Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย

นางสาวพีรดา จันทร

รางวัลชมเชย ระดับอุดมศึกษา


     “บ้านเราแสนสุขใจ ถึงจะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา” นี่คือตอนหนึ่งของเพลง “บ้านเรา” เมื่อเอ่ยถึง “บ้าน” ทุกคนก็รู้ดีว่า คือ หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คำว่า “บ้าน” คือ ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะมีรูปแบบใด เช่น บ้านเดี่ยว อาคารชุด ห้องชุด หรืออาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีคนอยู่สองฝ่ายที่สนใจบ้านอย่างมาก ฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ที่จะซื้อบ้าน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น อยากมีบ้านเป็นของตนเอง ซื้อไว้เก็งกำไร ซื้อไว้ประดับบารมี หรือซื้อให้ญาติพี่น้อง เป็นต้น อีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ที่จะขายบ้าน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น สร้างบ้านไว้ขาย มีบ้านหลายหลังเกินความจำเป็น ต้องย้ายที่อยู่ หรือขายเพื่อเอาเงินมาใช้ เป็นต้น จากประสบการณ์ที่พบเห็น ปรากฏว่า มีผู้ซื้อและผู้ขายหลายรายมีปัญหาเรื่องราคาที่ซื้อหรือขายไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหลอก ถูกโก่งราคาหรือกดราคา สรุปก็คือ “ซื้อหรือขายไม่สมราคา” ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้ประเมินมูลค่าบ้านไว้ก่อนว่ามีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไร หรือไม่ก็ประเมินไว้อย่างหยาบ ๆ ดังนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจำเป็นที่จะต้อง “ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย” เพื่อจะได้ทราบถึง “มูลค่าที่แท้จริง” จะได้ไม่เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย ซึ่งต่อไปนี้จะชี้ให้เห็นว่าการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่จะมีวิธีการอย่างไร 

     อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะกล่าวถึงวิธีการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ ขอทำความเข้าใจกับคำว่า “มูลค่าที่แท้จริง” เสียก่อน จะได้มีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งทางมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยได้อธิบายไว้ดังนี้

     ในการประเมินค่าทรัพย์สิน เราเรียกมูลค่าที่ประเมินว่า “ มูลค่าตลาด ” ซึ่งมีคำจำกัดความว่า

     “เป็นราคาประมาณการสูงสุด ณ วันที่ประเมินค่า ซึ่งทรัพย์สินนั้นสามารถขายได้ในตลาดเสรีทั่วไปในระยะเวลาที่พอเพียง และสมเหตุสมผลในการหาผู้ซื้อ และผู้ขายมีคามรอบรู้ในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นได้อย่างเต็มที่ในสภาพที่เป็นอยู่ โดยมีสมมุติฐานว่าราคานี้ไม่ได้มีผลกระทบจากความมิชอบหรือสภาพพิเศษใด ๆ”

     ดังนั้น “มูลค่าที่แท้จริง” ก็คือ “มูลค่าตลาด” โดยคำว่า “มูลค่าตลาด” จะแตกต่างจากคำว่า “ราคาตลาด” กล่าวคือ “มูลค่าตลาด” เป็นมูลค่าตามความเห็นของผู้ประเมินต่อทรัพย์สินที่ประเมิน โดยการเปรียบเทียบจาก “ราคาตลาด” ซึ่งหมายถึง ราคาทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีการซื้อขายหรือประกาศขายในบริเวณนั้น หรือหมู่บ้านนั้น ซึ่งมีมากมายหลายราคา ในการประเมินนั้น ผู้ประเมินจะต้องนำราคาตลาดที่สืบหาได้ มาทำการวิเคราะห์มูลค่าตลาดอีกทีหนึ่ง เพื่อหา “มูลค่าที่แท้จริง”

วิธีการประเมินมูลค่าบ้าน

     ในการประเมินมูลค่าของ “บ้าน” ทางมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ก็ได้อธิบายไว้ว่า จะใช้วิธีเดียวกันกับการประเมินค่าทรัพย์สินทั่วไป ซึ่งมีวิธีการที่ถือเป็นมาตรฐานสากลอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ คือ

     วิธีที่ 1 วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน ( Cost Approach to Value )

     หลักสำคัญของวิธีนี้ก็คือ “ มูลค่าของสิ่งหนึ่ง = ต้นทุนในการหาสิ่งอื่นที่เทียบเคียงได้มาทดแทน ”

