สุนทรพจน์
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”
นายกระแสร์ รังสิพล
ข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง

เรียนท่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน กระผม นายกระแสร์ รังสิพล ข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ” มุมมองและความเห็นในที่นี้เป็นเพียงความคิดเห็นโดยส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ผมสังกัดแต่อย่างใด
ท่านผู้มีเกียรติครับ ณ วันนี้ ประเทศไทยมาถึงจุดที่ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งอยู่ในระดับสูงอย่างน่าตกใจ จากข้อมูลการถือครองที่ดินของไทยในปัจจุบัน คนเพียงจำนวนร้อยละ 20 ของประเทศ กลับถือครองที่ดินถึงร้อยละ 80 ของที่ดินทั้งหมด เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรครับในภาวะที่ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงเช่นนี้? ประเทศไทยพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยโครงสร้างที่เอียงกะเท่เร่อย่างนี้หรือ?
ทุกคนคงทราบกันดีครับว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ทั้งเพื่อประโยชน์ขั้นพื้นฐาน คือเป็นที่อยู่อาศัย หรือเป็นปัจจัยการผลิตในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ความเหลื่อมล้ำทางการถือครองที่ดินจึงเป็นรากฐานที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสภาพความเป็นอยู่ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสถานะศักดิ์ศรีทางสังคมอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงสำนึกความเป็นประชาธิปไตยในประเทศของเราด้วยเช่นกัน เพราะ การที่โครงสร้างการถือครองทรัพย์สินมีความแตกต่างกันอยู่มาก ย่อมหมายถึงการที่คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง สภาพเช่นนี้ขัดแย้งกับความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งอยู่บนฐานของความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาควรมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน และควรได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคกัน ทำให้คนบางกลุ่มที่ขาดโอกาสอาจยอมจำนนต่อสภาพและยอมรับสถานะที่เสียเปรียบ แม้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะอยู่ในสังคมเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน
จริงอยู่ ที่ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์เป็นไปได้ยากในโลกความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจยังคงต้องมีผลตอบแทนอย่างเหมาะสมให้แก่ผู้ที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคม เพื่อจูงใจให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนา แต่การได้มาซึ่งผลตอบแทนที่เกิดจากการสะสมและการอาศัยความขาดแคลนในการสร้างมูลค่าอันทำให้ผู้ที่ด้อยโอกาสต้องเดือดร้อนนั้นไม่อาจยอมรับได ผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมต้องได้รับการจัดสรรใหม่
รัฐในสังคมประชาธิปไตยได้ประดิษฐ์เครื่องมือที่เรียกว่า “ภาษี” ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งก็เพื่อการขจัดส่วนเกินของผลตอบแทนเหล่านั้น และนำไปจัดสรรสู่ภาคส่วนที่ด้อยโอกาสกว่า เครื่องมือภาษีนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับทรัพยากรที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในหลาย ๆ ประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าทรัพยากรที่ดิน มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งกลไกตลาดก็ไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกันเสมอไป การช่วยจัดสรรทรัพยากรโดยรัฐจึงจำเป็นต้องถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยก็มีเครื่องมือจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางการถือครองที่ดินอยู่แล้ว นั่นคือ ภาษีที่จัดเก็บบนฐานการถือครองอสังหาริมทรัพย์สองประเภท ได้แก่ “ภาษีบำรุงท้องที่”  และ “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” แต่ที่ผ่านมา เครื่องมือทั้งสองก็หาได้บรรเทาปัญหาแต่อย่างใดไม่ ตัวเลขจำนวนที่ดินมหาศาลที่อยู่ในมือคนเพียงจำนวนน้อยเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความด้อยประสิทธิภาพของเครื่องมือทั้งสอง  เหตุผลก็คือภาระทางภาษีประเภทนี้นั้นถูกคิดบนฐานของราคาประเมินที่ล้าหลัง ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก ประกอบกับรัฐเองก็ได้เปิดโอกาสให้มีการลดหย่อนภาระเพิ่มเติมอีก ต้นทุนดังกล่าวนั้นจึงต่ำเกินไปที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จึงได้ถูกนำเสนอเพื่อทำหน้าที่แทนภาษีทั้งสองประเภทดังกล่าวนั้น โดยจะทำให้ต้นทุนทางภาษีมีการปรับเพิ่มขึ้นตามการใช้ราคาประเมินที่เป็นปัจจุบัน รวมถึง การปรับรายละเอียดอัตราภาษีในขั้นต่าง ๆ และการปรับการลดหย่อนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดสรรอย่างเป็นธรรม เช่นนั้นแล้ว การปรับโครงสร้างแรงจูงใจใหม่จากการมี “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ย่อมนำไปสู่รูปแบบการถือครองที่ดินที่บิดเบี้ยวน้อยลง กล่าวคือ พื้นที่ส่วนเกินที่ใช้เพื่อการเก็งกำไรจะมีแนวโน้มที่จะใช้งานจริงมากขึ้น เช่น ใช้เพื่อการเกษตร การสร้างบ้านพักอาศัย หรือแม้กระทั่งสร้างสวนสาธารณะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในละแวกใกล้เคียง การใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลผลิต รายได้ และผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน และกระจายลงสู่คนระดับล่างมากกว่าการเก็งกำไร ที่ผลประโยชน์มักกระจุกตัวในกลุ่มคนรายได้สูง
นอกเหนือไปจากการจัดสรรผลประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพและความเท่าเทียมแล้ว “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” นั้นยังก่อให้เกิดผลลัพธ์อีกประการที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือ การสร้างสำนึกประชาธิปไตยแก่ประชาชนในวงกว้าง เพราะภาษีประเภทนี้จะเก็บจากทุกคนที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ นั่นคือ ประชาชนจำนวนมากจะมีส่วนร่วมเสียภาษี แม้ภาระภาษีที่เพิ่มเติมนี้จะมีมูลค่าไม่มากมายนัก แต่เงินที่เราจ่ายไปจะ กระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งสาธารณะ และตระหนักว่าตนเองก็มีส่วนสร้างความเจริญแก่ประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ภาษีนั้นก็ไม่ได้ถูกจัดสรรไปไกลตัวเราแต่อย่างใด หากแต่ถูกจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย องค์กรฯ จึงนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไปใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่นั่นเอง เงินที่เราจ่ายไปจะมีผลต่อตัวเราโดยตรง จะทำให้เราใส่ใจกับการใช้จ่ายเงินจากภาษีส่วนนี้มากขึ้นด้วย ผลสะท้อนดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ผู้เขียนบทความ “คุณภาพแห่งชีวิต, ปฏิทินแห่งความหวัง,จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ความตอนหนึ่งว่า
“...ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาส ที่จะมีส่วนร่วมในสังคมรอบตัว ผมต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโรค ชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ...”
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ กระผมคิดว่าน่ายินดีอย่างยิ่งที่ ณ วันนี้ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” กำลัง ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง การออกแบบให้ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางการถือครองไปพร้อม ๆ กับการกระจายผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปสู่ผู้ที่ด้อยโอกาสนั้น ทำให้เรากล่าวได้ว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”  เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย เครื่องมือนี้จะทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยจะเป็นสัญญาณว่าสังคมไม่ยอมรับการสะสมที่ดินอย่างเกินตัวอีกต่อไป และเหนือสิ่งอื่นใด “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ยังจะได้นำพาประชาชนให้ตื่นตัวจากความหลับใหล ให้มีบทบาทต่อประเทศชาติมากขึ้น และยังเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการถือครองที่ดินไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราต้องน้อมรับ หากแต่เราต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงได้ แม้เราไม่อาจครอบครองที่ดินได้เท่ากัน แต่ผลประโยชน์ของความมั่งคั่งนั้นสามารถถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรมได้