ข้อแนะนำการซื้อบ้าน จากงานสัมมนาซื้อบ้านอย่างรอบรู้ครั้งที่ 6 วันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2545
หัวอกคนซื้อบ้าน : ปัญหาที่ควรรู้

คุณพิภพ รอดภัย

ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.ปูนซีเมนต์เอเซีย


     อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนซื้อบ้าน (ในประเทศไทย ประเทศอื่นไม่ทราบ) ที่จะต้องประสบปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง (บางครั้งก็หลายอย่าง) บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านในยุคอสังหาริมทรัพย์เฟื่อง ฟุบ หรือฟื้น หรือในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่หรือฟองสบู่แตกก็ตาม

     หากไม่นับผู้มีอันจะกินและเหลือกิน ที่มักใช้เนรมิตบ้าน (คฤหาสน์) หลังงามได้ตามใจปรารถนาของตน รวมทั้งใช้เงินขจัดปัดเป่าปัญหาต่าง ๆ อันพึงมีดพึงเกิดขึ้นในการซื้อหรือสร้างบ้านแล้ว เราๆ ท่าน ๆ ที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเงินเพื่อจะซื้อบ้านอยู่สักหลังหนึ่ง (ในชีวิต) คงจะหลีกเลี่ยงปัญหาที่มักเกิดขึ้นเมื่อซื้อบ้านไปได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยง ห้องกันหรือบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เราลองมาทำความรู้จักกับปัญหาบรรดามีกันไว้ล่วงหน้าเสียก่อน จะได้ป้องกันแก้ไขได้ทันการณ์ แต่ก่อนที่จะไปพบกับปัญหาที่ควรรู้สำหรับผู้ซื้อบ้าน ผู้เขียนใคร่ขอสรุปถึงหัวอกคนซื้อบ้านว่า โดยปกติทั่ว ๆ ไปแล้ว เมื่อจะซื้อบ้านก็มักจะคำนึงถึง

  • ทำเล อาทิ ใกล้ทีทำงาน ใกล้โรงเรียนลูก ฯลฯ
  • โครงการ อาทิ ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ฯลฯ
  • สาธารณูปโภค อาทิ ถนน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ
  • ตัวบ้าน อาทิ แบบบ้าน ฝีมือการก่อสร้าง ฯลฯ
  • ราคา อาทิ เงินดาวน์ เงื่อนไขการผ่อนชำระ ฯลฯ
  • แหล่งเงินกู้ อาทิ กู้ง่าย อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ

ซื้อบ้านเหมือนแต่งงาน
     "บ้านคือวิมานของเรา" เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันมาช้านาน และคำว่า "บ้าน" ก็มิได้หมายถึงแค่เพียงหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต แต่บ้านเป็นแหล่งพักพิงที่ให้ความอบอุ่น เป็นศูนย์รวมของครอบครัว และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสิ่งหนึ่งของคนเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงมักมีความคิดฝังใจว่าอย่างน้อย ในชีวิตหนึ่งจะต้องมีบ้านของตัวเองสักหลังหนึ่ง ซึ่งดู ๆ ไป ก็คงไม่ต่างจากการที่คนเราโดยทั่วไปก็หวังที่จะมีคูครองที่รู้ใจสักคนหนึ่งในชีวิต และเมื่อพูดถึงบ้านเรากำลังพูดถึงของราคาหลายแสนหรือเป็นล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเมื่อซื้อแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนได้ง่าย ๆ เหมือน ๆ กับการแต่งงานนั่นแหละ ดังนั้น การเลือกซื้อบ้านก็ไม่ต่างกับการเลือกคู่ครองเท่าไรนัก

     ปัญหาควรรู้ผู้ซื้อบ้าน อย่างที่เกริ่นไว้แล้วในตอนต้นว่า คนทั่ว ๆ ไป มักจะประสบปัญหาในการซื้อบ้านอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างไม่มากก็น้อย ซึ่งหากจะหยิบยกมาพูดทั้งหมดเป็นเรื่องยาวนานพอสมควรทีเดียว ฉะนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงปัญหาหลัก ๆ สัก 3 ข้อ เพื่อให้พอเหมาะกับเนื้อที่ กล่าวคือ

     เรื่องที่หนึ่ง ได้แก่ เรื่องของทำเลที่ตั้ง ซึ่งหากเลือกซื้อบ้านโดยมิได้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาเป็นลำดับต้น ๆ หรือมิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างพอเพียงแล้ว อาจก่อให้เกิดทุกข์ยาวนานไปจนกว่าจะชินไปเองก็ได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากคือ เรื่องระยะทางจากบ้านไปทำงานหรือโรงเรียนลูก ที่ดีที่สุดคือไม่ควรใช้เวลาเดินทางเกิน 1 ชั่วโมง หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้ว สำคัญมาก เพราะการที่คุณสามารถตื่นนอนหกโมงเช้า ส่วนลูกตื่นประมาณหกโมงครึ่ง ทานข้าวออกจากบ้านประมาณเจ็ดโมง ถึงโรงเรียนไม่เกินแปดโมง ย่อมดีกว่าการที่คุณต้องตื่นแต่ตีสี่ ปลุกลูกตีห้า ทั้งหมดต้องขึ้นรถออกจากบ้านก่อนหกโมงเช้า เพื่อมาลุ้นระทึกว่าจะถึงโรงเรียนทันหรือเปล่า แล้วจะไปทำงานทันหรือเปล่า เป็นความตื่นเต้นระทึกใจที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกวัน แถมบางบ้านคุณพ่อบ้านต้องทำงานเลิกเย็นหรือค่ำ กว่าจะถึงบ้านลูกก็หลับหมดแล้ว อย่างที่บางคนพูดเล่น ๆ ว่า มองเห็นการเจริญเติบโตของลูกในทางยาว (คือเห็นแต่ตอนนอน) ไม่เคยเห็นเลยว่าลูกสูงเท่าไรแล้ว (ไม่เคยเจอลูกตอนตื่น)

     เรื่องที่สอง  คือสภาพแวดล้อมต้องเอื้อต่อการอยู่อาศัยที่ดีพอสมควร ถ้าเรามีสมาชิกในบ้านที่กลับดึกไปอยู่ที่เปลี่ยวคงเป็นห่วงกันแย่ อีกเรื่องคือเรื่องเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ถ้าดีก็ถือว่าทำบุญมาดีแต่ถ้าเจอไม่ดีแล้วแถมมีปากมีเสียงกันต่างหากละคุณเอ๋ย…. นรกมีจริง ! เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และต้องพูดกันยาว เขียนในที่นี้นี่คงไม่เหมาะ

     เรื่องสุดท้าย  ก็คือ เรื่องเงินที่จะซื้อบ้าน ถ้าจะเอาง่ายเข้าว่า ก็คือมีเงินดาวน์และมีปัญญาผ่อนส่งเท่าไรก็ซื้อเท่านั้น คือใช้ความสามารถในการจ่ายเป็นจุดกำหนดราคาบ้านในฝันของคุณซึ่งก็ดูง่ายดี แต่เรื่องจริงก็อย่างว่าแหละ คือความต้องการหรือแม้แต่ความจำเป็นของเรามักสวนทางกับรายได้ของเราเสมอ เรื่องนี้ก็อีกเหมือนกัน… ยาวเป็นหนังชีวิตเลยหละ

     สำหรับเรื่องเงินซื้อบ้านก็คงเตือนไว้สั้น ฟ ว่า "คิดสักนิด ก่อนคิดยื่นกู้" ที่เตือนอย่างนี้เพราะขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยหน่วยงานและสถาบันการเงินต่าง ๆ กำลัง "บูม" ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะปลุกชีพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยคาดว่าหากอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ อันจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตามความเชื่อของรัฐบาล ซึ่งถ้าเป็นจริงดังหลังก็ขออนุโมทนาด้วย แต่ที่เตือนคนเดินดินกินข้าวแกงอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไว้ในที่นี้ ก็ด้วยห่วงใยว่าหากอะไร ๆ ไม่เป็นดังหวังแล้ว เกรงว่าการ "บูม" ครั้งนี้จะกลายเป็น "บูมเมอแรง" ย้อนกลับมาเล่นงานตัวเราเสียเท่านั้นเอง

     ขอยกตัวอย่างโครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของสมาชิก กบข. มาให้คิดกันสักเรื่องหนึ่งดังนี้ โครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของสมาชิก กบข. เป็นโครงการที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กบข. กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ภายใต้ชื่อ "โครงการ ธอส.-กบข. เพื่อที่อยู่อาศัยสมาชิก กบข." โดยมีความตั้งใจให้สมาชิก กบข. ได้มีที่อยู่อาศัยของตนเอง

     ส่วนแรก คือ เงินกู้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งหลักเกณฑ์การให้กู้เงินในส่วนนี้ สมาชิก สามารถกู้ได้ถึง 100% ของราคาประเมินของ ธอส. แต่สูงสุดไม่เกิน 65 เท่าของเงินเดือนสุทธิ ซึ่งระยะเวลาการปล่อยกู้ในโครงการนี้นานถึง 30 ปี และอายุของผู้กู้รวมกับจำนวนปีที่ขอกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี หรือจนกว่าเกษียณอายุราชการ แล้วแต่ระยะเวลาใดมากกว่า และการผ่อนชำระจะเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเงินที่ผ่อนชำระต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือนสุทธิ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินกู้ส่วนแรกนี้ได้กำหนดให้เป็นอัตราคงที่ร้อยละ 4.5 ใน 3 ปีแรก หลังจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือนของธนาคารกรุงไทย บวกด้วย 0.75 ต่อปี

     ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่สมาชิกกู้จาก กบข. เองโดยกู้ไม่เกินของเงินสะสม สมทบ และผลประโยชน์ของเงินทั้งสองในส่วนของตนเอง และต้องไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนซึ่งจะเป็นการกู้เพิ่มเติมหากเงินในส่วนที่กู้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ไม่เพียงพอ โดยสมาชิกสามารถขอกู้เงินส่วนนี้ได้โดยผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์

     อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่จะกู้เงินในส่วนนี้ได้ ต้องเป็นสมาชิก กบข. ประเภทที่ส่งเงินสะสมเท่านั้น และต้องมีเงินเดือนสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของเงินเดือน ณ วันที่ขอกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินส่วนนี้เท่ากับอัตราดอกเบี้ย MLR ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เฉลี่ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยลบด้วย 1

     จากโครงการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยกมาข้างบนนี้ ผู้เขียนมีข้อคิดสั้น ๆ ให้แก่ผู้ที่มีสิทธิกู้เงินโครงการนี้ว่า การกู้ยืมเงินมาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระยาว ๆ หรือการกู้ยืมเงินตัวเองจาก กบข. ที่เตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณไปใช้ก่อน ถือว่าเป็น "ความเสี่ยง" สำหรับอนาคตของตัวเราเองอยู่ไม่น้อย ใจของผู้เขียนอยากให้เรากันเงินสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินบำเหน็จบำนาญเอาไว้ใช้เลี้ยงชีพและรักษาตัว ตามที่เราเกษียณอายุแล้วมากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าบ้านนั้นถือเป็นทรัพย์สิน (asset) ที่มีสภาพคล่องต่ำ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีเมื่อยามจำเป็นหรือฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น มีเงินสด (cash) ไว้แม้อาจไร้บ้านของตนเองบางทีอาจดีกว่าก็ได้นะ

     สุดท้ายนี้หวังว่าข้อเขียนชิ้นนี้จะพอมีประโยชน์แก่คนซื้อบ้านอยู่บ้าง แม้จะสั้น ๆ และไม่ลงลึกในรายละเอียด และขอจบด้วยการเล่นคำว่า "บ้าน" ไว้ว่า หากคิดไม่รอบคอบก่อนซื้อ คำว่า "บ้าน" อาจผันไปได้ดังนี้


       ตัด ไม้โท ออก
บ้าน ----------------------> บาน   

         ตัด น ออก
บ้าน --------------------> บ้า