     วิธีการก็คือ เราเริ่มที่การประมาณการต้นทุนในการสร้างอาคารทดแทนตามราคาปัจจุบัน แล้วหักลบด้วยค่าเสื่อม (ถ้ามี) บวกด้วยมูลค่าตลาดของที่ดิน ก็จะได้มูลค่าของทรัพย์สินนั้น
     ข้อสังเกตที่สำคัญของการประเมินมูลค่าวิธีนี้ ก็คือ ส่วนมากใช้สำหรับโรงงานหรืออาคารที่สร้างขึ้นเฉพาะ และในภาวะที่ราคาทรัพย์สินตกต่ำ แต่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น บางครั้งต้นทุนที่คำนวณได้อาจจะแพงกว่ามูลค่าตลาดเสียอีก ทำให้การประเมินด้วยวิธีนี้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้
    วิธีที่ 2 วิธีเปรียบเทียบตลาด ( Market Comparison Approach )
     เป็นวิธีที่ดีที่สุดและชัดเจนที่สุด หลักก็คือ

    มูลค่าของทรัพย์สินของเรา = ราคาของทรัพย์สินเทียบเคียงที่คนอื่นขายได้

     แนวทางก็คือ เริ่มที่การหาทรัพย์สินเทียบเคียงที่มีการซื้อขาย / เรียกขาย มาดูว่ามีลักษณะคล้าย / ต่างจากทรัพย์สินที่ประเมินอย่างไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลมาเพียงพอแล้ว ก็ตรวจสอบเพื่อคัดเลือกนำทรัพย์สินที่เทียบเคียงได้จริงเท่านั้นมาทำการวิเคราะห์ โดยระบุถึงเงื่อนไขในการเปรียบเทียบของทั้งทรัพย์สินที่ประเมินกับทรัพย์สินที่เปรียบเทียบ เช่น คุณภาพอาคาร ขนาดของที่ดิน – อาคาร เป็นต้น แล้วจึงสรุปหามูลค่าที่สมควรโดยวิเคราะห์เปรียบเทียบ
    วิธีที่สอง วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า ( Income Approach )
     หลักก็คือ มูลค่าวันนี้ = ผลรวมของรายได้สุทธิที่จะได้ในอนาคตจนสิ้นอายุขัย
     ทรัพย์สินมีค่าเพราะมันสร้างรายได้ ทรัพย์สินที่สร้างรายได้สูงกว่า มักมีมูลค่าสูงกว่า (ทำเล-คุณภาพดีกว่า)

ขั้นตอนของวิธีนี้มีดังต่อไปนี้
1 )

ประมาณรายได้ของทรัพย์สินจากทุกแหล่ง โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบตลาดและรายได้จริงของทรัพย์สินที่ประเมินโดยตรง

2 )

ลบด้วยการไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือหนี้สูญจากข้อเท็จจริง และจากการเปรียบเทียบหรือแนวโน้มในตลาดก็จะได้รายได้ที่เป็นจริง

3 )

จากนั้นก็หักด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าดำเนินการ ค่าประกัน ค่าภาษี ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ก็จะได้รายได้สุทธิ

4 )

นำรายได้สุทธิมาเข้าสูตร V = I / R โดยที่ V คือ มูลค่าทรัพย์สิน, I คือ รายได้สุทธิ และ R คือ อัตราผลตอบแทน (อัตราผลตอบแทน มักใช้อัตราขั้นต่ำปลอดภัยที่สุดที่ใช้เงินทำงานแทนเรา โดยที่เราไม่ต้องไปลงทุนเสี่ยงเอง เช่น ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่านี้ เหมาะสำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นหอพักหรือบ้านเช่า ดังนั้น ผู้ที่จะซื้อขาย
หอพักหรือบ้านเช่าก็ควรจะนำวิธีนี้มาใช้ในการประเมินจะเหมาะสมที่สุด
การประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย
     เมื่อทราบถึงวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยทั่วไปแล้ว ต่อไปเราก็มาพิจารณาว่า จะมีวิธีการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะมีการซื้อ-ขาย อย่างไร โดยจะขอนำบ้านที่มีการซื้อ-ขายกันมาก ซึ่งได้แก่ บ้านจัดสรรที่มีการซื้อขายกันทั่ว ๆ ไป มาเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะสามารถเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ ในการประเมินมูลค่าบ้านจัดสรร ถ้าจะให้มีการประเมินอย่างถ้วนถี่ ก็ต้องใช้วิธีเปรียบเทียบตลาดที่ว่า มูลค่าบ้านที่เราจะซื้อหรือขาย = ราคาบ้านเทียบเคียงกับที่คนอื่นขายได้ ที่ใช้วิธีการนี้ ก็เพราะสามารถสืบหาข้อมูลตลาดประเภทเดียวกันที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันในบริเวณใกล้เคียงมาเปรียบเทียบได้เพียงพอ เป็นต้นว่า บ้านเดี่ยว ชั้นเดียว ในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งวิธีการนี้จะพิจารณามูลค่าตามสภาพราคาตลาดเป็นสำคัญ

