สุนทรพจน์
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”
นายสุชาวุฒิ ธรรมวรพล
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยประสบปัญหาการหาพื้นที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ต่าง ๆ ท่านคงเคยสงสัยว่าทำไมการหาพื้นที่เพียง 12 ตารางเมตรสำหรับจอดรถจึงเป็นเรื่องยากเย็นถึงเพียงนี้ ท่านจะประหลาดใจหรือไม่ครับถ้าผมบอกท่านว่าประเทศไทยของเรายังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเพียงพอที่จะจอดรถได้มากกว่า 380 ล้านคัน ถ้าเราใช้ที่ดินกว่า 2.9 ล้านไร่*นี้ สำหรับการปลูกข้าวนาปี จะได้ผลผลิตกว่า 1,250,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่น 7 พันล้านบาทต่อปี พื้นที่รกร้างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการขาดประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรที่ดินอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลจึงควรหามาตรการหรือเครื่องมือที่จะสร้างแรงจูงใจให้ใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นคำตอบหนึ่งครับ และภาษีนี้ยังจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย และพัฒนาประเทศชาติ อย่างที่บางท่านอาจคาดไม่ถึง

หลาย ๆ ท่านอาจจะตั้งคำถามต่อไปว่า ในเมื่อปัจจุบันเรามีภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาอีก และภาษีใหม่นี้จะสร้างความแตกต่างได้มากดังที่ผมกล่าวอ้างไว้เชียวหรือ ท่านผู้มีเกียรติครับ ความจริงก็คือ โครงสร้างภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อบกพร่องอยู่มาก เป็นภาษีที่มีฐานการเก็บแคบ ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการเก็บที่ซ้ำซ้อน จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ภาษีทั้งสองนี้จึงจะถูกยกเลิกเมื่อประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีโครงสร้างกลไกที่ดีกว่า โดยกลไกที่ว่าประกอบด้วยฟันเฟือง 3 ตัวที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ฟันเพืองทั้ง 3 ตัวมีบทบาทดังต่อไปนี้ครับ

ฟันเฟืองที่ 1 กระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างซึ่งเจ้าของที่ดินถือครองไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  ที่ดินเหล่านี้จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของมูลค่าที่ดิน และจะถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าทุก ๆ 3 ปี โดยมีเพดานอยู่ที่ร้อยละ 2 ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินรกร้างของตนให้เกิดประโยชน์ก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำลงอย่างมาก ยิ่งถ้านำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมก็จะเสียภาษีไม่เกินร้อยละ 0.05 ของมูลค่าที่ดินโดยไม่มีการปรับขึ้น หมายความว่าถ้าที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษีไม่เกิน 500 บาทต่อปีเท่านั้น เช่นนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินหาทางใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนและลดการเก็งกำไรที่ดิน ตัวอย่างมีให้เห็นในประเทศเกาหลีใต้ครับ เนื่องจากภูมิประเทศของประเทศเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์น้อยมาก รัฐบาลจึงใช้ภาษีนี้ลดปัญหาการถือครองที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ที่ดินเหล่านั้นจึงถูกนำมาใช้สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างผลผลิต และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ฟันเพืองที่ 2 ส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะต่าง ๆ โดยรายได้ส่วนใหญ่ รัฐบาลกลางจัดสรรมาให้  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ครับ เพราะรายได้ทั้งหมดจะใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภค การศึกษา การคมนาคม สถานพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ของท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในอนาคตท้องถิ่นต่าง ๆ ก็จะพัฒนา คุณภาพชีวิตและฐานะของประชาชนก็จะดียิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น มูลค่าทรัพย์สินก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่นนั้น ๆ เท่ากับเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จ่ายภาษีนั่นเอง จะเรียกว่าเป็นการคืนกำไรให้แก่ผู้เสียภาษีก็ไม่ผิดแต่ประการใด

ฟันเฟืองที่ 3 ส่งเสริมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยนอกเหนือจากการเลือกตั้งแล้วความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยังมีองค์ประกอบสำคัญคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานและช่วยกันตรวจสอบการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ให้ปราศจากการทุจริตด้วย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ได้ครับ เพราะเงินภาษีนี้มาจากคนในท้องถิ่นโดยตรง และจะใช้พัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นภาษีของคนในท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่น และเพื่อคนในท้องถิ่นโดยแท้จริง ฟันเฟืองนี้ส่งเสริมให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของภาษี ต้องการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นว่าจะพัฒนาท้องถิ่นของตนไปในทิศทางใดอย่างไร และพร้อมจะสอดส่องการทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต นับเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแห่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยระดับชาติในภายหน้า

ท่านผู้มีเกียรติครับ เมื่อรัฐบาลเริ่มนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ฟันเพืองทั้ง 3 ตัวนี้จะร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการใช้ทรัพยากรที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ท้องถิ่นจะมีรายได้สำหรับพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และตรวจสอบการบริหารราชการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ขอให้ทุกท่านอย่าเพิ่งมองในแง่ลบว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาระใหม่ แต่ขอให้ทำความรู้จักกับภาษีใหม่นี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อท่านจะได้เห็นพ้องว่าในระยะยาว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย และพัฒนาชาติไทยของเราให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน.

หมายเหตุ

  1. * ข้อมูลพื้นที่รกร้างในประเทศไทย นำมาจาก
  2. การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรของประเทศไทย ระดับประเทศ ภาค จังหวัด ปี 2553 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายสุชาวุฒิ ธรรมวรพล