Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย
นาย อาทิตย์ ผดุงเดช
รางวัลชนะเลิศ ประเภทประชาชนทั่วไป

     “จะอยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา” เป็นคำพูดที่ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การมีบ้านของตัวเองสักหลังหนึ่งเป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วไป แต่ด้วยภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน จนเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ราคาหรือมูลค่าของบ้านขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ หรือห้องชุดก็ตาม ทำให้กว่าที่ใครสักคนจะสามารถครอบครองบ้านในฝันที่เป็นเหมือนสวรรค์ของตัวเองได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจกลายเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับใครหลาย ๆ คน

     บ้านเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง บางคนอาจต้องใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตเพื่อซื้อบ้าน ดังนั้น การจะตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายบ้านสักหลังหนึ่งต้องผ่านการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบที่สุด เมื่อผู้ซื้อก็ต้องการบ้านที่ถูกและดี หรือได้รับประโยชน์และความพอใจคุ้มค่ากับเงินทุกบาทที่จ่ายไป ส่วนผู้ขายก็ต้องการขายบ้านให้ได้ราคาที่สูงที่สุด เพราะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าจากการลงทุนก่อสร้าง การตกแต่ง หรือผลกำไรของส่วนต่างจากที่ซื้อมาในตอนแรก การซื้อ-ขายบ้านแต่ละครั้งจึงต้องมีราคาที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความตกลงที่ประสานประโยชน์ระหว่างกันอย่างลงตัว ราคาหรือมูลค่าที่ใช้ในการซื้อ-ขายที่เป็นที่ยอมรับนั้น อาจจะได้มาจากผู้ซื้อหรือผู้ขายเอง จากบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่ายให้เข้ามามีบทบาทในการซื้อ-ขาย หรือถ่ายโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์ ราคาหรือมูลค่าดังกล่าวก็คือ ราคาหรือมูลค่าที่ได้มาจากกระบวนการที่เรียกว่า “ การประเมินมูลค่าบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ ” นั่นเอง

     การประเมินมูลค่าบ้านมีความสำคัญในอันที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกซื้อ-ขาย หรือลงทุนเกี่ยวกับบ้านได้อย่างมั่นใจบนพื้นฐานของความถูกต้องในแง่มูลค่า โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์มูลค่าที่ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ทั้งนี้ ต้องอาศัยความรู้และการสั่งสมประสบการณ์ในการประเมินและตัดสินใจ ซึ่งหากผู้ที่ประสงค์จะซื้อหรือขายไม่มีความรู้และประสบการณ์ที่เพียงพอในการที่จะประเมินมูลค่าของบ้านได้ด้วยตัวเอง ก็สามารถที่จะอาศัยผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการเฉพาะมาช่วยในกระบวนการประเมินมูลค่าก่อนตัดสินใจซื้อ-ขาย หรือถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจที่ถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพในการซื้อ-ขาย และเอื้อประโยชน์ที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกฝ่าย ขจัดการหลอกลวงต้มตุ๋น และความไม่เป็นธรรมให้ออกไปจากระบบ

     เมื่อพิจารณาบ้านในฐานะทรัพย์สินที่เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง จะพบว่าโดยธรรมชาติของบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นมีลักษณะแปรผันตามกับสภาวะเศรษฐกิจ ในยามที่เศรษฐกิจเติบโต ราคาบ้านก็จะสูงตามไปด้วย แต่จะมีข้อแตกต่างจากสินค้าทั่วไป คือ มีการเปลี่ยนแปลงของราคาค่อนข้างช้า เป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องต่ำ การตัดสินใจซื้อ-ขายใช้ระยะเวลายาวนาน และการซื้อ-ขายครั้งหนึ่ง ๆ จะมีผู้ซื้อหรือผู้ขายเพียงบางรายเท่านั้น อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับผู้ที่ต้องการบ้าน ซึ่งมีความสามารถในการซื้อสูง ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงนี้ทำให้มีผู้ซื้อน้อยรายที่จะมีเงินสดในการซื้อ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งก็ขึ้นกับเงินกู้ว่ามีเพียงพอหรือไม่ ทำให้อัตราดอกเบี้ย การจ่ายเงินดาวน์และระยะเวลาในการผ่อน เข้ามีส่วนต่อการตัดสินใจในการซื้อด้วย นอกจากนี้ตลาดบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ยังมีวัฎจักรที่ค่อนข้างแน่นอนชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเฟื่องฟู หรือตกต่ำ
     โดยทั่วไป การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ประเภทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็รวมไปถึงบ้านนั้น มีวิธีประเมินมูลค่าตามมาตรฐานสากลอยู่ 3 วิธี ด้วยกัน คือ
     วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน เป็นการประเมินมูลค่าจากการคิดคำนวณต้นทุนการก่อสร้างใหม่ของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ หักลบด้วยค่าเสื่อมราคา แล้วบวกด้วยมูลค่าของที่ดิน