     เริ่มจากทำการสำรวจบ้านที่ประเมินก่อนโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทำเลที่ตั้ง ประเภทของบ้าน ขนาดของบ้านและที่ดิน พื้นที่ใช้สอย รั้วบ้าน บริเวณบ้าน ประเภทของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นต้น ต่อจากนั้น ก็ไปสืบหาบ้านประเภทเดียวกันที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ที่เรียกว่า “ ข้อมูลตลาด ” มาเปรียบเทียบกับบ้านที่เราประเมิน ว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างจากบ้านหลังที่เราประเมินในเรื่องใดบ้าง แล้วจึงนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ถ้าเรื่องใดเหมือนกันก็ให้เป็นไปตามนั้น ถ้าเรื่องใดแตกต่างกัน เช่น บ้านที่นำมาเปรียบเทียบมีห้องน้ำ 2 ห้อง แต่บ้านที่เราประเมินมีห้องเดียว ก็มาปรับแก้ เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบจนแน่ใจแล้ว จึงมาสรุปมูลค่าตลาดที่ประเมิน โดยพิจารณาจากข้อมูลตลาดที่คล้ายคลึงกับบ้านที่ประเมินมากที่สุด เชื่อถือได้มากที่สุด และมีการซื้อ-ขาย ใกล้เคียงกับวันที่ประเมินมากที่สุด

     โดยสรุปก็คือ ต้องสืบดูว่าบ้านที่เรานำมาเปรียบเทียบที่มีลักษณะต่างๆคล้ายกับบ้านหลังที่เราประเมิน เขาขายกันราคาเท่าไร บ้านที่เราประเมินเพื่อจะซื้อหรือขายก็ควรมีราคาใกล้เคียงกัน แต่มีข้อแนะนำว่า เพื่อความถ้วนถี่ ควรสืบดูบ้านที่จะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบอย่างน้อย 2 หลัง และขอย้ำว่า การประเมินด้วยวิธีนี้ ความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลตลาด เชื่อว่าทุกแห่งมีข้อมูลเพียงพอ แต่ขึ้นอยู่กับการหาข้อมูล ผู้ประเมินต้องละเอียดรอบคอบ อย่าหาเพียงข้อมูลเรียกขาย แต่ให้มีข้อมูลซื้อขายจริงด้วย และต้องระวังการสร้างหลักฐานเท็จจะทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้

     สำหรับการซื้อขายบ้านที่ไม่ใช่บ้านจัดสรร คือ บ้านที่ปลูกสร้างเอง ซึ่งมีรูปลักษณ์หลากหลาย หาบ้านที่คล้ายกันมาเทียบเคียงยาก ถ้าจะประเมินให้ถ้วนถี่ ก็ขอแนะนำให้ใช้วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน โดยต้องนำปัจจัยต่าง ๆมาร่วมพิจารณาเพื่อหามูลค่าที่แท้จริง เช่น สภาพของบ้าน แบบบ้าน วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง อายุการใช้งาน การดูแลรักษา พื้นที่ใช้สอย ระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นต้น

     ส่วนจะให้ใครมาประเมินนั้น ก็อยู่ที่ผู้ซื้อผู้ขายเห็นสมควร แต่ถ้าจะให้ละเอียดถ้วนถี่ ก็ควรจะใช้ผู้ประเมินระดับมืออาชีพ โดยเฉพาะบริษัทที่รับประเมินที่มีอยู่หลายบริษัท เพราะมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้และเชื่อถือได้

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย

     ถ้าผู้ซื้อหรือผู้ขายได้ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย จะเกิดประโยชน์มากมาย ที่สำคัญคือ
1 )
ป้องกันไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ถูกหลอก ไม่เสียรู้ เพราะถ้ารู้มาก่อนแล้วว่า บ้านหลังที่เรา จะซื้อหรือขายมีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไรแล้ว โอกาสที่จะถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบก็ยาก ผู้ขายจะมาโก่งราคา หรือผู้ซื้อจะมากดราคา เราก็รู้ทัน สามารถอธิบายได้ว่าราคาที่สมเหตุสมผลเป็นเท่าไร สรุปก็คือ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีความสบายใจ พอใจและมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน

2 )

