบินดอนเมือง ดังได้กล่าวไว้ในข้างต้น คงจะประสบความสำเร็จด้วยดีและจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติตลอดไป.

------------------------------------
* พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
เนื่องในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยครบรอบ 100 ปี 1 เมษายน 2535.

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่