     วิธีเปรียบเทียบตลาด เป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุด คือ การเปรียบเทียบกับราคาหรือมูลค่าบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในตลาด โดยระบุถึงเงื่อนไขในการเปรียบเทียบบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ประเมิน เช่น คุณภาพ หรือขนาดของบ้าน-ที่ดิน แล้วจึงสรุปราคาหรือมูลค่าที่สมเหตุสมผลและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งหัวใจก็อยู่ที่การหารข้อมูล ผู้ประเมินจะต้องละเอียดรอบคอบในการหาข้อมูล โดยไม่เพียงแต่จะหาข้อมูลที่ประกาศขายเท่านั้นแต่ต้องให้มีข้อมูลซื้อ-ขายจริงด้วย และพึงระวังการสร้างหลักฐานการซื้อ-ขายเท็จ เพื่อลวงผู้ประเมินด้วยการประเมินที่มีข้อมูลเปรียบเทียบน้อยหรือไม่สอดคล้องกัน จะทำให้การวิเคราะห์หามูลค่าผิดพลาด และไม่น่าเชื่อถือได้

     วิธีสุดท้าย คือ วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า เป็นการใช้ผลรวมของรายได้สุทธิที่จำได้รับในอนาคตจนสิ้นอายุขัย มาแปลงเป็นมูลค่า ณ วันนี้ เช่น บ้านที่สามารถให้เช่านั้นมีความสามารถสร้างรายได้จากค่าเช่าตลอดอายุของบ้านเป็นเท่าไหร่ หรือขายต่อในภายหลังจะได้ราคาเท่าไหร่ บ้านที่มีศักยภาพในการทำรายได้จากการให้เช่าหรือทำกำไรสูงก็มักจะราคาหรือมูลค่าสูงกว่าบ้านที่สามารถสร้างรายได้ได้น้อยกว่า
     ในกรณีทรัพย์สินธรรมดาหรือสินค้าทั่วไปนั้น การประเมินมูลค่าอาจใช้วิธีการเปรียบเทียบตลาดเบื้องต้นเป็นหลักได้ แต่ในกรณีทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงหรือซับซ้อนมาก อย่างในกรณีของบ้านอาจต้องใช้ทั้ง 3 วิธีหรืออาจใช้วิธีอื่นที่เป็นวิธีขั้นสูงขึ้นไปมาพิจารณา จากนั้นผู้ประเมินจะมาสรุปความเห็นต่อมูลค่าที่เป็นไปได้มากที่สุดต่อไป การวิเคราะห์สรุปจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบแต่ละกระบวนการหรือขั้นตอนในแต่ละวิธี ซึ่งเมื่อทบทวนแล้วอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จากนั้นก็อาจชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือในแต่ละวิธี ผสานกับประสบการณ์และความเห็นของผู้ประเมิน ก็จะทำให้สามารถสรุปราคาหรือมูลค่าที่สมเหตุสมผลสามารถอธิบายได้
     มูลค่าบ้านที่ได้จากการประเมินอาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่า หรือเท่ากับราคาหรือมูลค่าที่ซื้อขายจริงได้ เพราะการประเมินมูลค่าเป็นเพียงความเห็นของผู้ประเมิน ณ วันที่ประเมินเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบในการประเมินมูลค่าบ้าน ได้แก่

     วันซื้อ-ขาย หากซื้อ-ขาย ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู แต่ ณ วันประเมินนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ มูลค่าที่ประเมินได้อาจลดต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายจริงได้

     ลักษณะทางกายภาพของบ้าน เช่น ขนาด วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง รายละเอียดรูปแบบโครงสร้างอาคาร การใช้ประโยชน์ปัจจุบัน อายุอาคาร การปรับปรุง หรือคุณภาพของบ้านหรือตัวอาคาร

     ทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมทางกายภาพ พิจารณาจากการเข้าถึงถนน ความสะดวกในการเข้าออก ระบบการขนส่ง สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ หรือบริการชุมชน เช่น ระบบการกำจัดขยะ ความปลอดภัย ศูนย์บริการชุมชน ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีการซื้อ-ขายจริง สภาพแวดล้อมอาจยังไม่มีการพัฒนา โครงข่ายโทรคมนาคม แต่ ณ วันที่มีการประเมินมีการเปิดให้บริการถนนเส้นใหม่หรือกลบายเป็นจุดเชื่อมต่อระบบโครงข่ายโทรคมนาคมนอกเมืองและในเมือง ก็จะทำให้ราคาประเมินจะสูงกว่าราคาที่ซื้อ-ขายจริง

     สภาพสังคมด้านจิตวิทยา หมายถึง สภาพสังคมหรือบ้าน ณ บริเวณโดยรอบ ความเสี่ยงจากเหตุปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายมารบกวน แม้จะเป็นบ้านที่คุณภาพดีก็อาจทำให้ราคาประเมินต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบ้านได้

     เงื่อนไขการซื้อ-ขายอื่น ๆ เช่น แรงกดดันในการซื้อขาย ก็มีผลต่อการประเมินมูลค่าเช่นเดียวกัน

     การประเมินมูลค่าบ้านก่อนการซื้อ-ขายอย่างถ้วนถี่ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการซื้อ-ขายตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังช่วยให้ผู้ครอบครองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น การนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงิน การทำประกันภัย การเสียภาษี การเวนคืน และยังเป็นเครื่องแสดงความมั่งคั่งของผู้ที่ถือครองได้อีกด้วย
     การซื้อ-ขายบ้านถือเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่มีความเสี่ยงจากไม่สมบูรณ์ของข้อมูลในเรื่องมูลค่าที่แท้จริงของบ้าน หากเราละเลยปล่อยให้การซื้อ-ขายเป็นไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้องและเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าวแล้วย่อมาจะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยนบ้านใหม่ เมื่อเราไม่ได้รับความพึงพอใจหลังจากที่ได้เข้ามาอยู่แล้ว การตัดสินใจซื้อบ้านแต่ละครั้งนอกเหนือจากต้นทุนที่เป็นตัวเงินที่จ่ายไปแล้ว ยังมีต้นทุนแฝงหรือต้นทุนที่จับต้องไม่ได้ เช่น ต้นทุนจากการเสียเวลา การปรับตัว และความคาดหวัง ดังนั้นก่อนการซื้อ-ขายจึงต้องพิจารณาในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับราคาหรือมูลค่าที่ตกลงกัน หากผู้ซื้อยอมเสียเงินน้อยลงแต่ต้องแลกกับความลำบากหรือความรำคาญไปบ้าง ย่อมไม่เกิดปัญหาข้อพิพาท แต่หากผู้ซื้อต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งโดยรวมถึงการซื้อความสะดวกสบาย และความสุขทางใจแล้วผู้ซื้อก็สมควรที่จะได้รับสิ่งเหล่านั้นอย่างเต็มที่

     จากที่กล่าวมา ถือได้ว่ากระบวนการประเมินมูลค่าบ้านเป็นหลักการสำคัญในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่รู้ถึงมูลค่าที่แท้จริง ช่วยสร้างความมั่นใจและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและโปร่งใจในการซื้อ-ขายให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หากทั้งสองฝ่ายมีความถ้วนถี่ในการตรวจสอบหรือติดตามการประเมินอย่างใกล้ชิด และรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ย่อมจะสร้างความสุข ความพอใจให้แก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินเข้ามามีบทบาทเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการประเมิน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง และเรียนรู้ในทุก ๆ มิติที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความรู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและวิธีการซื้อ-ขายของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในทุกขณะ

     ทั้งนี้ ประชาชนเองก็จะต้องหันมาให้ความสำคัญและเพิ่มความสนใจต่อกระบวนการประเมินมูลค่าบ้าน และทรัพย์สินต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งมิได้เรื่องยากหรือไกลตัวอย่างที่หลายคนคิดเพราะมีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สินของกรมที่ดิน มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย หรือโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยที่จะคอยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และแนะนำในการศึกษาหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าบ้านหรือทรัพย์สินต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพียงเท่านี้ การประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย จะไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์ในการซื้อ-ขายของตนเอง แต่ยังจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเอื้อต่อการสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นแก่ระบบการแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขายหรือถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินอื่น ๆ โดยรวมต่อไป

 

 
 
Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่