ทำให้มีการซื้อหรือขายกันง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เพราะรู้มาก่อนแล้วว่า บ้านหลังที่จะซื้อหรือขายมี มูลค่าเท่าไร ไม่ต้องเสียเวลามาทำการประเมินกันใหม่ เมื่อต่างคนต่างรู้ก็ตกลงกันง่าย ได้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากนั้นถ้าผู้ซื้อรู้มาก่อนแล้วว่า บ้านที่จะซื้อมีราคาเท่าไร ก็จะได้จัดหาเงินมาซื้อได้ตามราคา ส่วนผู้ขายถ้ารู้ราคาบ้านที่จะขายก่อนขาย ก็ประกาศล่วงหน้าให้ผู้ซื้อได้ทราบก่อน จะช่วยให้มีลูกค้ามาติดต่อซื้อเร็วขึ้น

3 )

ช่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินให้ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับ เพราะในการประเมิน มูลค่าบ้านก่อนที่จะซื้อหรือขาย จำเป็นจะต้องใช้วิธีการประเมินที่เป็นมาตรฐานสากล ต้องใช้นักประเมินมืออาชีพที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพการประเมิน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมวิชาชีพการประเมินให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น

     นอกจากนั้น ยังเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่จะขายบ้าน เพราะถ้ามีการประกาศราคาให้ผู้ซื้อรู้ล่วงหน้า ก็ถือ ได้ว่ามีความจริงใจต่อผู้ซื้อ ผลที่ตามมาก็คือ จะได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้ซื้อ ถ้าทำเป็นธุรกิจก็ช่วยให้ธุรกิจรุ่งเรือง ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังช่วยแก้ปัญหาให้รัฐบาลในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะช่วยลดปัญหาการร้องเรียนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อ-ขายบ้าน รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียเวลามาแก้ปัญหากับเรื่องนี้ มีเวลาไปพัฒนาทางด้านอื่น

     ที่กล่าวมานี้ คงพอจะเห็นชัดแล้วว่า ถ้ามีการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขายกันแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับจะมีมากมาย ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และรัฐบาล ที่เห็นชัดที่สุดและตรงเป้าที่สุดก็คือ การสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย

     อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินน้อยมาก ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่บ้าน ก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นเพราะไม่ได้นำระบบการประเมินมูลค่าทรัพย์สินมาใช้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่รู้ ไม่ยอมรับ หรือไม่เห็นความสำคัญก็ได้ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินฯ ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในประเทศไทย โดยจะขอเสนอแนะวิธีการดังต่อไปนี้

1 )
องค์กรทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน จะต้องช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินให้เจริญก้าวหน้า มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ โดยดำเนินการอย่างน้อย 4 ด้าน คือ (1) การจัดการศึกษา ต้องจัดให้มีสถาบันเกี่ยวกับการประเมินโดยเฉพาะ และผลักดันให้มีการเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับการประเมินในสถาบันการศึกษาทุกระดับทุกแห่ง โดยเฉพาะระดับมัธยมและอุดมศึกษา (2)ให้มีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพการประเมิน (3) จัดให้มีองค์กรควบคุมทางวิชาชีพการประเมิน และ (4) จัดให้มีฐานข้อมูลเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินอย่างพอเพียงและเป็นระบบ

2 )

องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทรัพย์สิน จะต้องร่วมมือกันเผยแพร่ ความรู้เรื่องการประเมินค่าทรัพย์สินให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจอย่างกว้างขวางและทั่วถึง พร้อมทั้งสนับสนุนหรือผลักดันให้ประชาชนนำความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3 )

ในส่วนของประชาชนทั่วไป ก็ต้องเห็นความสำคัญของการประเมินค่าทรัพย์สิน ต้องหมั่นศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สิน และเมื่อมีโอกาสก็นำความรู้ไปใช้อย่างจริงจัง

     เพียงแค่ 3 ข้อที่กล่าวมา ถ้าสามารถดำเนินการได้ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้วิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินเจริญก้าวหน้า มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยอย่างแน่นอน

     “บ้าน” ไม่ใช่เป็นเพียงที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่บ้านเป็นสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันรากฐานที่สำคัญของสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของคนในครอบครัวในทุกด้าน ทุกวันนี้ บ้านกลายเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ถ้าจะตัดสินใจซื้อหรือขายบ้าน ก็ควรจะได้มีการประเมินมูลค่าให้ถ้วนถี่เสียก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย และเพื่อให้ “บ้าน” ได้ทรงคุณค่าอย่างแท้จริงสมกับเป็นสถาบันครอบครัว คงถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนควรจะหันมาสนใจเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าบ้านกันอย่างจริงจังเสียที เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สินให้เจริญก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในเชิงสังคม และธุรกิจตามแบบนานาอารยะประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ช่วยสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สังคมไทยก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ซึ่งจะส่งผลให้ชาติไทยของเราวัฒนาถาวรตราบชั่วนิจนิรันดร์

 

 
 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่